xs
xsm
sm
md
lg

'ดิจิทัล ฟาร์มมิ่ง โซลูชัน' แผนดีแทคปั้น CSR ทำเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ประพันธ์ จิวะพงษ์

ยุคที่แบรนด์ลงทุนสร้างห้องน้ำหรือมอบเงินทำโครงการตอบแทนสังคมแบบเก่านั้นจบไปนานแล้ว จนที่ผ่านมา CSR ถูกเปลี่ยนเป็นยุค CSV ที่เน้นสร้างคุณค่าร่วมหรือ Creating Share Value ให้สังคมและแบรนด์ได้ประโยชน์ร่วมกัน ล่าสุดแม่ทัพ CSR ดีแทคกำลังดีเดย์จุดพลุสู่ยุค 'CSV ยั่งยืน' ให้แจ้งเกิดเป็นรูปธรรมในปี 63 โดยวางรากใหม่ให้โครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ปรับโฉมเป็น 'ดิจิทัลฟาร์มมิ่งโซลูชัน'ที่สามารถทำเงินเลี้ยงโครงการโดยที่เกษตรกรไทยยังใช้งานฟรีต่อเนื่อง สานฝันให้เกษตรกรไทยหยั่งรู้ฟ้าดินผ่านหน่วยธุรกิจใหม่ที่จะย้ำจุดยืนดีแทคเรื่องการทำธุรกิจร่วมกับการสร้างคุณค่าให้สังคมไทย


ประพันธ์ จิวะพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดใจถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนโครงการเพื่อสังคมของ ดีแทคในวันนี้ว่ายังคงต่อยอดจากการใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่ดีแทคถนัด เพื่อนำมาเสริมสร้างศักยภาพคนไทย เบื้องต้นพบว่าปัญหาหลักของเกษตรกรไทยคือต้นทุนการทำเกษตรที่สูงมาก และแม้จะใช้ทุนสูงแต่ผลผลิตกลับอยู่ในระดับต่ำ


'ที่ผ่านมา มีแต่คนถามว่าดีแทครู้อะไรบ้างเรื่องการเกษตร เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่เราก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งถ้าไม่ถนัดเรื่องไหน เราก็จะหาพาร์ทเนอร์ คือถ้าไม่รู้เรื่องการเกษตร ก็จะเป็นพันธมิตรกับภาครัฐ ดีแทคทำงานกับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนเรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็ทำกับเนคเทค และทำกับ รีคัลท์ สตาร์ทอัปที่เคยชนะดีแทคแอคเซเลอเรท พอภาครัฐประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ส่วนใหญ่ก็เน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรม และบริการ แต่เราเห็นว่าภาคการเกษตรไทยกลับทำจีดีพีได้น้อยมาก ไม่ถึง 10% สะท้อนว่ารากเหง้าเรายังต้องพัฒนา แม้แต่ประเทศไทยเอง ประชากรกลุ่มใหญ่ก็เป็นเกษตร เราก็สงสัยว่าทำไมเกษตรกรยากจน ทั้งที่รัฐก็ทุ่มเทงบให้'



จากการคลุกคลีกับเกษตรกรไทยเกิน 10 ปี ดีแทคพบว่าต้นทุนการทำเกษตรที่สูงอาจเป็นเพราะการใช้สารเคมีที่รุนแรงและเข้มข้น ซึ่งการใช้สารเคมีที่เป็นต้นทุนสูงอย่างไม่ถูกวิธีนั้นไม่ก่อเกิดประโยชน์ แถมยังเป็นอันตราย ขณะที่ไทยยังมีปัญหาผลผลิตต่ำ เห็นได้ชัดจากปริมาณผลผลิตต่อไร่ของข้าวโพด ที่ไทยทำได้ 644 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น น้อยกว่าลาวที่ทำได้ 888 กิโลกรัมต่อไร่ แถมยังน้อยกว่าเวียดนาม และสหรัฐอเมริกา


'ผลผลิตต่อไร่น้อยก็แปลว่าสินค้าเกษตรไทยจะแพงกว่าชาวบ้าน อีกหน่อยอาจนำเข้าเพราะราคาถูกกว่า ที่ดีแทคเราทำได้ คือให้เกษตรใช้เทคโนโลยี นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทั่วโลกพิสูจน์มาแล้วว่าเทคโนโลยีช่วยได้ ทั้งเรื่องอากาศเปลี่ยน สารอาหารในดิน ต้นทุนปุ๋ย การเพิ่มผลผลิต การชดเชยแรงงานโดยใช้เทคโนโลยี ช่วยได้หมด'


***เริ่มจากสิ่งที่ถนัด


'ดีแทคเชื่อว่า สิ่งที่เราถนัด จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการเกษตรได้ โครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์จึงเริ่มจากที่ดีแทคมองว่าเทคโนโลยีเป็นตัวการให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ประชาชนนอกเขตเมืองอาจไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ แม้แต่คนในเมืองก็ยังใช้เทคโนโลยีได้ไม่ครบ' ประพันธ์อธิบาย


ดีแทคจึงริเริ่มอัดฉีดโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์เพราะต้องการพัฒนาบุคลากรการเกษตรให้พร้อมนำเอาเทคโนมาปรับใช้ให้เข้ากับตัวเอง เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรปรับตัวไม่ทันจนเกิดผลเสียตามมา


นอกจากนี้ ดีแทคยังต้องการสร้างดิจิทัลโซลูชัน เพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเน้นการใช้งานที่ง่ายและเข้าถึงได้ ทำให้มีแนวคิดต้องการเปลี่ยนจาก 'สมาร์ทฟาร์มเมอร์' มาเป็น 'ดิจิทัลฟาร์มมิ่งโซลูชัน' เพื่อจะแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรทั้งเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ได้ผลต่ำ


'เราพัฒนามา 10 ปี จากที่เคยเป็น SMS ส่งข้อมูลให้เกษตรกร ตอนนั้นมือถือยังเป็นจอขาวดำ เราก็ส่งข้อมูลเรื่องข้าว พืชไร่ ปศุสัตว์ วันละ 3-4 ข้อความ SMS ให้ฟรี สมัครได้ผ่านมูลนิธิรักบ้านเกิด ซึ่งจะมีปราชญ์ชาวบ้านมาตอบคำถามให้เกษตรกร แต่เมื่อมีสมาร์ทโฟน ดีแทคและรักบ้านเกิดก็ทำเป็นแอป ฟาร์มเมอร์อินโฟ เป็นแอปที่ให้ฟรีหมด ไม่คิดดาต้า ให้ข้อมูล เน้นเรื่องราคารับซื้อผลผลิต เพราะสำรวจแล้วพบว่าเกษตรกรอยากรู้ราคารับซื้อผลผลิตของแต่ละตลาด เพื่อจะได้วางแผนว่าจะนำไปขายที่ไหน หรืออาจจะขายปลีกเองแบบไม่ผ่านตลาดกลาง พวกนี้เราให้ข้อมูลเกษตรไปจัดการขายเอง'


สิ่งที่เพิ่งเพิ่มในแอป 'ฟาร์มเมอร์อินโฟ' คือความแม่นยำเรื่องพยากรณ์อากาศ ซึ่งเกษตรกรสามารถดูข้อมูลอากาศเฉพาะที่แปลงเกษตรของตัวเองแบบแม่นยำ 70% เพียงแชร์โลเคชันจะสามารถทราบปริมาณน้ำฝน เพื่อนำไปวางแผนการหว่านเมล็ดหรือการใส่ปุ๋ย


'ฝนสำคัญมากสำหรับประชาชนนอกเขตชลประทาน อีกจุดที่เราทำคือเรนแม็ป (Rain Maps) แผนที่ฝนซึ่งสามารถบอกระดับความแรงของพายุฝนได้แบบล่วงหน้า 9 เดือน อันนี้สำคัญมาก เป็นข้อมูลประกอบการทำเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ'
วิสัยทัศน์ของประพันธ์ไม่หยุดเท่านี้ แต่ขยายไปถึงความต้องการให้เกษตรกรไทยเป็นผู้ประกอบการ


'ไม่ใช่ปลูกอย่างเดียว ปลูกตามเพื่อนบ้าน รัฐบาลให้ปลูกอะไรก็ปลูกกันทั่วประเทศ ในที่สุดก็ไม่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เนื่องจากความไม่ถนัด ผลผลิตล้นตลาด' ประพันธ์เล่า 'เราจึงเริ่มสอนออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง ดูเทรนด์ผ่านกูเกิล แต่ละชนิดราคาต่างกันอย่างไร จะได้วางแผนการปลูก อีกจุดที่เรามองคืออยากให้เกษตรกรลดการพึ่งพาคนกลาง แต่อาจใช้การแปรรูป หรือเกษตรอินทรีย์สามารถเปิดร้านออนไลน์บนเฟซบุ๊ก เราจึงเข้าไปสอนเขียนคอนเทนต์ ทำแพ็กเกจ สอนถ่ายรูป เข้าไปสอนหมดเพื่อให้ทำการค้าออนไลน์ได้ โลจิสติกส์ แม้แต่กลโกงเรื่องการจ่ายเงินออนไลน์ เราอบรมเป็นเวิร์กช็อป 1 วัน แม้จะไม่ได้ใช้ทันที แต่ก็หวังจุดประกายเกษตรกรให้เรียนรู้ต่อไป'


ดีแทคใช้การคัดเลือกผู้เข้าอบรมโดยเน้นกลุ่ม 'ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์' ชาวไร่ชาวนายุคใหม่ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นและสนใจเทคโนโลยี ซึ่งพร้อมเปลี่ยนแปลงปรับตัว กลุ่มนี้มักทำการเกษตรแบบปลอดภัย ใช้สารเคมีน้อยมากหรือไม่ใช้เลย


'ที่ต้องคัดเพราะเราไม่สามารถเข้าถึงทุกคน และกลุ่มที่ใช้สารเคมี อาจจะไม่ค่อยรับเทคโนโลยีใหม่ เราร่วมกับเกษตรจังหวัด อบรมครั้งละ 40 คน พบว่าคนที่เข้าอบรมไปแล้วมีรายได้จากการค้าขายออนไลน์เฉลี่ยมากขึ้นกว่า 35% บางคนสูงถึง 70% บางรายได้รับการติดต่อเอาไปขายที่ห้างใหญ่ก็มี'


ประพันธ์ยกตัวอย่าง 'บ้านสวนเมลอน' กรณีศึกษาจากฉะเชิงเทราว่าเป็นแปลงเพาะเมลอนญี่ปุ่น ที่สามารถส่งขึ้นไปให้บริการผู้โดยสารการบินไทยแล้ว ด้วยแอปพลิเคชันดีแทค ทำให้บ้านสวนเมลอนหยั่งรู้ฟ้าดิน ขณะที่การเรียนออนไลน์มาร์เก็ตติ้งทำให้สามารถสร้างความน่าสนใจ ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง สามารถปรับเปลี่ยนให้พื้นที่ฟาร์มตัวเองเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ด้วย เป็นพัฒนาการอีกขั้นของเกษตรกรรมไทยเหมือนที่ญี่ปุ่นทำได้

'เกษตรกรในกลุ่มบริษัทน้ำมัน น้ำตาล พวกนี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเรา เพราะเทคโนโลยีของเขาซับซ้อน แต่ของเราเปิดให้ใช้เทคโนโลยีได้แบบเฉพาะกลุ่ม ไม่แมส'

ในมุมอุปกรณ์ ดีแทคพัฒนาอุปกรณ์ IoT ที่มีสมาร์ทเซ็นเซอร์โดยร่วมกับเนคเทค สมาร์ทเซ็นเซอร์นี้สามารถวัดความชื้นในดิน อุณหภูมิในโรงเรือน และแสง การติดกล้องภายในโรงเรือนจะทำให้เกษตรกรสามารถรู้และ 'คุย' กับพืชผลข้างในได้ มีระบบไว-ไฟเพื่อรับส่งข้อมูลขึ้นคลาวด์และแอปพลิเคชัน ทำให้แจ้งเตือนเกษตรกรได้ว่าความชื้นในดินต่ำและต้องการน้ำด่วน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถเปิดน้ำผ่านแอปได้ และสามารถปิดอัตโนัมัติเมื่อความชื้นกลับมาปกติ

'บางทีทุกอย่างปกติ แต่ใบเหี่ยว ก็สามารถดูประวัติเพื่อแก้ไขได้ถูกต้อง ไม่ใช่เน้นแต่รดน้ำ แต่บางครั้งปัญหาแก้ได้ด้วยการเปิดม่าน นี่คือดีแทคร่วมกับเนคเทค 2 ปี ทดลองและสาธิตว่าใช้งานได้จริง ทำให้บ้านสวนเมลอนควบคุมความหวานของเมลอนได้ตามที่การบินไทยสั่งซื้อ'

***นำร่อง 30 ฟาร์มไม่พอ

วันนี้อุปกรณ์ IoT ดีแทคถูกทดลองใช้ใน 30 ฟาร์ม ในรัศมี 300 กิโลเมตรรอบกทม. เน้นฟาร์มที่เพาะมะเขือเทศ ผักไฮโดรฯ รวมถึงฟาร์มเศรษฐกิจอย่างฟาร์มจิ้งหรีด ซึ่งมีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลเพราะสามารถนำไปสกัดทำเวย์โปรตีน โดยการขยายพันธุ์จิ้งหรีดต้องมีความชื้นคงที่ จึงจะขยายพันธุ์ได้ดี



จาก 30 ฟาร์ม ดีแทคพบว่า 80% ชอบและประสบความสำเร็จในการใช้อุปกรณ์ IoT แต่อีก 20% กลับไม่มีการบันทึกข้อมูลทั้งที่เป็นจุดที่ต้องทำเพราะการบันทึกจะทำให้ระบบสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะของฟาร์มนั้น โดยทั้ง 80% สามารถทราบว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร ปริมาณสินค้าเกรดเอเปลี่ยนแปลงหรือไม่


'จะรู้ได้เลยว่าการใช้เครื่อง IoT ดีกว่าสัญชาติญาณ วันนี้เกษตรกรไม่ต้องขยำดินวัดความชื้นด้วยมือแล้ว เพราะเซ็นเซอร์แม่นยำกว่า'


เมื่อค่อนข้างประสบความสำเร็จ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่การทำให้โครงการยั่งยืนหรือ sustainable กลับติดขัดเพราะไม่สามารถขยายไปทั่วประเทศได้ เนื่องจากการสอนออนไลน์มาร์เก็ตติ้งที่ดีแทคทำมา 3 ปี นั้นมีผู้ผ่านการอบรมราว 3.5 หมื่นรายเท่านั้น


'เราเลยมองว่าอยากให้เป็นธุรกิจ ดีแทคมองเป็นนิวบิสสิเนส แยกจากคอร์บิสสิเนสที่เน้นโทรคมนาคม เราตั้งทีมขึ้นมา เพื่อเปลี่ยนให้เป็นดิจิทัลฟาร์มมิ่งโซลูชัน เราต้องการสร้างอิมแพค เพราะถ้ายังทำ CSR จะไม่สามารถส่งต่อไปยังเกษตรกรจำนวนมากได้ IoT ก็ทำได้แค่ 30 ฟาร์ม'


***สางปมเกษตรกรไม่ชอบจ่ายเงิน


ประพันธ์ยอมรับว่าเกษตรกรเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ท้าทายมาก เพราะบางส่วนเป็นเกษตรกรที่ได้รับการดูแลตลอดจากทั้งรัฐและเอกชน ฉะนั้นการจะไปขายโซลูชันให้เกษตรกรถือว่ายากมาก เพื่อแก้ปัญหานี้ ดีแทคจึงกำลังร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง 'ยาร่า' ผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่จากนอร์เวย์เพื่อพัฒนาข้อมูลให้ดิจิทัลฟาร์มมิ่งโซลูชัน สร้างให้เป็นแพลตฟอร์มความรู้ ซึ่งจะใหญ่กว่าแอป เพราะจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เกษตรกรสามารถเชื่อมกับผู้เชี่ยวชาญการเกษตรได้โดยตรง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของประเทศ


'หลายคนกลัวว่าแพง เข้าไม่ถึงหรอก เราจึงมองให้ดิจิทัลฟาร์มมิ่งโซลูชันต้องง่ายและแก้ปัญหาได้ ทำอย่างไรให้เงินในกระเป๋าเกษตรกรเพิ่มขึ้น ช่วยเรื่องส่งเสริมการตลาดได้ เราจะขยายผลให้เป็นโมเดลทางธุรกิจ เรากำลังคิดเรื่องบิสสิเนสโมเดลผ่านการหาพาร์ทเนอร์ ซึ่งต้นทุนฮาร์ดแวร์โซลูชันจะต้องต่ำกว่าราคาสมาร์ทโฟนระดับกลาง และต้องคืนทุนได้ใน 2-3 ฤดูเก็บเกี่ยว เรียกว่าทั้งเซ็ตต้องไม่ถึงหมื่น ทั้งเซ็นเซอร์ ไว-ไฟ'



ประพันธ์มองว่าภาครัฐมีผู้เชี่ยวชาญหลายราย แต่ผู้เชี่ยวชาญได้พบเจอเกษตรกรไทยเพียงแค่ 1-2 พันคนเท่านั้น แต่เทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถทำให้องค์ความรู้กระจายไปสู่คนนับล้าน นี่เองที่จะเป็นจุดแข็งของการสร้างดิจิทัลโซลูชัน ที่หากเกษตรกรตื่นเช้าขึ้นมาแล้วพบใบข้าวสีแปลกไป ก็สามารถถามได้เลยว่า 'เป็นอะไรคะ'


3 ฟีเจอร์หลักในดิจิทัลฟาร์มมิ่งโซลูชันของดีแทค คือส่วนศูนย์ข้อมูล ที่จะให้ข้อมูลเรื่องพืชแต่ละชนิด สามารถเทียบสีในแอปเพื่อตรวจว่าพืชขาดสารอาหารใด ส่วนที่ 2 คือคอมมูนิตี้ชุมชน ให้เกษตรกรถามข้อมูลกันได้ หรือเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนผลผลิตที่ต้องการ และส่วนที่ 3 คือการหาพันธมิตร ซึ่งจะเป็นแบรนด์ที่ต้องการเจาะกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถสั่งซื้อสินค้ามาที่ฟาร์มได้ เช่นแบรนด์ปุ๋ยอย่างยาร่า หรือแบรนด์รถไถอย่างคูโบต้า ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาอย่างเป็นทางการ


'ปีแรกเราจะเปิดให้ใช้ฟรี จนสามารถดึงให้คนเข้ามาใช้งานเป็นนิสัย 2 ฟีเจอร์แรกคือตัวเพิ่มคนเข้ามาในระบบ จะนำไปสู่ฟีเจอร์ที่ 3 โครงการนี้ก็จะขายโฆษณาได้ อาจไม่กำหนดเฉพาะสินค้าการเกษตร แต่อาจจะร่วมมือกับผู้ให้บริการตลาดออนไลน์อย่าง Lazada ก็ได้' ประพันธ์ย้ำ 'เราไม่ได้เร่งรีบเรื่องเงิน แต่กำลังปรับ CSR ทรานฟอร์มให้เป็นบิสิเนสโมเดล เพื่อขยายผลให้เกษตรกรโดยไม่ต้องสร้างความเดือดร้อน ทุกคนยังใช้ฟรีอยู่ แต่เราจะไปคิดและหาบิสสิเนสพาร์ทเนอร์ เพื่อขยายผล อาจไปร่วมมือกับองค์กรประกันราคาสินค้าเกษตร หรืออาจะทำสินเชื่อรายย่อยได้'


ประพันธ์ยอมรับว่า 'บิ๊กดาต้า' ในอนาคตจากโครงการนี้จะสามารถแบ่งเกรดเกษตรกรไทยได้ ประเด็นนี้ดีแทคตั้งใจให้เป็นโอเพ่นแพลตฟอร์มเพื่อเปิดรับทุกแบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงเกษตรกร จะกลายเป็นบิสสิเนสโมเดลที่ยั่งยืน


'เราวางกรอบไว้ 1 ปี เหมือน จส 100 ที่ปีแรกรายงานอย่างเดียว เอาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้คนบนท้องถนนมาบอกเล่า ทำให้ผู้ขับติดและเปิดฟังทุกวัน เมื่อคนติดเยอะก็มีรายได้โฆษณาเข้า เราวางแผนไว้ 1 ปี แต่ทุกอย่างยังต้องดูการประเมินผลตามช่วงเวลา'



ประพันธ์ย้ำว่าดีแทคยังไม่มีแผนขยายการทดลองระบบ IoT เพิ่มเติม แต่มีแผนวางจำหน่ายเนื่องจากฮาร์ดแวร์ส่วนนี้ไม่ใช่คอร์บิสสิเนสของดีแทค จึงต้องใช้ทุนและทรัพยากรสูง เบื้องต้นวางกรอบจุดพลุแพลตฟอร์มนี้เต็มตัวในไตรมาสแรกปี 63


***แจ้งเกิดธุรกิจใหม่-ไม่เผยเงินทุน


ประพันธ์ระบุถึงโครงการนี้ว่าจะเป็นนิวบิสสิเนสบนระบบอไจล์ (Agile) ที่เน้นการล้มให้เร็วแล้วรีบปรับให้เวิร์ก


'เราลงทุนพอสมควร แต่ก็ลงร่วมกับพาร์ทเนอร์ เรามีอยู่แล้ว 50% ก็ลงเพิ่มเป็นหลักล้าน คิดว่าจะใช้งบมากขึ้นเมื่อต้องสื่อสารออกไป' ประพันธ์กล่าว 'ธุรกิจดีแทควันนี้ต้องปรับตัว เพราะวอยซ์คนไม่พูดถึงแล้ว ทุกอย่างเป็นดาต้าแพ็กเกจ สัญญาณก็เกือบเท่ากัน การขายดาต้าก็ยังขายต่อไป แต่ที่ดีแทคมองคือการพัฒนาโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาให้กลุ่มเป้าหมาย เพื่อดึงดูดให้เข้ามาในเครือข่าย'


ประพันธ์เชื่อว่าแม้เกษตรกรจะถูกหลายคนมองว่าเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายน้อย แต่แท้จริงแล้วกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เซกเมนต์ได้ ประกอบด้วย 1. กลุ่มดั้งเดิมที่ทำการเกษตรแบบเก่า ถือเป็นกลุ่มใหญ่ของเกษตรกรไทย 2. กลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ กลุ่มนี้เชื่อว่ามีจำนวนเกิน 1 ล้านรายซึ่งสนใจในเทคโนโลยี และใช้สมาร์ทโฟน-โซเชียลมีเดีย-ยูทูบ 3. กลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เชื่อว่ามีจำนวนราว 2 แสนคน เป็นกลุ่มที่สั่งอุปกรณ์ออนไลน์มาใช้เอง


'2 กลุ่มหลังคือเป้าหมายหลักของเรา และในอนาคต 2 กลุ่มนี้อาจจะก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มใหญ่ ถึงเราไม่ได้เจาะตลาดใหญ่ในวันนี้ แต่จะเจาะกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต เป็นกลุ่มที่มีหนี้สินน้อย และเปิดรับการเพิ่มผลผลิตด้วยการแปรรูป หรือขายออนไลน์ และการเปิดเป็นร้านกาแฟหรือสถานที่ท่องเที่ยว'


ประพันธ์ยอมรับว่าดีแทคตั้งความฝันไว้สูง เพราะประเมินว่าจะมีเกษตรกร 3 แสนรายเข้ามาใช้แพลตฟอร์มนี้ภายในปี 63 คาดว่า 70% จะเป็นกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และอีก 30% คือกลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เชื่อว่าแพลตฟอร์มนี้จะเหนือกว่าการค้นหาข้อมูลการเกษตรที่กระจัดกระจาย และไม่มีการรับรองความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้ตอบปัญหาเพาะปลูก ซึ่งปัจจุบัน ไทยมีแหล่งเรียนรู้เรื่องการเพาะปลูกอยู่บ้างแต่ก็อัปเดทไม่สม่ำเสมอ


'เป้าหมายเราคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดคุณค่า เพิ่มประสิทธิภาพให้เกษตรกร ลบปัญหาผลผลิตต่ำ เป้าหมายรองคือเมื่อเห็นคุณค่าแล้วก็สามารถนำเสนอรูปแบบธุรกิจ เพื่อให้โซลูชันและการดำเนินโครงการนี้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง เราจะเน้นรายงานสภาพอากาศ ราคาตลาด สินค้าผลผลิต ครบวงจรในที่เดียว จะสร้างอินฟลูเอนเซอร์ มีเชิญมาตอบคำถาม ใช้สิ่งนี้มาเป็นแนวทางการทำงานต่อไป'



กำลังโหลดความคิดเห็น