xs
xsm
sm
md
lg

AIS จ่ายค่าคลื่น 900 MHz งวด 3 4,301 ล้านบาท พร้อมทดสอบ 5G ที่ม.อ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอไอเอส ชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz งวดที่ 3 จำนวน 4,301 ล้านบาท พร้อมวางแบงก์การันตีงวดที่ 4 เรียบร้อยแล้ว

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส ได้เดินทางไปชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900MHz งวดที่ 3 โดยมี พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับมอบ เงินจำนวน 4,301,400,000.00 บาท (สี่พันสามร้อยหนึ่งล้านสี่แสนบาทถ้วน) รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว พร้อมนำส่งหนังสือค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่ 4 ณ สำนักงาน กสทช.


ทั้งนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ในกลุ่มเอไอเอส ที่ประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900MHz ชุดที่ 1 คลื่นความถี่ 895-905 MHz คู่กับ 940-950MHz ที่ราคาประมูล 80,949.78 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ขณะเดียวกัน เดินหน้าทดสอบเทคโนโลยี 5G ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้แนวคิด “Smart City, Smart Living” สร้างโมเดลสมาร์ทซิตี้ครั้งแรกในไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกสทช.

โดย เอไอเอสและม.อ.ได้นำ 5G Use Case และ IoT Device มาทดลอง ทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง บนคลื่นความถี่ 28 GHz ใน 3 คุณสมบัติหลัก คือ ความเร็ว, เครือข่ายที่ตอบสนองรวดเร็วและเสถียร (Latency) รวมถึงศักยภาพในการขยายการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ หรือ IoT ประกอบไปด้วย

1.Mobile Surveillance : นวัตกรรมเพื่อการตรวจตราและรักษาความปลอดภัยจาก Video Analytics และ AI ได้แบบเรียลไทม์ ด้วยการนำข้อมูลวิดีโอจากกล้องวงจรปิดบนยานพาหนะส่งต่อผ่านเครือข่าย 5G ที่จะสามารถวิเคราะห์ภาพจำแนกวัตถุรอบคันรถ, วิเคราะห์ความพร้อมของผู้ขับขี่ และการแจ้งเตือนความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.Object Detection : นวัตกรรมจับวัตถุที่เคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งได้อย่างแม่นยำ ผ่าน 5G อาทิ ตรวจจับรถยนต์หรือบุคคลต้องสงสัย โดยข้อมูลจะแสดงผลเรียลไทม์ที่ War Room ของมหาวิทยาลัย

ในกรณีที่ตำรวจแจ้งลักษณะบุคคลและรถต้องสงสัยเข้ามา ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยก็จะสามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวของรถหรือคนร้ายได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านระบบรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยได้ดียิ่งขึ้น

3.EV Autonomous : นวัตกรรมการสื่อสารระหว่างรถ EV ต่อรถ EV ผ่านเครือข่าย5G ครั้งแรกของไทย (Vehicle to Vehicle communication system) ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูง มีความหน่วงต่ำ และระบบมีความเสถียรมาก ทำให้รถยนต์สามารถสื่อสารข้อมูลการขับขี่ ข้อมูลความปลอดภัย และข้อมูลการจราจรไปมาระหว่างกันเองได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย โดยไม่ต้องใช้คนขับ ซึ่งจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงป้องกันการจราจรติดขัดในเส้นทาง

จากการทดลอง ทดสอบครั้งนี้ จะทำให้ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหรรม และผู้เกี่ยวข้องใน 5G Ecosystem เห็นภาพของประโยชน์ของ 5G ในหลากหลายรูปแบบ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาได้มีโอกาสสร้างสรรค์ไอเดียขึ้นมาเป็นนวัตกรรม





กำลังโหลดความคิดเห็น