ดีอีเอส ชูบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมลส่วนบุคคล รองรับข้อกำหนดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จัดเวทีเสวนาเตรียมพร้อมให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล“PDPA - Privacy for All” ภายใต้แนวคิด “คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดูแลทุกภาคส่วนก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง ทันสมัย ทั่วถึงและเท่าทัน” เชิญกลุ่มเป้าหมายกว่า 1,200 คน จากทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงฯ ได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ในวาระเริ่มแรก) ตามข้อกำหนดที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และจะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 นั้น
ในเวลา 1 ปี ที่กฎหมายให้มีการเตรียมการรองรับการบังคับใช้กฎหมาย กระทรวงจะเร่งดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปประกอบการออกกฎหมายลูก และบทเฉพาะกาล ด้วยการจัดให้มีการสัมมนาแนะนำกฎหมายและสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล “PDPA - Privacy for All” ภายใต้แนวคิด “คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดูแลทุกภาคส่วน ก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง ทันสมัย ทั่วถึงและเท่าทัน”
โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้บริหารหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการดูแลข้อมูลของหน่วยงาน และผู้แทนกลุ่ม/สมาคม/มูลนิธิ ตลอดจนสื่อมวลชน กว่า 1,200 คน เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก จนสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวม การใช้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นการล่วงละเมิดดังกล่าว สามารถกระทำได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว รวมทั้งก่อให้เกิด ความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ตัวอย่าง การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยที่เกิดขึ้นบ่อย และพึงระวังไว้ จะเป็นเรื่องการขาย โอนข้อมูลส่วนบุคคลโดยที่เจ้าของข้อมูลเองไม่ได้ให้ความยินยอม และเรื่องข้อมูลรั่วจากบริษัทป้องกันที่ไม่ดีพอ เช่น ไฟล์บัตรประชาชน ใบขับขี่ ถูกแฮ็ก หรือถูกเรียกค่าไถ่ ตลอดจนข้อมูลรั่วจากการโพสต์ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลการเดินทางลงบนสื่อโซเชียล เป็นต้น
ดังนั้น สิ่งที่คนไทยจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ก็จะตอบโจทย์ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ขณะเดียวกันก็ช่วยปลดล็อกให้ธุรกิจและหน่วยงานรัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ภายใต้มาตรฐานสากล คือ 1.ป้องกันการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลอันจะเกิดจากการล่วงละเมิด สร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือสร้างความเสียหายใดๆ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกระทำได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็วในการก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวบุคคล ตลอดจนต่อเศรษฐกิจโดยรวม
2.ช่วยแก้ปัญหาการไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าที่ควรเพราะติดกับข้อติดขัดที่ไม่มีมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ที่ผ่านมามีอุปสรรคอย่างมากในการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการสร้างกลไกและมาตรฐานการกำกับดูแลในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
“ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในการสัมมนาครั้งนี้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับ ไปใช้เพื่อยกระดับองค์กร และเพื่อเป็นการปรับตัวในการเตรียมความพร้อมให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และรับทราบถึงบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในระยะเริ่มแรก นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสามารถรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมไปเป็นข้อมูลสำหรับจัดทำคู่มือและแนวทางปฏิบัติในแต่ละด้านอีกด้วย”