หลังจากเข้ารับตำแหน่งเพียง 1 สัปดาห์ "เติ้ง เฟิง" กรรมการผู้จัดการใหญ่คนล่าสุดของหัวเว่ยประเทศไทยประกาศภารกิจแรกในกลุ่มธุรกิจสมาร์ทซิตี้ว่าจะเน้นพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ประเทศไทยสร้างเมืองอัจฉริยะต้นแบบได้สำเร็จดังฝัน ไม่เผยเม็ดเงินงบประมาณแต่ระบุว่าจะนำประสบการณ์ เทคโนโลยี และบริการที่มีอยู่แล้วมาทำประโยชน์ ล่าสุดลงทุนจัดทำรายงานเชิงลึกแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะในภูเก็ตโดยยก 6 บริการสำคัญมาเป็นแนวทางชัดเจนระยะยาว ด้านคณะทำงาน DEPA ในพื้นที่ยอมรับข้อมูลจากรายงานนี้ตอกย้ำว่าสมาร์ทซิตี้ภูเก็ตจะเน้นลงทุนในแพลตฟอร์มข้อมูลเป็นหลัก
นายเติ้ง เฟิง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ประเทศไทย กล่าวระหว่างการเปิดตัวรายงานเชิงลึก "Smart City Framework and Guidence for Thailand: แผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในจังหวัดภูเก็ต 2019" ว่าไม่เพียงการพัฒนาบุคลากร ภารกิจแรกของส่วนธุรกิจสมาร์ทซิตี้ในฐานะ MD ประเทศไทยคนใหม่คือการนำเอาประสบการณ์ 20 ปีที่หัวเว่ยมีกับคู่ค้าไทยมาต่อยอดร่วมกับความพร้อมของหัวเว่ยที่มีเทคโนโลยีครบทั้งด้าน AI, IoT และ 5G โดยในอนาคตจะลงทุน 3 ด้านเพื่อสานต่อธุรกิจที่มีในไทย
"ในอนาคตเราอาจจะลงทุนบางอย่าง เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านส่งเสริมระบบอีโคซิสเต็มส์ และการพัฒนาบุคลากร เราจะมีกิจกรรมอีกมากมายหลายประเภท และจะพยายามหากรณีศึกษาที่หัวเว่ยทำสำเร็จแล้วในต่างประเทศ มาเผยแพร่ในประเทศไทย"
สำหรับรายงานเชิงลึก "Smart City Framework and Guidence for Thailand: แผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในจังหวัดภูเก็ต 2019" ที่หัวเว่ยลงทุนทำวิจัยร่วมกับบริษัทโรแลนด์ เบอร์เกอร์ นั้นมีเนื้อหาหลักคือการเสนอแผนการทำงานเพื่อเปลี่ยนภูเก็ตให้เป็นเมืองอัจฉริยะโดยสมบูรณ์ภายในปีหน้า (2563) ตัวรายงานถูกระบุว่าวิจัยมาเพื่อจังหวัดภูเก็ตโดยเฉพาะ ซึ่งเน้นแก้ 3 ปัญหาหลักที่คนภูเก็ตพบคือ การกำจัดขยะปริมาณมาก ความต้องการไฟฟ้าสูง และการจราจรที่แออัด
จากการวิเคราะห์ปัญหา และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ทำให้รายงานนี้สรุปผลลัพท์ 6 ประเภทธุรกิจบริการที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการพัฒนาภูเก็ตให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ ระบบขนส่งอัจฉริยะ ระบบไฟจราจรอัจฉริยะ ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบจัดการขยะอัจฉริยะ ระบบท่องเที่ยวอัจฉริยะ และระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ
“6 บริการเหล่านี้จะแก้ไขปัญหาหลักของภูเก็ต เช่นระบบขนส่งอัจฉริยะ ระบบไฟจราจรอัจฉริยะ จะสามารถเพิ่มตัวเลือกให้นักท่องเที่ยวเดินทางในภูเก็ตได้หลากหลาย ลดความหนาแน่นของการจราจรในตัวเมือง ขณะที่ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเตรียมพร้อมรับมือปัญหาไฟกระชากได้ดีขึ้น ระบบจัดการขยะอัจฉริยะสามารถจัดการกับขยะโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้เต็มที่ รวมถึงระบบท่องเที่ยวอัจฉริยะ และระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะจะทำให้มั่นใจว่าประสบการณ์ที่ได้รับของนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย ไร้กังวล” ส่วนหนึ่งของบทสรุปรายงานระบุ
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ยอมรับว่ารายงานนี้เกิดขึ้นบนงบประมาณของหัวเว่ยเอง โดยชื่นชมว่ารายงานนี้คือครั้งแรกที่มีการจัดทำแผนเพื่อการพัฒนาภูเก็ตเป็นสมาร์ทซิตี้แบบสมบูรณ์ เบื้องต้นยังไม่มีแผนขยายไปทำรายงานเชิงลึกเรื่องสมาร์ทซิตี้ที่จังหวัดอื่น แต่เชื่อว่ามีบางส่วนที่สามารถนำไปปรับใช้ในหลายจังหวัด แต่ก็ยังคงมีเนื้อหาที่ต่างไปในแต่ละเมือง
“ทางภูเก็ตอาจเป็นท่องเที่ยว แต่เมืองทางเหนืออาจเน้นเรื่องการเกษตร หรือทางเมืองอื่นอาจดูเรื่องการเคลื่อนย้ายของแรงงานในพื้นที่ ผมเชื่อว่ารายงานนี้จะปรับใช้กับเมืองอื่นได้บางส่วน แต่โซลูชันก็ยังต้องขึ้นอยู่กับเมืองด้วย ทั้งหมดนี้ DEPA จะไม่ลงทุนเอง แต่จะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ”
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแล้วใน 6 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และอีก 3 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยนายชาญชัย ถนัดค้าตระกูล หัวหน้าสำนักงาน บริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ จำกัด ประเทศไทย กล่าวว่าสถิตินักท่องเที่ยวภูเก็ตขณะนี้คือ 14 ล้านคนต่อปี แต่จำนวนประชากรที่ลงทะเบียนเป็นผู้อยู่อาศัยในพื้นที่มีเพียง 4 แสนคน ทำให้งบประมาณที่ภูเก็ตได้รับจัดสรรตามจำนวนประชากรนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ความแออัดของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ กลายเป็นความจริงที่ตอกย้ำว่าหากโครงการสมาร์ทซิตี้สำเร็จที่ภูเก็ต ก็จะสามารถยกระดับเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในภาพรวมได้ชัดเจน
แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่ารายงานนี้มีเนื้อหาหลายส่วนคล้ายคลึงกับแผนการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว นายประชา อัศวธีระ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระบุว่าข้อมูลใหม่ที่ “ว้าว” ที่สุดจากรายงานเชิงลึกของหัวเว่ยคือการตอกย้ำความสำคัญของแพลตฟอร์มข้อมูล ซึ่งจะสำคัญมากในการสร้างสมาร์ทซิตี้ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงมากที่งบลงทุนสมาร์ทซิตี้ส่วนใหญ่ของภูเก็ตถูกใช้ไปกับการสร้าง Data Platform อย่างเต็มรูปแบบ
“เราจะต่อยอด Data Platform จากที่ทำไว้แล้ว ขณะนี้เราเริ่มเก็บข้อมูลที่ระดับหน่วยงานท้องถิ่น เทศบาล ที่กำลังจะทำคือการเก็บข้อมูลจากจุดบริการไว-ไฟฟรี 1,000 จุด, เซ็นเซอร์จับป้ายทะเบียนรถ และข้อมูลท้องถิ่นจากอุปกรณ์ IoT ที่ขณะนี้มีราว 6 แสนตัวทั่วภูเก็ต” ประชากล่าว “ข้อมูลนี้จะถูกปรับเข้ากับแผนใหม่หลังจากที่เราดำเนินการตามแผนเดิมมานาน 3 ปี รายงานนี้จะทำให้เราทบทวนและเปลี่ยนแปลงจากแผนเดิม”
อย่างไรก็ตาม ประชาย้ำว่ารายงานนี้จะเป็นแหล่งข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะ DEPA จะนำข้อมูลจากงานวิจัยอื่นเช่น ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว การพัฒนาภูเก็ตจะโฟกัสไม่หนีจากการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
ในภาพรวม ประเทศไทยมีเป้าหมายเมืองอัจฉริยะนำร่อง 7 จังหวัด 10 พื้นที่ในปีที่แล้ว (ถือเป็นปีแรก) ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สำหรับปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 2 จะขยายไปสู่ 24 จังหวัด 30 พื้นที่ และภายใน 5 ปี (2563 - 2565) จะขยายไปทั่วประเทศ 77 จังหวัด 100 พื้นที่ให้ได้.