xs
xsm
sm
md
lg

เวทีร้อน! กระชากปม 5G “ฐากร” ย้ำต้องเกิดปี 63 “ดีแทค” สวนปี 64 เหมาะกว่า “ธีรชัย” แนะรื้อวิธีประมูล (อ่านคำต่อคำ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เสวนา “กระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝัน” เลขาฯ กสทช.ย้ำเร่งเปิดให้ได้ในปลายปี 63 แม้ ITU จะบอกเวียดนาม-มาเลย์มีแค่ราคาคุย แต่เราไม่ประมาท ด้าน “ดีแทค” ยันปี 64 เหมาะกว่า ให้มีความพร้อมด้านการลงทุนและการพัฒนาเทคโทโลยี ขณะอดีต รมว.คลัง แนะเปลี่ยนวิธีประมูล ใครคิดค่าบริการต่ำสุดชนะ หรือดึงต่างชาติเข้าร่วม



วันนี้ (25 ก.ย.) ที่ห้องประชุม กสทช. เว็บไซต์ MGR Online ในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360 องศา จัดงานเสวนา “กระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝัน” วันที่ 25 ก ย. 2562 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันถกปัญหาสำคัญของ 5G ประเทศไทย โดยมี พล.อ.สุกิจ ชมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมีผู้ร่วมเวทีเสาวนา ประกอบด้วย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง นางอเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในเวทีเสวนา นายฐากรกล่าวว่า กสทช.มีโรดแมปที่จะเปิดบริการ 5G ให้ได้ในปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 แต่มีรายงานว่าเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ จะเปิดเชิงพาณิชย์ในเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2563 ดังนั้น เราจะต้องขยับโรดแมปขึ้นมาเร็วขึ้น โดยจะให้เริ่มใช้งานได้ ก.ย.-ต.ค. 2563 เพื่อให้นักลงทุนไม่ย้ายฐาน ประเมินมูลค่าว่าหากประเทศไทยไม่เกิด 5G ภาคเศรษฐกิจจะสูญเสียรวม 2 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งเรายอมไม่ได้ ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป อยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม โอเปอเรเตอร์ยังนิ่งอยู่ โดยบอกว่า 4G ยังไม่คุ้มทุน ให้ลงทุนเพิ่มอีก ขอรวบรวมเงินสำหรับการลงทุนก่อน ขอให้รัฐบาลช่วย ให้ได้รับการจัดสรรฟรีก่อนได้หรือไม่ จึงมีความกังวลว่าจะสามารถไปถึงฝันได้หรือไม่ ทั้งนี้ สิ่งที่โอเปอเรเตอร์สะท้อนปัญหาทั้งหมด 5G จึงเป็นวาระแห่งชาติ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ 1. มูลค่าคลื่นความถี่ ที่คาดหวังจากการประมูลคลื่นความถี่ครั้งที่ผ่านมา 2. การลงทุนของโอเปอเรเตอร์ 3. การต่อยอดการทำงาน การนำไปใช้งาน ผู้ที่จะนำไปใช้งานคือใคร เมื่อถึงตอนนั้นหากไม่มีคนใช้จะทำอย่างไร การตั้งคณะกรรมการจะช่วยขจัดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการต่อยอดทันที เมื่อโอเปอเรเตอร์เกิดความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น ทุกภาคต้องเกิดการใช้งาน และเมื่อโอเปอเรเตอร์มีความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะช่วยสานฝัน 5G ให้เกิดขึ้นได้ ในปี 2563 แม้ว่าทาง ITU จะบอกว่า ขณะนี้ไทยเอาจริงเรื่อง 5G มากกว่าเวียดนามและมาเลเซียเซีย ซึ่งมีแต่คำพูด และเชื่อว่าไทยน่าจะทำได้ก่อน แต่เราก็ไม่ประมาท จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

นางอเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า เรามีความมุ่งมั่นในเรื่อง 5G แต่ต้องดูผลด้วยว่าจะเกิดอย่างไร ในเกาหลีการทดสอบ 5G ยังไม่ได้ผลที่ชัดเจนเพราะมีผู้ใช้งานแค่ร้อยละ 10 เครือข่ายก็ยังไม่ดีมาก การขับเคลื่อน 5G ทั่วโลกเหมือนยังเป็นการหวังผลทางการตลาดมากกว่าที่จะใช้งานจริง ทั้งนี้ ทางดีแทคเห็นว่าการลงทุน 5G ที่เหมาะสม ควรจะเป็นปี 2564 เพื่อให้มีความพร้อมด้านการลงทุน ไม่ควรจะเร่งรีบจนเกินไป และการคิดค่าประมูลคลื่นภาครัฐต้องคิดถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยจะจากเทคโนโลยีในระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์ระยะสั้น

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะผู้สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมเห็นว่ายังไม่ได้รับความชัดเจน ไม่ได้รับการติดต่อให้ข้อมูล ทั้งที่ 5G จะทำให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาล ประเมินว่าถึง 1.307 พันล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยภาคพลังงานจะได้ประโยชน์ร้อยละ 19 ภาคการผลิต ร้อยละ 18 ภาคสาธารณสุข ร้อยละ 12 คนเหล่านี้อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งนั้น แต่ผู้ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไม่เคยได้รับการขอความเห็นเลย ดับบลิวเอชเอพร้อมจะเป็นผู้ประสานให้ทุกฝ่ายได้คุยกันเพื่อทำเข้าใจ การพัฒนา 5G จะไปถึงฝันได้ น่าจะมีการหารือกับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการทดสอบการนำเทคโนโลยีไปใช้ด้วยกัน ทั้งนี้ เทรดวอร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการเคลื่อนย้ายทุนการผลิตจากจีนมาที่ประเทศไทย 5G เป็นส่วนที่สำคัญ ที่จะรองรับอุตสาหกรรมที่จะมา

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการเกิด 5G นั้น จะทำให้การเชื่อมโยงในการติดต่อกันรวดเร้วขึ้น เกิดความสะดวกสบาย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เกิดความสามารถในการแข่งขันประเทศ เกิดการดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ เกิดนวัตกรรมใหม่ อย่างไรก็ตามในการลงทุน 5G หากเริ่มจากการสำรวจความพร้อม ยืนยันว่าไม่มีทางได้เริ่ม วิธีการใช้ 5G จะอาศัยคนที่มีตลาดอยู่แล้วเป็นไปไม่ได้ ต้องให้เอกชนตัดสินใจเองว่าจะลงทุนหรือไม่ ควรเปิดให้เอกชนต่างประเทศมาร่วม ซึ่งหากจะใช้วิธีประมูลเหมือนเดิมไม่เห็นด้วย ควรหาแนวทางใหม่ในการประมูลเช่น ใครเสนอค่าบริการต่ำสุดชนะ รัฐบาลได้เงินน้อยแต่เป็นการผ่องถ่ายความสะดวกลงไปสู่ประชาชน และถ้าเอกชนเขาลงทุน 4G ไปแล้ว ก็เอามาหักลบได้บางส่วนในการลงทุน 5G เชื่อว่าจะยังพออยู่ได้ ดังนั้น สรุปแล้วการเกิด 5G จะต้องเร่งรีบที่จะต้องทำ


คำต่อคำ : งานเสวนา “กระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝัน”

เติมศักดิ์ จารุปราณ (ผู้ดำเนินรายการ) - สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมรับชมการเสวนาในครั้งนี้ ที่หอประชุม กสทช. และที่รับชมทางเฟซบุ๊กไลฟ์ MGR Online Live และทางเฟซบุ๊กเพจ News1 ขอต้อนรับสู่ช่วงการเสวนา “กระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝัน” เพื่อร่วมกันค้นหาคำตอบจากมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิบนเวทีนี้ว่า 5G สำคัญต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างไร ทิศทางของกระแสโลกวันนี้เรื่อง 5G เขาไปถึงไหน และที่พูดกันว่า 5G ของเราไปไม่ถึงฝัน ทำไมมันยังไปไม่ถึงฝัน เป็นเพราะอะไร เจอปัญหาอุปสรรคอย่างไร และเราจะฝ่าฟันทะลุทะลวงปัญหาอุปสรรคนั้นไปได้อย่างไร

บนเวทีแห่งนี้จะมีมุมมองจากทั้งผู้กำกับดูแลเรื่องสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ มีมุมมองของผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ หรือโอเปอเรเตอร์ มีมุมมองของภาคอุตสาหกรรม หรือจะเรียกว่าลูกค้าหลักของ 5G ว่าเขามีมุมมองเรื่องทิศทางของ 5G อย่างไร 5G สำคัญต่อประเทศอย่างไร และถ้า 5G ยังล่าช้าจะส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศเราอย่างไรบ้าง และเราจะมีมุมมองจากนักวิชาการอิสระที่จะให้มุมมองว่าถ้าเราจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 5G สำคัญอย่างไร ผมขออนุญาตแนะนำวิทยากรทั้ง 4 ท่านบนเวที ท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์, ท่านประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค คุณอเล็กซานดรา ไรซ์, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) คุณจรีพร จารุกรสกุล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ขอบคุณวิทยากรทั้ง 4 ท่านที่มาร่วมการเสวนาของเราในครั้งนี้

ผมขอเริ่มเวทีเสวนาด้วยมุมมองจากผู้กำกับดูแลเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคมของชาติ คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. จะเป็นผู้เริ่มให้มุมมองว่า 5G สำคัญต่อศักยภาพของประเทศอย่างไร แล้วโรดแมปเรื่อง 5G ของประเทศเราที่รัฐไว้เป็นอย่างไร และจนถึงตอนนี้มันล่าช้ากว่าโรดแมป มันคลาดเคลื่อนจากโรดแมปไปมากน้อยแค่ไหน และที่เป็นปัญหาอุปสรรคที่ทำให้โรดแมปคลาดเคลื่อน ปัญหาอยู่ตรงไหน อย่างไร และเราจะฝ่าฟันอุปสรรคนั้นไปได้อย่างไร

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

ก่อนอื่นก็สวัสดีท่านประธาน กสทช. และผู้ที่เข้าร่วมรับฟังทุกท่าน ต้องเรียนว่า ถ้าถามว่าโรดแมปของสำนักงาน กสทช. ในวันนี้เป็นไปตามแผนทั้งหมด ไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน เพียงแต่ว่าโรดแมปที่เราตั้งไว้ก็คือ หนึ่ง การที่จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ในย่าน 2600 คลื่นความถี่ในย่าน 700 คลื่นความถี่ในย่าน 26 28 GHz ซึ่งทั้งหมดนี้เราจะมีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2562 นี้ เงื่อนไขการประมูลต่างๆ ซึ่งกระบวนการในการประมูลน่าจะเริ่มต้นในปี 2563 ซึ่งถ้าเป็นไปตามโรดแมปนี้ เราคิดว่าจะมีการเปิดให้บริการในครั้งแรกที่เป็น commercial น่าจะประมาณปลายปี 2563 ซึ่งตรงนี้ก็เดินตามโรดแมปที่เราเคยพูดไว้โดยตลอด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้ มันหมายถึงว่าประเทศอื่นเขาขยับโรดแมปของเขาเข้ามาเร็วกว่าเดิม นี่ล่ะคือปัญหาของเราแล้ว เขาขยับโรดแมปของเขาเข้ามาเร็วกว่าเดิม เดิมเราคิดว่าปลายปี 2563 ต่อต้นปี 2564 เราคงจะสามารถเปิดให้บริการ 5G ในบางพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ในการที่จะเปิด หรือว่าในภาคการท่องเที่ยว ภาคโลจิสติกส์ต่างๆ ในการที่จะเปิด

แต่ในวันนี้มันหมายถึงว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนของเรา เมื่อมีการประชุมหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเด็นก็คือ ในกลุ่มอาเซียนเขามองว่าเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ เขาจะมีการเปิดให้บริการอย่างเป็น commercial ในเดือนมิถุนายน หรือเดือนกรกฎาคม ปี 2563 นี้ สิ่งที่สำคัญก็คือ อย่าเพิ่งไปเชื่อเขานะครับ แต่สิ่งนี้คือสิ่งที่เขารายงานต่อที่ประชุมหน่วยงานกำกับดูแลในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด แล้วประเทศคู่ค้ากับกลุ่มอาเซียน ก็คือในกลุ่มของญี่ปุ่น และจีน ญี่ปุ่นเขามี commitment เลย บอกว่า จะเปิดให้บริการในโอลิมปิกปี 2563 คือเดือนกรกฎาคม อย่างแน่นอน ของญี่ปุ่นเปิดแน่นอน แต่ใน 3 ประเทศอย่างที่ผมพูดไป คือ มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ เขายืนยันว่า มิถุนายน ปี 2563 ดังนั้น ผมต้องเรียนว่า เราจะต้องขยับโรดแมปของเราขึ้นมาเร็วกว่าเดิมหรือเปล่า เพื่อให้ทันกับประเทศอื่น เพราะฉะนั้นผมมองว่า ทำเกินดีกว่าทำขาด หมายถึงว่า ถ้าเราคิดว่าเราขยับโรดแมปของเรามาได้สักเดือนกันยายน หรือตุลาคม ปี 2563 ซึ่งถ้าประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียนเปิดช้ากว่าเรา ถ้าเราเปิดได้ประมาณนี้ ก็หมายถึงว่าประเทศเราเดินหน้าต่อไปแล้ว เร็วกว่าเขาอีก การย้ายฐานการผลิตต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สิ่งที่สำคัญที่สุด ผมเรียนว่า ถ้า 5G ไม่เกิดขึ้น ประเทศเราได้รับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากว่าภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะต้องมีการลดต้นทุนการผลิต ในขณะเดียวกันจะต้องเพิ่มมูลค่าการผลิตให้เพิ่มขึ้นด้วย มันไม่เกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ประเทศไทย การแข่งขันต่างๆ จะมีคุณภาพที่ต่ำลง การย้ายฐานการผลิตต่างๆ จะต้องเกิดขึ้น ไปอยู่ประเทศที่เขามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าเรา ดังนั้นเราเองก็ต้องมีการขยับโรดแมปของเราให้เร็วขึ้น

สำนักงาน กสทช.เคยประเมินมูลค่าว่า ถ้า 5G ไม่เกิดขึ้น การประเมินมูลค่าของเรา เรามองว่า ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตต่างๆ จะสูญเสียมูลค่านี้ประมาณ 6 แสนกว่าล้านบาท ภาคโลจิสติกส์ ก็คือภาคการขนส่ง จะเกิดขึ้น 1 แสนกว่าล้าน แต่ภาคที่เราเรียกกันว่า ภาคเกษตรกรรม ก็คือ smart farming ต่างๆ มันจะมีการย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะเวียดนามเขาเป็นคู่แข่งทางด้านภาคการเกษตรกับเราอยู่ เพราะฉะนั้นการย้ายฐานการผลิตต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สินค้าที่เราผลิตออกไป คุณภาพนอกจากจะดีไม่เท่าเขาแล้ว ปริมาณที่ออกไปก็จะน้อยกว่าเขาอีก เพราะต้นทุนการผลิตของเราจะสูงขึ้น ดังนั้น สิ่งพวกนี้เราได้มีการประเมินว่ามันจะเกิดผลกระทบกับความเสียหายของประเทศปีละประมาณ 2 ล้านล้านบาท ในอนาคตข้างหน้า ดังนั้น เราก็คงคิดว่าเรายอมในเรื่องพวกนี้ไม่ได้ ก็คงที่จะต้องเดินหน้าในการที่จะขับเคลื่อนต่อไป

สิ่งที่สำคัญต่อไปอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ผมก็อยากให้เกิด 5G ขึ้นโดยเร็ว เชิญโอเปอเรเตอร์มา 4-5 รายแล้ว เชิญมาทุกคน ทุกคนนิ่งหมด ผมเล่าให้ฟัง ไปเสวนาบอกว่า 5G จะเกิดขึ้น ครั้งก่อนมติชนจัด เข้าใจว่าปลายปี 2561 มติชน เราก็คิดว่ามันจะเกิด 5G ขึ้นอย่างแน่นอน เราก็พยายามเติมความฝันเข้าไป คิดว่าโอเปอเรเตอร์เขาพร้อมแล้ว แต่พอถามโอเปอเรเตอร์ กลับมาเรียกประชุมทีละคนๆ ทีละราย ทุกรายก็บอกว่า 4G ผมยังไม่ได้ทุนคืนเลย แล้วจะให้ผมไปทำ 5G อีกแล้ว เขาก็บอกว่าต้นทุนผมยังไม่ได้คืนเลย จะให้ผมทำอย่างไร ขอผมเก็บทุนสิ พอเราถามกลับไป ทางโอเปอเรเตอร์ที่อยู่หน้าปากซอยเขาพูดจริงหรือพูดเล่น เราก็พยายามถามนะว่าพูดจริงหรือพูดเล่น พอไปถามที่อยู่ตึกรัชดาฯ หนักกว่าเดิมอีก แถวรัชดาฯ หนักกว่าเดิมอีก ไปถามตึกจามจุรี ก็บอกว่าใช่ พอเขาบอกว่าใช่ เราก็พยายามถามรายอื่น ทุกคนก็บอกว่าขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วย จัดสรรคลื่นให้ผมฟรีก่อนได้ไหมล่ะ ถ้าอยากให้เกิด ก็มีข้อเงื่อนไข 1...2...3... เข้ามาถึงเรา เราก็เลยบอกว่า ถ้าเรายังเดินหน้าอย่างนี้อยู่ ฝันของเรามันจะไปถึงหรือเปล่า เพราะว่าทุกคนเวลาไปจัดเสวนาก็บอกว่า ประเทศจีน เกิดขึ้น จัดสรรคลื่นให้ฟรีนะ 4 ปีไม่ต้องจ่ายเงินเลย ประเทศเวียดนามก็บอกว่าให้คลื่นฟรีนะ ไม่ต้องจ่ายเงินเลย ในระหว่างนี้ให้ทำไปก่อน แล้วค่อยมาเก็บเงินทีหลัง เพราะว่าทุกคนจะต้องเอาเงินไปลงทุนในการขับเคลื่อน 5G ให้เกิดขึ้นก่อน พอเราฟังอย่างนี้ เราก็เริ่มไม่สบายใจแล้ว

แล้วสิ่งที่สำคัญอีกก็คือ ผมจะต้องไปเรียกคืนคลื่นความถี่ในย่าน 2600 กับ อสมท อีก อสมท ในวันนี้จะมีข้อโต้แย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหาต่างๆ อุปสรรคต่างๆ ก็อยู่ในใจ นำเรียนท่านประธาน กสทช. มาโดยตลอด อยากจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป มันจะทำให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นก็ไปปรึกษาท่านว่า นำเรียนเรื่องนี้ไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีดีไหม ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติเถอะ เพราะถ้าปล่อยลำพังแต่ กสทช. ทำเอง มันไม่ใช่ประมูลคลื่นธรรมดา เพราะว่าวันนี้ 5G มันไม่ใช่เฉพาะ mobile อย่างเดียว ถ้า mobile อย่างเดียว มันก็คงเป็นเรื่องที่ง่าย เพราะเขาเอาไปใช้งานมันก็สะดวก แต่วันนี้ 5G มันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศแล้ว ดังนั้นถ้าเกิดว่าเราคิดว่ามันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศแล้ว ถ้ามันไม่เกิดขึ้น มันเป็นปัญหาอย่างแน่นอน ถึงเป็นที่มาว่า ช่วยกันวันนี้ ปัญหาของทุกคน พูดให้ กสทช.ฟัง พูดดังๆ ให้รัฐบาลฟัง พูดดังๆ เลยนะครับ ถ้าอยากจะให้เกิด พูดดังๆ เพราะฉะนั้นปัญหามีทางออก ปัญหามีทางแก้ พูดดังๆ ออกมา เราจะได้นำปัญหาของท่านไปแก้ไข เพราะสิ่งที่ท่านพูด บางทีพูดกับผม ผมเชิญมาพูด ทุกคนก็ให้ข้อมูลผมหมด แต่ใน public ไม่ค่อยกล้าพูด พูดออกมาเถอะครับ มันจะได้แก้ไขปัญหาได้ ผมขอรอบนี้เท่านี้ก่อนครับ

เติมศักดิ์- ขอบคุณท่านฐากร ตกลงมันต้องเป็นวาระแห่งชาติ แต่ว่าตอนนี้เหมือนมันเกินอำนาจหรือศักยภาพของ กสทช. หรือเปล่าที่จะ handle วาระนี้

ฐากร- คืออย่างนี้ 5G อย่างที่ผมบอก มันมี 3 องค์ประกอบที่เป็นปัญหาอยู่ด้วยกันขณะนี้ก็คือ หนึ่ง มูลค่าคลื่น มูลค่าคลื่นที่เกิดขึ้น ทุกคนก็ไปคาดหวังกันไว้ว่า ตอนประมูลคลื่น 900 ใบอนุญาตใบหนึ่งราคา 60,000-70,000 ล้าน ตอนประมูลคลื่น 1800 ใบอนุญาตใบหนึ่งประมาณ 40,000 ล้าน 30,000 ล้าน ตอนประมูลคลื่น 2600 เอาสัก 300,000 ล้าน ดีไหม ทุกคนวิ่งหนีกันหมด มันไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นี่คือเรื่องแรก เรื่องที่สองก็คือเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนของโอเปอเรเตอร์เอง ว่าเขาลงทุนแล้วมันจะต้องลงทุนอีกเท่าไร ต้องทำอย่างไรบ้าง อันที่สาม ก็คือการต่อยอดในการทำงาน อย่างที่ผมบอก การต่อยอดในการที่จะนำไปใช้งาน สิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดว่า ผู้ประกอบการเขาลงทุนไปแล้ว ไม่ใช่ว่าเอาไปลงทุนในพื้นที่นี้แล้ว คนที่จะเอาไปใช้งานคือใคร คนที่ใช้งานยังไม่ได้ทำเลย อย่างเช่น เอาไปลงในส่วนของภาคการผลิต ภาคการผลิตยังไม่ได้เตรียมอะไรทั้งสิ้นเลย แต่ภาคโอเปอเรเตอร์โทรคมนาคมไปลงทุนแล้ว ไม่มีคนใช้งาน อะไรจะเกิดขึ้น ถูกไหมครับ เขาขาดทุน เขามีความเสี่ยงสูง เขาก็ไม่เอาด้วย เพราะฉะนั้น ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ทั้งแก้ไขปัญหาในระดับต้น แก้ไขปัญหาที่เราเรียกกันว่า ในระดับการต่อยอดของการทำงาน เช่น คณะกรรมการอาจจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการ เพราะฉะนั้นเมื่อรับรู้การประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. จะมีการ implement หรือจะมีการเปิดใช้งานเมื่อไร ก็จะมีการต่อยอดการทำงานกันทันที เมื่อมีการต่อยอดการทำงานกันทันที ก็จะทำให้การลงทุนของภาคเอกชนมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น มีคนใช้งานอย่างแน่นอน ลงทุนแล้วไม่ขาดทุน ลงทุนแล้วมีคนใช้งาน ลงทุนแล้วมีการเอาไปดำเนินการต่างๆ ต่อเนื่องต่อไปได้

สิ่งพวกนี้คือจะต้องตั้งคณะกรรมการอย่างต่อเนื่อง ทุกภาคส่วนจะต้องเอาไปใช้งาน ไม่ใช่ว่าทุกคนก็ยังคิดว่าทำระบบเดิมอยู่ แรงงานคนก็ยังไม่ได้ลด โรโบติกที่อยากจะให้เกิดขึ้น มันก็ไม่เกิดขึ้น เอา AI เอา IOT ไปใช้ ก็ยังไม่มีการใช้งาน สิ่งพวกนี้คือสิ่งที่โอเปอเรเตอร์โทรคมนาคมก็มีความวิตกกังวลในส่วนนี้ต่อไป ผมขออนุญาตให้ข้อมูลในส่วนนี้ไว้ก่อน

เติมศักดิ์- ขอบคุณท่านฐากรนะครับ นั่นคือมุมมองจากฝ่ายที่กำกับดูแล กำหนดกติกา ทุกคนบนเวทีนี้สะท้อนมุมมอง สะท้อนปัญหาออกมา ตะโกนออกมาดังๆ ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นผมขอเริ่มจากโอเปอเรเตอร์ คุณอเล็กซานดรา ไรซ์ ทิศทาง 5G ของโลกในมุมมองของคุณอเล็กซานดรา ความคืบหน้าในการลงทุน 5G ของทางเทเลนอร์ ขณะนี้เป็นอย่างไร และมุมมองการเกิด 5G ในประเทศไทยในมุมของคุณอเล็กซานดรา เป็นอย่างไร

อเล็กซานดรา ไรซ์

- สวัสดีค่ะ That sounds a lot you want from me. Thank you very much for this very interesting introduction. To the Chairman and also to you .... เราจะทำให้ผลดีที่สุดได้อย่างไร ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียว แล้วอย่างที่ท่านพูดว่าในฐานะของโอเปอเรเตอร์ เราก็คงจะทำให้ 5G เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีความร่วมมือจากทางภาคอุตสาหกรรม หรือทางรัฐบาล จะต้องทำงานร่วมกันทั้งหมด และดีใจที่จะมีคณะกรรมการฯ แห่งชาติเกิดขึ้น เพราะนี่สำคัญมากในการที่ประเทศไทยจะต้องดูในเรื่องของ vertical ต่างๆ และให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์จาก 5G มันไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว เป็นตัวที่มาเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี หรือการใช้งานทั้งหมด แล้วก็จะมี use case ใหม่ๆ เกิดขึ้น เรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนส่วนใหญ่ก็จะมีจาก b to b ส่วน b to c ก็จะมีประโยชน์ด้วย และก็หวังว่าประโยชน์เหล่านี้จะมากกว่าแค่การสื่อสารที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

อย่างวันนี้ use case ที่เราเห็นในประเทศอื่นๆ ก็เห็นแค่ว่ามันเหมือนกับเป็น 4G แต่ว่าเร็วขึ้นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น กลับมา use case ที่เกิดขึ้นทั่วโลกสำหรับ 5G ตัวอย่างเช่นเกาหลีใต้ ก็มีผู้ใช้ 5G 2.5 ล้านคน แล้วก็มี penetration จากผู้ใช้ถึง 30% แต่ว่าตัวโครงข่ายยังค่อนข้างลุ่มๆ ดอนๆ แล้วก็ไม่ค่อยเหมือนกับที่เราคาดหวัง ตอนนี้มันไม่เหมือนกับที่เขาคาดหวังไว้ว่ามันจะเร็วขึ้นมาก แล้วก็มีแค่ 10% เท่านั้นเอง ที่ขยับจากการใช้ 4G มา 5G เพราะฉะนั้นแม้แต่ในตลาดอย่างเกาหลีที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเยอะๆ เรื่องของการนำมาใช้ทางการพาณิชย์ก็อาจจะดีกว่า 4G เล็กน้อย แล้วในตลาดอย่างสหรัฐอเมริกาที่โอเปอเรเตอร์ต่างๆ นั้นก็ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ส่วนมากก็เป็นเรื่องของการตลาดและพีอาร์มากกว่า ทุกคนบอกว่าจะเอา 5G มาใช้เร็วๆ นี้ อย่าง Verizon ก็บอกว่าเอามาใช้เป็น wireless broadband แล้วก็เป็น use case ที่ดี แล้วก็มีผลตอบแทนลงทุนที่ดี แต่ว่าในประเทศไทยอาจจะดูไม่ค่อยสวยเท่าไร เพราะว่าเรื่องของการแข่งขันกับไฟเบอร์ที่ทำให้ราคามันต่ำมากจนเรื่องของผลตอบแทนการลงทุนนั้นค่อนข้างจะยากลำบาก ในสหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นเรื่องของการพีอาร์การตลาดมากกว่า แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ กำลังพูดถึงเรื่องของไมโครเวฟเซลล์ ก็เป็นเรื่่องของการลองผิดลองถูก เหมือนกับเป็นการโชว์ว่านำคู่แข่งไปแล้ว แต่ว่าในยุโรปตอนนี้ก็เป็นเรื่องของแนวทาง เรื่องของการนำร่อง use case ต่างๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์จาก 5G อย่างเต็มที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ดิฉันทำงานอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ สวิตคอม และเป็นผู้นำในเรื่องของ 5G นำหน้าคู่แข่งในตลาด และเขาหวังที่จะให้มี coverage 90% ในช่วง 8 เดือนข้างหน้า แต่ถ้าดูสวิตเซอร์แลนด์ ที่เราจะต้องเข้าใจก็คือ เขาเตรียมตัวเรื่องนี้มานานมากแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดเรื่องของการทำงานร่วมกับภาครัฐ ร่วมกับภาควิชาการ และภาคอุตสหากรรม มันเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ตอนที่ดิฉันทำงานอยู่ที่นั่น ตอนนั้นเขาก็ทำเรื่องนี้มาแล้ว

5G นั้น จะต้องเป็นเรื่องของการเพิ่มผลผลิตในตลาดที่ค่าแรงนั้นสูง โดยเฉพาะในภาคผลิตนั้นเขาก็สนใจเรื่องของประโยชน์จากการใช้ 5G เขาก็ผลักดันขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ อย่างหนัก แต่ดิฉันคุยกับเพื่อนร่วมงานที่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน เขาก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเขาคิดว่าเรื่องของความเต็มใจของผู้บริโภคจะจ่ายเงินเพิ่มสำหรับความเร็วที่เพิ่มขึ้น มันยากมากในการที่จะทำให้คุ้มค่าผลของการลงทุน เพราะฉะนั้นมันก็มีการนำร่อง ทั้งในสหราชอาณาจักร ในมิดแลนด์ เขามีพื้นที่ทดลองในการที่จะสร้างระบบนิเวศเพื่อที่จะสร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุดจาก 5G ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ในกระบวนการ แนวทางการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ แล้วก็ราคาคลื่นความถี่ที่ต่ำด้วย เพราะทุกคนบอกว่าไม่สามารถที่จะสร้างรายได้อย่างเพียงพอจาก 4G ก็เพราะว่าราคาคลื่นความถี่มันสูงมาก เพราะฉะนั้นทางอุตสาหกรรมก็อยากจะขับเคลื่อน 5G เราเห็นประโยชน์ของมัน และอยากจะสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย อยากจะช่วยผู้บริโภคด้วย แต่ตอนนี้ก็ยังพัฒนา use case ต่างๆ เพราะว่า use case ที่จะเกิดขึ้นนั้นก็เป็นเรื่องของทั้ง gaming เกมออนไลน์ e-sport หรือเรื่องของไลฟ์อีเวนต์ต่างๆ แต่อันนี้ก็ยังค่อนข้างอยู่ห่างไกล แต่อย่างหนึ่งที่เห็นด้วย ดิฉันก็เห็นด้วยกับส่วนใหญ่อยู่แล้ว แต่ที่เห็นด้วยมากๆ ก็คือเราไม่ได้ล้าหลัง แต่ความเสี่ยงก็คือ ถ้าเรารีบเร่งมากเกินไปมันก็ไม่ดี เราต้องมีแผนที่ชัดเจน มีกฎระเบียบที่พร้อม และมีโรดแมป และมีภาคอุตสาหกรรมมาร่วมด้วย รวมถึงกิจการต่างๆ ที่จะได้รับผลประโยชน์

และอีกเรื่องหนึ่งที่ถาม เรื่องของเทเลนอร์ การลงทุน ตอนนี้ก็ได้มีการทดลองในหลายๆ ประเทศ เมืองในนอร์เวย์ก็มีบางเมืองมีการนำร่อง 5G และก็มีการนำร่องในเดนมาร์ก และสวีเดน ซึ่งก็ยังอยู่ช่วงระหว่างการเรียนรู้การทำงานร่วมกับ vertical ต่างๆ และภาคส่วนต่างๆ อย่างเช่นเรื่องของการเลี้ยงปลา ว่าเขาจะได้ประโยชน์อย่างไรจาก latency ต่ำ หรือ bandwidth ที่มากขึ้น และทำให้ได้กำไรจากในแต่ละภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เทเลนอร์ก็ได้ทำเรื่องนี้เยอะ แล้วก็มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้จากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เป็นเรื่องของการทดลองและเรียนรู้ เพราะฉะนั้นภาคอุตสาหกรรม ภาคโทรคมนาคม เรามุ่งมั่นในเรื่องนี้ แต่จะต้องเตรียมความพร้อมของภาคส่วนต่างๆ ที่จะร่วมมือร่วมกันด้วย ถ้ามีคณะกรรมการขึ้นมา ก็จะต้องดึงภาคส่วนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ 100% และราคาของคลื่นความถี่ก็จะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ทำให้เราสามารถลงทุนได้ด้วย เพราะว่าเรื่องของภาคโทรคมนาคมที่ผ่านมามันอาจจะดูเหมือนกับคงที่ ไม่ไปไหนมาก เรื่องของราคา สเปกตรัม ก็จะต้องสนับสนุนเราด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็คงไปไม่ไหว ขอบคุณมากค่ะ

เติมศักดิ์- อยากให้คุณอเล็กซานดรา ช่วยย้ำอีกสักครั้งว่า ตกลงในประเทศไทย 5G ควรจะเกิดในช่วงเวลาไหนถึงจะเหมาะสม ภายในปีนี้ ปีหน้า หรืออย่างไร

อเล็กซานดรา- ปีนี้คงไม่ใช่ ดิฉันก็คงพูดตรงๆ ก็ต้องขอโทษท่านประธานด้วย ดิฉันคิดว่าปีหน้า คงจะเร็วไปหน่อย แล้วเราก็จะนำร่องในปีหน้า แต่เรื่องของการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ในปี 2021 น่าจะดี เพราะว่าเรายังต้องเตรียมความพร้อมอีกเยอะ ไม่ใช่แค่เรื่องของแผนโรดแมป แต่จะต้องให้ทุกภาคส่วน vertical ต่างๆ พร้อม และ use case และจะต้องดูเรื่องเงินด้วย เพราะฉะนั้นการรีบเร่งคงจะไม่ดี แต่จะต้องทำงานร่วมกันให้พร้อมเสียก่อน ก่อนที่จะเริ่ม launch มัน

เติมศักดิ์- ทางโอเปอเรเตอร์ได้ตะโกน ได้สื่อสารออกมาแล้ว เดี๋ยวทางฝ่าย กสทช. จะได้ตอบในรอบหลัง

ฐากร- นิดเดียวนะครับ คือผมฟังคุณอเล็กซานดรา บอกว่า ถ้าราคาสูง เราจะหยุด เดิมนี่เราจะไม่หยุดนะ ตอนนี้เราจะหยุดแล้ว ถ้าราคาสูงเกินไป ความหมายก็คือ เราจะหยุดแล้ว

เติมศักดิ์- ตกลงปัญหาอยู่ที่ค่าคลื่นใช่ไหมครับ ท่านเลขาฯ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานะ

อเล็กซานดรา- สำหรับทางภาครัฐ ลองคิดถึงประโยชน์ระยะยาวด้วย ไม่ใช่ระยะสั้น ถ้าสมมุติตั้งราคาไว้สูง ก็ได้แค่ประโยชน์ระยะสั้น ต้องคิดระยะยาว แบบที่ประเทศไทยได้รับประโยชน์ระยะยาวและยั่งยืนด้วย

เติมศักดิ์- จากผู้กำกับดูแล จากโอเปอเรเตอร์ เราไปที่เรื่องของคนที่จะใช้ หรือลูกค้า เพราะนี่คือส่วนหนึ่ง ส่วนสำคัญเลย เพราะถ้าลงทุนไปแล้วไม่มีผู้ใช้ ไม่มีลูกค้า มันก็อาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุน เท่าที่ได้ฟังจากมุมมองของคุณอเล็กซานดรานะครับ ถัดไปขอมุมมองจากคุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) มุมมองของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอีอีซี ที่มีต่อเรื่อง 5G ณ ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน

- กราบเรียนท่านประธานนะคะ ขอบคุณที่เชิญมาให้ได้ถาม เรียกว่ามาถามดีกว่า เพราะว่าจูนเห็นข่าวเรื่อง 5G กัน อะไรกัน ทดสอบ 5G กัน เป็นคำถามที่จูนถามกับตัวเองและก็ถามกับบางท่าน ว่า ทดสอบ 5G เมื่อกี้เรียนกันแล้ว 5G เหมาะกับอะไร Sector .. Industrial Sector กลุ่มอุตสาหกรรม เพราะอะไร มันมีสปีดที่เร็วมาก สอง มันมีความหน่วงที่ต่ำ low latency สาม มันมีทางด้าน mass continuity แต่ เราในฐานะผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม ต้องบอกว่าเราคือรายใหญ่ของประเทศไทย แต่เราไม่เคยได้รับการถามจากภาครัฐเลย ทั้งที่ดับบลิวเอชเอ ถือว่าเป็นคนซัพพอร์ตหลักของอีอีซีเลย เพราะเราช่วยเดินสายโรดโชว์ ดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในเมืองไทย ว่าเรามี tax privilege อะไรต่างๆ ให้ เรามี infrastructure อะไรต่างๆ ให้ ซึ่งก็ต้องเรียนตรงๆ บางครั้งเราช่วยโปรโมทประเทศ บางทีเราก็พูดที่มันโอเวอร์ไปหน่อย แต่วันนี้ขอพูดของจริงก็แล้วกัน ท่านฟังได้นะคะ

ฐากร- หัวข้อก็บอกกระชาก

จรีพร- เดี๋ยววันนี้พอเราคุยกันเสร็จ มันจะไปถึงฝันแน่ๆ เลย จูนเรียนถามก่อนนะคะ ท่านจะลงทุน สิ่งแรกต้องถามอะไรก่อน ท่านได้อะไรกลับ ถูกไหม ท่านได้เงินกลับหรือเปล่า ผู้ลงทุนทุกคนล่ะ ท่านบอกว่าท่านคุยกับโอเปอเรเตอร์ ท่านเคยเชิญผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมไปคุยไหมคะ ท่านเคยเชิญผู้ประกอบการลอจิสติกส์ไปคุยหรือเปล่า ท่านเคยเชิญผู้ประกอบการทางด้านตัวพลังงานไปคุยไหม เพราะว่า 5G คือกลุ่มพวกนี้เลย ท่านทำรายงานมาว่า กสทช.ทำรายงานว่า 5G จะเพิ่มมูลค่า เพิ่มได้ถึง 2.3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนั้น 634,000 ล้านบาท เป็นจากภาคอุตสาหกรรม 124,000 ล้านบาท มาจากภาคลอจิสติกส์ แต่ท่านยังไม่ได้ใส่ภาคกำลังการผลิตไป เรื่องไฟฟ้าไป เพราะถ้าดูจากตัวเลขของโลกแล้ว มาจากตัวเลขของเรื่องพลังงานถึง 19% ภาคอุตสาหกรรมแค่ 18% ภาคลอจิสติกส์ 12% ตรงนี้ยังไม่ใส่ นี่คือ 7 แสนกว่าล้านบาท ที่ท่านบอกว่าจะเพิ่มมูลค่า แต่เราไม่ได้รับการติดต่ออะไรเลย

มีการทดสอบ 5G ที่ศรีราชา ลงข่าวกันใหญ่โต จูนก็ถามไปว่า ขอโทษนะคะ ทำไมถึงไปทดสอบที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา คนใช้งานอยู่ที่ไหน คำตอบคือ เพราะเป็นภาครัฐเหมือนกัน เราก็งงนะ งงจริงๆ ว่ามันเป็นคำตอบหรือเปล่า เพราะว่าสิ่งที่จะทดสอบให้มันเกิดได้มันต้องทดสอบในสิ่งที่ใช้งานจริงๆ ในนิคมอุตสาหกรรมของเรา มูลค่า investment ทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรมของเราแห่งเดียว คือ 1 ล้านล้านบาท แต่ลูกค้าที่อยู่กับเรา 700-800 ราย เช่น เงินทุน 1 ล้านล้านบาท ในการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม พวกนั้นมันคือกลุ่มยานยนต์ กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มพลังงาน ขับเคลื่อนประเทศ 27 กว่าเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี คำถามคือว่า พวกเขาเหล่านั้นได้รับการถามจากภาครัฐหรือเปล่าว่า 5 มีประโยชน์กับพวกเขาหรือเปล่า เพราะว่าเขาคือคนใช้งาน เราบอกว่าเราจะไป Industry 4.0 เราจะไป Thailand 4.0 แต่ถามว่า แล้วยังไงต่อ for what? คุณจะไป Industry 4.0 ได้ คุณต้องมีเรื่องต่างๆ AI, IOT ต่างๆ เราไม่ได้รับการคุยในเรื่องนี้กันเลย เพราะจริงๆ แล้วตรงนี้ถ้าเรามานั่งจับเข่าคุยกันจริงๆ จัดการสัมมนากันเลย จูนยินดีจัดการสัมมนาให้เลยนะ จูนจะเชิญซีอีโอใหญ่ๆ มา มานั่งคุยกันเลย ภาครัฐ โอเปอเรเตอร์ เพื่อมาคุยกันเลยว่า 5G มีประโยชน์แค่ไหน จูนเชื่อว่ามีประโยชน์แน่ๆ ทุกท่านทราบว่ามีประโยชน์แน่ๆ แต่ว่ามันจะ implement ได้ไหม มันเกิดการลงทุนไปแล้ว มันได้ผลตอบรับกลับมาหรือเปล่า ถูกไหม ตรงนี้คือคำถามที่เราถามมาตลอดเลย

(ขอสไลด์) อันนี้เราพูดเป็นกลาง เราไม่ใช่โอเปอเรเตอร์ เราก็เห็นแก่โอเปอเรเตอร์นะ เวลาคุณลงทุน คุณใช้เงินหลายหมื่นล้าน แต่พอถึงเวลาคุณได้กำไร คุณก็โดนคนด่าว่ากำไรเยอะ ต้องเอาเงินมาลงทุนเยอะๆ ประเทศไทยจะไปอย่างไรต่อล่ะ คุณไปดูประเทศอื่นๆ อันนี้ไม่ได้พูดแทนโอเปอเรเตอร์นะ เราพูดในฐานะที่เราบอกว่าเราไปดูงานหลายประเทศ เยอะแยะมากมาย ท่านพูดถึงประเทศจีน ประเทศจีนนี่หลังเรามามาก ตอนนี้นำไปถึงระดับโลกแล้ว เพราะอะไร ทุกการ investment ที่มันเกิดขึ้น investment มันลงทุนโดยภาครัฐก่อน ท่านดูตัวเลข อันดับความสามารถในการแข่งขันของเรา จาก 63 ประเทศ infrastructure เราอยู่ที่ 45 แล้วท่านดู เรื่องดิจิตอลของเราอยู่ที่ 28 ท่านดูปัญหาที่มันเกิดขึ้น มันเกิดจาก 4 เรื่อง Insufficiency Knowledge Sharing แต่ละหน่วยงานของรัฐก็มีความรู้กันหมดเลย แต่ท่าน share กันหรือเปล่า ที่สำคัญ minimal corperation เราขาดความร่วมมือกันอย่างรุนแรง ต่างฝ่ายต่างทำงาน ทุกฝ่ายก็มีเรื่องหมด เราบอกว่าเรามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จูนอ่านหมดแล้วนะคะ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดีมากเลย ในกรอบทั้งหมดเลย ถ้าเกิดท่านทำได้ ไม่มีใครสู้ท่านได้ในโลกนี้หรอก แต่พอมันลงไประดับกระทรวงแล้ว มันไม่ไปด้วยกัน ซึ่งไม่ต้องเขียนแผนใหม่กันอีกแล้วนะคะ กลับมาการซัพพอร์ตที่พอเพียง แล้วเรามีปัญหาทางด้าน Education

อันนี้นอกจากข้อมูลของ กสทช. นี่คือข้อมูลของ 5G Business Potential คืออะไร ท่านเห็นไหม 19% มาจาก Power Energy Sector 18% มาจากทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต Health Care 12% ลอจิสติกส์ 10% คือจูนเห็นเสมอว่าเราไม่ควรจะเตี้ยอุ้มค่อม เรามี budget จำกัด เรามีงบประมาณจำกัด เรามีคนจำกัด จูนไม่เข้าใจว่าเราต้องลงทุนทั้งประเทศพร้อมกันหรือเปล่า ต้องเรียนถามท่านเลขาฯ ที่บอกว่าญี่ปุ่นจะใช้ในปี 2020 ที่โอลิมปิก เขาทำทั้งญี่ปุ่นหรือเปล่า หรือทำบางเรื่อง บางที่

ฐากร- หมดเลยครับ

จรีพร- ทั้งญี่ปุ่นเลย เขามีเงินมหาศาล แต่ถามว่าเรามีกำลังเงิน กำลังคนเท่านั้นไหม ก็เลยจะเกิดการเรียนถามว่า ถ้าตรงนี้ขึ้นมาแล้ว เราลองนั่งดูไหมว่า sector ที่สำคัญคือ Industrial Sector กับพลังงาน ก็อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของจูน หรือโลจิสติกส์ เราลองฝึกผู้ประกอบการทางด้านตัวนิคมอุตสาหกรรม ไม่ใช่ WHA รายเดียว เรามีหลายราย ไว้ลองคุยกันดู ว่าถ้าเราจะเกิดการทดสอบ 5G ไปคุยกับเขาก่อนว่าเขาจะเปลี่ยน production line การผลิตของเขาเป็นทางด้านตัว Industry 4.0 ไหม ซึ่งจริงๆ เราเตรียมโปรโมตเรื่องอีอีซีอยู่แล้วให้เป็นไปในแนวนั้น อันนี้คือ infrastructure ที่สำคัญ มันจะไป Industry 4.0 ไม่ได้ ถ้าไม่มี 5G ท่านจะไปอย่างไรถ้าท่านยังมีความหน่วงอยู่ ไม่ออนไลน์กัน หรือไม่อะไรกัน ยิ่งตัวนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ 50,000 ไร่ ลูกค้าแค่ 1,000 ราย ท่านลองคิดดูว่า space มันกว้างขนาดไหน ถ้าท่าน spred 5G ทั้งหมดเลย investment ท่านขนาดไหน ที่เราบอกว่า 5G มันใช้เป็น spot พอ spot ปุ๊บ มันจะลดพลังงาน แล้วมันเพิ่มเรื่องสปีดได้เร็วขึ้น ลดต้นทุนลงอีก อันนี้สำคัญมากเลย ถ้าเราไปนั่งคุยกับผู้ประกอบการจริงๆ ให้เห็นภาพว่ามันเกิดประโยชน์จริงๆ ลองกันไหม ทดสอบกันไหม ทำ use case กันไหม ลองดู จูนคิดว่ามันน่าจะไปถึงฝันได้

เติมศักดิ์- ขอบคุณครับคุณจรีพร ท่านเลขาฯ จะตอบคุณจรีพร รอบนี้เลยไหมครับ หรือไปช่วงสรุปดี

ฐากร- ผมตอบนิดหนึ่ง ที่ไปตั้งศูนย์ทดลองที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าใจว่าที่ศรีราชา เป็นของกระทรวงดีอีนะครับ ไม่ใช่ของ กสทช.

จรีพร- ขอประทานโทษค่ะ พูดในภาพรวม

ฐากร- คือเป็นของกระทรวงดีอีที่ไปตั้ง ตอนนั้นจริงๆ เราอยากเข้าไปทำในภาคของอุตสาหกรรม เพียงแต่ว่าพอกระทรวงดีอีเขารับไปทำที่เกษตรศาสตร์ ก็เลยไปตั้งที่ศรีราชา แต่ไม่เป็นไรครับ ผมว่าวันนี้ทิศทางมันเริ่มแจ่มใสแล้ว เนื่องจากทางภาคการผลิตเปิดใจออกมาพูดแล้วว่าเขาอยากจะทำ เพียงแต่ว่า เมื่อทำแล้ว เราจะไปตั้งศูนย์ทดลองทดสอบที่โน่นหรือเปล่า ทำอะไรทั้งหมด ผมก็จะได้ไอเดียตรงนี้ขึ้นมา เดี๋ยวเราไปทดลองทดสอบบนคลื่น 2600 เลยดีไหม จะได้เดินหน้าต่อไปด้วยกันได้ คลื่น 2600 นี่ทุกคนอยากจะให้มีการทดลองทดสอบอยู่แล้วตอนนี้ ยังไม่เปิด ไปเปิดคลื่น 26 28 อยู่ ถูกไหม การทดลองทดสอบมันลงทุนเยอะ เอาคลื่น 2600 นี่ล่ะ มันจะได้ลงทุนน้อยๆ หน่อย จะได้มีการตั้งเสาให้ไกลๆ ได้ ทำอะไรลงทุนได้ เดี๋ยวจะเสนอที่ประชุมเลย ผมฟังทุกคน จะได้เดินหน้าต่อไปให้ได้ เดี๋ยวฟังท่านอาจารย์ธีระชัย แล้วคอมเมนต์ทีเดียวเลย เปิดใจพูดทุกเรื่อง เพื่อที่จะทำให้โอกาสมันเกิดขึ้น เปิดใจพูด ทำให้โอกาสมันเกิดขึ้น เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

เติมศักดิ์- ขอบคุณท่านเลขาฯ ขอบคุณคุณจรีพรด้วยครับ ที่มาให้มุมมองว่า 5G สำคัญต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างไร ท่านถัดไป อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล จะมาให้มุมมองว่าบทบาทของ 5G ความล่าช้าของ 5G จะส่งผลอย่างไร และเราควรนำบทเรียนจากการประมูล 4G ในรอบที่แล้วมาปรับใช้เป็นแนวทางในเรื่องใบอนุญาต 5G อย่างไร ขอเรียนเชิญท่านอาจารย์ธีระชัยครับ

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ขอบคุณครับ ผมจะลองให้แง่มุมจาก 3 แง่มุมด้วยกัน แง่มุมแรก ผมจะลองให้ความเห็นในเชิงเศรษฐกิจ ถัดจากนั้นจะทักในแง่มุมของสังคม แล้วค่อยไปจบท้ายในแง่มุมของทางด้านการเมือง

ในแง่ของเศรษฐกิจ 5G มันทำให้การเชื่อมโยงในการติดต่อกันมันรวดเร็วขึ้น มันทำให้เกิดผล 2 อย่าง อย่างหนึ่ง ความสะดวกสบายของเราเองภายในประเทศ คือเราก็สะดวกสบาย และอาจจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอะไรต่างๆ ไปด้วย แต่มิติที่อาจจะสำคัญมากกว่า คือความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การเปิดให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ innovation ให้เกิดขึ้น ในเรื่องของการเปลี่ยนความสะดวกสบายภายในประเทศ ผมเล่าเรื่องตลกให้ฟังนิดนะ สมัยผมเด็กๆ ผมไปเล่นกีฬาที่สปอร์ตคลับ ก็เห็นเพื่อนๆ เขาก็จะทักทาย พวกฝรั่ง หมายถึงพวกยุโรป พวกอเมริกัน เวลาสั่งอาหารมา ทุกจานมันจะมีมันฝรั่งทอด เราก็ถาม ทำไมอย่างนี้ สงสัย ก็เป็นธรรมดา ฝรั่งเขาไม่มีข้าว เพราะฉะนั้นเขาก็จะใช้มันฝรั่งเป็นอาหารสำหรับคาร์โบไฮเดรต นี่เขาเรียก chips สมัยก่อนมันมี chips in every dish หมายความว่าอาหารที่มาทุกจานมันก็มี chips อนาคตเวลามี 5G มันจะเรียกว่า chips in every device มันจะกลายเป็นว่าไอ้โน่น ไอ้นี่ ไอ้นั่น ซึ่งไม่ใช่มือถือนะครับ อุปกรณ์ที่อยู่ในโรงงาน อุปกรณ์ที่อยู่ในบ้าน มันจะฝั่งชิป แล้วชิปที่ฝังมันจะมีหลายระดับ ตั้งแต่ชิปแบบหมูๆ ง่ายๆ ถูกๆ แค่จะเป็นเซนเซอร์จับอุณหภูมิ จับแสง ในลักษณะง่ายๆ แล้วอันนี้ไปได้ทั่ว บางคนบอกว่าในอนาคตมันจะไปถึงขนาดชิปติดไปเสื้อผ้าเรา มันจะได้บอกเครื่องซักผ้าได้ ว่าอันนี้เสื้อบางนะ จะต้องใช้ความร้อนน้อยหน่อย อะไรทำนองนี้

มันจะทำให้กระบวนการในอนาคต วิธีเพิ่มมูลค่าเข้าไปในสินค้าที่แน่นอน ยั่งยืนที่สุด คือเพิ่มสัดส่วนที่เราเรียกว่า service เข้าไปในตัวสินค้า ท่านฟังแล้วท่านอาจจะงง นี่เขาทำกันมาพักใหญ่แล้ว เครื่องยนต์เรือบิน ของ GE ท่านทราบไหม เขาติดเซนเซอร์เข้าไปกับตัวเครื่องยนต์ แล้วเขาจะมอนิเตอร์แล้วเขาจะบอกได้ว่าขณะนี้ชิ้นส่วนตรงนี้มันเริ่มโปเกแล้ว และมันถึงจังหวะที่จะต้องมีการเปลี่ยน เขาจะติดต่อสายการบิน แล้วส่งอุปกรณ์พร้อมช่างไปในจุดที่เรือบินลำนั้นกำลังจะไป นี่คือการเอา ... ที่เรา ใช้คำว่า element ของการบริการใส่เข้าไปในตัวสินค้า ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Servicization ตรงนี้ยิ่งมี 5G สัดส่วนตรงนี้มันจะยิ่งสูงขึ้น มันจะกลายเป็นว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องยนต์แพงๆ ที่ใช้ขับเคลื่อนเรือบิน อะไรต่อมิอะไรมีได้ทั้งนั้น รวมทั้งเวลานี้ที่มีคนพูดถึง การมอนิเตอร์คนไข้ ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล แต่มันมีไอ้โน่นไอ้นี่ติดเข้าไปในตัว เราก็สามารถมอนิเตอร์ได้

จริงๆ แล้วต่อไปมอนิเตอร์ในเรื่องของ pollution เอาไปติดไว้ตรงปล่องควัน มันจะสามารถที่จะทำอะไรต่างๆ ได้คล่องตัวขึ้น แม้แต่ในเรื่องการแข่งขันบางอย่าง ผมยกตัวอย่าง อย่างเช่นประกันชีวิต ท่านเชื่อไหม เวลานี้ ผมเป็นคนไปเริ่มต้น และ organize ตั้งสิ่งที่เราเรียกว่าเครดิตบูโร ก็คือการแชร์ข้อมูลจากระบบแบงก์เข้ามา เพื่อจะดูว่าลูกหนี้รายไหนเครดิตดีหรือไม่ดี แต่พอไปเสนอไอเดียกับบริษัทประกันชีวิต คุยกี่เที่ยวๆ ไม่ได้ เพราะทุกคนหวงข้อมูลลูกค้าของตัวเองไว้ แต่ท่านลองนึกถึงนะ วันหนึ่งถ้าปรากฏว่ามันมีข้อมูลที่มันแชร์กันได้ แล้วแต่ละบริษัทสามารถบอกได้ว่า คุณจรีพร active เข้าฟิตเนสตลอด แล้วเดินไปไหนมาไหนวันหนึ่งจะต้องกี่ก้าว ถ้าเป็นแบบนี้ ผมเป็นบริษัทประกันชีวิต ผมลดเบี้ยลงไป เพราะว่าโอกาสเป็นลมตาย น้อยลง มันจะทำให้กระบวนการในการแข่งขัน ประสิทธิภาพการทำงานภายในประเทศสูงขึ้นเยอะเลย แล้วจะมากโดยที่ท่านนึกไม่ถึง

ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ว่า ตรงที่พูดถึงมันเป็นสิ่งที่เราใช้คำว่า nice to have จริงๆ มันจะเลทไปสัก 2-3 ปี มันก็โอเคนะ เราก็ไปโรงพยาบาล ไปให้หมอตรวจซ้ำอีกที เสียเวลาหน่อย ไม่เป็นไร แต่ความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศนี่ รอไม่ได้ แล้วสิ่งที่เรากำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คือกรณีที่ประเทศจีนเขากำลังจะแซงอเมริกาขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก ในอดีตเราจะพบว่ามหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก มักจะไม่ค่อยยอมให้อันดับ 2 ตีขึ้นมาเสมอแล้วแซงได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นสงครามการค้ามันจะไม่จบง่าย บริษัทที่ผลิตสินค้าในจีนเพื่อจะส่งขายไปที่อเมริกา รู้อนาคตชัดเจน ต้องย้ายออก ผมเรียกพวกนี้ว่า นายทุนลี้ภัย กำลังจะมาเยอะ ขณะนี้คนที่วางแผน ผมว่ามีเป็นหมื่นๆ แต่คนที่ออกได้ทันทีเลย น้อยครับ เพราะอะไร เพราะว่าประเทศจีนเขาสร้างสิ่งที่เราเรียกว่า คลัสเตอร์ บริษัทที่ส่งกำลังบำรุง ชิ้นส่วนเล็กขึ้นมาเป็นชิ้นส่วนที่ใหญ่ ชิ้นส่วนที่ใหญ่มาใหญ่กว่า คลัสเตอร์ของพวก supplier มันจะติดอยู่ที่จีน มันออกมาไม่ได้ มันต้องใช้เวลากว่าจะย้าย เพราะฉะนั้น ท่านจะเห็น ประเทศแรกที่เขาวิ่งไปได้คือเวียดนาม เพราะมันอยู่ติดกัน มันเอาแต่ตัวประกอบมา แล้วยังส่งชิ้นส่วนตามมาก็ยังพอได้ ไทยถึงจะต้องรีบ เพราะว่าไทยเราอยู่ในข่ายที่ต่อไปเขาจะต้องมา แล้วท่านต้องเข้าใจนะ ฐานการผลิตที่จะต้องย้ายออกจากสหรัฐฯ แค่ย้ายออกมา 5% 10% ทั้งเวียดนาม ทั้งไทย ก็เอี้ยดแล้ว มันก็จะดันค่าแรงของเราสูงขึ้น

ปัญหาคืออย่างนี้ นายทุนลี้่ภัยเวลานี้ที่เขาจะย้ายออกมา แล้วเราก็ต้องวางแผนในการที่จะรองรับเขา เขาอยากได้อะไร ตรงนี้ผมว่าเราก็น้ำตาตกในอยู่ในขณะนี้ เพราะปรากฏว่ารัฐบาลลุงตู่ 1 ท่านไปตั้งโครงการอีอีซี แล้วเสนอเขา ให้ต่างชาติสามารถมา เช่าที่ดินได้ 99 ปี เช่าแล้วก็เอาไปให้เช่าช่วงต่อได้อีก แล้วยังมีกฎหมายเปิดให้เอาที่ดิน ส.ป.ก.ด้านการเกษตร เอาไปใช้อย่างอื่นก็ได้ ให้อำนาจเวนคืนเพื่อจะเอาที่ดินมาใช้ ให้อำนาจในการจะเอาที่ราชพัสดุไปใช้ ให้อำนาจในการที่จะเปลี่ยนผังเมือง ซึ่งอันนี้กำลังจะเกิดขึ้น คือเปลี่ยนพื้นที่เกษตร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ลูกพันธุ์ประมง อันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งอยู่เป็นรอยต่อระหว่างฉะเชิงเทรา กับชลบุรี เปลี่ยนจากสีเขียว ไปเป็นสีม่วง เพื่อจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ให้อำนาจคณะกรรมการนี้ในการให้สัมปทาน มันถึงออกมาเป็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แล้วก็เล็งว่าจะมีคนบินเข้าไปที่สัตหีบ แล้วก็นั่งรถไฟความเร็วสูงเพื่อจะมาเปลี่ยนเครื่องที่สุวรรณภูมิหรือเปล่า

ทั้งหมดนี้ เรียนเลย นักลงทุนที่เขาจะออกจากประเทศจีน เขาไม่สนใจครับ นักลงทุนที่เขาจะออกมา เขาไม่ได้เล็งว่าจะต้องมีสิทธิในการที่จะเช่าที่ดิน 99 ปี ธุรกิจที่จะอยู่กับ 5G อย่างนี้ วางแผนล่วงหน้า 10 ปีได้ก็เก่งแล้ว

สิ่งที่เราต้องถามคือ ประเทศไทย เทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน เรามีจุดแข็งและจุดอ่อนตรงไหน จุดแข็งของเราจะต้องสร้างขึ้นมาจากโครงสร้างพื้นฐาน จากแรงงานซึ่งมีความรู้การพัฒนา เพราะว่าขณะนี้เรามีจุดอ่อนค่าแรงของเราสูงกว่าประเทศอื่น

ฉะนั้นประเด็นแรกเลย ผมอยากจะเรียนว่า ความจำเป็นที่เราจะต้องดู 5G จะมองเฉพาะแค่ความสะดวกสบายภายในประเทศ สมาร์ทโฮมผมว่าเป็นรอง สิ่งที่เราต้องถามตัวเองคือ ทำอย่างไรจะให้เรามีความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศเทียบกับประเทศในอาเซียนอื่น

พอมาในประเด็นที่ 2 ยังไงก็หนีไม่พ้น ฟังคุณอเล็กซานดรา แล้วรู้เลยว่า 5G มาแน่ เร็วหรือช้า ประเด็นที่ต้องฝากท่านเลขาฯ ไว้คือ มันมีประเด็นทางสังคมที่เราจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะว่า 5G มันจะมาพร้อมกับไอ้การเข้ามาแทรกแซงในเรื่องของสิทธิมนุษยชนได้ง่าย ในแง่ของข้อมูลส่วนบุคคลที่จะรั่วไหลได้

สมมติว่าถ้าเกิดท่านไป 2006 ผมคิดว่าจะไปไม่ถึงรถที่จะสิ่งอัตโนมัติโดยตัวของมันเอง อันนั้นอาจจะต้องเป็นระดับเป็นหมื่น ท่านต้องคิดไว้แล้วว่าวันหนึ่งระบบมันเฟล แล้วมันเกิดอุบัติเหตุ แล้วมันมาจากตัวระบบเอง ท่านจะต้องจัดกระบวนการว่า แล้วใครจะรับผิดชอบ และถ้าเกิดแฮกกิ้ง จะเป็นอย่างไร

มาในประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะนำเสนอ ยกเป็นข้อสังเกต คือ ประเด็นในด้านการเมือง ประเด็นแรกเลย ท่านต้องตั้งหลักให้ดี เกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในกระบวนการประเทศกำลังพัฒนา ไม่มีประเทศไหนเลยที่ตีคู่ แล้วสามารถท้าทายสหรัฐฯ ในเรื่อง Consumer Electronics ได้เท่ากับจีน

รัสเซียเขาไปเล่นของใหญ่ อินเดียก็ยังล้าหลังมาก ประเทศอื่นไม่ต้องพูด สหรัฐฯ ถึงกังวลมาก เกี่ยวกับการพัฒนา 5G ในสหรัฐฯ จะสู้กับจีนได้อย่างไร

จีนเวลานี้ล้ำหน้าเพราะอะไร สหรัฐฯ คลื่นความถี่แบบสูงๆ หมื่นขึ้นไปเขายังไม่ปล่อย ยังอยู่ในมือทหาร เขาก็คิดหนักอยู่ว่าจะปล่อยยังไง อีกอย่างคือการพัฒนา อย่างในกรณีของจีนเขาไม่แคร์ในเรื่องสิทธิมนุษยชนเท่าไหร่

การใช้ Facial Recognition เขาใช้อย่างเสรีเลย กลายเป็นเวลานี้ เด็กนักเรียนที่จะเข้าไปผ่านหน้า เป็นสิ่งที่เขารับได้ นี่มันเป็นสังคมของประเทศที่เน้นความมั่นคงเป็นระดับหนึ่ง ถึงขนาดมีข่าวมีผู้หญิงอีกคนนึงไปเสริมสวย ตกแต่งจมูก หลังจากนั้นทำอะไรไม่ได้เลย เพราะระบบมันไม่ยอมให้ทำ ต้องไปแก้ไขอะไรวุ่นวายไปหมด

อีกอย่างจีน เป็นแหล่งผลิต Device ที่ผมเล่าให้ฟัง มีคลัสเตอร์ บริษัทนี้ ทำชิ้นส่วนให้บริษัทนี้ ต่อเนื่องกันเยอะมาก ฉะนั้นจีนล้ำหน้าสหรัฐฯ จนสหรัฐฯตามไม่ติด

ผมเล่าให้ท่านฟังนิดนึงว่า ผมเคยไปดูงานที่จีน เข้าไปทุกบริษัทเลยที่จีน ถ้าเป็นบริษัทเล็กเขาก็จะมีห้องรับแขก แล้วภูมิใจนำเสนอ เขาก็จะมีใส่กรอบไว้ติดกำแพง คือ สิทธิบัตร กระจอกหน่อยก็เป็นสิทธิบัตรภายในจีน ประเภทดีขึ้นมาหน่อยก็เป็นสิทธิบัตรอินเตอร์

บริษัททั่วๆ ไป ถ้าติดได้ 1 แถว สัก 6-7 อัน ถือว่าเด็ดแล้ว นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนกระตุ้นมาก แล้วเมืองไทยขาด คือการคิดค้นแล้วไปจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ ปรากฏว่าผมไปบริษัทของรัฐบาล ZTE โอ้โห ตกใจเลย บริษัทเอกชนที่ไปของ ZTE ใส่กรอบจากพื้นถึงเพดานเต็มไปเลย ผมประทับใจเลย บริษัทของรัฐบาลใช้ได้เลย

จนกระทั่งผมไปหัวเว่ย จากพื้นถึงเพดานเหมือนกัน แต่เชื่อมั้ยเขาไม่เอา Certificate มาใส่ เขาเอาไปย่อเหลือแถบเล็กนิดเดียว แถบเล็กนิดเดียวติดพื้นถึงเพดาน แล้วนี่หลายปีมาแล้ว

เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีการพัฒนาของจีนในเรื่อง 5G ไม่ต้องพูดเลย สหรัฐฯ กลัว ต่อไปถ้ากลายเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกชิ้น คือเมื่อสักครู่เราบอก chip in every dish มาเป็น chip in every device มันจะเป็น chip in every weapon นี่เรื่องใหญ่มาก

สหรัฐฯ เองก็ยอมจีนไม่ได้ ตอนนี้ในแง่ของการสกัดกั้นของสหรัฐฯ เขาก็สกัดกั้น 2 ระดับ หัวเว่ย อันดับแรกเลยสกัดกั้นระดับ Consumer Product ตอนนี้มือถือหัวเว่ยออกมามีโปรแกรมของสหรัฐฯ ไม่ได้ อันนี้เป็นลมเลยนะ มาขายเป็นไทยอาจจะพอได้เพราะเอาไปพันทิพธ์ เดี๋ยวเด็กมันก็โหลด มันไม่สะดวก เพราะว่า มันไม่อัปเดตอัตโนมัติ ต้องปีนึงไปที แต่ว่าไอ้ตรงนี้ถ้าไปประเทศตะวันตกเป็นลม ขายไม่ได้แน่

แต่ของหัวเว่ยมีจุดแข็งอยู่ ในส่วนที่เรียกว่า System คือตัวระบบเอง ปรากฏว่าสหรัฐฯ เวลานี้ก็ล็อบบี้อยู่หลายประเทศ อย่าใช้ตัวแบ็กโบนของหัวเว่ย พยายามล็อบบี้กระทั่งเวลานี้มีบางประเทศออกมาประกาศไม่ใช้ คือ ออสเตรเลีย แต่น้อยประเทศ

ในส่วนนี้ หัวเว่ยถึงขนาดแก้ลำ ถ้าใครซื้อ System ผมขาย Source Code เลยนะ คือพูดง่ายๆ ว่า คุณเอาไป เป็นของคุณ ไปดัดแปลงให้เข้าไปเลย เป็นครั้งแรกที่เรียกว่าถึงขนาดขายสมบัติเจ้าคุณปู่

สิ่งที่ทางการไทยต้องคิดคือเราจะไปยังไง ผมเดาว่าในอนาคตอาจจะมีระบบโทรคมนาคม 2 ระบบ ระบบนึงสหรัฐฯ อีกระบบอาจจะไม่ใช่สหรัฐฯ มันจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ฝากท่านเลขาฯ ไว้คิด เพราะว่าผมมีเพื่อนเป็นบริษัทอยู่ในไทย อยู่ดีๆ สันติบาลแวะไปถาม คุณมีอีเมลติดต่อกับแบงก์ในตะวันออกกลางอยู่แบงก์นึง เขาคุยกันในแบงก์ปกติ ใช่ๆ อันนี้เป็นอีเมลของผม แล้วคุยกันเรื่องอะไร อ๋อ นี่มันเป็นการติดต่อธุรกิจกันปกติ ผมก็ถามแล้วทำไมเขามาถามคุณเรื่องนี้ เขาบอกคนที่ผมติดต่อด้วยนามสกุลบิน ลาดิน

นี่เป็นเรื่องจริงครับ ผมเองตอนอยู่เลขาธิการ ก.ล.ต. ผมเชิญ ก.ล.ต.อิสราเอลมาสอนเรา วิธีที่เขาติดตามควบคุมตลาดหุ้น โอ้โห เราชิดซ้ายเลย เขามีระบบกรองข้อมูลที่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่ลึกลับมาก ไม่มีใครที่จะสอดแนมได้เก่งเท่าอิสราเอล

คือเวลานี้เข้าไปสอดแนมจีนเขาไม่ได้ แต่หลายประเทศ ผมก็มีความรู้สึกว่าวันหนึ่งก็อยากจะให้มีระบบที่ไม่มีใครมาสอดแนมได้ง่ายๆ แบบสหรัฐฯ นะ ฉะนั้นอาจจะเป็นได้ว่ารัสเซีย อินเดีย อาจจะพยายามจะจับมือกับจีน แล้วบอกว่า ช่วยกันทำระบบให้อิสระอะไรต่างหากอีกหน่อยมั้ย

มาในประเด็นสุดท้าย ว่าจะจัดให้มีความสมดุลอย่างไร ระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งก็ไม่อยากลงทุนแล้วไม่คุ้ม แต่ขณะเดียวกัน เมื่อสักครู่ผมก็ชี้ว่า Must Have ที่เราจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ลองคิดดู เพราะฉะนั้น ผมเรียนท่านเลขาฯ อย่างนี้ว่า ถ้าท่านเริ่มต้นบอกว่า ต้องสำรวจว่ามีความพร้อมแค่ไหนก่อนหรือเปล่า แล้วถึงค่อยเริ่ม บอกว่าจำนวนมือถือที่รองรับ 5G ได้ มันมีเล็กๆน้อยๆ ไม่ใช่ครับ ต่อไปลูกค้าที่ได้ใช้ 5G มันเป็นพวกอุปกรณ์ที่เขาจะผลิตออกมาอีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้

ถ้าเรามาถามว่า วิธีการใช้ 5G มันจะต้องอาศัยคนที่มีตลาดอยู่แล้ว ผมว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ท่านต้องคิดอย่างนี้ ประเด็นที่ 1 คือ มันอาจจะต้องถึงเวลาให้เอกชนตัดสินว่าจะลงทุนไหม ลงทุนแล้วจะเสี่ยงไหม จะลงทุนเท่าไหร่อะไรยังไง แล้วถ้าหากท่านมีความรู้สึกว่า เอกชนที่มีอยู่แล้วในประเทศไทยไม่พอ ควรจะเปิดให้มีเอกชนนอกเหนือจากนั้นเข้ามาร่วม

ประเด็นที่ 2 ถ้าหากเราใช้ขบวนการในการประมูลเหมือนเดิม ผมว่าอันนี้ไม่เวิร์ก คือกลายเป็นว่าเอกชน เดิมต้องมาจ่ายเงินให้กับรัฐบาลในการประมูลนะ และยังต้องไปลงทุนอะไรต่างๆ อีก ผมลองฝากท่านเลขาฯ ไปลองหาแนวทางดู ให้เขาเอาตามแนวเหมือนอย่างที่เขาประมูลเอราวัณ-บงกช ลองดูดีไหม

ใครเสนอตั้งค่าบริการต่ำสุด ชนะ ออกแนวนี้รัฐบาลจะได้เงินน้อย จะได้เงินน้อย การปะมูลอะไรชนะ ได้เงินน้อย แต่ว่าเงินลงทุนก็เหมือนเดิมนะ ถ้าออกแนวนี้ ผมว่ามันเป็นแนวแบบเดียวที่เขาใช้ในอินเดีย คือผลักความสะดวกลงไประดับประชาชนเลยเพื่อที่จะให้มันสะดวก

สุดท้าย สำหรับโอเปอเรเตอร์ที่เขาลงทุนไปแล้วในระบบ 4G ในเมืองไทย ผมคิดว่าอาจะแฟร์ ที่อาจจะแทนที่จะให้คิดระบบส่วนที่เขาลงทุนไปแล้ว เพราะว่า 5G ไป Replace 4G บางส่วน ให้เขาเอาตรงนี้มาหักลบอะไรได้บ้างส่วน

ผมเลยฝากท่านเลขาฯ ว่าถ้าออกแนวนี้มันอาจจะพออยู่ได้ ทั้งผู้แข่งขันรายใหม่ รายเก่า แล้วก็นักลงทุนต่างประเทศ ที่จะเข้ามา สรุปแล้ว ผมยังเสนอมันเป็นเวลาที่เราจะต้องเร่งรีบ แต่เร่งรีบอย่างรอบคอบครับ ขอบคุณครับ

เติมศักดิ์- ขอบคุณ อ.วีรชัย ก่อนที่ท่านฐากรจะเข้าสู่ช่วงสรุป คุณอเล็กซานดราขอใช้สิทธิพาดพิง เชิญครับ

อเล็กซานดรา- ดิฉันมีความรู้สึกเยอะเลย เพราะว่าในฐานะที่เป็นโอเปอเรเตอร์ในเมืองไทย ดิฉันก็มีความมุ่งมั่นอยากลงทุน แต่ว่าต้องใช้เวลาที่ทำให้เกิดขึ้น การลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานนั้น เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยง ราคาของความถี่เราก็จำเป็นต้องขอเวลาหายใจหน่อยในการที่จะเริ่มลงทุนเรื่องการใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายราคาแพงๆ ตั้งแต่แรก เริ่มต้น เราไม่รู้ว่าจะอย่างไร แต่ว่าเราจะทำแน่ๆ และเรามีความมุ่งมั่นแน่นอน

ที่บอกว่าสถานการณ์ลงทุน 5G จะเอามาแทน 4G นั้นมัน ไม่ใช่เอามาแทน หรือเอามาเพิ่ม แยกกัน ฉะนั้น การลงทุน 5G ก็คงจะมาเป็นระยะๆ อาจจะมีหลายสเปก ศักยภาพไม่ต่างกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะเปิดแล้วมันจะทำได้เต็มที่ทุกอย่าง

สุดท้ายเรื่องของโอเปอเรเตอร์ เราพร้อมในการที่จะขยาย สามารถที่จะพูดเป็นตัวแทนของโอเปอเรเตอร์รายอื่นได้ด้วยว่า ตอนนี้พร้อมแล้ว ในปีที่แล้วมีการโรลเอาท์ 4G สามารถที่จะอัปเกรดเป็น 5G ได้ สิ่งที่โอเปอเรเตอร์ทำอยู่ เราก็ได้สอดคล้องกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะไปสู่ 5G แต่เราก็ต้องขอเวลาหายใจนิดนึง แล้วก็ดูเรื่องของการประมูลคลื่นความถี่ ช่วยสนับสนุนเราด้วย เพื่อให้ทุกคนในประเทศได้รับประโยชน์จาก 5G

และสุดท้าย ดิฉันมีเรื่องที่อยากพูดเยอะแยะเลย และสิ่งที่พูดดิฉันบอกว่า สิ่งที่สำคัญที่จะต้องเปลี่ยนในประเทศไทย ดิฉันคิดว่า เรื่องของอนาคตดิจิทัล ก็คือเรื่องทุกย่างที่เราพูดในวันนี้ เราสามารถจะได้ประโยชน์อย่างไรในประเทศ เราจะใช้มันอย่างไร เราจะสร้างขีดสมรรถนะอย่างไร ระบบการศึกษาจะต้องเปลี่ยน ดูว่าเด็กไทยถูกเลี้ยงมาอย่างไร หรือว่าเรียนเลขคณิตอย่างไร

เวลาพูดถึงซีทีโอ ต้องส่งลูกไปติวทุกเสาร์-อาทิตย์เลย แต่ถ้าเราดูเรื่องเอไอ มันไม่ใช่แบบนี้ เราจะต้องฝึกสอนเด็กไม่เหมือนกัน ฉะนั้นหลักสูตรเมืองไทยจะต้องเปลี่ยน ดิฉันขออ้อนวอนประเทศไทยเลย เพราะว่าต้องเปลี่ยนระบบการศึกษา

เติมศักดิ์- ขอบคุณมากครับ ท่านเลขาฯ จะตอบเลยทีเดียวไหมครับ คุณจรีพร มุมมองภาคอุตสาหกรรม อยากจะสื่อสาร อยากจะทิ้งท้าย ฝากอะไรบ้างครับคุณจรีพร เชิญครับ

จรีพร- ดิฉันขอเรียนท่านรัฐมนตรีที่ท่านพูดเรื่อง EEC มานิดนึง เนื่องจากว่าข้อนี้เป็นข้อที่เข้าใจผิดมาหลายเรื่อง เรื่องที่ดิน เพราะรัฐบาลมีการโจมตีมากว่าปล่อยให้ต่างชาติเช่า 99 ปี ข้อมูลนี่คือ Fact นะคะ ไม่ได้แก้ตัวแทนรัฐบาล ต่างชาติสามารถซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ต่างชาติสามารถซื้อได้มานานแล้ว ถ้าที่ดินนอกนิคมอุตสาหกรรม ต่างชาติซื้อไม่ได้ แต่ถ้าเขาได้บีโอไอ เขาสามารถซื้อได้

มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก เดี๋ยวจะไปผิดทางกัน ส่วนการที่เขาจะเช่าที่ได้อะไรได้ตามกฎเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด แปลว่าเขาต้องทำตามคลัสตเตอร์ต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดให้ ถ้าไม่ได้ทำตามเขาก็ต้องคืนที่ให้ นี่คือ Fact ส่วนเรื่องกฎหมายผังเมืองต่างๆ ต้องเรียนว่าพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ส่วนใหญ่ พื้นที่อุตสาหกรรมไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกรรมเลย และ EEC สำคัญกับประเทศไทยมาก

อู่ตะเภาที่จะเกิดตรงนั้น มันไม่ใช่เรื่องไฮสปีดเทรนด์ แต่อู่ต้องเกิดสนามบิน เป็นมหานครการบินอะไรต่างๆ ขึ้นมา เพราะจะมีธุรกิจใหม่ๆ ด้านอุตสาหกรรม Aerospace และ Aerospace Cluster จะเกิดขึ้นได้ให้ประเทศไทยทรานฟอร์มจากออโต้ไปแอร์โรว์ ซึ่งเรื่องนี้เราพูดมานานแล้ว เนื่องจากว่า เราเองบอกว่าเป็น ดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย เรามีเซคเตอร์ทางด้านยานยนต์ใหญ่อันดับท็อปของโลกในการส่งออก

แต่ตอนนี้เราพูดถึง EV Car เราไม่เคยห่วง บริษัทใหญ่ๆ เขาเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ที่จะทรานส์ฟอร์ม แต่ที่เราห่วงคือ ซัปพลายเชน ทั้งหมด เราก็เลยมองภาพว่า ตรงนี่ส่วนหนึ่ง เราสามารถทรานส์ฟอร์มจากออโต้ไปแอร์โรว์ได้ อู่ตะเภาจะต้องเกิดธุรกิจ MRO และ OEM จะต้องเกิดขึ้นมา ซึ่งจะมีการคอนเนกต์ไปกันหมดเลย แล้วก็มาถึงเรื่อง 5G พวกนี้

อุตสาหกรรมการบินมหานคร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เราทำนิคมอุตสาหกรรม เทรดวอร์เรารับเต็มๆ ดิฉันพูดเสมอ เทรดวอร์เหมือนทฤษฎีหมูสามชั้น เทรดวอร์มันไม่จบง่ายๆ หรอกค่ะ คนบอกว่าจบก็ต้องเลือกตั้งประธานาธิบดี เทรดวอร์เหมือนกับผิว ถัดออกมาคือชั้นไขมัน คือ เทกวอร์ มีเรื่องความมั่นคง สำคัญมาก เพราะฉะนั้น 3 เนื้อนี่คือความมั่นคง

เทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องความปลอดภัยที่ท่านรัฐมนตรีบอกใส่ชิปเข้าไปในอาวุธ นี่คือเรื่องสำคัญมาก ในการใช้โดรนในการโจมตีในซาอุดีอาระเบียที่เพิ่งโดนไป นี่คือเรื่องความมั่นคง ยังไงสหรัฐฯ ก็ไม่ยอม ดังนั้น เทรดวอร์ไม่จบลงง่ายๆ

โชคดีประเทศไทยได้อานิสงส์จากเทรดวอร์ขึ้นมา เวลาจีนออกมาเขามองในเรื่องเซาท์อีสต์เอเชีย ไทยกับเวียดนาม เราก็โชคดี จีน จีนกับไต้หวันก็มาที่ไทยค่อนข้างจะเยอะมากเลย ก็ถ้าเทคโนโลยีก็จะมาที่ไทย เพราะอินฟราสตรักเจอร์เราดีกว่าเพื่อนบ้านเรา แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเราจะดีอย่างนี้ต่อไปถ้าเราไม่พัฒนาขึ้นมา

ถัดมา ประเทศที่มีพวกเลเบอร์เยอะๆ จำนวนคนเยอะๆ ถูกๆ เขาก็ไปเพื่อนบ้านเรา ก่อนที่จะมีอีอีซี ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในแผนที่การลงทุนของโลก แต่ตอนนี้พอมีอีอีซีขึ้นมา ประเทศไทยกลับมาอยู่ในแผนที่การลงทุนของโลก

ยิ่งเฉพาะตัว Aerospace Cluster ได้คุยกับปิแอร์ ที่เป็นเพรสซิเดนต์ของแอร์บัสในเอเชียแปซิฟิก เมื่อการจัดงาน 2 เดือนก่อนที่ฝรั่งเศส จริงๆ เขาเชิญดิฉันไปพูดด้วย แต่ติด เลยไม่ได้ไป เราก็ถามงานเป็นไงบ้าง เขาบอกดีมาก ประเทศไทยได้มาอยู่ในพื้นที่ของ Aerospace แล้ว เราไม่เคยโดนพูดถึงมาเลย ตรงนี้ถึงบอกว่ามีการทำไปแล้วหลายเรื่องมากเลย

บทสรุปตรงนี้ถึงว่า เราจะทำยังไงให้เกิดขึ้นจริงๆ จังๆ ขึ้นมา ซึ่งเรียนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ไม่มีเวลาทะเลาะกัน ไมมีเวลาที่จะโทษซึ่งกันและกัน ไม่ต้องวางแผนใหม่ แผนที่มีอยู่ดีอยู่แล้ว จับต้องให้ได้ ทำงานประสานกัน แล้วรวมพลังกันไปดึง Invester ต่างชาติมาให้ได้

ตอนนี้คือโอกาสสำคัญในการเคลื่อนย้ายฐานทุนที่สำคัญของโลก เพราะเมื่อไหร่เขาเซตอัปที่ประเทศไหนแล้ว กว่าเขาจะออกอีกรอบหลายสิบปี มองภาพจีนที่เขาลงไป เป็นคลัสเตอร์ เป็นซัปพลายเชน ทั้งหมดเลย เขาใช้เวลา 30 ปี ตอนนี้เขาเริ่มมูฟออก

เมื่อวานนี้ เพิ่งประชุมร่วมกับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของจีน เขามีพื้นที่ในจีน 3 แสนตารางเมตร ผลิตอิเล็กทรอนิกส์เรื่องโทรศัพท์ เขามาหาเราแล้วบอกว่า เขาต้องรีบมาไทยอย่างเร่งด่วนแล้ว เพราะภายในปีหน้าเขาไม่สามารถจะส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ ต้องสร้างโรงงานอย่างเร่งด่วน ภายใน 8 เดือน ไม่รู้จะสร้างเสร็จมั้ย แสนตารางเมตรก่อนเบื้องต้น เริ่มทะลักกันเข้ามาแล้ว

แล้วถ้าทางด้านเทคโนโลยีมาล่ะ เราพร้อมจะรองรับเขาหรือเปล่า พูดเรื่องโลจิสติกส์ อาลีบาบาคือลูกค้าของเรารายใหญ่ เขาบอกเลยว่า ที่เขาเช่าพื้นที่เรา 130,000 ตารางเมตรในเฟสแรก เขาต้องการทำเหมือนฟิวเจอร์พาร์กที่ทางจีน เขาใช้โลจิสติกส์ 4.0 สมบูรณ์แบบแล้ว ประเทศคุณอินฟราสตรักเจอร์รองรับหรือเปล่าในเรื่องนี้ ซึ่งทุกอย่างก็ลิงก์มาใน 5G ทั้งหมด คือส่วนสำคัญ แต่จะเรียนว่า เรามองภาพว่าสำคัญ ไม่สำคัญ แต่ดิฉันมองภาพว่า เราต้อง Spent เงินทั้งหมดทั้งประเทศหรือเปล่า แต่เรามองภาพดูว่าต้องจับต้องตรงนี้ ดิฉันพูดเสมอว่า อย่าเตี้ยอุ้มค่อม ทำอะไรให้เกิดให้ได้ พอเกิดได้แล้ว เราค่อยขยายขึ้นไปเรื่อยๆ ดีกว่ามั้ย เงินท่านก็ไม่จม พอสโคปพื้นที่ให้เล็กลง แต่มันเกิดฟังก์ชั่นจริงๆ มันทำงานได้จริงๆ ตรงนี้ท่านจะกลายเป็นว่า เป็นฮีโร่ของประเทศเลย ท่านทำได้ ไม่ใช่เราพูดกันแล้วบอกว่า จำเป็นต้องทำไหม

ดิฉันก็เพิ่งกลับมาจากอังกฤษ อยู่ที่นู่นใช้ Wifi ของเขา โทรศัพท์ไลน์กลับเมืองไทย สายขาดตลอดเวลา จริงๆ แล้วมันก็ยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เรามาทำเงินเรื่องนี้กันก่อนไหมคะ ดิฉันเชื่อว่าทางอุตสาหกรรมสำคัญ แต่ก็ต้องดูว่าจะลงตรงไหนก่อนเพื่อให้คุ้มค่าที่สุด

เติมศักดิ์- ขอบคุณคุณจรีพรครับ ก่อนจะให้วิทยากรทุกท่านบนเวทีแห่งนี้ได้สรุปสุดท้าย อยากจะเรียนถามท่านผู้มีเกียรติว่า มีคำถามอะไรอยากจะถามท่านวิทยากรไหมครับ

พีรวัฒน์- ผม พ.อ.ดร.พีรวัฒน์ พรหมกลัดพะเนาว์ เป็นกรรมการติดตามประเมินผล กสทช. ในมุมมองผมเรื่อง 5G ที่รัฐบาลนำมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติ และก็ต้องการที่ไปสู่แผน ปัจจุบันนี้รัฐบาลออกแผนมาหลายหลายแผน แผนดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจสังคม สำนักงาน กสทช.พยายามไปให้ถึงตรงนั้น

ผมมองว่า ที่ออกข่าวมาตลอดที่ว่า 5G ภายในปีหน้า 2 ปี โอเปอเรเตอร์ 3-5 ราย ไม่พร้อมที่จะลงทุน แต่บริบทรอบนอกประเทศเรา ไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน อเมริกา ล่าสุด ถ้าดูเรื่อง Has Fallen เอาโดรนฆ่าประธานาธิบดีของอเมริกา ภาคล่าสุด เทคโนโลยีล้วนๆ ทั้งนั้น

ฉะนั้นตอนนี้รัฐบาลไทย กำลังปูพรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลอจิสติกส์ หรือกฎหมาย รอออกมาหมดแล้ว พ.ร.บ.ไซเบอร์ แห่งชาติ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อรองรับ 5G โดยเฉพาะ ฉะนั้นตอนนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายที่สำนักงาน กสทช. และโอเปอเรเตอร์ทั้งหมดจะต้องพยายามไปให้ถึงจุดนั้น เราเป็นเหมือนใยแมงมุม ไม่ไปไม่ได้ต้องไป ฉะนั้นปีหน้าไม่ว่าจะเกิดไหม นั่งคุยกับท่านเลขาฯ ปีหน้าเราพยายามจะประมูลให้ได้

แต่อยากจะฝากทั้งโอเปอเรเตอร์ว่า ต้องไปให้ถึง ต้องคุยกันในเรื่องของงบประมาณการลงทุน มูลค่าคลื่น ที่จะออกมาเร็วๆ นี้ ผมอยากจะพูดว่า เราพยายามติดตาม อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น เพราะว่า ผมเคยอยู่การบินมาก่อน อีอีซีที่เกิดขึ้น แอร์โรว์สเปซต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา อยากจะบอกว่า เราเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตไอเคโอมา 2 ปี ผมทำดุษฎีนิพนธ์เรื่องมาตรฐานการบินของประเทศไทย ตอนนี้เรื่องการบินกำลังไปได้สวย เรื่องประมงกำลังไปได้สวย

ทีนี้เรื่องโลจิสติกส์ ต้องขอบคุณคุณจรีพร ที่พูดดีมาก เรื่องอินฟราสตรักเจอร์ เรื่องการลงทุน อินเวสเมนต์ต่างๆ อยากจะให้ กสทช.ช่วยไปทดลองเคสกับกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ สมาร์ทซิตี้ เรื่องเกษตรฟาร์มต่างๆ

ตอนนี้ที่ กสทช.ลงทุนกับในส่วนของยูต่างๆ ทั่วภูมิภาค เป็นสิ่งที่ดี แต่ที่เห็นผลจะเกิดกับอินเวสเมนต์ต่างๆ ว่าจะเกิดอย่างไร

ผมอยากจะฝากไปทางสำนักงาน กสทช.และทางท่านประธาน กสทช. และทางโอเปอเรเตอร์ว่า อย่างไรก็แล้วแต่ ภายใน 2 ปีข้างหน้า เราต้องเกิดให้ได้ ถ้าไม่เกิดเราจะตามไม่ทันแน่นอน เพราะว่าตอนนี้คือรอบนอกเราไปหมดแล้วมันต้องไป เหมือน 3G มาเรามาช้ากว่าเขา ตอนนี้ภูมิภาคอาเซียน เราเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนจ้องตาเป็นมันอยู่ ฝาด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ

เติมศักดิ์- ขอบคุณมากครับ มีท่านอีกไหมครับ เชิญครับ

อนุสรณ์- สวัสดีครับ ผมอนุสรณ์ เป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานภาครัฐ ในนามของสมาคมเทคโนโลยีดิจิตอล ขอเวลา 1 นาที ในการแชร์ประสบการณ์ วันนี้ 5G ในประเทศไทยเรากำลังพูดว่าเราได้อะไรบ้าง แต่เรายังไม่ได้พูดถึงว่าประเทศไทยเรากำลังจะเสียอะไรไปบ้า ซึ่งผมเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งที่เราได้สูญเสียไปแล้วบางส่วนก็คือ อย่างเช่น เรื่องของเดต้า Tax เรื่องของ Opportunity

ผมขอสรุปสั้นๆ ในเรื่องของเดต้า คือว่า ผมเองไม่ได้กังวลในการถูกละเมิดโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต แต่ผมกลัวว่า ประชาชน ประชาสังคมเต็มใจที่จะอนุญาต เนื่องมาจากระบบนิเวศทางดิจิตอล ไม่ได้เอื้อให้เขาได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ท่านลองดูก็ได้ว่าถ้าเดต้ามันคือ Intangible goods สินค้าที่จับต้องไม่ได้ ใช่ไหมครับ

วันนี้ประเทศเราเสียอะไรไปบ้าง เราเสีย Consumer Behavior ออนไลน์ให้กับ Facebook เราเสียการเดินทางเที่ยวใช้ Google map ข้อมูลพวกนี้เราให้เขาไปหมดแล้วก็เต็มใจให้ด้วย เช่น ข้อมูลทางด้านการเงิน วีซ่ามาสเตอร์การ์ดที่เราจ่ายผ่าน PayPal ไปทั้งหมด เขารู้หมด ผมบอกว่าเราไม่ได้กลัวที่เราจะเสียข้อมูลไปโดยที่เราไม่เต็มใจ เราต่างหากที่เต็มใจ เนื่องมาจากเรากำหนดกรอบกติกาในระบบนิเวศของเราไม่ดี นั่นคือเรื่องที่ 1

ส่วนเรื่องที่ 2 คือ เรื่องภาษี ถ้ามูลค่าทางเศรษฐกิจ 6 แสนล้าน ภาษีคือ 7% แล้วเป็นแบบ 20% จาก 6 แสนล้านผมลองกดตัวเลขคร่าวๆ อยู่มูลค่า 5G ภาษีที่จะเข้ารัฐเพื่อไปประเทศไทย คือ ประมาณ 160,000 ล้าน เบื้องต้น ตรงนี้ไปทำอะไรได้กับประเทศไทยได้อีกเยอะ

จะเห็นได้ว่า เราเสียสูญเสียอะไรไปอีก Netflix ทุกคนเคยใช้ในห้องนี้ เงินไปไหนครับไม่เห็นเข้าประเทศเลยสักบาท Agoda ครับ โรงแรมประเทศไทยที่อยู่ในประเทศไทยผู้ให้บริการประเทศไทยเงินไม่เข้า ถัดมา spotify ท่านดูครับ Google Cloud Microsoft Advertising เราสูญเสียเม็ดเงินมหาศาล ซึ่งตรงนี้ปัญหาคือเราต้องวางกรอบ 5G เราให้ดี

เรื่องสุดท้ายครับ เมื่อเราสูญเสียภาษี เราสูญเสียเดต้าไปแล้ว สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือ เรารู้สึกสูญเสีย Opportunity ที่สำคัญของประเทศ เพราะเดต้ากับภาษี เป็นพื้นฐานการพัฒนาของประเทศ ท่านลองคิดถึงข้อสุดท้ายที่ผมจะฝากไว้ว่า เช่น ภาคเกษตรกรรม วันนี้เราเสียข้อมูลไอโอที ในการปลูก ข้อมูลทางผู้ซื้อที่ผ่านออนไลน์ ผู้ผลิตที่ขายอะไร ท่านลองคิดดูรัฐบาลไม่มีข้อมูลตรงนี้ เราจะพัฒนาอย่างไร แล้วเราเก็บภาษีไม่ได้ด้วย

ดังนั้น วันนี้ 5G เราต้องมาพูดถึงเรื่องนี้ด้วย ผมชอบมากในเวทีวันนี้ที่ทำให้เราได้มาเจอกัน ดังนั้นยังผมอยากจะฝากประเด็นนี้ไว้ให้พวกเราช่วยกันคิดในฐานะภาพรวมของประเทศครับ ขอบคุณมากครับ

เติมศักดิ์- ขอบคุณมากครับ มีท่านใดจะถามครับ เชิญครับ

อเล็กซานดรา- ที่พูดมาเรื่องของประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีการไปประชุมที่มาเลเซียและมีตัวแทนจากมาเลเซียและเวียดนามด้วย ก็คุยถึงเรื่อง 5G อย่างกรณีของเวียดนาม รัฐบาลบอกว่าจะให้เวลา 3 ปี ที่โอเปอเรเตอร์ไม่ต้องจ่ายเงินค่าคลื่น แต่เอาไปใช้ในการศึกษาผู้ใช้ แล้วค่อยมาโรลเอาต์ทางพาณิชย์

นี่ก็เป็นตัวอย่าง นี่เป็นเรื่องของการนำร่องกรอบ และเรียนรู้จากประเทศอื่นด้วย และอีกอย่างก็ขอขอบคุณภาคอุตสาหกรรม เราก็จะต้องดูเซกเมนต์ต่างๆ ที่มีค่ามากที่สุดของประเทศไทย และโฟกัสไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาคการศึกษา ภาคสาธารณสุข หรือทางภาคยานยนต์ ทั้งหมดนี้สำคัญ

ดิฉันจะยกตัวอย่างหนึ่ง ตอนที่ดิฉันไปประเทศฮังการี เป็นประเทศหนึ่งที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เข้มแข็ง และทางรัฐบาลก็ได้สร้างห้างสำหรับเครือข่ายรถยนต์ที่จะขับเคลื่อนได้ตัวเอง ร่วมกับทางโอเปอเรเตอร์ และภาคอุตสาหกรรม นี่ก็ถือเป็น ระบบนิเวศที่ครบถ้วน ที่จะช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เข้มแข็งขึ้น นี่ก็เป็นเคสที่เราจะต้องสร้างในประเทศไทย

อย่าไปกลัวว่าเราจะตามหลังเขา อย่ารีบเร่งแต่ทำให้เหมาะ ถูกเวลา เรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลเราทำตามกฎเกณฑ์ของยุโรป ไม่ต้องเป็นห่วง

ฐากูร- ยังไงท่านประธาน กสทช.ก็อยู่ที่นี่ ยังไง 5G ก็ต้องไปถึงฝันให้ได้ ถ้าไปไม่ถึงฝัน มีอยู่ทางเดียวคือ ปลดเลขาธิการ กสทช.เท่านั้น 2-3 เดือนที่แล้วนะ บอกว่า 5G จะไปไม่ถึงฝัน ผมได้ข่าวมาว่า โอเปอเรเตอร์ 3-4 ค่าย ลงขันปลดเลขาธิการ กสทช. ถึงจะไปให้ถึงฝัน จริงหรือเปล่า ไม่จริงนะ พูดเล่นๆ

เพราะฉะนั้น วันนี้ผมเรียนอย่างนี้ มันมีอยู่แค่ 3 ประเด็นเอง 1. มูลค่าคลื่นที่ออกมา แล้วก็เงื่อนไขของการประมูลที่จะต้องออกมา มันจะต้องมีความเหมาะสม และสามารถที่จะเข้าประมูลได้ ถ้าเกิดว่าเราทำได้ เราเรียกประชาชนรับได้ โอเปอเรเตอร์รับได้ มันก็เดินหน้าต่อไปได้

เพราะฉะนั้น ฝากสถาบันการศึกษา 3 แห่งด้วย ที่กำลังประเมินมูลค่าคลื่นอยู่ในขณะนี้จะส่งรายงานให้กับทางสำนักงาน กสทช.นะครับไม่ว่าจะเป็น TDRI ไม่ว่าจะเป็นจุฬาฯไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่กำลังจะส่งผลการประเมินมูลค่าคลื่นให้กับทาง กสทช.ว่า ราคาที่จะมีการประมูลเริ่มต้นที่จะออกมาเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นมันจะต้องมีความเหมาะสม ในการที่จะออกประมูลในครั้งนี้ เป็นราคาเริ่มต้นของการประมูล

เงื่อนไขของการประมูลในครั้งนี้ผมเรียนว่าที่เราจะเพิ่มเข้าไปได้ก็คือผมฟังจาก ได้ โอเปอเรเตอร์มา เขาบอกว่าเปิดให้บริการ 5G แล้ว มันจะต้องเปิดในพื้นที่แรก อาจจะเป็นภาคอุตสาหกรรมก่อน ซึ่งตรงนี้ภาคอุตสาหกรรมทางคุณจรีพร ยืนยันแล้ว ว่าจะต้องมีการประสานกันในการทำงาน ถ้ามีการประสานกันในการทำงานทั้งหมดการที่บอกว่าต่อยอดในการทำงานจะมีการใช้งานหรือไม่ มันไม่ใช่คำถามที่จะต้องถามต่อไปแล้ว

เพราะฉะนั้นถ้าทำให้ดีภาคอุตสาหกรรมเขาต้องการใช้งานอย่างแน่นอน เงื่อนไขของการประมูลเวียดนาม เมื่อสัครู่ฟังคุณอเล็กซานดราบอกว่า เกสต์พรีเมียร์ ให้ 3 ปี ความหมายของเขาคือ เขาต้องการที่เมื่อมีการเปิดให้บริการได้เต็มประสิทธิภาพทั้งหมดแล้ว ก็คือประชาชนใช้งานได้อย่างเต็มที่แล้ว ค่อยคิดเงินเขาได้ไหม ความหมายคืออย่างนั้น จีนก็เหมือนกัน ให้เอกชนในระหว่างนี้นำเงินไปลงทุนก่อน ในระหว่างที่ก่อน 3 ปี เช่นในระหว่างนี้ลงทุนได้เฉพาะของภาคอุตสาหกรรม

แต่ในขณะเดียวกัน ได้ โอเปอเรเตอร์ ก็ต้องจ่ายเงินค่าคลื่นรวมทั้งหมดเพราะฉะนั้นในระหว่างนี้อย่าเพิ่งเก็บเงินได้ไหม แต่ว่าเมื่อปีที่ 4 เมื่อมีการใช้งานประชาชนสามารถใช้งานได้ใครก็สามารถใช้งานได้เต็มพื้นที่ทั้งหมดแล้วเป็นเนชั่นวายแล้ว ก็คือค่อยเก็บเงินกับเขาได้ไหม เดี๋ยว กสทช.รับเงื่อนไขพวกนี้ไป เพื่อที่จะไปจับใส่ในเงื่อนไขของการประมูลเพื่อให้มีการขับเคลื่อน 5G ในส่วนนี้ให้ได้

ในส่วนที่สอง คือ เงินลงทุน ที่จะต้องไปลงทุน ถ้าท่านเซฟในส่วนนีน้ลงมาได้ ท่านก็สามารถเอาเงินในส่วนนี้ไปลงทุนในการที่จะตอบทำโครงข่ายของท่านต่อไปได้อีก เงินลงทุนผมเข้าใจว่าทั้งหมด แต่ละค่ายคงต้องมีการลงทุนเป็นเป็นแสนล้าน ผมเข้าใจว่าเป็นแสนล้านแน่

ซึ่งในแสนล้านที่ท่านต้องไปลงทุน เข้าใจว่า ผมไม่ใช่วิศวกรนะครับ แต่ก็ได้ฟังจากทุกท่านที่ออกมาบอกว่า ตอน 3G มาเป็น 4G อุปกรณ์มันยังคล้ายๆเดิมอยู่ มันอนุญาตให้ปรับเปลี่ยน แต่พอเป็น 5G มันปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมดเลย ซึ่งต้องมีการลงทุนมากกว่าตอนที่ปรับ 3G เป็น 4G ซึ่งตรงนี้เราเข้าใจได้นะครับ ว่า กสทช.ก็เข้าใจในประเด็นนี้

ในส่วนสุดท้ายก็คือของภาคการผลิตภาคอื่นที่จะต้องเข้ามาใช้งาน ถ้าทั้ง 3 อย่างเซตให้สั้นได้ลงตัว ท่านตอบคำถามเราได้ไหมครับว่า ไอ้ปมที่กระชากฝันที่บอกว่า ไปไม่ถึง ว่ามันจะถึงไหมครับ ถ้าเกิดว่า 3 ข้อนี้ออกมาได้ คือ ราคาก็ไปได้พอสมควรเงื่อนไขในการผ่อนปรนของท่านก็ไปได้

การลงทุนท่านก็เอาเงินไปลงทุนได้ ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ภาคอะไรต่างๆก็สามารถที่จะนำไปใช้งานได้ ต่อยอดในการ สิ่งที่ท่านคาดไว้ คือ ท่านอาจจะไปถึงฝันตรงนั้นบ้าง ลงทุนไปแล้วมีคนใช้งานหรือเปล่า ขาดทุนหรือเปล่า เมื่อท่านไปกู้สถาบันการเงิน ผมว่าถ้า 3 ส่วนนี้ออกมา ท่านน่าจะมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น มั่นใจในการที่จะลงทุนพวกนี้มากยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้นสิ่งพวกนี้ท่านให้คำตอบ กสทช.ให้คำตอบอย่างนี้ ในอนาคตข้างหน้า โอเปอเรเตอร์ให้คำตอบพวกเราได้ไหมครับ เพื่อที่จะสานฝันวันนี้ของเราให้ไปถึง 5G ในปี 2563

ผมอยากให้เร็วกว่านั้น ผมไม่อยากให้ช้าเลย ผมเรียนอย่างนี้ ว่าผมไม่อยากให้ช้าเนื่องจากว่า ผมก็ไม่เชื่อคำตอบของประเทศเวียดนาม ผมไม่เชื่อมาเลเซีย เนื่องจากว่าผมไปไอทียูมา เลขาฯ ไอทียูบอกว่า บอกผมว่ายังไงรู้ไหมครับ ผมก็เล่าว่าเวียดนามมีไปไกลแล้วนะครับตอนนี้ แล้วก็มาเลย์ก็ไปไกลแล้วนะครับ เขากำลังจะเปิดให้บริการเป็น Commercial ในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมปี 2563 เลขาฯ บอกผมว่า No ประเทศไทยไปเร็วกว่า

เขาบอกผมว่า เขาพูดไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่ของยูทำจริง เพราะว่าเรามาดูของยูแล้ว เพราะฉะนั้นทำให้เรามีกำลังใจขึ้นพอสมควรนะครับว่า เราก็ต้องเดินหน้า แต่สิ่งพวกนี้เชื่อฟังหูไว้หู เราก็ต้องเชื่อว่ามันเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน กรกฎาคมจริง มันจะทำให้ธงคำตอบของเรา เลื่อนจากเดือนธันวาคมมาตุลาคม เลื่อนลงมาเรื่อยๆเพื่อให้ทุกท่านจะได้เปิดให้บริการให้เร็วขึ้น

เพราะฉะนั้นธงคำตอบของเราเป็นอย่างนื้ ทำให้เรามีความเชื่อมั่นเดินให้เร็วที่สุด ถ้าเขาเปิดให้บริการช้าเรายิ่งได้เปรียบ ถ้าเขาเปิดให้บริการพอๆกับเรา เราก็ยังพอไปไหว เพราะว่าผมเข้าใจว่าคนไทยน่ารัก แล้วก็การที่ใครจะมาลงทุนในประเทศไทยถ้าศักยภาพเหมือนกันหมด ทุกอย่างเนี่ยคนที่เมืองไทยแน่นอน ใครอยากไปอยากจะมาอยู่เมืองไทยแน่นอน

เพราะฉะนั้นผมถึงเรียนว่าทั้งหมด ขอให้ท่านบอกว่าไอ้ที่เราพูดกันกระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝันในวันนี้ เราต้องไปให้ถึงฝันให้ได้ ท่านอาจารย์ธีระชัย เพิ่งพูดไป ท่านบอกว่ายังไงก็ตามมันต้องเดินหน้าต่อไปให้ได้ เพราะว่า 5G มันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ ประเทศ ของโลกด้วยในขณะนี้ มันไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว และเลขาธิการไอทียู พูดกับผม ว่าฝากบอกรัฐบาลไทยด้วย ว่าเก็บเงินลงทุนไว้นะ อย่าไปลงทุนสร้างถนนให้มาก เก็บเงินมาลงทุนด้าน 5G ให้มากๆ และประเทศ you หนักจะเดินหน้าต่อไปได้เร็ว อย่าไปสร้างถนนให้มาก สร้างโครงข่ายโทรคมนาคมให้มากๆ มันจะต่อยอดการทำงานต่างๆได้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นโลกอะไรทั้งหมดมันจะหลอมรวมกันเข้าไปหมดแล้ว

เพราะฉะนั้นในโลกการเงินก็จะไม่มี โลกอะไรทั้งหมดจะหลอมรวมอยู่ในโลกโทรคมนาคมหมดแล้ว ผมเรียนอย่างนี้ วันนี้ฝาก เดินหน้าต่อไปก็ได้ ฝากโอเปอเรเตอร์ทุกท่าน ผมเข้าใจปัญหาของทั้งหมด เพราะฉะนั้น กสทช.ก็จะต้องปรับปรุงแก้ไขต่างๆ ที่จะทำให้ท่านเดินหน้าต่อไปได้ อะไรที่ไปไม่ถึงทำให้ถึงอะไรที่ไปถึงแล้วทำให้ถึงมากกว่าเดิมอีก ตรงนั้นจะช่วยกันพัฒนาประเทศของเราต่อไป

เติมศักดิ์- นั่นคือบทสรุปของท่านเลขาธิการ กสทช.คุณฐากร ช่วงสุดท้าย อยากให้ทั้ง 3 วิทยากรที่เหลือ ได้สรุปส่งท้ายครับ เริ่มจากคุณอเล็กซานดราครับ

อเล็กซานดรา- ขอบคุณค่ะ เราก็มุ่งมั่นแน่นอน อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ลงทุนสร้างสำหรับ 5G แล้วอย่างที่คุณจรีพรกล่าว ก็มีการทำงานแยกจากกันในภาคอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เฉพาะแต่ในภาคส่วน ภาครัฐ โอเปอเรเตอร์ และภาคอุตสาหกรรม แต่ในแต่ละอุตสาหกรรมก็ต้องทำงานร่วมกัน ไม่ได้ทำงานแยกจากกัน

ดิฉันก็แน่ใจมากว่า เราไม่ได้อยู่ในช่วงวางแผน แต่เราเป็นช่วงสร้าง แล้ว 5G จะเกิดขึ้นทันทีในเวลาที่เหมาะสมแน่นอน

จรีพร- จูนคิดว่าหลังจากที่เราจบสัมมนาวันนี้แล้ว เราเข้าใจซึ่งกันและกันเยอะขึ้น เรามองภาพว่ากระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝัน คงจะต้องเปลี่ยน เป็นว่า 5G เราจะไปไกลเกินฝันค่ะ ขอบคุณค่ะ

เติมศักดิ์- ขอบคุณครับ อาจารย์ธีระชัย เชิญครับ

ธีระชัย- ต้องขอชื่นชมทาง กสทช.ที่จัดเวทีแบบนี้ เพราะว่าเป็นเวทีที่จะสะท้อนความกังวลทุกฝ่ายได้ดี ไม่แง่ของลักษณะของการใช้ประโยชน์ของ 5G ผมจะย้ำนะครับว่ามันจะเกิดขึ้น แล้วมันจะซับซ้อน มันจะหลากหลายกว่าที่เราเข้าใจเยอะมาก

ถ้าถามว่านักลงทุนต่างประเทศที่เขาจะเลือกประเทศไหน อันดับแรกเลย จะต้องดูที่ธรรมาภิบาลของประเทศ ถัดมาก็แรงงานที่มีความรู้ แต่ที่สำคัญไม่น้อยเลยนี่คือเรื่องของ Infrastructure เรื่องของ 5G จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของ Infrastructure

ผมอธิบายให้ท่านทราบถึงนิดนึง ว่าทำไมถึงจะเป็นแบบนี้ สมัยก่อนเราจะบอกว่าถ้าเกิดมีความต้องการจะใช้สินค้า มันจะต้องมีการนำส่งเข้ามาที่เขาใช้ just in time แหม มาทันเวลาพอดี ขณะนี้และในอนาคตจะบอกว่า โอ้โหสินค้ามา Just in yesterday มันจะต้องมีกระบวนการซึ่งมีการคาดการณ์ แล้วจัดเตรียมล่วงหน้า แล้วสามารถจะเอาสินค้าเข้ามาได้พร้อม อย่างที่เขานึกไม่ถึง เพราะว่าเวลานี้ Amazon เขาเปลี่ยนจาก next day delivery มาเป็น sameday

การแข่งขันในตลาดใหญ่ๆของโลก อย่างสหรัฐฯ ยุโรป มันมาที่ความเร็ว ฉะนั้นวิธีการที่จะทำให้เร็วขึ้น คือพอเริ่มขายดีตรงนี้ มันจะต้องส่งสัญญาณและข้อมูลไปที่ระบบบัญชีตรงนี้แล้วมันก็ไปแจ้งเครื่องจักรที่อยู่ในประเทศไทยตรงนี้ ว่าตรงนี้ต้องผลิตตรงนี้ให้มากขึ้น แล้วมันก็ไปแจ้งเครื่องจักรของซัพพลายเชนต่างๆ อัตโนมัติ กระบวนการเรียกว่าเครื่องจักรคุยกันมันต้องอาศัยอินฟราสตรักเจอร์ที่เอื้ออำนวย

ทีนี้ในแง่ของที่ว่าจะพร้อมเมื่อไหร่ ที่คุณอเล็กซานดราพูดว่า As soon as it’s make Sense หมายความว่า พร้อมเมื่อมีเหตุผลสมควร เป็นเรื่องที่ได้เหมือนกัน แต่ว่าตรงนี้เราต้องตั้งประเด็นอย่างนี้ สำหรับการที่จะตัดสินใจว่า พร้อมหรือไม่ ลงทุนแค่ไหน อย่างไร ถ้าจะให้ดี ปล่อยให้เอกชนที่เขาอยากจะเสี่ยงเป็นคนตัดสินเป็นหลัก ไม่ใช่ทางการเข้าไปพูดคุย

เพราะว่าเอกชนที่เขาอยากเสี่ยง อาจจะมีโอเปอเรเตอร์จากอิสราเอล จากยุโรป อะไรที่ยังไม่เคยทำอะไรอยู่ในเมืองไทย หรือแม้จากเกาหลี ที่เขาอาจจะอยากเข้ามาแล้วพร้อมจะเสี่ยง ตรงนี้ต้องรับฟังความพร้อมของเขาก่อนด้วย แต่ผมเองเห็นด้วยว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยนกติกาในการประมูล ทำให้โอเปอเรเตอร์มีภาระทั้งลงทุนในระบบของตัวเอง และยังต้องมาจ่ายตังค์ให้กับรัฐบาล ผมคิดว่าคงจะเปลี่ยนได้แล้ว

หลายกรณีผมว่าเราอาจจะต้องออกมาในแนวที่ว่า ตั้งราคาขายต่ำๆ เพราะฉะนั้นใครมาก็ตาม มันก็จะได้กำไรไม่ถึงกับมากเท่าไหร่ แล้วอย่างนี้ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่กว้างขวาง แล้วเงินที่เขาจะประมูลให้กับรัฐจะได้ไม่ต้องมาก แนวนี้อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเป็นแบบนั้น จะทำให้เราอาจจะมีแนวคิดที่มันพลิกแพลงแหวกแนวได้มากขึ้น ขอบคุณครับ

เติมศักดิ์- ขอบคุณครับ อ.ธีระชัย เชิญท่านเลขาฯ ปิดท้ายครับ

ฐากูร- ไม่มีอะไรเพิ่มเติมมากนะครับ ทุกอย่างผมก็นำเรียนไปแล้ว ในนามของสำนักงาน กสทช.ต้องขอขอบคุณทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ และร่วมกับโอเปอเรเตอร์ทั้ง 4 ค่าย ที่มาจัดงานในวันนี้ที่สำนักงาน กสทช. อันนี้เป็นการที่ทางผู้จัดการออนไลน์มาขอใช้สถานที่

ซึ่งการเสวนาในวันนี้ ผมคิดว่าได้ประโยชน์มาก เงื่อนไขต่างๆ แล้วก็เป็นการเปิดใจในการที่จะต้องมีการพูดคุยกัน การพูดคุยกันในลักษณะที่มีการเปิดใจกันอย่างนี้ จะทำให้ กสทช. นำเงื่อนไขต่างๆ นำสิ่งที่จะเป็นปัญหาอุปสรรคต่างๆ นำไปปรับปรุงแก้ไข

วันที่เราประมูลเราหวังว่า หน้าตาทุกท่านคงเดินเข้ามารับซองแล้วก็ประมูลกับพวกเราในเมื่อเงื่อนไขต่างๆ ได้รับการปรับปรุงแก้ไขตามที่ท่านอยากเห็นอยากเป็นแล้ว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดูที่ผลประโยชน์ของประเทศชาติบ้าง ไม่ได้หมายความว่าไม่มีผลประโยชน์ของประเทศเลย ตรงนั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่เราจะต้องเติมเข้าไป

แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด เปิดให้บริการแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ประชาชน อัตราค่าบริการจะต้องเป็นอัตราค่าบริการที่มันถูก และประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงใช้งานได้

วันนี้ในนามของสำนักงาน กสทช. ต้องขอขอบคุณแขกผู้มีเกียรติทุกท่านตลอดจนวิทยากรที่ได้ให้องค์ความรู้ต่างๆ สิ่งพวกนี้เราจะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการที่จะให้ทุกท่านเข้าร่วมประมูลแล้วก็เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปครับ

เติมศักดิ์- ขอบคุณมากครับ และทั้งหมดนี้ก็คือ การเสวนากระชากปม 5G ทำไมไปไม่ถึงฝัน ขอเสียงปรบมืออีกครั้งให้กับวิทยากรทั้ง 4 ท่าน คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. คุณอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดับเบิลยูเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และคุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมรับฟังจนถึงตอนนี้นะครับ ขอบคุณครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น