xs
xsm
sm
md
lg

“สามารถ” มอบทุนหนุนนักศึกษาพัฒนานวัตกรรม 30 ผลงาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สามารถ” ส่งเสริมผลงานเยาวชนคนรุ่นใหม่ มอบทุนการศึกษาให้แก่ 6 สถาบัน จำนวน 30 ผลงานด้านเทคโนโลยี

นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “กลุ่มบริษัทสามารถ” ในฐานะที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีครบวงจร เล็งเห็นถึงการสร้างโอกาสและความความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยีมาโดยตลอด จึงจัดให้มีโครงการ Samart Innovation Award มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2546 รวมระยะเวลา 17 ปี

โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถ เพื่อสร้างโอกาส สร้างรายได้ และสร้างอาชีพ สําหรับกลุ่มนักพัฒนารุ่นใหม่ โดยได้มีการปรับรูปแบบโครงการอย่างต่อเนื่อง และในปี 2563 นี้ได้มีการปรับโครงการให้เข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจด้านเทคโนโลยีโดยตรง ภายใต้ชื่อโครงการ Samart Innovation Funds

โครงการ Samart Innovation Funds ปี 2563 เป็นการมอบทุนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผลงานโดยตรงให้กับโปรเจกต์จบของน้องๆ นักศึกษา ที่มีความคิดสร้างสรรค์ตรงตามเทคโนโลยีที่เป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ เทคโนโลยี AI, Machine Learning หรือ IoT ที่เสร็จสมบูรณ์และใช้งานได้จริง จำนวนทั้งสิ้น 30 โปรเจกต์ โปรเจกต์ละ 10,000 บาท ให้แก่ 6 สถาบันการศึกษา (สถาบันละ 5 โปรเจกต์) ได้แก่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.ธรรมศาสตร์ ม.มหิดล และ ม.เกษตรศาสตร์

เพื่อสร้างโอกาสด้านการศึกษาแก่นิสิต นักศึกษาชั้นปีสุดท้าย ในการนำทุน Samart Innovation Funds ไปต่อยอดการเรียนรู้อย่างไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดในการพัฒนาโปรเจกต์จบ หรือนำไปเป็นทุนการศึกษาต่อ เตรียมพร้อมสำหรับการก้าวสู่การเป็นนักคิด นักพัฒนามืออาชีพต่อไป

นายเจริญรัฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า การส่งเสริมให้เกิดความรู้ความสามารถ เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการ Samart Innovation Award ของเราเน้นให้เกิดขึ้นทุกปี

“นอกจากจะมอบทุนการศึกษา เรายังมอบทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีและการสร้างแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ ให้แก่น้องๆ ตามมหาวิทยาลัย โดยในช่วงต้นปีได้มีการเปิด Class ให้ความรู้แก่น้องๆ ที่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ภายใต้หัวข้อ Techno Trend : เทคโนโลยีพลิกโฉมวิถีชีวิตและการทำงาน และ How to be Professional แต่ด้วยโรคระบาดโควิด-19 ทำให้โครงการให้ความรู้ต้องหยุดไป แต่ถึงอย่างไรบริษัทก็ยังมุ่งมั่นและจะไม่หยุดนิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนต่อไป”

ด้าน นายวุฒินันท์ ชัยศิริวิเรนทร์ นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของผลงานต้นแบบโดรนเพื่อการลาดตระเวน กล่าวว่า ตนกับ นายอภิวัฒน์ สุกกล่ำ ร่วมกันคิดค้นผลงานดังกล่าว โดยได้แรงบันดาลใจการสร้างผลงานมาจากความสนุก ต้องการสร้างนวัตกรรมที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำกับใคร จึงคิดถึงวงการทหารในการนำโดรนไปช่วยทำงานแทนคน ซึ่งการใช้โดรนลาดตระเวนน่าจะตอบโจทย์การลาดตระเวนในพื้นที่อันตราย และเป็นเครื่องมือลาดตระเวนในการสร้างความน่าเกรงขามต่อผู้ก่อการร้ายได้ หากพบว่ามีโดรนลาดตระเวนในพื้นที่ต่างๆ ช่วงเวลากลางวันอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับผลงานของกลุ่มตนนั้น ได้รับการสนับสนุนโดรนจากบริษัท คลิกเกอร์แล็บ จำกัด เนื่องจากเจ้าของบริษัทเคยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ที่ปรึกษาจึงได้ทำงานทดสอบซอฟต์แวร์การลาดตระเวนร่วมกัน และบริษัทดังกล่าวมีความสนใจในการซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของกลุ่มนำไปต่อยอดเพื่อใช้งานต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น