เปิดทุกประเด็นที่หัวเว่ย (Huawei) ยังต้องลุ้นตัวโก่งสำหรับระบบปฏิบัติการใหม่ "ฮาร์โมนี โอเอส" (HarmonyOS) ชูชีพหลักที่หัวเว่ยต้องเกาะเพื่อให้รอดชีวิตจากวิกฤติสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ประเด็นใหญ่ที่สุดหนีไม่พ้นคำถามว่าหัวเว่ยจะพา HarmonyOS ออกมาโตนอกประเทศจีนได้สำเร็จหรือไม่ เพราะความท้าทายที่หัวเว่ยต้องเผชิญผ่าน HarmonyOS ล้วนเป็นสิ่งที่คู่แข่งรายใหญ่เคยพยายามฝ่าฟันมาก่อนแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ
กรณีของหัวเว่ยนั้นอาจต่างออกไป เพราะ HarmonyOS อาสาเป็นระบบปฏิบัติการเพื่อรองรับอุปกรณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นบนโลก เมื่อถามว่าอุปกรณ์เหล่านี้คืออะไรหรือมีรูปแบบการทำงานอย่างไร หัวเว่ยเองก็ยอมรับว่ายังไม่รู้ รู้แต่ว่านี่คือสาเหตุที่โลกต้องการโอเอสใหม่เพื่อเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน
แต่คำถามคือซัมซุง (Samsung) เคยพยายามปั้นโอเอสใหม่ขึ้นมาแล้ว อดีตยักษ์โนเกีย (Nokia) เองก็พยายามมาก่อนหน้านี้เช่นกัน ยังมีอีกหลายค่ายใหญ่ที่มองเห็นมาก่อนแล้วว่าจะต้องอาสาเป็นระบบปฏิบัติการกลางของอุปกรณ์ทุกชิ้นบนโลก แต่ทุกรายก็ล้มเหลว แม้แต่กูเกิล (Google) และแอปเปิล (Apple) เอง ก็ยังเหลวเพราะต้องซอยโอเอสของตัวเองออกมาเป็นโอเอสย่อยสำหรับแต่ละอุปกรณ์
***วัดพลัง HarmonyOS
เจมส์ ลู่ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนสกรุ๊ป เล่าว่า HarmonyOS ถูกพัฒนาตามวิสัยทัศน์บริษัทเรื่องเป้าหมายการทำให้ทุกคนเข้าถึงดิจิทัล ซึ่งทำให้หัวเว่ยลงทุนมากมายกับธุรกิจ 5G มาตลอด รวมถึง 6G ที่มีข่าวว่าเริ่มต้นแล้วที่ศูนย์วิจัยในแคนาดา
หัวเว่ยมองว่าปัญหาใหญ่ในยุคที่มนุษย์เราจะต้องมีชีวิตท่ามกลางอุปกรณ์ไอทีหลายชิ้น คือโอเอสในอุปกรณ์เหล่านี้ "ไม่คุยกัน" แบบไร้รอยต่อ ทั้งสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ สมาร์ทว็อตช์ รถอัจฉริยะ แท็บเล็ต อุปกรณ์จับสถิติสุขภาพ หูฟัง ทีวี ลำโพง และอีกนานาสินค้าที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้โลกต้องการโอเอสใหม่มาทดแทนระบบเก่า
แม้จะมีทั้งระบบปฏิบัติการยูนิกส์ ลินุกซ์ วินโดวส์ และแมคโอเอสในฝั่งคอมพิวเตอร์ หรือฝั่งโมบายที่ระบบปฏิบัติการใหญ่อย่างไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ (Android) แต่โอเอสเหล่านี้ก็ยังต้องแบ่งย่อยออกเป็นสมาร์ทโฟนโอเอส แท็บเล็ตโอเอส และว็อตช์โอเอส ทำให้เป็นความท้าทายที่โลกไม่สามารถยึดกับระบบปฏิบัติการระบบใดระบบหนึ่งได้เพื่อรองรับอุปกรณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น
"ในอนาคต เราอาจจะมีอุปกรณ์อื่นที่ฉลาดกว่าสมาร์ทโฟน แต่Android ใหญ่เกินไปสำหรับการนำมาใช้ในอุปกรณ์บางอย่าง โอเอสทางเลือกใหม่จะปลอดภัยกว่า ราบรื่นกว่า" เจมส์ระบุโดยบอกว่าปัญหาแอปพลิเคชันไม่รองรับในอุปกรณ์ IoT จะหมดไป เพราะ HarmonyOS ทำได้
ท่ามกลางแอปพลิเคชันมากกว่า 3.9 ล้านแอปสำหรับสมาร์ทโฟน, 2 หมื่นแอปสำหรับนาฬิกา และ 1 หมื่นแอปสำหรับทีวี รวมถึงอีกมากกว่า 100 ที่เริ่มพัฒนาสำหรับใช้กับรถอัจฉริยะ สิ่งที่หัวเว่ยมองว่าจะต้องมีในระบบปฏิบัติการแห่งอนาคตคือการแชร์ความสามารถของทุกอุปกรณ์เข้าด้วยกัน แล้วทำให้แต่ละอุปกรณ์ทำงานเหมือนอุปกรณ์พ่วงต่อของกันและกัน
เจมส์ยกตัวอย่างกรณีที่ผู้ใช้กำลังชมวิดีโอบนแอปแล้วมีสายโทรศัพท์เข้า โอเอสใหม่อย่าง HarmonyOS จะช่วยให้ผู้ใช้ยังชมวิดีโอต่อไปพร้อมรับสายโทรนั้นได้โดยแอปวิดีโอสามารถแสดงภาพบนหน้าจอทีวี แต่เปิดไมโครโฟนบนลำโพงอัจฉริยะให้คุยสายอัตโนมัติ รวมถึงการเล่นเสียงบนระบบอุปกรณ์อื่นได้แบบยืดหยุ่นเหมือนเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงกัน ซึ่งแปลว่านักพัฒนาควรพัฒนาแอปครั้งเดียว เพื่อให้ทำงานได้บนทุกอุปกรณ์
"นี่คือโอเอสแห่งอนาคตที่ควรเป็น แนวคิดนี้ทำให้เกิด HarmonyOS เพราะเรายังไม่พบเจอโอเอสแบบนี้ เราจึงสร้างขึ้นมา"
แม้จะให้เหตุผลแบบนี้ แต่การเปิดตัว HarmonyOS ของหัวเว่ยได้รับความสนใจจากชาวโลกเพราะวิกฤติสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯทำให้หัวเว่ยถูกจับตาว่าอาจจะไม่มีโอกาสซื้อบริการหรือสินค้าจากบริษัทสัญชาติอเมริกันอีกต่อไป ทำให้หัวเว่ยต้องหาทางพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการของตัวเองขึ้นมาอย่างจริงจัง เพื่อเป็นทางหนีทีไล่หากสหรัฐฯประกาศยกเลิกช่วงผ่อนปรน จนทำให้สินค้าหัวเว่ยใช้ระบบปฏิบัติการ Android และบริการอื่นของ Google, Facebook หรือค่ายดังรายอื่นไม่ได้
แนวคิดนี้ทำให้ HarmonyOS ถูกพัฒนาบน 4 จุดเด่น คือโครงสร้างระบบที่การันตีว่าจะง่ายต่อนักพัฒนา ยังมีการบริหารจัดการข้อมูลแบบใหม่ที่จะทำให้ระบบทำงานได้เร็วและไม่หน่วง ร่วมด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่ทำให้ HarmonyOS ไม่มีช่องโหว่เหมือน Android และการแชร์ไปยังอุปกรณ์อื่นที่ทำได้แบบครอบจักรวาล
ผู้บริหารหัวเว่ยยอมรับว่ามีคำถามมากว่าทำไมหัวเว่ยจึงเชื่อว่า HarmonyOS มีโอกาสชนะ คำตอบนั้นต้องย้อนไปถึงช่วงก่อนนี้ ที่หัวเว่ยเองก็ไม่คิดว่าจะสำเร็จในธุรกิจสมาร์ทโฟน เวลานั้นไอโฟนเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงและปลดข้อจำกัดทุกอย่าง กลายเป็นอุปกรณ์ใหม่แต่ก็ยังมีปัญหา
"สำหรับ Android ผมมองว่ายิ่งใหญ่ได้เพราะ Android ไม่ได้เป็นของ Google หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่เป็นโอเพ่นซอร์สมาตรฐานเปิด ซึ่ง HarmonyOS ก็จะเป็นโอเพ่นซอร์ส ที่ไม่ใช่ทางเลือกเพื่อแข่งกับ Android "
จุดที่น่าสนใจคือ HarmonyOS ไม่มีแผนนำไปใช้กับสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟน แต่จะเน้นที่สินค้า IoT, AI และอุปกรณ์เทคโนโลยี 5G อื่น เรื่องนี้ผู้บริหารหัวเว่ย ยอมรับว่าเหตุที่ยังเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ Android ในสมาร์ทโฟนต่อไป เป็นเพราะยังคงให้ความสำคัญกับ Android มากกว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนใน Android ไปมากและผู้ใช้งานส่วนใหญ่ยังนิยมใช้งาน จึงทำให้ Android ยังเป็นระบบปฏิบัติการหลัก แต่ HarmonyOS จะเป็นแผน 2 หรือ Plan B ในกรณีฉุกเฉินได้
***ท้าทายนอกตลาดจีน
ท่ามกลางเหตุผลสวยหรู นักสังเกตการณ์ฟันธงว่า HarmonyOS ยังแข่งกับ Android ไม่ได้เพราะยังขาดบริการและแอปพลิเคชันที่ผู้บริโภคชื่นชอบ สะท้อนว่า HarmonyOS ยังมีความท้าทายหลัก 2 ส่วนคือเรื่องการดึงนักพัฒนาทั่วโลกให้สร้างระบบแล้วทำเงินบนแพลตฟอร์ม HarmonyOS อีกส่วนคือการสร้างความเชื่อมั่น เพราะ HarmonyOS มีจุดยืนชัดเจนในตลาดอื่น แต่ในตลาดสมาร์ทโฟนกลับไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ซึ่งทั้ง 2 ส่วนคือปัจจัยสำคัญที่จะชี้ว่า HarmonyOS จะแจ้งเกิดได้หรือไม่ในตลาดนอกเมืองจีนบ้านเกิด
หวาง ยี่โซว (อิงมาร์) ผู้อำนวยการ หัวเว่ยคอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทยกล่าวถึงกรณีที่ HarmonyOS เน้นแต่อุปกรณ์ IoT อื่นในโรดแมปทั้งที่ชาวโลกใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นหลักในขณะนี้ ว่าผู้ใช้จะได้รับประโยชน์จาก HarmonyOS แน่นอนเพราะสมาร์ทไลฟ์เริ่มมีบทบาทแล้ว แต่ยอมรับว่านอกเหนือจากโรดแมป HarmonyOS ที่เปิดเผยถึงปี 2022 หัวเว่ยยังไม่รู้แน่ถึงอุปกรณ์ที่จะรองรับ HarmonyOS
"หลังจากปี 2022 เชื่อว่า HarmonyOS จะไปที่อุปกรณ์ 5G, AI และอุปกรณ์ IoT รูปแบบใหม่จำนวนมากที่เรายังไม่รู้จัก" หวางยอมรับพร้อมเผยว่าสินค้าฮาร์ดแวร์สำหรับผู้บริโภคที่หัวเว่ยจำหน่ายในไทยมากที่สุด 5 อันดับหรือ Top 5 นั้นได้แก่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สมาร์ทว็อตช์ และอุปกรณ์แอสเซสซอรี่เช่นชุดหูฟัง และ IoT
หวางย้ำว่างานหลักในการพัฒนา HarmonyOS นาทีนี้คือการเร่งร่วมมือกับนักพัฒนาทั้งระบบเพื่อให้ HarmonyOS แจ้งเกิดได้เร็วที่สุด เพื่อปลดข้อจำกัดของ HarmonyOS เรื่องการขาดแคลนแอปพลิเคชันในมือ ข้อมูลล่าสุดระบุว่าปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน 43,000 ตัวที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม HMS ของ Huawei เรียกว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับ Android ที่มีแอปพลิเคชันในมือมากกว่า 2 ล้านแอปแล้ว
การจะจูงใจให้นักพัฒนาแปลงแอปพลิเคชันของตัวเองให้รองรับ HarmonyOS นั้นต้องใช้ความพยายามและงบประมาณมหาศาล หลายคนคาดเดาว่า Huawei อาจต้องจัดกิจกรรมและใช้เงินอัดฉีดชุมชนเพื่อเพิ่มแอปพลิเคชันในมือให้ได้เร็วที่สุด ร่วมไปกับการสร้างความมั่นใจ ซึ่งตัวหัวเว่ยก็ยอมรับว่าได้ลงทุนพัฒนาระบบอีโคซิสเต็มส์รอบ HarmonyOS ไปแล้วมากกว่า 4 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2018-2019 โดยเงินทุน 80% ถูกนำไปใช้วางรากฐานนอกประเทศจีน แบ่งเป็น 5 พันล้านบาทในปี 2018 และ 3.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้
ยังมีข้อจำกัดที่อาจทำให้ HarmonyOS ไปไม่รอดในตลาดคอนซูเมอร์นอกเมืองจีน เพราะผู้ใช้จำนวนมากผูกติดกับระบบปฏิบัติการที่ใช้มาก่อนด้วยความเคยชิน ขณะเดียว กันผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็เก็บรหัสผ่านลงในโอเอสเพื่อลงชื่อใช้งานแอปพลิเคชันสำคัญอย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย การผูกติดโยงใยนี้ทำให้ HarmonyOS มีความเสี่ยงสูงมากที่จะแจ้งเกิดนอกตลาดจีนได้ไม่สวยงามนัก
ทั้งหมดยังต้องรอดูต่อไป เพราะผู้บริหารไม่เปิดเผยเป้าหมายตัวเลขแอปพลิเคชันในอีโคซิสเต็มส์ที่หวังไว้ใน HarmonyOS ระบุว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับนักพัฒนา และบริษัทจะเน้นสร้างอีโคซิสเต็มส์เพื่อสนับสนุนเต็มที่ โดยยืนยันว่า HarmonyOS จะไม่มีปัญหาเข้ากับ Android ไม่ได้ เพราะความเป็นโอเพ่นซอร์สจะทำให้ HarmonyOS ทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการอื่นได้บนหลายอุปกรณ์ ซึ่งจะมีการพัฒนาชุดซอฟต์แวร์ SDK เพื่อเชื่อมต่อการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดนับตั้งแต่ปีนี้
สำหรับประเทศไทย ผู้บริหารหัวเว่ยมองว่าไม่อาจพูดได้ว่า HarmonyOS จะเริ่มลงตลาดไทยในปี 2020 เนื่องจากสินค้ารุ่นใหม่กลุ่มนาฬิกาอย่าง Watch GT ที่วางจำหน่ายในไทยแล้วก็มี HarmonyOS เป็นส่วนประกอบ แต่ในภาพรวม ไทยยังเป็นประเทศกลุ่มแรกหรือ Tier 1 ในธุรกิจหัวเว่ยทั่วโลก ผลประกอบการก็ยอดเยี่ยมแม้จะมีวิกฤติ ครึ่งหลังของปีนี้ก็จะมีการเปิดสินค้าใหม่ทั้งกลุ่มสมาร์ทโฟนและสมาร์ทดีไวซ์ ทำให้มั่นใจปลายปีนี้ส่วนแบ่งยอดขายของหัวเว่ยในไทยก็จะเติบโตเป็นเลข 2 หลัก
HarmonyOS หรือหงเหมิง (ภาษาจีนแปลว่าจุดเริ่มต้นของโลก) เป็นระบบปฏิบัติการที่หัวเว่ยเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2017 จนสามารถเปิดตัวเป็น HarmonyOS 1.0 ในปี 2019 หลังจากพัฒนาขึ้นเองภายในบริษัท เป้าหมายเบื้องต้นคือวางตลาดในสินค้ากลุ่มพีซี สมาร์ทวอตช์ และสายรัดข้อมือในปีหน้า เพื่อปูทางขยายไปถึงสินค้ากลุ่มลำโพงและหูฟังในปีถัดไป รวมถึงแว่นเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง VR ในปี 2022.