เอไอเอส ประเดิมทดสอบควบคุมรถไร้คนขับระหว่าง กรุงเทพฯ - หาดใหญ่ ผ่านระบบ 5G หวังใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนานวัตกรรม ก่อนขยายศึกษารูปแบบการนำไปใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ส่วนการแข่งขันในภาคใต้มั่นใจส่วนแบ่งการตลาดเกินครึ่งมุ่งพัฒนาคุณภาพเครือข่ายต่อเนื่อง
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การทดสอบนำเครือข่าย 5G มาใช้งานในการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับในวันนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการนำเครือข่าย 5G มาใช้งาน
โดยในพื้นที่ภาคใต้ ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทดสอบเทคโนโลยี 5G ในสภาพแวดล้อมจริงบนคลื่นความถี่ 28 GHz ภายใต้การสนับสนุนของกสทช. ที่จะทำให้เป็นต้นแบบของระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City, Smart Living) ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาในการนำระบบสื่อสารยุคใหม่มาใช้งาน
อย่างการนำ 5G มาใช้เพื่อควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ (5G Remote Control Vehicle) ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความเร็วในการเชื่อมต่อสัญญาณทั้งการตอบสนอง และความสเถียร เพื่อควบคุมรถยนต์ไร้คนขับทางไกลข้ามภูมิภาคครั้งแรกของไทย ระหว่างพื้นที่ทดสอบ 5G ในกรุงเทพฯ มายังพื้นที่ทดสอบ 5G ในสงขลา
นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงการนำ 5G ไปใช้ในการสื่อสารระหว่างรถ (Vehicle to Vehicle) เพื่อให้รถยนต์ที่ติดตั้งระบบสามารถสื่อสารข้อมูลระหว่างกันได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ลดปริมาณอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการจราจร ด้วยการสั่งให้รถยนต์ที่ตามหลังหยุดโดยอัตโนมัติเมื่อรถคันหน้าเบรกกระทันหัน
และยังนำไปใช้กับรถตรวจการณ์และรักษาความปลอดภัย ในการนำกล้องวงจรปิดไปติดตั้งบนยานพาหนะ เพื่อส่งข้อมูลไปยังส่วนกลางเพื่อวิเคราะห์ภาพจำแนกวัตถุรอบคันรถ และตรวจจับลักษณะของรถ เช่น ป้ายทะเบียน, รุ่นของรถ, ยี่ห้อ, สีและลักษณะของรถ และการแจ้งเตือนความเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆ
ในการทดสอบ 5G ช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นความท้าทายมากที่สุดคือการนำคลื่นความถี่ที่ไม่เคยใช้งานมาก่อน มาให้บริการ เพราะต้องระมัดระวังในแง่ของคลื่นรบกวนต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องหา Use Case ที่น่าสนใจนำมาทดสอบ เพราะถ้ามีแต่โครงข่ายแต่ไม่สามารถทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนได้ 5G
“การให้บริการ 5G ไม่ใช่แค่ใช้งานกับมือถือเท่านั้น ทำให้ต้องหากรณีศึกษามาเพื่อสร้างความมั่นใจ โดยเฉพาะการเจาะเข้าไปในแต่ละอุตสาหกรรมที่มีโอกาสนำไปใช้งาน ซึ่งทำให้มีกรณีศึกษาใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”
สำหรับการแข่งขันในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันเอไอเอสมองว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมโยงประเทศไทยเข้ากับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทำให้ที่ผ่านมามีการลงทุนโครงสร้างดิจิทัลในพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่ 1,083 ตำบล 14 จังหวัด พร้อมช่องทางจำหน่ายกว่า 4,000 จุด
ทำให้ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาเอไอเอส มีส่วนแบ่งลูกค้าในภาคใต้เป็นอันดับ 1 ด้วยฐานลูกค้า 5.7 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่ง และคิดเป็นสัดส่วน 14% ของฐานลูกค้าทั้งหมดของเอไอเอสกว่า 41.5 ล้านเลขหมาย
“ในพื้นที่ภาคใต้ เอไอเอส มีสถานีฐาน 4G ทั้งหมด 5,732 สถานีฐาน ส่งผลให้การให้บริการ 4G ของเอไอเอสในพื้นที่ภาคใต้ ครอบคลุมออกไปบนพื้นที่ในทะเล เพราะด้วยการที่ปัจจุบันการแข่งขันทางด้านราคาทุกค่ายไม่ได้แตกต่างกันมาก อยู่ที่คุณภาพบริการมากกว่า ดังนั้นจึงเน้นไปที่การพัฒนา 4G ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ข้อมูลเสริมว่า ในการที่ประเทศจะก้าวไปในยุคของ AI และ Data Economy ได้นั้น ส่วนสำคัญคือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานในแง่ของการเชื่อมต่อ
โดยเฉพาะในยุคของ 5G ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังปักหมุดในการเป็นประเทศของ 5G แล้ว ดังนั้นความร่วมมือระหว่างม.อ. และเอไอเอส จะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้