xs
xsm
sm
md
lg

ลงมือทำ ‘ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน’ ต้องใช้ให้เป็นผ่านมุมมอง บลูบิค

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมื่อดิจิทัล ทรานฟอร์เมชันกลายเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจต้องทำเพื่อให้อยู่รอด และแข่งขันได้ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของบริษัทที่ปรึกษาทางด้านดิจิทัล ที่จะกลายเป็นหนึ่งในตัวช่วยให้องค์กรทรานฟอร์มธุรกิจได้เร็วขึ้น

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ขององค์กรธุรกิจที่ทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชันว่า จะเข้ามาช่วยสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากธุรกิจหลักเดิม หรือนำธุรกิจหลักเดิมมาต่อยอดให้เกิดช่องทางใหม่ๆในการให้บริการ

อย่างเช่น ธนาคารในยุคก่อนคือการนำเงินฝากไปใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ หรือธุรกิจรีเทลที่จำหน่ายสินค้า เมื่อมีการนำดิจิทัลเข้ามากฌจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากข้อมูลของลูกค้า เพื่อเจาะเข้าไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค

ถัดมาคือการทำให้องค์กรมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องของแรงงาน การใช้เวลาในการทำสิ่งต่างๆให้ลดน้อยลง เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้น

ในจุดนี้ทุกองค์กรที่ต้องการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นต้องมีการลงทุนในส่วนของบุคลากรทั้งในส่วนของบริหารและปฏิบัติงาน ด้วยการรีสกิล และอัปสกิลให้รับกับการทำงานในยุคดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการย้ายบุคลกรที่มีความสามารถไปทำงานในจุดที่เหมาะสม เมื่อองค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลง

“สิ่งสำคัญเลยคือองค์กรอย่ามองว่าการทรานฟอร์มเป็นค่าใช้จ่าย แต่ให้คิดเป็นการลงทุนระยะยาวให้แก่บริษัท เพราะเมื่อลงทุนแล้วต้องได้ผลตอบแทนกลับมา เพราะสุดท้ายถ้าองค์กรไม่ลงทุนก็จะทำให้แข่งขันได้ยากขึ้น”

***3 ความท้าทายขององค์กรในการปรับสู่ดิจิทัล

โดยในการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมช้น มีความท้าทายหลักๆ อยู่ด้วยกัน 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.นำมาใช้แล้วต้องลดขั้นตอนในการทำงาน แต่กลายเป็นว่าพนักงานจะเกิดความไม่เข้าใจคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำแล้วแย่งงาน ดังนั้นองค์กรจึงต้องมีการรีสกิลบุคลากรในส่วนนี้ให้เหมาะสม

2.การค้นหาเทคโนโลยีที่จะนำใช้ต้องมองในภาพรวมไม่ใช่แค่การนำเข้ามาเพื่อทำให้แข่งขันได้ แต่ต้องเตรียมไปถึงเรื่องความปลอดภัย จนถึงการเก็บข้อมูลต่างๆ ด้วยการวางแผนเผื่อต้องนำมาใช้งานในอนาคต เพราะทุกข้อมูลที่เกิดขึ้นมีค่ามหาศาล

3.กระบวนการในการทำงานที่ต้องปรับให้เข้ากับยุคดิจิทัล อย่างเรื่องของเอกสาร หรืองานหลายๆ ประเภทที่ซ้ำซ้อน แต่ก่อนคิดว่าไม่สามารถทำบนดิจิทัลได้ แต่ปัจจุบันนี้เริ่มมีกฏหมายออกมารองรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือการเก็บข้อมูลดิจิทัลเข้ามาแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบก้ต้องมีการปรับกระบวนการเหล่านี้ให้เกิดความคล่องตัวขึ้น

***สถานการณ์ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่นในไทย

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญขององค์กรธุรกิจในไทยคือการเก็บข้อมูล ที่คาดว่าเกิน 80% ขององค์กรธุรกิจแม้ว่าจะมีการเก็บข้อมูล แต่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้ อย่าง 1.การเก็บข้อมูลไม่ได้เก็บในระบบดิจิทัล 2.แม้ว่าจะเก็บเป็นดิจิทัลแต่ก็อยู่ในรูปแบบที่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ และ 3.ถึงเก็บในรูปแบบที่ใช้งานได้แต่เป็นลักษณะการเก็บที่ไม่มีคุณภาพในการนำมาใช้งานวิเคราะห์ต่อ

“80% ของลูกค้าที่บลูบิคเข้าไปดูแลต้องเข้าไปรื้อไปทำ Data Governance เพื่อให้ความสำคัญกับข้อมูลที่จะนำมาใช้ เพราะส่วนใหญ่องค์กรจะเข้าใจว่าแค่ซื้อเครื่องหรืออุปกรณ์มาติดตั้งก็พร้อมใช้งานได้ทันที แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ต้องมีการจัดระเบียบข้อมูลก่อน”

ที่ผ่านมาบลูบิค เข้าไปช่วยลูกค้าอย่างในกลุ่มอสังหาที่เข้าไปนำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง เพื่อทำให้สามารถบริหารทรัพยากรมาใช้ให้ถูกจุด ทำให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุนไปเป็น 100 เท่า ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่นำมาใช้มากขึ้นในอนาคตแน่นอน

***เป้าหมายของบลูบิค

ในส่วนของบลูบิค หลังจากเริ่มกระโดดเข้ามาอยู่ในกลุ่มของการเป็นบริษัทให้คำปรึกษาทางด้านการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน ด้วยการดึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละสาขาเข้ามาร่วมงานในประเทศไทย

“ตอนนี้บริษัทที่มีความเข้าใจดิจิทัลทรานฟอร์เมชันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติหรือไทย ไม่ได้มีเยอะ เชื่อว่าบลูบิคเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความเข้าใจลึกซึ้งจริงๆ เพราะได้เข้าไปร่วมกับหลายๆองค์กรในโลกของดิจิทัลดิสรัปชัน จึงไม่อยากให้คำว่าดิจิทัลทรานฟอร์เมชันเป็นแค่คำสวยหรูที่ทุกคนพูดถึงแต่ไม่ได้ทำกันจริงๆ”

ตอนนี้บลูบิคถือว่าพิสูจน์ตัวเองมาแล้วในระดับหนึ่งว่าทำตรงนี้ได้จริง สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการสร้างแบรนด์ดิ้งให้แข็งแรง ด้วยการใช้ผลงานในการพิสูจน์ ถ้าในอนาคตบริษัทในไทยมีความเข้าใจดิจิทัลทรานฟอร์เมชันมากขึ้น เริ่มมองเห็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความถนัดก็จะเริ่มเห็นว่าบลูบิคเข้าไปช่วยได้จริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น