เฟซบุ๊กว็อตช์ (Facebook Watch) บริการวิดีโอบนเฟซบุ๊กลุยจับมือพันธมิตรไทยเจาะกลุ่มคนดูวิดีโอแดนสยาม ระบุภารกิจหลักช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าคือการเติมเต็มอีโคซิสเต็ม 2 ด้าน คือการเร่งสร้างวิดีโอที่มีความหมายกับผู้ชม และการเปิดทางให้ผู้สร้างวิดีโอทำรายได้ ล่าสุดเปิดตัว 4 พันธมิตรไทย “เวิร์คพอยท์-ช่อง 3-ONE 31-วู้ดดี้” ที่จะเป็นแม่เหล็กจุดไฟให้เกิดการพูดคุยบนโซเชียล กลายเป็นโซเชียลวิดีโอที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มวิดีโออื่น
นายพาเรช ราชวัต ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์วิดีโอ ซึ่งดูแลการพัฒนาบริการ Facebook Watch ระดับโลก ให้สัมภาษณ์ว่าภารกิจหลักที่ Facebook Watch จะทำในไทยช่วงปีนี้ถึงปีหน้า คือการเติมเต็มอีโคซิสเต็ม โดยจะเน้นสร้างประสบการณ์รับชมวิดีโอบน Facebook Watch ให้มีความหมายกับผู้รับชม ขณะเดียวกันก็จะเน้นให้ผู้สร้างมีช่องทางสร้างรายได้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งให้ผู้สร้างต้องการสร้างวิดีโอเนื้อหาดีเพื่อตอบโจทย์ผู้ชมต่อเนื่อง
“คนไทยนิยมดูวิดีโอบน Facebook Watch มาก ถือเป็นประเทศที่โดนเด่นระดับแนวหน้าในภูมิภาค ในช่วง 1 ปีที่เปิดให้บริการ Facebook Watch มีผู้ชม 720 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้ 140 ล้านคนชมนานกว่า 1 นาที” พาเรชระบุ โดยไม่เปิดเผยข้อมูลการชมวิดีโอเฉพาะประเทศไทย
ผู้บริหารระบุว่าในจำนวน 140 ล้านคนนี้ สถิติการชม Facebook Watch คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ยมากกว่า 26 นาทีต่อวันต่อคน สถิตินี้ถือว่าน่าสนใจเพราะแสดงให้เห็นว่าผู้คนตั้งใจรับชมจริงจัง ทำให้ผู้บริหารแปลว่าเนื้อหาบน Facebook Watch วันนี้มีความหมายสำหรับผู้ชมแล้ว
พาเรชมองว่าสิ่งที่ทำให้ Facebook Watch แตกต่างจากบริการวิดีโออื่นคือการชมวิดีโอบน Facebook Watch ไม่ใช่การชมแบบชมแล้วจบไป (passive) แต่เป็นการชมที่ทำให้เกิดการแชร์ประสบการณ์ร่วม การเชื่อมต่อผู้ใช้เข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้ Facebook Watch ทำได้ด้วยการเน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง การเสริมประสบการณ์ด้วยการเปิดฟีเจอร์ให้ผู้ใช้ชมวิดีโอร่วมกัน (Co-watching) เมื่อชมเป็นกลุ่มก็นำไปสู่การโต้ตอบหรือ Interactivity ซึ่งปฏิสัมพันธ์ ความเห็น การกดไลค์ หรือการแชร์จะนำไปสู่การสร้างชุมชนหรือ community ทำให้เกิดกลุ่มคนที่ชื่นชอบในเนื้อหาประเภทเดียวกัน
“เมื่อมีการดูวิดีโอร่วมกัน เราพบว่าผู้ใช้มีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมกับเนื้อหาได้มากขึ้น 8 เท่าเมื่อเทียบกับการดูคนเดียว เป็นอีกจุดต่างจากแพลตฟอร์มอื่น”
ดันอีโคซิสเต็มเกิดในไทย
แมทธิว เฮนนิก หัวหน้าฝ่ายการวางแผนกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ ระบุว่าวันนี้ Facebook Watch พยายามสร้าง 2 อีโคซิสเต็มให้เกิดขึ้นคือการพัฒนาระบบโฆษณา และการลงทุนด้านเนื้อหาของ Facebook Watch เอง โดยส่วนโฆษณา Facebook Watch เริ่มเปิดให้ผู้สร้างวิดีโอใส่โฆษณาคั่นในวิดีโอ (Ad break) ใน 40 ประเทศรวมไทย สถิติล่าสุดคือ Ad break ถูกนำมาปรับใช้ในเพจมากขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจากปีที่แล้ว
“ตัวอย่างเช่นเพจ Doi (ดอยแม่สลอง สื่อสังคมออนไลน์) ถือเป็นครีเอเตอร์คนไทยที่ใช้ Ad break แล้วประสบความสำเร็จ จากช่วงแรกที่มีทีมงาน 2-3 คน ตอนนี้ขยายเป็น 14-15 คน ในระบบมีบรรยายซับไตเติลหลายภาษา ทำให้มีการเปิดชมทั่วอาเซียน”
สำหรับการลงทุนเนื้อหา แมทธิวระบุว่า Facebook Watch แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือการลงทุนระดับโลก การสร้างเนื้อหาที่ผลิตเองเพื่อเผยแพร่บน Facebook Watch และการร่วมมือกับผู้ผลิตกลุ่มครีเอเตอร์ดิจิทัล
ดึง 5 แม่เหล็กไม่เผยมูลค่าดีล
ความคืบหน้าล่าสุดของ Facebook Watch ในไทยคือการประกาศจับมือกับ 5 แม่เหล็กในวงการคอนเทนต์ไทย ได้แก่ 1. เวิร์คพอยท์ ประเทศไทย นำเนื้อหาพรีเมียมจากรายการฮิตอย่าง The Rapper, The Mask Singer I Can See Your Voice ไปสู่ผู้ใช้ทั่วโลก 2. บีอีซีที่จะนำคลิปวิดีโอละครฮิต เบื้องหลังการถ่ายทำ และเนื้อหาฉบับเต็มก่อนการตัดต่อมาฉายบน Facebook Watch 3. เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่จะเน้นรายการตลกและรายการเกมโชว์ 4. วู้ดดี้ ที่ยังไม่เผยรูปแบบรายการ และ 5. ช่อง ONE 31 ช่องละครฮิตจากแกรมมี่ที่เพิ่งเซ็นสัญญาเป็นรายล่าสุด
“เพราะคนไทยชอบความบันเทิง หลายคนอยากรู้ตอนต่อไป เมื่อมีความอยากรู้อยากชมจึงสร้างการสนทนาบนโซเชียลได้มากขึ้น สำหรับรายการวู้ดดี้เวิร์ล จะเป็นรายการนวัตกรรมประเภทใหม่ที่อาจจะชวนผู้สร้างรายอื่นให้มาร่วมกันจนเกิดเป็นคอนเทนต์แบบใหม่ ทำให้เกิดการรับชมร่วมกัน กลายเป็นคอนเทนต์ที่เติบโตได้ด้วยตัวเอง” ผู้บริหารระบุ “ต่อไปจะมีละครจาก One 31 ซึ่งมีเพจที่สมาชิกสูงถึง 3 แสนคน และเริ่มเปิดให้สมาชิกเลือกตอนจบของละครตามกระแสในโซเชียลแล้ว”
อีกจุดที่น่าสนใจคือ ไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ Facebook Watch ทดลองผลิตรายการขึ้นเอง กลายเป็นรายการเรียลิตี้ MTV The Real World Bangkok ที่ออกอากาศตั้งแต่มิถุนายนจนจบซีซั่นแรกเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา ประเด็นนี้ไม่มีการเปิดเผยสถิติยอดชมในประเทศไทย แต่ผู้บริหารระบุว่าได้เห็นการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ Facebook Watch ผ่านข้อความเห็นที่สะท้อนว่าคนไทยเข้าใจความต่างของผู้คนในสังคม โดยนอกจากไทย อีก 2 ประเทศที่ Facebook Watch ผลิตรายการขึ้นเองคือสหรัฐอเมริกาและแม็กซีโก
ผู้บริหารย้ำว่านโยบายการลงทุนของ Facebook Watch จะเน้นลงทุนเม็ดเงินบางส่วน ไม่ครอบคลุมทุนสร้างทั้งหมดแต่จะวางเป้าหมายช่วยให้ผู้สร้างสามารถพัฒนาวิดีโอคุณภาพที่มีความยาวมากกว่า 3 นาที เพื่อสร้าง “Ad break” ให้มีรายได้ในระยะยาว
นอกจากผู้สร้างเนื้อหาที่เป็นบริษัทรายใหญ่ นโยบายการช่วยเหลือครีเอเตอร์รายเล็กจะทำผ่านการให้บริการเครื่องมือ ซึ่งครีเอเตอร์สามารถรับโฆษณาคั่นหรือ Ad break ในวิดีโอเพื่อสร้างรายได้ทันทีที่ผู้ติดตามในเพจมีมากกว่า 10,000 คน และต้องมียอดการรับชม 1 นาทีให้กับวิดีโอที่มีความยาวอย่างน้อย 3 นาทีถึง 30,000 ครั้งในช่วง 60 วัน
“วิดีโอที่ประสบความสำเร็จบน Facebook Watch จะมีความยาวเท่าใดก็ได้ แต่ถ้าอยากหารายได้คือ 3 นาทีเป็นอย่างต่ำ จุดที่เน้นคือคุณภาพ การเป็นวิดีโอต้นฉบับ และการทำให้ผู้ชมอยากกลับมาดูซ้ำอีก” ผู้บริหารระบุ “อาจไม่ต้องมีแทคพิเศษ เพราะแท้จริงแล้ว Facebook Watch ดูเรื่องการดึงดูดด้วยเนื้อหา ที่ดึงคนและตอบโจทย์ ขณะเดียวกันก็ไม่ขึ้นอยู่กับความถี่ เพราะวิดีโอที่ประสบความสำเร็จมีทั้งแบบอัปเดททุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน แต่ทุกอย่างมีผลกับการดึงคนเข้ามา ก็จะส่งกับรายได้ในภาพรวม”
ผู้บริหาร Facebook Watch ย้ำว่าสิ่งที่ครีเอเตอร์ต้องใส่ใจคือการหาวิธีดึงผู้ชมให้กลับมาชมอีกจนเป็นนิสัย และมีส่วนร่วมกับเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง ขณะที่ทีม Facebook Watch ก็จะพัฒนาระบบที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์รับชม เช่น การไม่ใส่ Ad break จนรำคาญ ผู้ผลิตสามารถเลือกได้ว่าจะใส่โฆษณาคั่นจำนวนเท่าใด และจะมีอัลกอริธึมให้การใส่โฆษณาคั่นทำได้อย่างเหมาะสม.