xs
xsm
sm
md
lg

ไลน์ ประเทศไทย รับลูกรัฐจัดโครงการ STOP “FAKE NEWS” แนะตรวจข่าวปลอม ชวนสังคม “คิดก่อนกด”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
ไลน์ ประเทศไทย เดินหน้านโยบายบริษัทแม่ "ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น" ประเทศเกาหลี ประกาศเปิดตัวแคมเปญ STOP “FAKE NEWS” มุ่งให้ความรู้ด้านการใช้งานสื่อออนไลน์อย่างปลอดภัย แก้ปัญหาการแพร่กระจายของ "ข่าวปลอม" และข้อมูลออนไลน์ที่ไม่ถูกต้อง โดยจัดเวิร์คชอป “STOP ‘FAKE NEWS’ ข่าวจริงหรือข่าวปลอม คิดก่อนกด”



นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดงาน แคมเปญ STOP “FAKE NEWS” โดยมี LINE TODAY สำนักข่าวเอพี และสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้การสนับสนุน โดยมีการจัดเวิร์คชอป “STOP ‘FAKE NEWS’ ข่าวจริงหรือข่าวปลอม คิดก่อนกด” ว่า ตัวเลขของคนไทยที่ใช้ไลน์ มีหลายร้อยนาทีต่อวัน เมื่อทางกระทรวงทำศูนย์ป้องกันข่าวปลอม สิ่งที่พี่น้องประชาชนใช้เยอะที่สุดคุ้นชินที่สุดก็คือไลน์ ปัญหาข่าวปลอมส่งผลกระทบอย่างมาก ทั้งด้านสังคม ความมั่นคง และครอบครัว หลายประเทศทั่วโลกพยายามหาวิธีป้องกันของปลอมผ่านการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

“เรามุ่งไปที่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือ การกระตุ้นให้สังคมมีจิตสำนึกและคิดวิเคราะห์ในการรับสาร ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยพันธมิตรและประชาชนร่วมมือกัน และผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ LINE แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้มากเป็นอันดับต้นๆ ในไทยให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จัดงานเวิร์คชอป STOP “FAKE NEWS” ข่าวจริงหรือข่าวปลอม คิดก่อนกดขึ้น ถือเป็นกิจกรรมที่สอดรับกับแนวทางแก้ปัญหาข่าวปลอมที่กระทรวงฯได้ดำเนินการอยู่ ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เร่งก่อตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอม (เฟคนิวส์ เซ็นเตอร์) โดยคาดว่าจะสามารถปฏิบัติการได้ภายในเดือนพ.ย.นี้”
พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา
ด้านนายพิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท ไลน์ ประเทศไทย จำกัด เผยว่า เวิร์คชอปดังกล่าวได้เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องผลกระทบของปัญหาข่าวปลอม วิธีการพิจารณาแหล่งข่าวและการค้นหาข้อมูลอย่างถูกต้อง รวมถึงการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัย ซึ่งงานครั้งนี้มีนิสิต นักศึกษาและเยาวชน โดยเฉพาะในสาขาวิชาวารสารศาสตร์ สื่อสารมวลชน และนิเทศศาสตร์ ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 400 คน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การสร้างนิเวศของข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพต่อไป

สำหรับสถานการณ์ข่าวปลอมในปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้น ในยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลสูงต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างทุกวันนี้ ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้โดยง่าย ทว่า ข่าวสารเหล่านั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน จึงทำให้บางครั้งไม่สามารถแยกแยะหรือพิจารณาได้ว่าเป็นข้อมูลจริงที่เชื่อถือได้หรือไม่ กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ข่าวปลอมหรือ Fake News ถูกส่งต่อและเผยแพร่ออกไปโดยง่าย จนปัจจุบันถือเป็นวิกฤติข่าวปลอมที่ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ต่างตกเป็นทั้งเหยื่อและผู้เผยแพร่โดยไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตาม ไลน์รับรู้และเฝ้าติดตามถึงปัญหาสังคมที่เกิดจาก "ข่าวปลอม" มาอย่างต่อเนื่อง และได้เริ่มวางแผนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้ ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องข่าวปลอมที่กำลังกลายเป็นวิกฤติอย่างทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศไทย หรือบางประเทศในเอเชียเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลายๆ ประเทศได้เริ่มออกกฎหมายมาจัดการกับข่าวปลอมนี้ แต่กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น เพราะการจะหยุดการเกิดและการแพร่กระจายได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม

“เราเชื่อว่าการจัดเวิร์คช็อปครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นในเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสายงานด้านการสื่อสารและสารสนเทศ มีความรู้ ความเข้าใจถึงผลกระทบของข่าวปลอมมากขึ้น นำไปสู่การมีจิตสำนึกในการช่วยกันหยุดการแพร่กระจาย ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาวิกฤติข่าวปลอมได้ในระยะยาว ขณะเดียวกันรัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับวิกฤติข่าวปลอม โดยล่าสุดกระทรวงดีอีเอสได้จัดตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอม (เฟคนิวส์ เซ็นเตอร์) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ดี” นายพิเชษฐ กล่าว

งานครั้งนี้เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา และเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาในสาขาวิชาวารสารศาสตร์ สื่อสารมวลชน และนิเทศศาสตร์เข้ามาเรียนรู้ผลกระทบของปัญหาข่าวปลอม วิธีการพิจารณาแหล่งข่าวและการค้นหาข้อมูลอย่างถูกต้อง รวมถึงการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัย โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสำนักข่าวเอพี มาบรรยายในหัวข้อ “ข่าวจริงหรือข่าวปลอม” และไทยพีบีเอสกับหัวข้อ “ป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม” เพื่อบอกเล่าถึงลักษณะของข่าวปลอม รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่ผลักดันให้ข่าวปลอมยังคงอันตรายและสร้างปัญหาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเทคนิคในการตรวจสอบข่าวปลอมในแบบฉบับสำนักข่าว AP และสำนักข่าวไทยพีบีเอส ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นภายในงานยังจัดกิจกรรมเวิร์คชอปและเสวนา “ข่าวจริงหรือข่าวปลอม คิดก่อนกด” โดยสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วยพิธีกรคนดังจากรายการเทยเที่ยวไทยร่วมในการพูดคุยภายในงานด้วย ทั้งนี้ เวิร์คชอป STOP “FAKE NEWS” ข่าวจริงหรือข่าวปลอม คิดก่อนกด จะจัดขึ้นอีกครั้งที่จังหวัดขอนแก่นในวันพฤหัสบดีที่ 19 ก.ย. 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าขอนแก่น



กำลังโหลดความคิดเห็น