xs
xsm
sm
md
lg

“ฐากร” แจงความจำเป็นต้องมีคณะกก.ขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลขาธิการกสทช.ย้ำถึงความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ยืนยันไม่ใช่มีไว้ประมูลคลื่น เพราะการประมูลคลื่นเป็นหน้าที่ของกสทช.ที่ดำเนินการอย่างโปร่งใส ไม่สามารถกันคลื่นให้รายใหม่หรือรายเก่าได้ ทุกอย่างแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะต้องการให้ประเทศไทยขับเคลื่อน 5G ได้ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ กรรมการชุดนี้ไม่ได้มีหน้าที่มาประมูลคลื่นความถี่ เพราะเป็นหน้าที่ของกสทช.ที่ต้องเป็นหน่วยงานที่จัดการประมูลคลื่น

ส่วนการประมูลคลื่นความถี่นั้น เป็นการประมูลอย่างโปร่งใส ไม่สามารถกันคลื่นความถี่ให้รายใดรายหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นรายเก่าหรือรายใหม่ เพราะเป็นการเปิดประมูลแบบเสรีให้ทุกฝ่ายสามารถแข่งขันกันได้เต็มที่ กสทช.ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่หรือกันคลื่นความถี่ให้ใคร โดยไม่ผ่านกระบวนการประมูลได้

นอกจากนี้คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติยังมีกรรมการประกอบด้วยตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม เป็นต้น ทั้งหมดเพื่อร่วมกันขับเคลื่อน 5G ประเทศไทย รวมทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้โอเปอเรเตอร์เห็นว่ามีความต้องการใช้งาน 5G อยู่จำนวนมาก

“คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติคือคณะกรรมการในการที่ต่อยอดการใช้งานของ 5G ให้เกิดประโยชน์เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การประมูลคลื่นเป็นหน้าที่ของกสทช.ดำเนินการ แต่การใช้งานของ 5G เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาดำเนินการเพื่อให้ทุกหน่วยงานเตรียมตัวปรับเปลี่ยนให้ทัน มิฉะนั้นเราจะเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างไร ไม่ใช่เกิด 5G แล้วภาคอุตสาหกรรมยังใช้แรงงานคนเช่นเดิม ภาคสาธารณสุขก็ยังไม่มี smart hospital คนไข้ยังต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเหมือนเดิม ภาคการขนส่งก็ยังใช้แรงงานคนเหมือนเดิม แล้วมันจะเกิด 5G ไปทำไม”



ในการเสวนาเรื่องกระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝัน เลขาธิการกสทช.กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมีคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติว่า โรดแมป 5G กสทช.เป็นไปตามแผนทั้งหมด คือ จะมีการจัดสรรคลื่นย่าน 2600 MHz ย่าน 700 MHz ย่าน 26 GHz 28 GHz ภายในปลายปี 2562 ซึ่งกระบวนการประมูลจะเริ่มปี 2563 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ปลายปี 2563 ต่อต้นปี 2564 ในบางพื้นที่ได้ ในเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ภาคการท่องเที่ยว โลจิสติกส์ต่างๆ แต่ตอนนี้ประเทศในกลุ่มอาเซียน ขยับโรดแมปขึ้นมา อย่างเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ จะเปิด 5G เชิงพาณิชย์เดือนมิ.ย.หรือ ก.ค. 2563 ส่วนประเทศคู่ค้ากับอาเซียน อย่างญี่ปุ่น จะเปิด 5G ช่วงโอลิมปิก หรือ เดือนก.ค.2563


ดังนั้นเราต้องขยับโรดแมปเราขึ้นมาเพื่อให้ทันประเทศอื่น หากได้ราวเดือนก.ย.หรือต.ค.2563 แล้วประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียนช้ากว่าเรา ถือว่าเราเดินหน้าไปแล้ว การย้ายฐานการผลิตไม่เกิดขึ้น และหาก 5G ไม่เกิดขึ้นประเทศไทยได้รับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆที่ต้องการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ จะไม่เกิดขึ้น จะทำให้ประเทศไทยการแข่งขันต่างๆจะมีคุณภาพต่ำลง การย้ายฐานการผลิตต่างๆจะเกิดขึ้น ไปอยู่ประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าประเทศไทย

เราจึงต้องมีการขยับโรดแมปให้เร็วขึ้น กสทช.มีการประเมินมูลค่าหาก 5G ไม่เกิด ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตต่างๆจะสูญเสีย มูลค่าประมาณ 6 แสนกว่าล้านบาท ภาคขนส่ง โลจิสติกส์ เสียหาย 1 แสนกว่าล้านบาท ภาคเกษตรกรรม สมาร์ทฟาร์มมิ่งต่างๆ ที่เวียดนามเป็นคู่แข่งกับไทย การย้ายฐานการผลิตเกิดขึ้นแน่นอน เพราะผลผลิตที่ออกไปคุณภาพดีไม่เท่าแล้ว ปริมาณน้อยกว่าเพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่า รวมมูลค่าความเสียหาย 2 ล้านล้านบาท

สิ่งสำคัญอีกเรื่องของ 5G คือ โอเปอเรเตอร์นิ่งหมด เพราะ 4G ยังไม่ได้ทุนคืนเลยแล้วจะให้ทำ 5G อีก ทุกรายอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยมีเงื่อนไขหมด ทำให้คิดว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร อย่างจีนเกิด 5G ขึ้นเพราะจัดสรรคลื่นฟรี 4 ปีไม่ต้องจ่ายอะไรเลย เวียดนามให้คลื่นฟรีก่อนแล้วเก็บเงินที่หลัง และสิ่งที่สำคัญคือกสทช.ต้องเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จากอสมทซึ่งจะมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นอีก

เรื่องทั้งหมดจึงถูกนำเสนอถึงนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เพราะว่าปล่อยลำพังแต่กสทช.ทำเอง มันไม่ใช่การประมูลคลื่นธรรมดา เพราะ 5G ไม่ใช่เรื่องโมบายอย่างเดียว เพราะหากเป็นโมบายอย่างเดียวมันง่ายสะดวกไปใช้งานอย่างเดียว แต่วันนี้ 5G เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศแล้ว หากไม่เกิดจะเป็นปัญหาอย่างแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น