xs
xsm
sm
md
lg

อนาคต Intel วิ่งสู้ฟัดที่ AI (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ซานโดช วิศวะนาธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น
หลายสิบปีที่ผ่านมา อินเทล (Intel) ผู้ผลิตเซนิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกเน้นให้ความสำคัญที่ธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจนเรียกตัวเองว่าเป็นบริษัท PC-centric แต่ในช่วง 10 ปีนับจากนี้ อินเทลประกาศตัวว่าจะเปลี่ยนโฟกัสมาเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลหรือ data-centric เพราะอินเทลรู้ดีว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของทุกสิ่งรอบตัวเราหรือ IoT จะเป็นแรงผลักดันการเติบโตของอินเทลในอนาคต

ย้อนกลับไปในช่วงกลางปี 2019 โลกได้เห็นข่าวใหญ่ว่าแอปเปิล (Apple) ซื้อกิจการธุรกิจโมเด็มสมาร์ทโฟนของอินเทลด้วยเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ข่าวนี้สะท้อนแนวคิดของอินเทลยุคใหม่ว่ามุ่งมั่นที่จะให้ความสำคัญกับอุปกรณ์อื่นที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน เพราะแม้ว่าจะครองตลาดพีซี แต่ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จในตลาดชิปสมาร์ทโฟนได้ รูปการณ์จึงชัดเจนว่าอินเทลกำลังมองหาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อผลักดันการเติบโตของบริษัทให้ได้ในทศวรรษหน้า

ขุมทองที่อินเทลมองเห็นคือแพลตฟอร์มข้อมูลที่หลากหลายในโลกยุค AI และ IoT โดยอินเทลวางกลยุทธ์ให้ตัวเองยังคงรักษาฐานตลาดพีซีและเซิร์ฟเวอร์ไว้เป็นหลัก แล้วจึงเสริมกับตลาดใหม่ที่มีความต้องการชิปสำหรับคลาวด์คอมพิวติ้งและระบบประมวลผลขั้นสูง กลยุทธ์นี้ทำให้ระบบ IoT เช่น กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ ระบบเซ็นเซอร์รักษาความปลอดภัย รวมถึงรถยนต์ไร้คนขับ กำลังกลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของอินเทลในอีก 10 ปีนับจากนี้

วันนี้อินเทลลงมือเปิดตัวชิปรุ่นใหม่ที่การันตีว่าจะทำให้ระบบ AI บนพีซีทำงานเร็วขึ้นกว่าเดิม ร่วมไปกับการคลอดโครงการพิเศษเพื่อยกระดับคอมพิวเตอร์พกพาให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นจนพร้อมรองรับงาน AI แบบที่พีซีไม่เคยทำได้มาก่อน ทั้งหมดนี้ทำบนการลงทุนขยายทีมเซลล์เพื่อเจาะตลาด AI และ IoT ทั่วโลก รวมถึงไทยที่อินเทลระบุว่ามีการขยายทีมเซลล์ประเทศไทยเกินเท่าตัวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ปฏิวัติพีซีบางเบาต้องเก่ง

เพราะ AI เป็นตัวชูโรงสำคัญที่ช่วยยกระดับสมาร์ทโฟนให้อัจฉริยะมากกว่าเดิม และยังยกระดับนาฬิกาให้เป็นสมาร์ทว็อตช์ที่ตอบโจทย์ชีวิตผู้ใช้ยิ่งขึ้น แน่นอนว่าในกรณีของพีซี อินเทลเชื่อว่า AI จะทำให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกลายเป็นสมาร์ทพีซีที่จะชิงความสนใจให้ทุกคนกลับมาใช้งานพีซีอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มแล็ปท็อปบางเบาที่หลายคนเมินไปใช้งานสมาร์ทโฟนแทน

นายซานโดช วิศวะนาธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กล่าวในงานเปิดตัวโปรเซสเซอร์ใหม่ “Intel Core เจนเนอเรชัน 10” ว่าอินเทลวางแผนเปลี่ยนผ่านบริษัทมาเป็น data-centric company ให้เสร็จระหว่างปี 2017-2021 การเปลี่ยนผ่านนี้จะทำให้อินเทลมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าการเป็นบริษัท PC-centric แบบเดิม เพราะอินเทลจะได้มีส่วนในตลาด IoT หน่วยความจำ และเครือข่ายข้อมูลทุกอย่างในยุค AI มูลค่ากว่า 3 แสนเหรียญสหรัฐ

“วันนี้อินเทลไม่ได้ปักหลักอยู่ในตลาด PC เท่านั้น แม้แต่โทรศัพท์พกพาก็เป็นแค่ 1 ในอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคใช้เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ในอนาคต โลกจะมีอีกหลายอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อออนไลน์ เช่น กล้อง หรือระบบรักษาความปลอดภัยในสนามบิน อินเทลในเจเนอเรชันต่อไปจึงหวังจะไปให้ครบทั้งหมด ไม่หยุดแค่อุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง”

ขอเป็น key player

ในภาพรวม อินเทลมองเป้าหมายชัดเจนว่าการเปลี่ยนเป็นบริษัท data-centric จะตอบโจทย์ได้ทั้งลูกค้ากลุ่มธนาคารและกลุ่มธุรกิจหลากหลาย สิ่งที่อินเทลหวังคือการเป็นผู้เล่นรายหลักหรือ key player ซึ่งโอกาสในตลาดข้อมูลมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐนั้นเป็นมุมมองเฉพาะสำหรับอินเทลเอง และเป็นตัวเลขที่อาจจะน้อยหรือมากกว่าก็ได้ในมุมมองบริษัทอื่น

เมื่อขอให้เปรียบเทียบอินเทลในปัจจุบันกับช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผู้บริหารยอมรับว่าอินเทลกำลังให้คำจำกัดความใหม่กับทุกสถาปัตยกรรมทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือและพีซี เพื่อตอบโจทย์กับภาวะที่ปริมาณข้อมูลหรือดาต้าทั่วโลกเติบโตมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

“ความท้าทายยิ่งใหญ่ที่อินเทลเห็นในช่วง 10 ปีนับจากนี้คือการเปลี่ยนโอกาสที่มองเห็นให้เกิดขึ้นเป็นความจริง ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนที่อยู่ในระบบอีโคซิสเต็มเดินไปด้วยกัน ความท้าทายนี้ทำให้อินเทลเน้นพัฒนา โดยร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่นของทุกประเทศ”

ในส่วนของประเทศไทย ผู้บริหารอินเทลไม่เปิดเผยตัวเลขงบการลงทุนในตลาดไทย แต่ระบุว่าบริษัทได้ลงทุนเป็นเงินมูลค่ามากกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยกิจกรรมการตลาดของอินเทลในช่วงปีนี้และปีหน้าจะกระทำผ่านพันธมิตร เช่นเดียวกับที่อินเทลเคยทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

“การลงทุนของอินเทลในวันนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ส่วนที่เป็นปัจจัยแวดล้อมในวงการพีซี เพื่อตอบความต้องการเฉพาะกลุ่ม เช่นกลุ่มผู้เล่นเกมและกลุ่มผู้ชมความบันเทิง ซึ่งต้องแยกเซกเมนต์ให้ชัดเจน ส่วนที่ 2 คือธุรกิจ B2B อินเทลลงทุนในตลาดไทยด้วยการไปสัมผัสกับลูกค้าในท้องถิ่น ผ่านการให้ความรู้ถึงเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใน PC ซึ่งการให้ความรู้ลักษณะนี้ อินเทลจะทำงานร่วมกันกับพันธมิตรในตลาดไทยต่อไป”

สำหรับพีซีตลาดไทย อินเทลเผยว่าวันนี้ตลาดเกมเป็นส่วนที่เติบโตที่สุด ทำให้อินเทลมีกิจกรรมร่วมกับงานเกมบ่อยครั้ง ขณะเดียวกัน อินเทลเริ่มเพิ่มบุคลากรโดยเพิ่มทีมเซลล์ในบริษัทประเทศไทยมากกว่าเท่าตัวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แผนการเพิ่มบุคลากรนี้ยังต้องรอดูในปีหน้าว่าจะมีการลงทุนเพิ่มลักษณะนี้อีกหรือไม่ ซึ่งอินเทลจะรอดูก่อนว่าเซกเมนต์ใดที่มีอัตราการเติบโต ก็จะถูกตั้งเป้าเป็นเป้าหมายและลงทุนเพิ่มต่อไป

ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่อินเทลลงทุนเพิ่มด้านบุคลากร จุดนี้ผู้บริหารบอกว่าเป็นการลงทุนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยจะเลือกจุดที่มองเห็นโอกาส

พีซีไม่ตาย

ผู้บริหารอินเทลมั่นใจว่าภาพรวมของตลาดพีซีในเอเชียไม่น่ากังวล เพราะยังมีปัจจัยเสริมให้ทรงตัวอยู่ต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากความแพร่หลายของพีซีในกลุ่มคนเล่นเกมส์และคนทำงาน ซึ่งทำให้ PC ยังได้รับความนิยมอยู่

“ตลาดพีซีไม่ได้เติบโตหวือหวาหรือลดลงฮวบฮาบ เพราะยังเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้งานทุกวัน อีกปัจจัยหนึ่งคือยังมีโอกาสในตลาด และเทคโนโลยี AI สามารถขยายตัวตอบโจทย์ธุรกิจได้อีกมาก”

เพื่อปฏิวัติพีซีให้รองรับ AI ดีขึ้น อินเทลใช้วิธีตีคู่ 2 ทาง ทางแรกคือการเปิดตัวโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ “อินเทล คอร์ เจนเนอเรชั่น 10” (10th Gen Intel Core) ซึ่งประเดิมในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 31 รุ่นจาก 6 ค่ายพีซีเจ้าตลาดไทย วางเป้าหมายที่คอนซูเมอร์ทั่วไปถึงระดับคอเกม เพราะมีประสิทธิภาพด้านกราฟฟิกดีขึ้น 2 เท่าเล่นเกมละเอียด 1080p ได้ ขณะเดียวกันก็หวังเจาะตลาดครีเอเตอร์ผู้สร้างคอนเทนต์ เนื่องจากรองรับการตัดต่อวิดีโอ 4K และใส่ฟิลเตอร์วิดีโอได้เร็ว รวมถึงประมวลผลภาพถ่ายความละเอียดสูงได้ทุกที่ทุกเวลา

หนึ่งในจุดยืนสำคัญของชิปใหม่อินเทล คือการนำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์มาสู่เครื่องพีซี ทำให้เครื่องรองรับซอฟต์แวร์ AI ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้เช่น ซอฟต์แวร์ตัดเสียงรบรบกวนเมื่อต้องทำงานนอกสำนักงาน ทำให้สามารถประชุมได้สงบโดยไม่มีเสียงนกร้อง หมาเห่า หรือเสียงเด็กร้อง หรือเทคโนโลยี DL Boost ที่ช่วยปรับความคมชัดภาพถ่ายด้วยการกดปุ่มคลิกเดียว ซอฟต์แวร์เหล่านี้จะเปิดให้ดาวน์โหลดหรืออาจติดตั้งมาพร้อมคอมพิวเตอร์ชิป Intel Core เจนเนอเรชัน 10 บางยี่ห้อ

ทางที่ 2 ที่อินเทลทำ คือการเปิดตัวโครงการ Project Athena เพื่อนำร่องและทำเกณฑ์มาตรฐานพีซีให้สามารถยกระดับแล็ปล็อป เป้าหมายคือเพื่อนำเสนอแล็ปท็อปคุณภาพสูงสู่ตลาดเพื่อเจาะกลุ่มคนทำงาน นักศึกษา และผู้ชมความบันเทิงได้เต็มที่ คาดว่าในสิ้นปี 2019 จะมี 15 รุ่นที่ถูกคัดเลือกมาร่วมในโปรเจ็กต์นี้ และจะถูกเพิ่มความสามารถตามรายการที่อินเทลกำหนดขึ้นมา ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานพีซีได้เป็นรูปธรรมกว่าเดิม

3 สิ่งที่ Project Athena ให้ความสำคัญคือการเป็นอุปกรณ์ที่มีระบบ AI ทำให้ถูกโฟกัสไม่แพ้อุปกรณ์หลากหลายที่มีในมือผู้บริโภค ต่อมาคือต้องมีความพร้อมใช้งานตลอดเวลาแบบไม่ต้อง shutdown และสุดท้ายคือต้องประยุกต์ใช้กับทุกงานได้อย่างยืดหยุ่น

“Project Athena ต้องการทำให้ผู้คนกลับมาที่พีซีอีกครั้ง” ซานโดชสรุป.


กำลังโหลดความคิดเห็น