กูเกิลคลาวด์ (Google Cloud) ธุรกิจบริการคลาวด์คอมพิวติงของกูเกิลเผยปีหน้าลุยขยาย 3 ด้านในไทยทั้งการเพิ่มฐานลูกค้า บุคลากรคลาวด์ และการเจาะองค์กรใหญ่ ยอมรับไทยไม่ใช่ 1 ใน 9 ประเทศที่ Google Cloud ตั้งเซิร์ฟเวอร์ดาต้าเซ็นเตอร์เอเชีย แต่จะเน้นลงทุนพัฒนาเครือข่ายประสิทธิภาพสูงที่มีความหน่วงน้อยมาก ปากแข็งไม่กังวลคู่แข่งเพราะเน้นจุดเด่นให้ลูกค้าเลือกตามใจต้องการ เผยสถิติ 3 ปีสามารถกระจายบริการ Google Cloud สู่ 150 ประเทศ ขณะที่ G Suite มีผู้ใช้รวมเกิน 1,500 ล้านคน คิดเป็น 5 ล้านองค์กรทั่วโลก
ทิม ไซแนน (Tim Synan) ผู้อำนวยการ Google Cloud ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์ในงานกูเกิลคลาวด์ซัมมิท (Google Cloud Summit) ครั้งที่ 2 ว่ากลยุทธ์หลักของ Google Cloud นับจากนี้จะเน้นที่การสร้างจุดต่างเรื่องการให้อิสระเพื่อให้ผู้ใช้สามารถนำคลาวด์หลายแพลตฟอร์มมาต่อกัน โดยปฎิเสธที่จะให้รายละเอียดงบประมาณแผนการลงทุนในอาเซียน ระบุเพียงว่าบริษัทจะเน้นสร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัทมีแผนลงทุนสร้างเครือข่ายข้อมูลเหล่านี้ต่อเนื่องทั่วอาเซียน
“3 ปีที่แล้ว Google Cloud มีศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียแห่งเดียวคือที่ไต้หวัน เราขยายเป็น 7 แห่งและในปีหน้าคือ 9 แห่ง ไทยไม่ได้อยู่ใน 9 ประเทศนี้ก็จริง แต่กูเกิลเน้นลงทุนมากกว่าการตั้งเครื่อง โดยเน้นที่เน็ตเวิร์ก ซึ่งทำให้คนไทยดู YouTube ไม่เคยติดขัด การลงทุนเน็ตเวิร์กในภูมิภาคนี้สูงมาก ขอให้อย่ามองว่าเป็นเครื่อง ให้มองที่เน็ตเวิร์ก”
ปัจจุบัน Google Cloud ลงทุนพัฒนาธุรกิจมากกว่า 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก ข้อมูลระบุว่า Google Cloud เตรียมลงทุนราว 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐในยุโรปช่วงปีหน้า
บริษัทใหญ่เน้นคลาวด์ผสม
ผู้บริหาร Google Cloud ย้ำว่าบริการคลาวด์วันนี้ต้องขึ้นอยู่กับการเลือกของลูกค้า ซึ่งแม้กูเกิลจะมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย แต่ก็ต้องอยู่ที่ลูกค้าที่จะเป็นผู้เลือกแพลตฟอร์มที่สามารถใช้ได้ดีเฉพาะบางกรณี ทำให้ Google Cloud เน้นการพัฒนาโซลูชันอย่าง “แอนธอส” (Anthos) โซลูชันที่ทำให้ธุรกิจสร้างแอปพลิเคชันครั้งเดียว เพื่อนำไปใช้บนทุกแพลตฟอร์มคลาวด์ โซลูชันนี้จะตอบความต้องการให้ทุกองค์กรสามารถทำงานบนคลาวด์ของตัวเองได้ ซึ่งไม่ว่าจะมีกฏหมายใด ที่กำหนดว่าองค์กรต้องเก็บข้อมูลที่ไหน ก็ช่วยให้การส่งข้อมูลไปมาง่ายขึ้น
กลยุทธ์นี้สอดคล้องกับทิศทางการใช้งานคลาวด์ขององค์กรใหญ่อย่าง “กสิกร บิสิเนส-เทคโนโลยี กรุ้ป” และ “ทรู ดิจิทัล กรุ้ป” ซึ่งมีการใช้งานทั้งระบบเก็บข้อมูลของตัวเอง, คลาวด์ของกูเกิล รวมถึงคลาวด์ของอะเมซอน (AWS) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคลาวด์แต่ละค่ายมีจุดเด่นต่างกัน ซึ่ง Google Cloud ชูจุดเด่นเรื่องการวิเคราะห์ ทำให้ธนาคารอย่าง HSBC สามารถใช้จัดการเรื่องการฟอกเงิน หรือ SCB สามารถใช้เป็นระบบแมชชีนเลิร์นนิง ขณะที่ KTB เน้นใช้ G Suite เป็นหลัก
สำหรับเทรนด์ตลาดคลาวด์ไทยที่ผู้บริหาร Google Cloud ได้เห็นในช่วงปีที่ผ่านมา คือการลงทุนที่สูงมากขึ้นในตลาด ทำให้ทีมงาน Google Cloud เติบโตมากกว่า 3 เท่าตัวในปี 2018 ขณะเดียวกัน Google Cloud ก็มีพันธมิตรมากขึ้น, มีทีมวิศวกรสำหรับติดต่อกับลูกค้าแบบเฉพาะทาง ขณะเดียวกันก็เห็นผู้ใช้ใส่ใจกับการเลือกเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การย้ายงานไปยังคลาวด์มากขึ้น
“การแข่งขันในปีที่ผ่านมาดุเดือดจริง แต่เราก็ยังพยายามชูจุดเด่น และจุดต่างเพื่อผลักดันความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ” ทิมกล่าว “ทิศทาง Google Cloud ปีหน้า เรามีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับโลกรายใหม่ 2 ราย คือซีอีโอ Google Cloud และประธานธุรกิจ 1 ใน 2 คนนี้เดินทางมาประเทศไทยแล้วเป็นตลาดแรก สะท้อนว่าไทยเป็นตลาดสำคัญ”
ปีหน้าเน้นขยาย
Google Cloud ในปีหน้าจะเน้นต่อยอดจากฐานที่ทำตลาดไทยมาแล้ว 3 ปี จุดนี้ผู้บริหารไม่สามารถบอกตัวเลขการเติบโตที่หวังไว้ แต่คาดหวังว่าจะต่อยอดได้ 3 ด้าน
“ด้านแรกคือฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ด้านที่ 2 คือต้องการเห็นบุคลากรเรื่องคลาวด์มากขึ้น ทำให้ Google Cloud เน้นอบรมบุคลากรต่อเนื่อง ด้านที่ 3 คือต้องการเข้าถึงลูกค้ารายใหญ่ เช่น กลุ่มโทรคมนาคมและธนาคาร เพื่อเป็นกระบอกเสียงว่า Google Cloud มีคุณภาพ”
ผู้บริหาร Google Cloud ขยายความว่าไทยเป็นตลาดที่มีความสำคัญเพราะเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่จัดงาน Google Cloud Summit โดยเห็นชัดว่าลูกค้าไทยมีความพร้อมใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์สูง ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม การผลิต และการธนาคาร ซึ่งอาจเป็นเพราะ Google เข้าอยู่ในตลาดไทยพักใหญ่แล้ว เมื่อ Google Cloud เข้ามาทำตลาดก็สามารถประยุกต์ได้เลย ทำให้ตลาดขยายตัวเร็ว ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีบริษัทจำนวนมาก และมีบุคลากรคุณภาพที่ทำให้ไทยพร้อมใช้คลาวด์ในขณะนี้
“ผมไม่ค่อยเป็นห่วงเรื่องคู่แข่ง “แอนธอส” เป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนเกม แม้จะมีมาในตลาดมาระยะหนึ่งแล้วแต่เพิ่งเปิดตัวทางการเมื่อปีที่แล้ว เราไม่เน้นแข่งขันแต่เน้นสร้างความต่าง เราทำงานร่วมกับทั้งยูนิคอร์น ธนาคาร ทำให้มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันให้ง่าย ลูกค้าเห็นประโยชน์ว่าเอามาช่วยธุรกิจได้อย่างไร”
สำหรับงาน Google Cloud Summit ครั้งที่ 2 ถูกจัดขึ้นเพื่อโชว์กรณีศึกษา ช่วยให้องค์กรธุรกิจไทยเข้าถึงประโยชน์จากระบบคลาวด์ รวมตัวผู้ให้บริการ สร้างความร่วมมือ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ และช่วยให้ Google เข้าใจความต้องการของผู้ใช้ได้มากยิ่งขึ้น
ข้อมูลล่าสุดระบุว่า รายได้ Google Cloud ต่อปีคิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้อันดับที่ 3 ของบริษัทแม่ “อัลฟาเบ็ต” (Alphabet) โดยจำนวนพนักงานของ Google Cloud ถูกบันทึกว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับแผนกอื่นในเครือ วันนี้ Google Cloud เน้นเพิ่มทีมขายและเทคนิค มีแผนเพิ่มจำนวนพนักงานขายขึ้นเป็น 3 เท่าตัวใน 2-3 ปีข้างหน้า ในตลาดสำคัญทั่วโลก.