ไม่เสียเวลารอบล็อกเชนสัญชาติไทย กรมศุลลากรประกาศจับมือไอบีเอ็ม (IBM) ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนพัฒนาธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางเรือ ก่อนจะขยายไประบบขนส่งทางบกและการทำประกันภัยในเฟสต่อไป นำร่องที่ท่าเรือแหลมฉบังภายใน 3 เดือนนับจากนี้เพื่อปูทางสู่ท่าเรือกรุงเทพ มั่นใจระบบนี้ช่วยลดปัญหาสินค้าเลี่ยงภาษีโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่สำแดงราคาไม่ตรงราคาจริง เชื่อในภาพรวมจะตอบโจทย์ธุรกิจที่จะได้รับความสะดวกสบายกว่าเดิม พร้อมกับที่กรมศุลฯจะลดภาระเจ้าหน้าที่ลงได้อีกทาง
นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบศุลกากร กรมศุลกากร กล่าวในงานธิงค์ไทยแลนด์ ซึ่งไอบีเอ็มจัดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ว่ากรมศุลกากรจะนำร่องระบบเทรดเลนส์ (TradeLens) มาใช้ที่ท่าเรือกรุงเทพหลังจากเริ่มทดสอบที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระบบนี้จะช่วยให้กรมศุลฯได้รับข้อมูลสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือได้ก่อนล่วงหน้า ทำให้กรมศุลฯสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อวางแผนขั้นตอนการผ่านด่านได้ดีกว่าปัจจุบัน ที่กรมศุลฯได้รับข้อมูลล่วงหน้าราว 48 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนสินค้าหลักหมื่นตู้ที่เทียบท่าในระบบนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
"ถ้าได้รับข้อมูลครบแบบล่วงหน้า ก็จะทำให้การตรวจปล่อยเร็วขึ้น เจ้าหน้าที่อาจจะตรวจประมาณ 10% จากที่เคยตรวจใน Red Line 20% ก่อนหน้านี้การตรวจปล่อยต้องทำตามกฏหมาย ใช้ขั้นตอนและเอกสารมาก แต่เมื่อเรารู้แล้วว่าเป็นสินค้าอะไร ราคาเท่าใด และไม่ผิดกฏหมาย ก็สามารถปล่อยได้เลย โปร่งใส ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย บริหารความเสี่ยงได้"
ระบบ TradeLens นั้นเป็นระบบที่ไอบีเอ็มร่วมมือพัฒนากับบริษัทเดินเรือรายใหญ่ที่สุดในโลกสัญชาติเดนมาร์กอย่างเมอส์ก (Maersk) ทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทร่วมทุนมานานกว่า 1 ปีเพื่อทำตลาดระบบที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับธุรกิจขนส่งซึ่งครอบคลุม 5 ส่วนในระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศตั้งแต่ต้นจนจบ ได้แก่ ส่วนโลจิสติกภายใน ส่วนเชื่อมต่อกับพอร์ตท่าเรือ การผ่านด่านศุลกากร ขั้นตอนภาษีที่ถูกต้องโปร่งใส และการติดตามไม่ให้สินค้าที่จัดส่งเกิดสูญหาย ซึ่งทั้ง 5 ส่วนงานนี้ IBM พบว่าต้องใช้เอกสารมากกว่า 200 ชิ้น ใช้บุคลากรคนมากกว่า 300 คน ทั้งหมดนี้จะหายไปเพราะระบบสามารถช่วยได้ทั้งการลดกระดาษ ข้ามขั้นตอนซ้ำซ้อน เพิ่มความโปร่งใสแบบไร้รอยต่อและตรวจสอบได้ ทำให้ระบบ TradeLens สามารถดึง 100 องค์กร 600 ท่าเรือ และบริษัทกลุ่ม Top 10 ของอุตสาหกรรมเดินเรือมาร่วมในแพลตฟอร์มนี้แล้วเรียบร้อย
สางปมเลี่ยงภาษีไม่ได้ 100%
จุดที่น่าสังเกตของระบบ TradeLens คือหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่กรมศุลฯจะได้เห็นในระบบนี้ นั่นคือใบสั่งซื้อสินค้า ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้กรมศุลฯจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่สามารถแสดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาจริงได้อีกต่อไป และเอกสารทุกใบในแพลตฟอร์มจะไม่สามารถแก้ไขระหว่างทางได้แม้จะใช้ระบบควอนตัมคอมพิวติ้งที่มีประสิทธิภาพสูงมาก อย่างไรก็ตาม นายชูชัยยอมรับว่า TradeLens อาจแก้ไขปัญหาสินค้าเลี่ยงภาษีได้ไม่เต็ม 100% เพราะยังจำกัดเฉพาะการขนส่งทางเรือ แต่เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาให้ลดลงต่อเนื่องแน่นอน
ความร่วมมือระหว่างไอบีเอ็มและกรมศุลกากรครั้งนี้ไม่มีการเปิดเผยงบประมาณ รวมถึงกรอบเวลาการทดสอบและรายละเอียดการประเมินผล ประเด็นนี้นายชูชัยย้ำว่ากรมศุลฯจะเร่งดำเนินการนำเทคโนโลยีมายกระดับการทำงานให้ได้เร็วที่สุด เพื่อแข่งขันกับภาคเอกชนที่พยายามปรับธุรกิจให้ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล โดยผลพลอยได้ที่กรมศุลฯจะได้รับคือการแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ ซึ่งปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด 4,400 คนจากที่เคยมี 6,000 คนในปี 2550 แต่ต้องรับภาระดูแลสินค้านำเข้าส่งออกทางเรือที่คิดเป็น 80% ของสินค้าที่ถูกขนส่งระหว่างประเทศมูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี
กรมศุลกากรของไทยเป็นหน่วยงานราชการอันดับ 2 ในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์ที่นำร่องใช้ TradeLens ไปก่อน แต่ในบางประเทศก็เลือกใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อการขนส่งที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศ เช่น เกาหลีใต้ที่เลือกใช้ระบบบล็อกเชนของบริษัทซัมซุงเอสดีเอส (Samsung SDS) หรือกลุ่มบริษัทฝั่งจีนและฮ่องกงที่รวมตัวในนามเครือข่าย GSBN (Global Shipping Business Network) และกลุ่ม NEDO (New Energy and Industrial Technology Development Organization) ของญี่ปุ่นที่พัฒนาซอฟต์แวร์บล็อกเชนเพื่อการขนส่งทางเรือเช่นกัน
Blockchain ดัน GDP โต
นางปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกกลุ่มอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย อธิบายเพิ่มว่านอกจาก 5 ส่วนงานด้านการขนส่งบนแพลตฟอร์ม TradeLens ไอบีเอ็มมีแผนจะขยายแพลตฟอร์มบล็อกเชนของบริษัทไปเชื่อมต่อกับ 3 ระบบคือ Bank Guarantee หรือหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร, การขนส่งทางบก และการทำประกัน ซึ่งเชื่อว่าจะอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ ส่งให้ตัวเลข GDP ของหลายประเทศเพิ่มขึ้นเป็นรูปธรรม
"ข้อมูลจากรัฐบาลเฉพาะประเทศที่ร่วมเซ็นสัญญาบล็อกเชนกับไอบีเอ็ม ชี้ว่าบล็อกเชนจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจและ GDP เฉลี่ย 5% เพราะค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจจะลดลง แต่รวดเร็วสะดวกสบายขึ้น และรองรับปริมาณสินค้าได้เพิ่มขึ้น 15%"
นอกจากดีลกับกรมศุลกากรบนแพลตฟอร์ม TradeLens ไอบีเอ็มยังใช้งานธิงค์ไทยแลนด์ประกาศความร่วมมือกับเอไอเอสและไมเนอร์ ในโครงการพีเทค (P-TECH) ซึ่งไอบีเอ็มตั้งเป้ามอบหลักสูตร 5 ปีให้ 10 สถาบันอาชีวศึกษา โดยจะร่วมพัฒนากับ 10 ภาคเอกชนที่จะขานรับนำนักศึกษาไปฝึกงานด้านไอทีและวิศวกรโดยไม่ต้องมีปริญญา เบื้องต้นไอบีเอ็มขีดเส้นเริ่มโครงการจริงจังในปีหน้า ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 19 ท่ามกลาง 650 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว.