xs
xsm
sm
md
lg

เอชพีเชือดสินค้าเลียนแบบ จับจริง-ปิดเว็บ คุ้มครองผู้ซื้อออนไลน์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอชพีเผยสามารถยึดสินค้าปลอมแปลงมูลค่า 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ได้ถอดเว็บไซต์ที่จำหน่ายสินค้าออนไลน์กว่า 12,800 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และสิงคโปร์

ผลงานจับยึดสินค้าปลอมนี้มาจากโครงการป้องกันสินค้าลอกเลียนแบบของเอชพี (ACF) ซึ่งได้ตรวจและยึดผลิตภัณฑ์ปลอมแปลงมูลค่า 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 77.8 ล้านบาท) และถอดถอนเว็บไซต์ออนไลน์กว่า 12,800 แห่งในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาในประเทศอินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และสิงคโปร์ เมื่อผู้บริโภคหันมาซื้อของทางออนไลน์มากขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งเป็นการปกป้องคุ้มครองคู่ค้าออนไลน์และผู้บริโภค เอชพีได้ขยายโครงการป้องกันสินค้าลอกเลียนแบบ (ACF) ไปยังร้านค้าปลีกออนไลน์ สำหรับประเทศไทยมีสินค้าลอกเลียนแบบที่ถูกยึดมูลค่ากว่า 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 68.5 ล้านบาท) และเว็บไซต์จำนวน 230 แห่ง ถูกลบออกจากเว็บไซต์ชอปปิ้งออนไลน์

การจำหน่ายสินค้าลอกเลียนแบบและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คิดเป็นอย่างน้อย 3.3% ของการค้าทั่วโลก เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สินค้าลอกเลียนแบบได้ระบาดเพิ่มขึ้นตั้งแต่หมึกพิมพ์ ผงหมึกโทนเนอร์ และชิ้นส่วนยานยนต์ กระเป๋าถือและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีการซื้อขายในตลาดมืดโดยกลุ่มอาชญากร มูลค่าโดยประมาณสูงถึง 35.9 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

สำหรับหมึกพิมพ์และผงหมึกโทนเนอร์ปลอม เอชพี ระบุว่า เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อผู้บริโภคและธุรกิจ การใช้ของปลอมผิดกฎหมาย ทำให้เครื่องพิมพ์เสียหาย ทำงานผิดปกติ และส่งผลให้การรับประกันเครื่องพิมพ์เป็นโมฆะ ที่สำคัญทำให้การทำงานสะดุด ธุรกิจสูญเสียรายได้


โครงการป้องกันสินค้าลอกเลียนแบบของเอชพี (ACF) จึงเน้นต่อต้านการผลิตและการจำหน่ายหมึกและโทนเนอร์ลอกเลียนแบบ โครงการนี้ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภค ธุรกิจและคู่ค้า มั่นใจถึงความปลอดภัย ปกป้องชื่อเสียง ทำงานราบรื่น และประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด

"ในการระบุผู้จำหน่ายสินค้าลอกเลียนแบบ เอชพี สืบค้นรายการผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายบนออนไลน์หลายล้านเว็บไซต์ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี โดยตรวจสอบการใช้ภาพลิขสิทธิ์ของบริษัท เครื่องหมายการค้าและตราสัญลักษณ์อื่นๆ ซึ่งจะช่วยระบุตัวตนของผู้จำหน่ายที่กำลังหลอกลวงลูกค้า หรือผู้จำหน่ายที่อ้างการเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต เมื่อผู้จำหน่ายได้ยืนยันการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หมึกลอกเลียนแบบและผงหมึกโทนเนอร์ปลอม ข้อมูลจะถูกรายงานไปยังออนไลน์มาร์เก็ตเพลส เพื่อถอดถอนชื่อออกจากเว็บไซต์ขายของออนไลน์ นอกจากนี้ คู่ค้าออนไลน์ที่ได้รับอนุญาต ยังได้ทำงานร่วมกับเอชพีอย่างใกล้ชิดเพื่อปกป้องและสืบหาที่มาของผลิตภัณฑ์ปลอม ช่วยลดจำนวนสินค้าปลอมสู่ผู้บริโภค" เอชพี ระบุ

ปิดเว็บไซต์หมึกเถื่อน

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงพฤษภาคม 2563 ได้มีการถอดรายชื่อเว็บไซต์ขายของออนไลน์มากกว่า 12,800 แห่งทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี ซึ่งรวมถึง 230 แห่งจากประเทศไทย การดำเนินการเข้มงวดนี้ช่วยลดความเสี่ยงของลูกค้าและคู่ค้าที่ต้องซื้อหมึกและผงหมึกโทนเนอร์ปลอมโดยไม่ตั้งใจเพื่อนำไปใช้ทำงาน หรือเพื่อการเรียนการสอน

ในภาพรวม เอชพีระบุว่าได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อลดจำนวนการปลอมแปลงสินค้าตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี โดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลีเพื่อจับกุมผู้จำหน่ายสินค้าลอกเลียนแบบที่หลอกลวงลูกค้าและคู่ค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้ค้าสินค้าลอกเลียนแบบ 72 ราย ซึ่งสินค้าที่ยึดได้รวมถึงตลับหมึกพิมพ์ทั้งสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ บรรจุภัณฑ์และฉลากผลิตภัณฑ์

ลูกค้าระดับองค์กรของเอชพีทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางสามารถป้องกันตัวเองเพิ่มเติมได้โดยขอบริการ Customer Delivery Inspection (CDI) ฟรีที่ www.hp.com/anticounterfeit โดยเฉพาะหากมีข้อสงสัยว่าได้รับหมึกพิมพ์หรือ ผงหมึกโทนเนอร์เลียนแบบจากตัวแทนจำหน่ายที่อาจไม่ได้รับอนุญาต

เอชพี ยังมีระบบตรวจสอบ Channel Partner Protection Audits (CPPA) ที่จะช่วยปกป้องคู่ค้าและลูกค้าจากปัญหาผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ ในปีนี้มีบริษัทคู่ค้า 187 ราย ผ่านการรับรอง CPPA ที่สามารถให้ความมั่นใจแก่ลูกค้าว่าสินค้าที่ได้รับเป็นของแท้ 100 เปอร์เซ็นต์

สำหรับบริษัทและผู้บริโภค เอชพีระบุว่าสามารถตรวจสอบหมึกพิมพ์และผงหมึกโทนเนอร์ลอกเลียนแบบ ด้วยการตรวจสอบผ่านมือถือโดยการสแกน QR Code บนบรรจุภัณฑ์ ขณะเดียวกัน ก็ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ที่ hp.com/go/ok โดยป้อน serial number ของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้·ยังสามารถเอียงฉลากความปลอดภัยเพื่อตรวจสอบโฮโลแกรมว่าถูกต้องหรือไม่ ที่สำคัญควรระวังวิธีการขายที่น่าสงสัยและซื้อจากผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของเอชพีเท่านั้น รวมถึงการระบุความต้องการหมึกพิมพ์และผงหมึกที่เป็นของแท้เท่านั้น

สำหรับใคที่สงสัยว่าหมึกที่ซื้อมาอาจเป็นของปลอม ให้ไปที่ hp.com/go/anticounterfeit และคลิกที่ "รายงานสินค้าปลอมแปลง" โดยสามารถติดต่อทางอีเมลได้ที่ apj.anti-counterfeit@hp.com ได้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น