การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจ กลายเป็นหนึ่งในวิธีการปรับตัวของภาคธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยทาง เอบีม คอนซัลติ้ง ได้ทำการสำรวจพบว่า ระบบการทำงานซอฟต์แวร์อัตโนมัติ (Robotic Process Automation หรือ RPA) เติบโตสูง แม้ว่าจะมีการนำมาใช้เพียง 13% ในกลุ่มธุรกิจธนาคารและธุรกิจประกันภัย
นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจในรูปแบบดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น กล่าว่าการใช้งาน RPA ตามแบบกฎเกณฑ์มาตรฐานอัตโนมัติ หรือ rule-based automation ซึ่งถือว่ายังไม่เป็นแรงงานดิจิทัลเต็มรูปแบบนั้น เป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโตของโลก
“เทคโนโลยีนี้ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยผสมผสาน ระบบการรู้จำอักขระด้วยแสง (OCR) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจะทำให้เป็นเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดมากขึ้นและพร้อมให้ใช้งานในตลาดเร็ว ๆ นี้”
ทั้งนี้ จากการสำรวจโดยเอบีมเกี่ยวกับสถานการณ์ของ RPA ในประเทศไทยกับบริษัทขนาดใหญ่ใน SET100 พบว่า 66% ยังไม่ตระหนักว่า RPA คืออะไร และ RPA สามารถทำงานอย่างไร ตามด้วย 21% ของบริษัทที่สำรวจตอบว่ากำลังพิจารณาและสนใจเทคโนโลยีดังกล่าว แต่ยังไม่แน่ใจถึงประโยชน์ที่แท้จริง และมีเพียง 13% เท่านั้นที่ได้ติดตั้งและใช้งาน RPA แล้ว
เหตุผลหลักที่องค์กรส่วนใหญ่ยังไม่นำ RPA มาใช้งานเนื่องจาก ยังไม่สามารถหาคนทำงานที่เหมาะสมในการเริ่มต้นแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตามด้วยไม่ทราบวิธีการที่เหมาะสมที่จะเริ่มโครงการดังกล่าว ประสบกับปัญหาในการคำนวณอัตราส่วนของผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) และกำลังเผชิญกับแรงต่อต้านจากผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกลุ่มที่เริ่มนำมาใช้งานก็กำลังเผชิญกับการขยายผล การปรับเปลี่ยนตามธุรกิจการกำลังเปลี่ยนไป และการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายของ ROI
นายฮาระ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า การใช้ RPAจะช่วยให้ธุรกิจได้ประโยชน์สูงสุด หากธุรกิจมีกระบวนการเป็นมาตรฐาน แม่นยำสม่ำเสมอ และดำเนินการควบคุมอย่างถูกต้อง ซึ่งช่วยให้สามารถขยายงานได้ง่าย เพราะ RPA สามารถทำงานร่วมกับการปรับเปลี่ยนกระบวนการการทำงานทางธุรกิจ (Business Process Reengineering) และการพัฒนาขั้นตอนการทำงาน (Business Process Improvement) เพื่อนำไปสู่การดำเนินการธุรกิจที่เป็นเลิศ (Excellent Operation)
RPA ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์อัตโนมัติสำหรับงานที่ต้องใช้คนในภาคธุรกิจต่าง ๆ สามารถูกพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว มีการลงทุนที่ต่ำและให้ผลตอบแทนเร็ว RPA เหมาะกับงานทั่วไปที่ต้องใช้พนักงานทำงานเป็นเวลานาน งานที่มีกฏและขั้นตอนชัดเจน งานที่ทำซ้ำ ๆ และงานที่มีปริมาณจำนวนมาก ๆ รวมทั้งงานที่มีโอกาสผิดพลาดอันเนื่องจากการทำงานของคน
ในส่วนของภาคธุรกิจที่มีการนำ RPA มาใช้มากที่สุด คือ ธุรกิจธนาคาร 70% และธุรกิจประกันภัย 60% ในขณะที่ธุรกิจการผลิต ธุรกิจบริการ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มีความสนใจจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยปัจจุบันการใช้ RPA ในประเทศไทยเน้นเรื่องการจัดทำรายงาน การส่งข้อมูลระหว่างระบบ (System interface) และการป้อนข้อมูลเข้าระบบ ซึ่งถือเป็นงานอันดับต้น ๆ ของหน่วยงานการเงินและบัญชี