xs
xsm
sm
md
lg

‘เก็ท’ ลุยเพิ่มพาร์ทเนอร์ SMEs หวังเป็นออนไลน์แอปฯ สั่งอาหารที่ครองใจผู้ใช้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เก็ท (GET) เร่งขยายธุรกิจสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ทั้งการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาบริการของพนักงานส่งสินค้า-ร้านอาหาร เร่งเพิ่มพาร์ทเนอร์ร้านอาหารในแต่ละพื้นที่หวังเสริมร้านค้าขนาดกลาง-เล็ก พร้อมกับส่งเสริมการส่งอาหารที่ไม่สร้างมลภาวะแก่โลก

ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เก็ท กล่าวถึงเป้าหมายในปีนี้ว่า เก็ท ต้องการเป็นผู้ให้บริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ใช้ ทั้งในส่วนของผู้บริโภค พาร์ทเนอร์ผู้ส่งอาหาร และร้านอาหาร

ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มแอปพลิเคชันให้ร้านค้าสามารถบริหารจัดการ คำสั่งซื้อได้รวดเร็วขึ้นอย่าง Gobiz หรือแม้แต่การสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างการเปิดให้บริการ Get Runner ที่ไม่จำเป็นต้องมีรถมอเตอร์ไซค์ก็สามารถส่งอาหารได้

“Get Runner เป็นบริการส่งอาหารในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตร ที่ช่วยลดระยะเวลาในการจัดส่งอาหารเหลือไม่ถึง 20 นาที ทำให้ลูกค้าได้อาหารเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยไม่จำเป็นต้องมีรถมอเตอร์ไซค์ ก็สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพได้”

ขณะเดียวกัน Get Runner ยังเป็นบริการส่งอาหารที่ไม่ใช้น้ำมัน ที่จะก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งในอนาคตเก็ท มีแผนที่จะนำเรื่องการส่งอาหารที่สะอาด และรักษ์โลกมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปในอนาคต

***สนับสนุนร้านค้าขนาดเล็ก

ผู้บริหารเก็ท มองว่า บริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันไม่ได้มีความจำเป็นต้องมีร้านอาหารในระบบเป็นแสนร้าน แต่ต้องมีพาร์ทเนอร์ร้านอาหารที่อยู่ใกล้ผู้ใช้ มีราคาที่เหมาะสม ซึ่งการเป็นพาร์ทเนอร์กับเก็ท จะช่วยให้สามารถทำโปรโมชันส่งเสริมการขายได้อย่างต่อเนื่อง

“เก็ท ต้องการเป็นผู้ให้บริการที่มีพาร์ทเนอร์มากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มของร้านอาหารขนาดเล็ก และผู้ประกอบการ SMEs ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 80% ให้เพิ่มไปเป็น 90% ภายในปีนี้”

เหตุผลสำคัญก็คือพฤติกรรมการสั่งอาหารของผู้ใช้จะเลือกจากร้านอาหารที่อยู่ไม่เกิน 4 กิโลเมตร ดังนั้นการหาร้านอาหารในแต่ละพื้นที่จะเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานในวงกว้างมากขึ้น และจะช่วยลดระยะเวลาจัดส่งอาหารจากปัจจุบันอยู่ที่ 27 นาที ให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ

***กลุ่มวัยเริ่มทำงานสั่งประจำ

ในส่วนของเทรนด์การเติบโตของธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์ เก็ท เชื่อว่าในปีนี้จะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 31% จากการแข่งขันของผู้ให้บริการ รวมกับปัจจัยภายนอกอย่างฝุ่น PM2.5 สถานการณ์รถติด และโซเชียลฟู้ดดี้ที่แชร์ภาพอาหารทำให้เกิดการสั่งอาหารตาม

โดยจากข้อมูลของเก็ท พบว่า กลุ่มผู้ใช้งานที่สั่งอาหารบ่อยที่สุดคือกลุ่มวัยเริ่มทำงาน (Early Jobber) ในช่วงอายุ 21-30 ปี ที่สั่งอาหารสูงถึง 5.2 ครั้งต่อเดือน และมีพฤติกรรมการสั่งอาหารมาทานที่ทำงานมากขึ้น

“เดิมบริการสั่งอาหารฟู้ดเดลิเวอร์รี่ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะสั่งอาหารที่เป็นฟาสต์ฟู้ดเพื่อไปทานที่บ้าน แต่จากบริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันที่เข้ามาทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป มาเป็นการสั่งข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง หมูย่างมาทานในช่วงระหว่างสัปดาห์แทน”

ทั้งนี้ ในช่วง 1 ปีที่ให้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เก็ท มีจำนวนผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้วกว่า 2 ล้านครั้ง จำนวนคนขับเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 คน โดยอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ชานมไข่มุก




กำลังโหลดความคิดเห็น