‘เขียนโปรแกรม ไม่ต้องเขียนโค้ด’ เป็นอีกเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้วในเวลานี้ และมีบริษัทสัญชาติไทยอย่าง ‘อัฟวาแลนท์’ ที่พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาโปรแกรม-แอปพลิเคชัน ในชื่อ Oneweb ที่ไม่ต้องใช้ความรู้พื้นฐานในการเขียนโปรแกรม ก็เข้าใจได้ พร้อมเดินหน้าเจาะฐานลูกค้า SMEs ตั้งเป้าเติบโตไม่ต่ำกว่า 200%
นายอัครพล บุญวรเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัฟวาแลนท์ จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลของการ์ทเนอร์ ระบุว่า 65% ของการเขียนโปรแกรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะไม่ต้องทำผ่านการเขียนโค้ด แต่มาจากเครื่องมือที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถทำงานได้สะดวกขึ้น
“การมาของเครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้ทำให้นักพัฒนาโปรแกรมตกงาน แต่จะช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในองค์กรธุรกิจยุคใหม่ที่ทำงานร่วมกันหลายๆฝ่าย การที่มีผู้ที่เข้าใจแนวคิดในการเขียนโปรแกรมจะช่วยให้สามารถพัฒนาโปรแกรม และแอปพลิเคชันได้ตอบโจทย์การใช้งานได้มากขึ้น”
ที่ผ่านมา อัฟวาแลนท์ เริ่มนำบริการ Oneweb ที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาบริการ และแอปพลิเคชันในรูปแบบของเวอร์ชวลไลเซชัน (Visualization) แทนการเขียนโค้ด (Coding) เพื่อนำไปใช้งานภายในองค์กร ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในไทย ที่เริ่มมีการนำไปใช้งาน
นายอัครพล กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการพัฒนา Oneweb ให้รองรับการทำงานบนระบบคลาวด์มากขึ้น ประกอบกับเทรนด์การเติบโตของซอฟต์แวร์บนคลาวด์ที่คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 59% ในปี 2021 สวนทางกับซอฟต์แวร์บนดาต้าเซ็นเซอร์ที่ลดลง 2.6%
“ตอนนี้ธุรกิจทุกที่กำลังเข้าสู่ยุคของ Make Generation เป็นยุคที่ทุกองค์กรต้องสร้างนวัตกรรมอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดย Maker สามารถพัฒนาได้เองโดยใช้แพลตฟอร์มที่ง่าย สะดวก ตอบโจทย์ และทำงานได้ครอบคลุม”
ประกอบกับการที่แพลตฟอร์มเวอร์ชันใหม่รองรับการใช้งานบนคลาวด์ ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กได้มากขึ้น ด้วยการนำข้อมูลภายในองค์กรเข้ามาเชื่อมต่อ ก็สามารถสร้าง และพัฒนาโปรแกรมในการแสดงผลได้ทันที
เบื้องต้น อัฟวาแลนท์ ตั้งเป้าการเติบโตในปีนี้ว่าในการเข้าไปรุกธุรกิจ SMEs ว่าจะอยู่ที่ราว 200% ต่อเนื่องไปในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพราะความต้องการใช้งานของภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามสัดส่วยรายได้หลักจะยังมาจากองค์กรขนาดใหญ่ที่ราว 80% ทำให้ในส่วนของภาพรวมธุรกิจคาดว่าจะเติบโตราว 20%
ขณะเดียวกัน อัฟวาแลนท์ ได้มีแผนที่จะรุกตลาในระดับภูมิภาคมากขึ้น นอกเหนือจากปัจจุบันที่เข้าไปให้บริการแล้วในญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้ให้บริการติดตั้งระบบไอทีในญี่ปุ่นนำ Oneweb ไปให้บริการแก่ลูกค้าในกลุ่มที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ เช่นเดียวกับในอินโดนีเซีย ที่มีแผนจะนำไปใช้งานโปรเจกต์เกี่ยวกับการให้บริการสมาร์ทซิตี้
นายเรียวอิจิ อิชิฮารา คณะกรรมการบริหาร บริษัท ดีเนียน หนึ่งในบริษัทที่นำ Oneweb ไปใช้งานในประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ด้วยการที่ Oneweb รองรับการนำงานแบบ OpenAPI ทำให้สามารถดึงข้อมูลต่างๆ จากองค์กรธุรกิจที่ต้องการเพื่อนำมาแสดงผลผ่านแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ได้ทันที ทำให้สามารถนำไปต่อยอด และประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย
"อย่างในญี่ปุ่นที่มีการใช้งาน LINE เป็นหลักเหมือนกับไทย ทางดีเนียนก็พัฒนา Oneweb ให้สามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนผ่านทาง LINE ได้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลายของ Oneweb"