xs
xsm
sm
md
lg

‘บิ๊กป้อม’ เร่งดีอีตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอม ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้ชาวบ้านเข้าถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘บิ๊กป้อม’ เร่งกระทรวงดีอีจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอม โอดเจอปัญหาข่าวปลอมมาต่อเนื่อง 4-5 ปีแล้ว เชื่อภายใน 2 เดือนข้างหน้ามีความชัดเจนมากขึ้น พร้อมมอบนโยบายให้กระทรวงเร่งพัฒนาในการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือประชาชนครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง




พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงประเด็นเร่งด่วนที่ทางกระทรวงดิจิทัลฯ ต้องเร่งมือคือการตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอมที่เป็นปัญหาเรื้อรังที่เจอมากับตัว 4-5 ปีแล้ว และในบางเรื่องเป็นข้อมูลที่ทำอันตรายให้กับประชาชน ซึ่งคาดว่ารายละเอียดจะชัดเจนขึ้นใน 2 เดือนข้างหน้า

เช่นเดียวกับการยกระดับขีดความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ และการสร้างความมั่นใจในการใช้งานเทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชนได้รับได้รับการคุ้มครองข้อมูล และสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอม (Anti Fake News Center) จะเร่งให้เสร็จภายใน 2 เดือนข้างหน้า โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ตั้งแต่1.การเข้าถึงข้อมูลข่าวปลอมที่จะเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งข้อมูลผ่านหน้าเว็บไซต์ เพจ รวมถึงกำลังเข้าไปพูดคุยกับทางไลน์ในการนำ Official Account เข้ามาเป็นอีกช่องทางหนึ่ง

ถัดมาคือ 2.มีการตั้งคณะกรรมการ 3-4 กลุ่ม ที่มีทั้งหน่วยงานภาคประชาชน หน่วยงานรัฐ กระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง ให้มีตัวแทนที่สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆได้รวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง

สุดท้ายคือ 3.ช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วทั้งผ่านหน้าเว็บไซต์ และหน้าเพจ โดยถ้าข้อมูลที่ออกมามีมาตรฐานระดับเดียวกับทั่วโลก เชื่อว่าจะสามารถดึงเอกชนอย่าง เฟซบุ๊ก ยูทูป และไลน์ เข้ามาช่วยเหลือในการเผยแพร่ข้อมูลต่อไปในอนาคตด้วย

***เซ็นของบประมาณดีอี 2.1 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ทางรัฐมนตรีดีอี ยังได้เปิดเผย ถึงการของบประมาณประจำปี 2563 จากหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงรวมๆกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นสำนักงานปลัด 3,200 ล้านบาท กรมอุตุฯ 3,800 ล้านบาท สำนักงานสถิติ 2,000 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2,500 ล้านบาท สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) 6,900 ล้านบาท และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) 1,900 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยถึงแนวทางในการส่งเสริมการใช้งานเน็ตประชารัฐเพิ่มเติม ด้วยการตั้งงบประมาณสำหรับติดตั้งเน็ตประชารัฐเพิ่มเติมอีก 10,000 จุดทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการใช้งานใน 2 ส่วนคือ จุดติดตั้งเดิมที่มีปริมาณการใช้งานหนาแน่น และในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องการจุดใช้งานเพิ่ม

“ปัญหาที่พบเจอในเวลานี้คือการเข้าใช้งานจุดให้บริการเน็ตประชารัฐของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เริ่มมีปริมาณหนาแน่นมากขึ้น มีจำนวนผู้ลงทะเบียนกว่า 6 ล้านราย และมีการใช้งานเป็นประจำในแต่ละวัน 5 แสนราย ทำให้ต้องมีการพิจารณาติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้งานให้มากขึ้น”

ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาในเรื่องของความเร็วในการใช้งานที่ 30/10 Mbps อาจจะไม่เพียงพอกับการใช้งาน ทำให้มองหาแนวทางในการเพิ่มความเร็วให้สูงขึ้นในบางจุด และในกรณีที่สามารถติดตั้งจุดให้บริการเพิ่มได้ ก็สามารถใช้การขยายจุดให้บริการเพิ่มเติม

*** 9 นโยบายสำคัญของกระทรวงดิจิทัล

ทั้งนี้ นโยบายที่รองนายกฯ มอบให้แก่การดำเนินงานของทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยในแง่ของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1.การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกล 2.วางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

3.เตรียมบุคลากรให้พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในระดบบดิจิทัล สร้างความรู้ในการใช้งานเทคโนโลยี โดยเฉพาะภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) และ 4.พัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเมืองอัจฉริยะ

ถัดมาในด้านสังคม 1.จะเน้นนำเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนให้ กลุ่มผู้สูงอายุเข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมกับ 2.เร่งแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ที่กระทรวงฯ กำลังดำเนินการขอให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย และประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

สุดท้ายในด้านความมั่นคง ประกอบด้วย 1. บูรณาการความร่วมมือ ในการป้องกันและจัดการภัย
จากการโจมตีทางไซเบอร์ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง 2. เร่งดำเนินการตาม พรบ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แห่งชาติ. 3. ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ โดยบูรณาการทำงาน และดำเนินการตาม พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ อย่างเคร่งครัด






กำลังโหลดความคิดเห็น