เฟซบุ๊ก ร่วมกับ สำนักข่าว เอเอฟพี เปิดโปรแกรมตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย หากพบว่าไม่จริง จะแจ้งเตือนผู้ใช้งานก่อนแชร์ว่าปลอมพร้อมแสดงลิงก์ข่าวที่ถูกต้อง ขณะที่เพจข่าวปลอมจะถูกลดคะแนนการมองเห็น ส่งผลกระทบต่อการหารายได้จากเฟซบุ๊ก
นางอันจาลี คาปูร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรข่าวประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เฟซบุ๊ก กล่าวว่า เฟซบุ๊กประกาศเปิดตัวโปรแกรมการตรวจสอบข้อมูลเท็จโดยผู้ตรวจสอบภายนอก ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาความโปร่งใสบนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและพัฒนาคุณภาพของข่าวสารที่ผู้คนอ่านบนโลกออนไลน์
โดยเฟซบุ๊กร่วมมือกับ สำนักข่าว เอเอฟพี ซึ่งได้รับการรับรองโดยเครือข่ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับนานาชาติ (International Fact Checking Network หรือ IFCN) ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่สถาบันพอยน์เตอร์ โดย เฟซบุ๊ก ได้เปิดตัวโปรแกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยผู้ตรวจสอบภายนอกในเดือนธันวาคม 2559 และมีพันธมิตรกว่า 50 รายทั่วโลก ครอบคลุมกว่า 40 ภาษา มีเจ้าหน้าที่กว่า 30,000 คน กระจายตัวทำงานอยู่ในแต่ละประเทศ เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ
สำหรับการตรวจสอบ จะตรวจสอบบนเพจ หรือ ลิงก์ ข่าว ที่เป็นทั้งเนื้อหาข่าว รูปภาพและวิดีโอ ที่เปิดเป็นสาธารณะ เท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบกับเพจส่วนบุคคล เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า เป็นเรื่องราวเท็จ เฟซบุ๊ก จะให้คะแนนเรตติ้งน้อยลง และลดการมองเห็น หากยังมีการทำข่าวปลอมซ้ำๆ จะถูกห้ามไม่ให้ใช้ฟีเจอร์ในการสร้างรายได้และการโฆษณาด้วย
ขณะที่ในมุมของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก เอง หากจะแชร์ข่าวปลอมเฟซบุ๊กจะเด้งข้อความก่อนแชร์เพื่อให้ทราบว่าเป็นข่าวปลอม พร้อมแสดงให้เห็นลิงก์ข่าวจริงควบคู่ไปด้วย
ด้านนางแคท บาร์ตัน หัวหน้าหน่วยงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ เอเอฟพี ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าวว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทยครอบคลุมทุกหัวข้อข่าว ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพและวิทยาศาสตร์ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมและข่าวการเมือง โดย เอเอฟพี ประจำภูมิภาคเอเชียมีนักข่าวที่ได้รับมอบหมายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 10 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากออสเตรเลียไปจนถึงปากีสถาน ในระดับโลกหน่วยงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ เอเอฟพี ประจำภูมิภาคเอเชียมีการดำเนินงานที่ครอบคลุมกว่า 20 ประเทศในปัจจุบันและภายในเร็วๆนี้จะให้ข้อมูลด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 8 ภาษารวมถึงภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส บาฮาซาของอินโดนีเซียและอาหรับ