หลังจากที่เอไอเอส ใช้เวลาในการเตรียมเครือข่ายพร้อมกับการยกระดับจากการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมสู่การเป็นดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิสโพรวายเดอร์ในช่วงตลอด 5 ปีที่ผ่านมาทั้งการเร่งขยายโครงข่าย 4G จนถึงการเตรียมความพร้อมรับ 5Gที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ถึงเวลาแล้วที่เอไอเอส มองว่า อีโคซิสเตมส์หลายๆส่วนที่จะเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคให้สมบูรณ์แบบจากการลงทุนพัฒนาโครงข่าย 3G 4Gไปจนถึงโครงการในการสร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัลให้แก่ผู้ใช้
ในส่วนของการลงทุนเครือข่ายปัจจุบันเอไอเอส มีโครงข่าย Next Gที่เร็วที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการพัฒนาเครือข่าย 4Gที่ปัจจุบันให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ 8 หมื่นสถานีฐาน ร่วมกับ AIS Super Wifi อีกกว่า 1.2 แสนจุดทั่วประเทศ ทำให้ผู้บริโภคที่มีดีไวซ์ที่รองรับการใช้งาน Next Gสามารถเข้าถึงความเร็วเครือข่ายระดับที่เหนือกว่า 4.5G ได้ ในระดับGigabit และพร้อมที่จะพัฒนาเป็นเครือข่าย 5G ต่อไปในอนาคต
โดยจากข้อมูลช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา สถานีฐานเครือข่าย 4G ของเอไอเอส ครอบคลุมทั่วประเทศแล้วในจำนวน 80,692 สถานี เมื่อเทียบกับคู่แข่งอันดับ2 จะอยู่ที่ 40,458 สถานี และอันดับ 3 ที่ 22,766 สถานี
ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไปบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวถึงภาพรวมการแข่งขันในช่วงที่ผ่านมา
หลังจากที่ผู้ให้บริการลดการจำหน่ายแพกเกจแบบไม่จำกัดใช้งาน เนื่องจากเริ่มรับรู้แล้วว่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้งานของผู้ใช้งานทั่วไป ทำให้ประสบการณ์ใช้งานไม่ดี
'ในช่วงไตรมาส 2 หลังจากที่ลดการจำหน่ายแพกเกจแบบ Unlimitedทำให้ปัจจุบันการแข่งขันกลับมาอยู่ในภาวะปกติอย่างในเมืองจะเน้นการทำตลาดร่วมกันระหว่างโมบาย และไฟเบอร์ขณะที่ตลาดนอกเมืองยังเน้นโมบายเป็นหลักเช่นเดิม'
ส่วนแนวโน้มการใช้งานพบว่าลูกค้าเริ่มหันมาใช้งานระบบรายเดือนเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยเดือนละประมาณ 2-3แสนราย ทำให้ปัจจุบันฐานลูกค้ารายเดือนของเอไอเอส จะอยู่ที่ราว 8 ล้านรายส่วนฐานลูกค้าเติมเงินจะอยู่ประมาณ 32 ล้านราย
ขณะเดียวกัน ยังมองว่าการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมตอนนี้ไม่ได้อยู่แค่การให้บริการเครือข่ายเพียงอย่างเดียวแล้ว เนื่องจากปัจจุบันกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นเอไอเอสจึงเน้นเข้าไปตอบโจทย์การใช้งานพื้นฐานของชีวิตคนภายใต้ 3 แกนหลักๆ ประกอบด้วย1.ความบันเทิง ในการเป็นเครือข่ายให้บริการให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงคอนเทนต์และความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ 2.การเข้าไปสนับสนุนอีสปอร์ตที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเกม และกีฬา ที่กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
ส่วนสุดท้ายคือ 3.การให้ความรู้ในการใช้งานดิจิทัลแก่ผู้ใช้ด้วยการผลักดันโปรแกรมทดสอบความรู้ทางดิจิทัลออกมาให้ผู้บริโภค รวมถึงพันธมิตรเครือข่ายโรงเรียนทั่วประเทศได้นำไปใช้ทดสอบเด็กเยาวชนภายใต้โครงการอุ่นใจไซเบอร์
***ลุยคู่ทั้ง AIS - AIS Fibre
ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากการหาผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาคอนเวอร์เจนซ์ในการใช้ชีวิตมากขึ้นโดยเฉพาะลูกค้าเอไอเอส ที่ต้องการใช้งานบรอดแบนด์ก็จะเลือกใช้งาน AIS Fibre โดยจากลูกค้ากว่า 7 แสนราย กว่า 80% ใช้งานทั้งมือถือ และบรอดแบนด์ จะเห็นได้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมารูปแบบการทำตลาดของเอไอเอสในเมืองจะขยายการให้บริการจากมือถือควบคู่กับการให้บริการบรอดแบนด์มาตลอด และด้วยระยะเวลาที่ช้ากว่าในเมืองราว 6 เดือน ก็ถึงเวลาแล้วที่จะะเริ่มนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้กับตลาดหัวเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ นครปฐม และชลบุรี ก่อนกระจายสู่จังหวัดอื่นๆต่อไป
ประกอบกับปัจจุบันพื้นที่ให้บริการ AIS Fibre ครอบคลุมแล้ว 57จังหวัด หรือคิดเป็นจำนวนครัวเรือนราว 7 ล้านครัวเรือน และมีแผนที่จะขยายเพิ่มอย่างต่อเนื่องจึงมีโอกาสได้เห็นการทำตลาดควบคู่กันไประหว่างมือถือ และบรอดแบนด์มากขึ้น
***ได้เวลาลุยตลาดภูมิภาค
เมื่อทุกส่วนมีความพร้อมแล้ว จึงถึงเวลาที่เอไอเอส จะเปิดแคมเปญรุกตลาดต่างจังหวัด เพื่อเจาะเข้าไปยังผู้ใช้งานในแต่ละภูมิภาค โดยหวังให้เกิดการใช้งานสินค้า และบริการต่างๆ ให้มากขึ้นโดยเฉพาะการขยายลูกค้ามาใช้งาน AIS Fibre ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเปลี่ยนให้ลูกค้าเติมเงินมาใช้งานรายเดือนมากขึ้น
จากข้อมูลของ เอไอเอส พบว่าด้วยฐานประชากรในภาคอีสานกว่า 22 ล้านรายมีการใช้งานเลขหมายของเอไอเอสกว่า 10 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนราว 24%ของฐานลูกค้าทั่วประเทศและถือว่าเป็นภูมิภาคที่สร้างรายได้ให้แก่เอไอเอสมากที่สุด รองจากกรุงเทพฯ ทำให้การรุกตลาดภูมิภาคของเอไอเอส เริ่มในพื้นที่ภาคอีสานก่อน
ความท้าทายสำคัญของการบุกตลาดภูมิภาค คือเรื่องของการกระจายตัวของประชากร ทำให้ในการบุกตลาดครั้งนี้ เอไอเอส เตรียมความพร้อมในเรื่องช่องทางการจัดจำหน่าย และบริการมาเป็นแนวหน้าในการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางต่างๆ ถึง 7,000 จุด
เบญจพร กําเพ็ชร ผู้อํานวยการฝ่ายการตลาดกลุ่มลูกค้าบุคคล เอไอเอส ให้ข้อมูลเสริมว่าเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการต่างๆได้อย่างสะดวก เอไอเอสจึงได้มีการพัฒนา AIS Mobile Service ขึ้นมา ในรูปแบบของรถบริการเคลื่อนที่ ที่มีจำหน่ายซิมการ์ด และสมาร์ทโฟนเดินทางไปตามพื้นที่ต่างๆ ในภาคอีสาน
โดยมีความพิเศษที่ภายในรถคันนี้จะมีสถานีฐานเคลื่อนที่ติดตั้งไปด้วยทำให้นอกจากใช้เป็นจุดในการให้บริการแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อเพิ่มคุณภาพของสัญญาณไปในตัว อย่างการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตต่างๆ ที่ประชาชนเข้ามาใช้งานในพื้นที่พร้อมๆกัน
นอกเหนือไปจากนี้ ก็จะมีตามช่องทางปกติไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการเอไอเอส เทเลวิซ เอไอเอส บัดดี้ รวมถึงร้านค้าพันธมิตรที่เป็นโมเดิร์นเทรดอย่างเทสโก บิ้กซี แฟมิลี่มาร์ท ลอว์สัน ไปจนถึงร้านค้าไอทีอย่างเจมาร์ท ทีจีโฟน ซีเอสซี ไอทีซิตี้ เป็นต้น
***ตลาดพรีเพด ยังแข็งแรงในต่างจังหวัด
แม้ว่าตามเทรนด์ของการใช้งานสมาร์ทโฟน ที่เกิดการใช้งานดาต้าอย่างต่อเนื่องทำให้แนวโน้มการใช้งานเครือข่ายเริ่มเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของการใช้งานรายเดือน แต่กลายเป็นว่าด้วยความคุ้นชินของผู้บริโภคในต่างจังหวัดยังรู้สึกสะดวกกับการใช้งานซิมเติมเงินมากกว่า
ปรัธนา ให้ข้อมูลว่าแม้ปัจจุบันคนไทยจะมีการใช้งานเลขหมายโทรศัพท์มือถือคิดเป็นสัดส่วนกว่า140% เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร แต่กลายเป็นว่าในแต่ละเดือนตลาดมีการจำหน่ายซิมเติมเงินกว่า 3ล้านเลขหมายต่อเดือน เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดยังมองว่าเป็นการใช้งานที่สะดวกที่สุด
'บางครั้งพฤติกรรมการใช้งานคุ้นเคยจริงๆกับการซื้อทีเดียวที่หน้าร้านแล้วได้แพกเกจไปเลย พอหมดเดือนก็ซื้อใหม่ ประกอบกับด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่าง LINEทำให้คนไม่ยึดติดกับเบอร์โทรศัพท์เหมือนกัน เพราะสามารถโทรคุยกันผ่านLINE ได้ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้เบอร์เดิมตลอดเหมือนสมัยก่อน ทำให้มีปริมาณซิมที่ขายเยอะ'
โดยส่วนมากผู้บริโภคในกลุ่มนี้จะเป็นวัยรุ่น และลูกค้าทั่วไปบางส่วน เพราะมีความรู้สึกว่าเข้าใจง่ายกว่า ในการซื้อซิมใหม่ไปใช้งาน โดยที่ในกลุ่มนี้ ARPU เฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 150 - 200 บาทเท่ากับราคาแพกเกจที่วางจำหน่ายที่หน้าร้าน
***เสริมทัพ 'พรีเซ็นเตอร์' ตามพื้นที่
สำหรับวิธีการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในระดับภูมิภาค เอไอเอส ยังคงเน้นการจัดกิจกรรมเดินสาย โปรโมทด้วยคอนเสิร์ต จากศิลปิน-นักร้องคุณภาพในแต่ละภูมิภาค อย่างในภาคอีสาน เอไอเอส ใช้ 'ต่าย อรทัย' ซึ่งเป็นนักร้องลูกทุ่งที่มีผู้ติดตามเป็นอันดับ 1บนเฟซบุ๊ก ด้วยจำนวนคนติดตามกว่า 5.4 ล้านคน
ขณะที่ภูมิภาคต่อไป คือภาคใต้ ก็เลือกศิลปินอย่าง เอกชัย ศรีวิชัย ที่จะทยอยจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตในช่วงเดือนสิงหาคมก่อนที่จะปิดท้ายการรุกตลาดภูมิภาคในภาคเหนือ
โดยยังไม่ได้เปิดเผยรายชื่อของพรีเซ็นเตอร์ที่จะใช้ โดยจะรอหลังจากเดินสายในภาคใต้เสร็จก่อน
'จะเห็นว่าเอไอเอสใช้แบรนด์แอมบาสเดอร์ ค่อนข้างเยอะ เพราะต้องการเข้าถึงผู้บริโภคในทุกวัย ทำให้ถ้ามีการเลือกพรีเซ็นเตอร์ ก็ต้องมีสัญลักษณ์ที่สะท้อนกลับมาในเรื่องภาพลักษณ์ที่ชัดเจน อย่างการเป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับในแต่ละพื้นที่'
***อัดสมาร์ทโฟน-แพกเกจราคาพิเศษ
เบญจพร กล่าวเสริมว่า ด้วยการที่รายได้ประชากรในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันทำให้เอไอเอส มีการสำรวจถึงมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยที่เหมาะสมกับผู้บริโภคในแต่ละภาคเพื่อนำเสนอสมาร์ทโฟนราคาพิเศษให้แก่ลูกค้า อย่างในการรุกภาคอีสานครั้งนี้ ก็จะนำสมาร์ทโฟนอย่าง เอไอเอส ซูเปอร์สมาร์ท เจนวัน ที่เป็นสมาร์ทโฟนขนาดหน้าจอ 5 นิ้ว มาทำตลาดในราคา 1,590 บาท
'ถ้าเทียบระดับราคาสมาร์ทโฟนของอินเตอร์แบรนด์ในขนาดหน้าจอใกล้เคียงกันราคาจะอยู่ราว4-5 พันบาท แต่ถ้าเป็นเครื่องของเอไอเอส นอกจากค่าเครื่องที่ถูกกว่าแล้ว ยังมีแพกเกจดาต้าให้ใช้งานมาช่วยเสริมให้ลูกค้าเข้าถึงได้มากขึ้น'
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอแพกเกจอย่าง 'โปรสะใจ'ให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคอีสาน ที่เปิดซิม วันทูคอล The ONE SIMพร้อมเติมเงิน 30 บาท จะได้รับสิทธิ์โทร.ฟรีครั้งละ 30 นาที นาน 3 เดือน เนื่องจากยังมีกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานวอยซ์เป็นประจำในการติดต่อสื่อสารอยู่ด้วย