ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกสทช. คาดว่าในปี 62 อัตราผู้ใช้บริการบรอดแบนด์เน็ตบ้านทั่วไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 10.35 ล้านรายจากจำนวนประชากร 67.99 ล้านคน ในจำนวนนี้เชื่อว่าจะเป็นลูกค้าของ "ทรูออนไลน์" (TrueOnline) ไม่น้อยกว่าฐานลูกค้าปัจจุบัน 3.5 ล้านราย แม้ลูกค้าส่วนใหญ่เกิน 60% จะใช้แพ็กเกจความเร็ว 100-200 Mbps แต่อีกไม่นาน ตัวเลขแพ็กเกจความเร็วระดับแมสของลูกค้าใหม่บรอดแบนด์ทรู อาจจะขยับขึ้นเป็น 1000 Mbps หรือ 1 Gbps ในปีนี้
เหตุผลที่ทำให้ 1 Gbps อาจเป็นความเร็วระดับแมสที่ครองส่วนแบ่งก้อนโตในกลุ่มลูกค้าเน็ตบ้านทรู คือแพ็กเกจราคาล่าสุด 899 บาทซึ่งจะแถมอุปกรณ์ Router รุ่นใหม่ ทรูเชื่อว่า Router ใหม่จะเป็นอาวุธที่ทำให้คู่แข่งอย่าง 3BB หรือ TOT ไล่ตามทันได้ยาก โดยทรูย้ำว่าวันนี้เน็ตบ้านไฟเบอร์ 1 Gbps ของหลายโอเปอเรเตอร์นั้นเป็น "ของปลอม" เพราะไม่มี Router เฉพาะทาง ทำให้ผู้ใช้ได้รับสปีดไม่เต็มที่กับเงินที่จ่าย
เป้าหมายคือแก้เกม
ธนภูมิ ภาคย์วิศาล ผู้อำนวยการและหัวหน้าสายงานการพาณิชย์ทรูออนไลน์ บมจ. ทรูคอร์ปอเรชั่น ประกาศว่าเป้าหมายในปีนี้ของ TrueOnline แบ่งเป็น 2 ส่วน 1. คือการรักษาตัวเลขการเติบโตด้านรายได้ให้เท่ากับปีที่ผ่านมา นั่นคือ 11% ซึ่งแปลว่าบริการไฟเบอร์ 1 Gbps จะต้องขยับอัตราค่าใช้บริการต่อบิลของลูกค้าทรูให้เพิ่มสูงขึ้นได้ด้วย และ 2. คือการเปิดให้ลูกค้าใช้งานเน็ตบ้านได้แบบเต็มสปีดที่ชำระเงินไป
เป้าหมายแรกของทรูออนไลน์ถูกมองว่าเป็นการพยายามแก้เกมที่รายได้ต่อบิลของผู้ใช้บรอดแบนด์กำลังอยู่ในช่วงขาลงทั้งที่จำนวนผู้ใช้มากยิ่งขึ้น ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะการแข่งขันดุเดือดจากผู้ให้บริการที่พยายามขยายบริการไฟเบอร์ คู่ไปกับการเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ต แต่ทุกรายจำเป็นต้องลงราคาไว้เท่าเดิม
สิ่งที่ทรูออนไลน์ตัดสินใจทำเพื่อเพิ่มรายได้ต่อบิล คือการปรับแพ็กเกจใหม่ "Gigatex เน็ตไฟเบอร์ 1 Gbps" ราคาเริ่มต้น 899 บาทต่อเดือน โดยแถม Gigatex Fiber Router อุปกรณ์รับ-ส่ง ระดับกิกะบิต มูลค่า 3,900 บาท ขณะเดียวกันก็เปิดให้สมัครแพ็กเกจ 999 บาทต่อเดือน เพื่อรับ Gigatex Fiber Router และกล่อง TrueID TV
ทำจริงจังไม่ได้มาเล่น
แพ็กเกจใหม่นี้ไม่ได้มาเล่นๆ แต่เป็นเดิมพันหลักที่ทรูออนไลน์ระบุว่าจะใช้งบประมาณราว 60 ล้านบาท ถือเป็นแคมเปญใหญ่ที่สุดประจำปี 62 ของทรูออนไลน์ ขณะที่ตัว Router ใหม่ Gigatex Fiber Router ยังถูกมองเป็นอาวุธ เพราะที่ผ่านมา การแข่งขันทำให้อินเทอร์เน็ตความเร็ว 1 Gbps ถูกลดราคาลงต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา จากที่เคยมีราคาหลักหมื่น ก็ถูกปรับลงเหลือ 2,999 และ 1,599 บาท ซึ่งราคานี้ผู้ใช้จะต้องไปซื้อ Router เองด้วยราคา 4,000 - 5,000 บาท แถมจะได้เป็น Router ที่แยกส่วนแอคเซสพ็อยต์ ต่างจาก Gigatex Fiber Router ของทรูที่ครบเครื่องและจัดการง่ายกว่า
สำหรับแพ็กเกจใหม่และ Router พื้นฐานเพื่อเสริมตลาด 1 Gbps ทรูออนไลน์ระบุว่าได้พัฒนาต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เชื่อว่าจะไม่มีใคร "ก็อปปี้" ได้ในเวลาอันสั้น เพราะมีการร่วมพัฒนากับหลายฝ่าย ทั้งบริษัทที่ขายอุปกรณ์ โดยทรูเป็นผู้ตั้งมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับเวนเดอร์ อุปกรณ์นี้จึงใช้กับเครือข่ายอื่นไม่ได้ ซึ่งหากไม่ใช้ Router ตัวนี้ เครือข่ายไฟเบอร์ 1 Gbps ก็จะไม่สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้
ทรูออนไลน์ยังมองอาวุธครบมือด้านเครือข่ายด้วย ธนะพล จันทวสุ ผู้อำนวยการด้านปฏิบัติการโครงข่าย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าขณะนี้ทรูขยายเครือข่ายการให้บริการ 1 Gbps ตลอดเวลา จากปีที่แล้ว 19 จังหวัด แต่วันนี้ครอบคลุม 77 จังหวัดแล้ว หากผู้ใช้กระจายสัญญาณด้วยเราท์เตอร์ Gigatex Fiber Router จะทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาความละเอียดสูงได้พร้อมกันหลายคน เช่นดาวน์โหลดหนัง 4K ในเวลา 3-4 นาทีต่อเรื่อง
ความพร้อมเรื่องเครือข่ายและ Router รุ่นพิเศษ ทำให้ทรูออนไลน์เดินหน้าปรับราคาลงให้ 1 Gbps เป็นตลาดแมส เบื้องต้นแพ็กเกจ 1 Gbps ถูกคาดหวังให้เพิ่มยอดขายในกลุ่มหัวเมืองใหญ่ทั้งหมดทั่วประเทศ เน้นหนักมากกว่า 10 จังหวัดที่เป็นเมืองหลักในแต่ละภาค เบื้องต้นผู้บริหารชี้ว่าการแข่งขันในพื้นที่นอกกรุงเทพฯจะดุเดือดไหม ขึ้นอยู่กับว่าคู่แข่งมาครบหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ กทม. ยังคงเป็นตลาดที่มีการแข่งขันดุเดือดที่สุด โดยปัจจุบัน ทั้งอุตสาหกรรมบรอดแบนด์บ้านไทย พบว่ามีลูกค้าใหม่จำนวนราว 8 แสนรายต่อปี
ภายในสิ้นปีนี้ ผู้บริหารทรูต้องการให้ลูกค้าใหม่ 30-40% หันมาใช้แพ็กเกจใหม่ 1 Gbps เบื้องต้นคาดหวังให้เป็นหมัดเด็ดในการชิงลูกค้าจากคู่แข่งในวงการบรอดแบนด์บ้านไทยที่กำลังเติบโต
คาด 50% ของครัวเรือนไทยใช้บรอดแบนด์
ผู้บริหารทรูออนไลน์ย้ำอีกว่า เพราะพฤติกรรมนิยมชมคอนเทนต์ออนดีมานด์ และการมีอุปกรณ์ในบ้านมากขึ้น อินเทอร์เน็ตบ้านจึงเป็นปัจจัยที่ 5 เพื่อให้ผู้คนทำกิจกรรมต่างๆนานาได้ราบรื่น ภาพรวมอินเทอร์เน็ตบ้านไทยจึงเติบโตต่อเนื่องทุกปี คาดว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนบ้านไทยจะใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากกว่า 50% เพิ่มขึ้นจากสถิติปี 2561 ที่พบว่าไทยมีอัตราการเข้าถึงบรอดแบนด์ราว 42.96% ของครัวเรือน สูงขึ้น 11.9% จากปีก่อนหน้า
ตลาดบรอดแบนด์ไทยนั้นเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับตัวเลขภาพรวมฐานผู้ใช้บริการเน็ตบ้านในประเทศไทยปี 2561 ที่มีจำนวน 9.19 ล้านราย ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 8.21 ล้านรายในปี 2560 ปีดังกล่าว การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประเภท Fiber Optical มีสัดส่วนใช้งานสูงที่สุดอยู่ที่ 42.13% ของการเชื่อมต่อทั้งหมด เหนือกว่าการเชื่อมต่อผ่าน xDSL (39.76%) การเชื่อมต่อแบบ Cable Broadband (16.48%) และการเชื่อมต่อแบบอื่น (1.64%)
ตัวเลขจากสำนักวิชาการและจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม กสทช. ระบุอีกว่ารายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั้นอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะรายรับเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายของผู้ให้บริการบรอดแบนด์ประจำไตรมาส 4 ปี 2561 คือประมาณเดือนละ 609 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 7.6% อัตราค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 0.02 บาทต่อ Kbps เท่ากับปีก่อนหน้า
จากตัวเลขคาดการณ์ การประเมินชี้ว่าอัตราผู้ใช้บริการบรอดแบนด์คาดว่าจะก้าวกระโดดเป็น 14.4 ล้านรายในปี 65 ซึ่งที่ผ่านมาทรูออนไลน์สามารถครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในแง่จำนวนผู้ใช้บริการ นำหน้า 3BB, TOT และ AWN ที่มีส่วนแบ่งตลาดรองลงมา
วันนี้ทรูออนไลน์คือผู้ให้บริการบรอดแบนด์รายใหญ่ที่สุดด้วยฐานผู้ใช้ 3.5 ล้านราย ฐานผู้ใช้ใหม่เติบโตไม่ต่ำกว่า 3.3 แสนราย ส่งผลให้รายได้รวมของบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 11% ในปี 2561 ดีกว่าปี 60 ที่เติบโต 9.8% คิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท.