xs
xsm
sm
md
lg

5G ไทยปีนี้ไม่มีอะไรตื่นเต้น? (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วัตสัน ถิรภัทรพงษ์
แม้จะมีสัญญาณตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งที่คนไทยได้สัมผัส 5G แบบชัดเจนที่สุดในปีนี้มีเพียงแค่การขยับตัวทดสอบบริการของเหล่าโอเปอเรเตอร์ มีโอกาสสูงมากที่รูปการณ์จะเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี ซึ่งกว่าจะได้ประมูล ติดตั้ง ลงทุน และพัฒนาบริการจริงจัง คนไทยจะต้องรอจนถึงปี 2564 จึงจะได้สัมผัส 5G อย่างเป็นทางการ

ดีเดย์ 5G ไทยปี 2564 นี้ถูกระบุไว้ในการสำรวจเรื่อง '5G ในอาเซียน: จุดประกายการเติบโตในตลาดองค์กรและผู้บริโภค' ซึ่งซิสโก้และบริษัทที่ปรึกษา เอ.ที. เคียร์เน่ เพิ่งเผยผลการศึกษาเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยการสำรวจนี้ย้ำว่าสิงคโปร์จะนำร่องเปิดบริการ 5G ได้เป็นชาติแรกในอาเซียนช่วงปี 63 ตามมาด้วยเวียดนามซึ่งจะเปิดตัว 5G ได้ก่อนไทย เพราะแรงหนุนจากนโยบายรัฐบาลทหาร ซึ่งสามารถสั่งขวาหันซ้ายหันได้

'เท่าที่เราคุยกับโอเปอเรเตอร์ไทย ส่วนใหญ่ยังติดเรื่องความคุ้มค่าการลงทุน การสำรวจนี้จะชี้โอกาสให้ผู้ให้บริการเห็นความต้องการ เพียงแต่โอเปอเรเตอร์จะต้องมีการ Proof Of Concept ให้ได้จริง'

Proof Of Concept นั้นหมายถึงการตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริการนั้นตรงกับความต้องการ สิ่งที่วัตสันพูดนั้นครอบคลุมทุกบริการยุคใหม่ที่ 5G จะรองรับได้บนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงพิเศษ ทั้งการสตรีมวิดีโอความละเอียดสูง การเล่นเกมผ่านระบบคลาวด์ และการนำเสนอคอนเทนต์แบบอินเทอร์แอคทีฟที่ขับเคลื่อนด้วย Augmented Reality และ Virtual Reality (AR/VR) ให้แก่ผู้บริโภค รวมถึง 5G ในมุมองค์กรที่ก้าวล้ำมากขึ้น เช่น สมาร์ทซิตี้, อุตสาหกรรม 4.0, เครือข่าย IoT (Internet of Things) ขนาดใหญ่ และอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถเพิ่มรายได้ทั้งจากกลุ่มผู้บริโภคและลูกค้าองค์กร

***ยิ่งเร็วยิ่งรวย

ผลการศึกษาย้ำว่า 5G ที่จะรองรับการเชื่อมต่อที่เร็วขึ้น 50 เท่า พร้อมความรวดเร็วในการตอบสนองที่มากขึ้น 10 เท่า และใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ 4G จะทำให้โอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเตรียมพร้อมที่จะเปิดตัวบริการ 5G โดยมีแนวโน้มว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (300,000 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 เชื่อว่าผลจากการลงทุน 5G จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับโอเปอเรเตอร์ 6-9% ในภาคคอนซูเมอร์ (B2C) และเพิ่มรายได้ 18-22% ในภาคธุรกิจเอนเตอร์ไพรส์ (B2B)

จำนวนผู้ใช้ 5G ในอาเซียนคาดว่าจะเกิน 200 ล้านรายในปี 2568 โดยอินโดนีเซียจะมีจำนวนผู้ใช้กว่า 100 ล้านราย ซึ่งนับว่ามากที่สุดในภูมิภาค สำหรับประเทศไทย คาดว่าจำนวนผู้ใช้ 5G จะมีสัดส่วน 30% ในปี 2568
ดาร์เมช มัลฮอตรา

ดาร์เมช มัลฮอตรา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคมของซิสโก้ กล่าวว่าไทยถือเป็นประเทศที่มีโอกาสทางธุรกิจ 5G สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (850-1,170 ล้านเหรียญสหรัฐ) รองจากอินโดนีเซียเพราะจำนวนประชากรที่น้อยกว่า รายได้นี้จะไม่เพียงมาจาก B2C ที่จะมีบริการหลักเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเคลื่อนที่ (โมบายบรอดแบนด์) และบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายในบ้าน (Fixed Wireless Access) แต่ในส่วน B2B ยังมีบริการ 'บีทูบีทูเอ็กซ์' (B2B2X) ให้ธุรกิจนำไปให้บริการต่อได้

'ก่อนนี้โอเปอเรเตอร์ทำรายได้จากการสมัครอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่จะไม่มีรายได้จากการใช้บริการ 5G จะนำไปสู่รูปแบบการสไลซิง (Slicing) ที่โอเปอเรเตอร์จะสามารถนำไปทำรายได้ร่วมกับผู้บริการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต (over-the-top หรือ OTT) เพื่อให้คอนเทนต์นั้นลื่นไหลกว่าเดิม นี่คือธุรกิจใหม่ที่โอเปอเรตอร์จะทำได้ในอนาคตยุค 5G'

สำหรับภาพรวมอาเซียน สัดส่วนการใช้งาน 5G จะอยู่ที่ประมาณ 25-40%ในประเทศหลักของอาเซียนภายในปี 2568 โดยบริการที่มาแรงเป็นพิเศษในตลาดคอนซูเมอร์คือ Fixed Wireless Access (FWA) หรือการติดซิมในเราท์เตอร์อินเทอร์เน็ตบ้าน คาดว่าจะมีการเชื่อมต่อ FWA ราว 5 ถึง 7 ล้านจุดทั่วอาเซียนภายในปี 2568 อินโดนีเซียจะเป็นตลาดหลักที่มี FWA 5G มากที่สุด 2-2.4 ล้านจุด ตามมาด้วยฟิลิปปินส์และไทย ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อ 1.9-2.3 ล้านจุด

ดาร์เมชระบุว่าความท้าทายในส่วนที่โอเปอเรเตอร์ต้องพบเจอคือเรื่องความถี่ เพราะย่านความถี่ที่เปิดให้บริการยังช้าเกินไปสำหรับรองรับบริการ 5G ส่งผลให้เครือข่ายที่เปิดตัวใหม่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยในภูมิภาคอาเซียน อุปสรรคที่ขัดขวางความคืบหน้าในการดำเนินการก็คือ การมีเครือข่ายทีวีดาวเทียมในย่านความถี่กลาง (3.5 GHz) และการใช้ย่านความถี่ต่ำ (700 MHz) เพื่อรองรับฟรีทีวี อีกจุดคือราคา ซึ่งการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบบุฟเฟ่ต์ในยุค 5G จะไม่ตอบโจทย์ ทำให้ต้องเปลี่ยนมาเป็นการคิดค่าบริการแบบจ่ายตามจริง


นอกจากนี้ การสำรวจพบว่าโอเปอเรเตอร์ไทยจะต้องเกาะติด 3 อุตสาหกรรมหลักคือภาคการผลิต บริการ และการเกษตรให้ได้ในยุค 5G กลุ่มนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 6-7 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งจะมีโอกาสนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ต่างกัน เช่น IoT หรือแขนกล อาจจะยกระดับภาคการผลิต โดยทั้งหมดนี้ต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่เฉพาะทำส่วนใดส่วนหนึ่ง ทำให้โอเปอเรเตอร์ต้องทำความเข้าใจ 3 ภาคองค์กรนี้พร้อมกัน


***'คลื่นความถี่' ไม่ใช่ทุกอย่างของ 5G

นอกจากความคุ้มค่าเรื่องการลงทุน วัตสันระบุว่าสิ่งที่ 2 ที่น่าสนใจจากการสำรวจนี้คือการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายไม่เข้าใจผิดว่า 5G เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่วิทยุเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้ว Radio เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่จะช่วยเสริมให้เครือข่ายสามารถทำงานได้เท่าเทียม 5G

'เรื่อง 5G อาจจะถูกพูดถึงมากในเรื่องคลื่นวิทยุ แต่จริงๆแล้วยังรวมหลายส่วน 5G ไม่ใช่แค่การเชื่อมต่อจากเครื่องไปถึงเสา เพราะนั่นคือส่วนสุดท้าย แต่จริงๆแล้ว 5G อาจมาจาก WiFi6 ก็ได้'

โซลูชัน 5G ที่ซิสโก้ให้บริการในวันนี้จึงมีตั้งแต่เทคโนโลยีที่เพิ่มศักยภาพ 5G บนคลื่นวิทยุ ซึ่งเรียกว่า Open RAN ที่ทำให้เสา 5G ราคาต่ำกว่าเสา 5G ต้นละล้านบาท ทั่วไปเพราะการใช้เทคโนโลยี cloud ช่วยลดต้นทุน ยังมีเทคโนโลยี AI ที่จะช่วยให้โอเปอเรเตอร์ทำ Slicing ได้ดีและจัดสรรความหน่วงรวมถึงยืนยันคุณภาพบริการได้

'ไม่เหมือน 4G ที่การันตีอะไรไม่ได้เลย' วัตสันกล่าว นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการกระจายการประมวลผล ที่จะไม่รวมศูนย์แต่สามารถขยายไปตามภูมิภาค, เทคโนโลยีเราท์ติงขนาดใหญ่เพื่อการจัดสรรอุปกรณ์บนเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ และเทคโนโลยีเพื่อให้ติดตั้งได้เร็วผ่านกระบวนการอัตโนมัติ ทำตามต้องการได้แบบครบวงจร

'ทั้งหมดนี้แปลว่า คลื่นเป็นแค่ส่วนเดียวของ 5G'


สิ่งที่ 3 ที่วัตสันมองว่าน่าตื่นเต้นจากการสำรวจนี้คือความที่ซิสโก้มีฐานลูกค้าองค์กรจำนวนมาก ทำให้มั่นใจว่าบริษัทจะสามารถพาโอเปอเรเตอร์ไปหาลูกค้าองค์กรได้ง่ายกว่าใคร

'หากไม่มองเรื่องคลื่น ที่ปลายปีไทยจะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz สิ่งที่เราจะเห็นเรื่อง 5G ช่วงไตรมาส 4 คือการที่โอเปอเรเตอร์ไทยทุกรายขยับตัว ทั้งการเตรียมตัว ทดสอบทั้งระบบและทีมงานให้บริการ เรียกว่าเป็นการทำ Intensive Prototype ซึ่งพร้อมใช้งานจริง'วัตสันทิ้งท้าย

บอกแล้ว 5G ไทยปีนี้มีแต่ทดสอบ.
กำลังโหลดความคิดเห็น