การสำรวจเรื่อง “5G ในอาเซียน: จุดประกายการเติบโตในตลาดองค์กรและผู้บริโภค” ของซิสโก้และบริษัทที่ปรึกษา เอ.ที. เคียร์เน่ ระบุหนึ่งในบริการที่มาแรงเป็นพิเศษในตลาดคอนซูเมอร์ยุค 5G คือบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Access) ซึ่งเป็นการติดซิม 5G ในเราท์เตอร์อินเทอร์เน็ตบ้าน คาดว่าจะมีการเชื่อมต่อ FWA ราว 5 ถึง 7 ล้านจุดทั่วอาเซียนภายในปี 2568 ฟันธงการเปิดตัวบริการ 5G จะช่วยเพิ่มรายได้ต่อปีของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในไทยได้มากถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์ (หรือกว่า 34,000 ล้านบาท) ภายในปี 6 ปีนับจากนี้
นายดาร์เมช มัลฮอตรา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคมของซิสโก้ กล่าวว่าวันนี้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมกำลังเตรียมพร้อมที่จะเปิดตัวบริการ 5G โดยมีแนวโน้มว่าจะใช้เงินลงทุนเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์ (300,000 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 ซึ่ง 5G จะช่วยเพิ่มรายได้ต่อปีของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในไทยได้มากราว 850-1,170 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
"โอเปอเรเตอร์จะมีรายได้จากธุรกิจผู้บริโภค (B2C) เพิ่มขึ้น 9-12% ยังคาดหวังไม่ได้ว่า 5G จะช่วยยกรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้หรือ ARPU เพราะจะเปลี่ยนที่ใช้งานก่อน แต่ที่จะเป็นก้อนใหญ่คือองค์กร รายได้กลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้น 18-22% จากองค์กรธุรกิจ (B2B) เพราะจะมีการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น การควบคุมการผลิตจากระยะไกล ยกระดับการควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้าราคาแพง เช่น ชิปคอมพิวเตอร์ที่ราคาหลักหมื่นต่อชิ้น"
ธุรกิจผู้บริโภค (B2C) ที่การสำรวจพบว่าจะมาแรงในยุค 5G คือ Fixed Wireless Access โดยอินโดนีเซียจะเป็นตลาดหลักที่มี FWA 5G มากที่สุด 2-2.4 ล้านจุด ตามมาด้วยฟิลิปปินส์และไทย ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อ 1.9-2.3 ล้านจุด คาดว่า FWA จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นกว่าปัจจุบันมีผู้ใช้มากถึง 3 ล้านคนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย
นอกจาก FWA การสำรวจพบว่า 5G จะหนุนบริการกลุ่มสตรีมวิดีโอความละเอียดสูง การเล่นเกมผ่านระบบคลาวด์ และการนำเสนอคอนเทนต์แบบอินเทอร์แอคทีฟที่ขับเคลื่อนด้วย Augmented Reality และ Virtual Reality (AR/VR) ให้ขยายตัวชัดเจนในตลาดผู้บริโภค สำหรับบริการ B2B การสำรวจพบว่าโอเปอเรเตอร์จะสามารถสร้างรายได้จากระบบ 5G ในหลากหลายรูปแบบผ่าน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักคือภาคการผลิต บริการ และการเกษตร เช่น สมาร์ทซิตี้, อุตสาหกรรม 4.0, เครือข่าย IoT (Internet of Things) ขนาดใหญ่
การสำรวจยังพบว่าไทยและอีกหลายประเทศจะเน้นอัปเกรด 5G ผ่านเครือข่าย 4G ที่มีอยู่แบบนอน-สแตนอโลน (Non-standlone) ซึ่งเป็นระบบไฮบริดที่ต้นทุนต่ำกว่าแบบ Standlone ต่างจากสิงคโปร์ที่เริ่มลงทุนแบบ Standlone ได้ตั้งแต่ช่วงแรก เนื่องจากพื้นที่ขนาดเล็ก สวนทางกับหลายประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ ซึ่งจะเลือกแบบ Non-standlone เพราะต้องการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการจัดสรรคลื่น
"Non-standlone จะทำให้ได้ความเร็ว และลดความหน่วงได้เทียบเท่า 5G เป็นระบบไฮบริด แต่จะไม่รองรับเรื่อง Slicing คาดว่าใน 12-18 เดือน โอเปอเรเตอร์จะเริ่มเปลี่ยนไปที่ Standlone เพราะอยากสร้างความประทับใจให้ลูกค้ากลุ่มพรีเมียม”
นายวัตสัน ถิรภัทรพงษ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนอธิบายว่า Slicing คือการแบ่งส่วนบริการอินเทอร์เน็ตที่โอเปอเรเตอร์จะสามารถนำไปทำรายได้ร่วมกับผู้บริการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต (over-the-top - OTT) เพื่อให้คอนเทนต์นั้นลื่นไหลกว่าเดิม นี่คือธุรกิจใหม่ที่โอเปอเรตอร์จะทำได้ในอนาคตยุค 5G ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นโมเดลธุรกิจแบบ B2B2X
“OTT ตอนนี้ยังอยู่ได้ แต่อีกหน่อยผู้ให้บริการจะอยากให้คอนเทนต์มีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการอยู่บนช่องสัญญาณที่ไม่เอื้อจะเป็นอุปสรรคในการพัฒนา การสำรวจพบว่ามีกลุ่มผู้บริโภคที่บอกว่ายินดีจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้ชมบริการที่มีคุณภาพดีกว่า ซึ่งแม้จะเป็นจำนวนเงินไม่มาก แต่ก็เป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ เพราะเป็นกลุ่มที่พร้อมจะจ่ายเงิน เพื่อให้ได้บริการพรีเมียมเซอร์วิส”
การสำรวจประเมินว่าเงินลงทุนที่โอเปอเรเตอร์จำเป็นต้องใช้สำหรับการเปิดตัว 5G แบบ Non-standalone ทั่วภูมิภาคอาเซียนจะอยู่ที่ 13,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการเปิดตัวระบบ 5G แบบ Standalone จะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับการเปิดใช้งานระบบแบบ Non-standalone สถานการณ์นี้จะสร้างแรงกดดันต่อโอเปอเรเตอร์ ซึ่งต้องรองรับการเปิดใช้งานระบบแบบ Non-standalone อย่างต่อเนื่อง
สถิติน่าสนใจจากการสำรวจครั้งนี้ คือสัดส่วนการใช้งาน 5G จะอยู่ที่ประมาณ 25-40 เปอร์เซ็นต์ในประเทศหลักของภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 โดยในประเทศไทย สัดส่วนการใช้งาน 5G จะมีถึง 33 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจำนวนลูกค้า 5G ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนจะเกิน 200 ล้านราย ราวหครึ่งหนึ่งจะอยู่ในอินโดนีเซียที่มีจำนวนผู้ใช้กว่า 100 ล้านราย ท่ามกลางจำนวนผู้ใช้บริการ 5G ทั่วโลกที่คาดว่าจะเกิน 2,500 ล้านรายภายในปี 2568.