ประธาน กสทช.ยัน 5G ไทยไม่ช้า เตรียมการจัดสรรคลื่นรองรับไว้แล้ว แต่อยู่ที่โอเปอเรเตอร์จะมาเข้าประมูลคลื่นหรือไม่ เหตุลงทุนสูง ต้องมั่นใจว่ามีลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่คนทั่วไป
วันนี้(25 ก.ย.) พล.อ.สุกิจ ชมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวระหว่างเปิดงานเสวนานา “กระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝัน” จัดโดย ผู้จัดการรายวัน 360 และ MGR Online ณ อาคารหอประชุม กสทช.ว่า ฝันของเราคือปี 63 จะต้องจัดให้มี 5G ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลก และความตั้งใจของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่ง กสทช.ได้ติดตามมาโดยตลอดว่าจะจัด 5G อย่างไร โดยหน้าที่ของเราก็คือการจัดสรรคลื่นรองรับ 5G ทั้งนี้ ปัจจุบัน ITU ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับนานาชาติขององค์การสหประชาชาติ ยังไม่ได้ประกาศเป็นทางการว่าจะให้ใช้คลื่นไหนเป็นคลื่น 5G อย่างไรก็ตามการประชุมเพื่อกำหนดคลื่น 5G คาดว่าจะเกิดขึ้นปลายเดือนตุลาคม ในงาน WRC 2019
พล.อ.สุกิจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้หลายประเทศล่วงหน้ากันไปแล้ว มีการจัดให้มีอุปกรณ์ในการค้นคว้าทดลองใช้คลื่นที่ตอบโจทย์ 5G ซึ่งจะให้ความเร็วกว่า 4G สิบเท่า กสทช.ก็เตรียมการเรื่องพวกนี้ไว้หมดแล้ว เรามีคณะทำงานจัดหาแนวทางในการที่จะ refarm ในการนำคลื่นมาใช้ ซึ่งเป็นไปตามห้วงระยะเวลา อย่างไรก็ตาม เมื่อเราจัดคลื่น ก็ต้องมีโอเปอเรเตอร์มาประมูลคลื่น ถ้าไม่มีโอเปอเรเตอร์มาประมูล 5G ก็ไม่เกิด ฉะนั้นเงื่อนไขในการที่จะทำให้ 5G เกิด ก็คือต้องให้โอเปอเรเตอร์มาประมูลคลื่นไปดำเนินการ
“เป็นที่ทราบกันดีว่าการลงทุนของ 5G นั้นสูงมาก อยู่คนละแพลตฟอร์มกับ 3G, 4G เลย ความมุ่งหมายในการใช้ การก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ภาคส่วนอุตสาหกรรม ไม่ได้อยู่ที่คนทั่วไป ฉะนั้นการที่จะลงทุนของโอเปอเรเตอร์ เขาก็ต้องใคร่ครวญว่าเขามีลูกค้าหรือไม่ มีลูกค้ามาใช้ 5G ที่เขาประมูลได้หรือไม่”
พล.อ.สุกิจกล่าวย้ำว่า 5G เรายังไม่ช้า เพราะว่าในบรรดาที่กล่าวกันว่าจะเปิดนั้น ปัจจุบันมีมือถือเพียงไม่กี่ยี่ห้อ ไม่กี่โมเดล ที่สามารถรองรับ 5G ได้ และอยู่ในขั้นของการพัฒนาไปเรื่อยๆ อะไรก็แล้วแต่ที่ยังอยู่ในขั้นของการพัฒนาไปเรื่อยๆ มันก็ยังไม่หยุด
คำต่อคำ : พล.อ.สุกิจ ชมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ท่านวิทยากรผู้ทรงเกียรติ คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านเลขาธิการ กสทช. คุณอเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
วันนี้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญมากล่าวเปิดในงานเสวนา "กระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝัน" ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มผู้จัดการ ซึ่งถือเป็นความตั้งใจที่อยากเห็นการหารือ การแลกเปลี่ยน เสนอแนะแนวทางต่างๆ ในเรื่องต่างๆ ว่าเราจะไปถึง 5G อย่างไร อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างได้คุณภาพ ชื่อมันอาจจะดุไปนิด กระชากปม ไปไม่ถึงฝัน จริงๆ ฝันของเราคือปี 63 จะต้องจัดให้มี 5G
การจัดให้มี 5G เป็นไปตามกระแสโลก เป็นไปตามความตั้งใจของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่ง กสทช.ในฐานะที่เป็นองค์กรกำกับดูแลทางด้านโทรคมนาคม ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจมาตั้งแต่แรก เราก็ติดตามมาโดยตลอดว่าเราจะจัด 5G อย่างไร หน้าที่ของเราก็คือการจัดสรรคลื่นรองรับ 5G คลื่นที่ได้มา ก็ได้จากการที่มีคลื่นอยู่แล้วบ้าง ต้อง Refarm เอามาจากหน่วยงานที่ได้รับ assign คลื่นนี้ไปแล้ว อย่างเช่น 2600 assign ไปให้ อสมท เราก็ต้อง refarm มา หรือ 3500 ซึ่งปัจจุบันเป็นคลื่นดาวเทียม เราก็มีแนวทางในการ refarm ซึ่งคิดว่าก็จะต้องนำมาใช้ให้ได้
ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเรียนให้ทราบว่า แม้กระทั่ง ITU ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับนานาชาติขององค์การสหประชาชาติ ยังไม่ได้ประกาศเป็นทางการว่าจะให้ใช้คลื่นไหนเป็นคลื่น 5G การประชุม การกำหนดคลื่น 5G คาดว่าจะเกิดขึ้นปลายเดือนหน้า เดือนตุลาคม ซึ่งจะมีการจัด WRC 2019 ก็จะมีการกำหนดชัดเจน อย่างที่ทราบกันว่าหลายประเทศล่วงหน้ากันไปแล้ว มีการจัดให้มีอุปกรณ์ในการค้นคว้า ในการทดลองใช้คลื่นในด้านต่างๆ ที่ตอบโจทย์คำว่า 5G ซึ่งจะให้ความเร็วกว่า 4G สิบเท่า ทั้งคลื่นที่ญี่ปุ่นกำลังทดลองปัจจุบัน คือเป็นพื้นที่ความถี่ประมาณ 26-28 GB หรือคลื่นที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ คือ จีนก็ใช้ 2600 ทั่วไป ส่วนใหญ่ใช้ 3.5
อย่างที่ผมเรียนให้ทราบว่า กสทช. ก็เตรียมการเรื่องพวกนี้ไว้หมดแล้ว เรามีคณะทำงานจัดหาแนวทางในการที่จะ refarm ในการนำคลื่นมาใช้ ซึ่งเป็นไปตามห้วงระยะเวลา ซึ่งท่านเลขาฯ จะได้ชี้แจงให้ทราบต่อไป
เมื่อเราจัดคลื่น เราก็ต้องมีโอเปอเรเตอร์มาประมูลคลื่น ถ้าเราจัดให้มีการประมูลแล้วไม่มีโอเปอเรเตอร์มาประมูล 5G ยังไงก็ไม่เกิด ฉะนั้นเงื่อนไขในการที่จะทำให้ 5G เกิด ก็คือต้องให้โอเปอเรเตอร์มาประมูลคลื่นไปดำเนินการ เป็นที่ทราบกันดีว่าการลงทุนของ 5G นั้นสูงมาก อยู่คนละแพลตฟอร์มกับ 3G, 4G เลย ความมุ่งหมายในการใช้ การก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ภาคส่วนอุตสาหกรรม ไม่ได้อยู่ที่คนทั่วไป ฉะนั้นการที่จะลงทุนของโอเปอเรเตอร์ เขาก็ต้องใคร่ครวญว่าเขามีลูกค้าหรือไม่ มีลูกค้ามาใช้ 5G ที่เขาประมูลได้หรือไม่ ความมั่นใจของโอเปอเรเตอร์ก็เกิดจากการได้สัมผัสความต้องการของลูกค้าว่าลูกค้าที่คาดว่าจะเข้ามาใช้ มีความสนใจจะใช้จริงมากน้อยขนาดไหน
การจัดให้มีการเสวนาครั้งนี้ ก็เป็นการจัดร่วมให้เป็นการสื่อให้ทางฝ่ายวิชาการ ฝ่ายโอเปอเรเตอร์ ฝ่ายลูกค้า ได้พูดคุยกันในประเด็นปัญหา การหาจุดร่วมที่จะเป็นประโยชน์ในการเสนอแนะให้ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยที่กำกับดูแลจัดสรรคลื่นความถี่นั้น จัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีคุณภาพ ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ให้ล้าหลัง
ต้องเรียนว่า เรายังไม่ช้าหรอกครับ เพราะว่าในบรรดาที่เขากล่าวกันว่าจะเปิดนั้น ปัจจุบันมีมือถือเพียงไม่กี่ยี่ห้อ ไม่กี่โมเดล ที่สามารถรองรับ 5G ได้ และก็อยู่ในขั้นของการพัฒนาไปเรื่อยๆ อะไรก็แล้วแต่ที่ยังอยู่ในขั้นของการพัฒนาไปเรื่อยๆ มันก็ยังไม่หยุด ทั้งขีดความสามารถ ทั้งคุณประโยชน์ที่เราจะได้รับจาก 5G และผลกระทบข้างเคียงที่เกิดขึ้น
ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในการเสวนาครั้งนี้คงจะทำให้เกิดมุมมองที่กว้างไกล และทำให้ 5G ของประเทศไทย ซึ่งผมรับปากว่ามันจะต้องเกิดขึ้นในปีหน้า ประสบกับความสำเร็จ ไม่ใช่จัดแล้วไม่สำเร็จ มีประสิทธิภาพ มีประโยชน์ต่อประเทศชาติจริงๆ สุดท้ายผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเสวนาในวันนี้จะจุดประกายทางความคิด สร้างความตระหนักรู้ถึงความท้าทาย และความกังวลใจในปัจจุบัน ต่อยอดสร้างเป็นแนวทางผลักดันเทคโนโลยี 5G ให้แก่ประเทศไทยในอนาคตต่อไป ขอบคุณครับ