ไลน์ (Line) โชว์สถิติยอดขายสติกเกอร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เผยคนไทย 1 คนมีสติกเกอร์สะสมในมือเฉลี่ยเกิน 65 ชุดต่อคน ในจำนวนนี้เป็นสติกเกอร์ซื้อราว 20 ชุด คิดเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นสูงเกิน 2 เท่าตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจจำหน่ายธีมตกแต่งหน้าจอเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 45% ของยอดขายรวมสติกเกอร์ มั่นใจครึ่งหลังปีนี้ตลาดโตขึ้นอีกบน 3 กลยุทธ์เพิ่มเสริมแกร่งฟีเจอร์ แคมเปญแรง และช่องทางจำหน่าย ซึ่งจะเดินหน้าจัดระเบียบแม่ค้ารายย่อยที่ขายสติกเกอร์ผ่านระบบ Gift เต็มที่
กณพ ศุภมานพ ผู้อำนวยการธุรกิจสติกเกอร์ LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่าสถิติเหล่านี้เป็นผลจากการปรับกลยุทธ์ของ Line ทั้งการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายที่เข้าถึงตลาดไทยได้มากขึ้น ร่วมกับการเพิ่มสติกเกอร์รูปแบบใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มความหลากหลายของคอนเทนต์ทำให้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ได้มากขึ้น
“กลยุทธ์ครึ่งปีหลังเราวางไว้ 3 ส่วน ส่วนแรกคือการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ให้สติกเกอร์ไลน์ เช่น Custom Sticker ที่จะร่วมมือกับครีเอเตอร์ให้มีลูกเล่นมากขึ้น ส่วนที่ 2 คือแคมเปญการตลาด แผนคือเราจะเอาฟีเจอร์ในออฟฟิศเชียลแอคเคาท์ มาทำแคมเปญให้เกิดการซื้อซ้ำมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะทำโปรโมชัน ให้มีคอยน์แคมเปญ ให้ซื้อปุ้บได้ปั๊บ ครึ่งปีหลังจะนำมาใช้มากขึ้น ส่วนที่ 3 คือการเพิ่มชาแนล เพราะทุกช่องทางชำระเงินใหม่จะมีผู้ซื้อใหม่ราว 40% นอกจากทำให้ซื้อได้ง่ายขึ้น เราจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มพันธมิตรมากขึ้น ทั้งที่เ่ป็นพันธมิตรด้านเนื้อหา และด้านอื่น”
ไทยขึ้น Top 3 สติกเกอร์ไลน์โตสูงสุด
กณพระบุว่าไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนสติกเกอร์ที่จำหน่าย และจำนวนครีเอเตอร์ผู้สร้างสติกเกอร์สูงที่สุดในโลก โดยเป็นรองญี่ปุ่นและไต้หวันเนื่องจากความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน
“วันนี้มีสติกเกอร์ไทยรวม 2.2 ล้านชุดในไลน์ จากทั่วโลก 6 ล้านชุด คิดเป็น 35% ของตลาดสติกเกอร์ทั่วโลก จำนวนครีเอเตอร์สติกเกอร์ 4.8 แสนคน เติบโต 34% เราภูมิใจมากที่สามารถสร้างตำแหน่งงาน เสริมอุตสาหกรรมดีไซน์และคาแรกเตอร์ของไทย”
สถิติเหล่านี้เติบโตจากยุคที่ไลน์เริ่มตั้งไข่ธุรกิจสติกเกอร์ในเมษายน 2012 ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หลักไมล์สำคัญของธุรกิจสติกเกอร์ไลน์คือการเปิดไลน์ครีเอเตอร์มาร์เก็ตในปี 2014 ให้ครีเอเตอร์ทุกคนนำเสนอผลงานเข้ามาจำหน่ายในแพลตฟอร์มไลน์ ซึ่งในปีที่ 5 ของไลน์ครีเอเตอร์มาร์เก็ต พบว่าไทยเป็นอันดับ 1 ที่ไลน์ครีเอเตอร์มาร์เก็ตเติบโตมากที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดไลน์ทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกปี 2019
พัฒนาการของสติกเกอร์ไลน์ตั้งแต่ปี 2011 นั้นเริ่มจากภาพนิ่งธรรมดา มาเป็นภาพเคลื่อนไหว จนกลายเป็นสติกเกอร์ที่มีเสียง และเป็นสติกเกอร์ที่แสดงเต็มจอ ก่อนจะกลายเป็นมิวสิกสติกเกอร์ประกอบเพลง โดยปีที่แล้ว ฟีเจอร์เด่นของสติกเกอร์ไลน์คืออีโมจิที่สามารถใส่ในข้อความได้เลย ล่าสุดคือปีนี้ ไฮไลท์คือ Big Sticker ที่เป็นภาพนิ่งใหญ่เต็มจอ ดึงดูดความสนใจของคนที่ใช้งานได้ เหมาะกับกลุ่มเซเลบศิลปินที่ต้องการเอาใจแฟนคลับ ยังมี Custom Sticter สติกเกอร์ที่เติมคำได้เอง เพิ่มความสนุกให้ผู้ใช้งาน
จัดระเบียบรีเซลเลอร์
นอกจากการเน้นฟีเจอร์ของตัวสติกเกอร์ กลยุทธ์ที่ 2 ที่ไลน์สติกเกอร์จะเน้นในปีนี้คือการเพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ คาดว่าปีนี้จะเพิ่มช่องทางจำหน่ายได้เป็น 5 ส่วน จากที่มี 3 ส่วนในปัจจุบันคือตู้เติมเงิน เอไอเอสพ็อยต์ และรีเซลเลอร์ ตั้งเป้าเดินหน้าตรวจสอบและระบุตัวตนรีเซลเลอร์ 500 รายในปีนี้ จากที่ตรวจสอบไปแล้ว 80 ราย
“อีกช่องทางสำคัญคือ Line Verified Resaler ที่ผ่านมาคนไทยนิยมซื้อสติกเกอร์จากพ่อค้าแม่ขายรายย่อย เพื่อให้ส่งสติกเกอร์เป็นของขวัญ จำนวนการซื้อนี้ถือว่าสูงมากที่สุดในโลก ไม่ได้แปลว่าคนไทยซื้อสติกเกอร์ไม่เป็น แต่เป็นเพราะชิน ก่อนนี้ต่างคนต่างทำ เราเลยหวังจะร่วมทำด้วย ปีนี้ตั้งเป้ามีรีเซลเลอร์ 500 ราย ทั้งใหญ่ กลาง เล็ก จากที่มีปัจจุบัน 80 ราย เราจะตรวจสอบประวัติร้านค้า ให้มั่นใจว่าจะไม่มีการฉ้อโกง ขณะที่ร้านค้าจะได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นช่องทางจำหน่ายที่เป็นเอกลักษณ์มากในไทยเมื่อเทียบกับทั่วโลก”
รีเซลเลอร์ 80 รายที่ได้รับการตรวจสอบแล้วจากไลน์ คือผู้ใช้ทั่วไปที่มาสมัครเพื่อให้ได้รับการรับรองจากไลน์ จุดนี้ผู้บริหารระบุว่าการยืนยันตัวจะยังอิงสัดส่วนราคาซื้อขายสติกเกอร์ในอัตราเดิม เพียงแต่จะสะดวกขึ้น เชื่อว่าจะเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นการซื้อได้เพราะความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน ช่องทางจำหน่ายหลักของสติกเกอร์ไลน์คือแอปพลิเคชันไลน์และไลน์สโตร์ (70% ของการขายรวม) รองลงมาคือ 3 ส่วนได้แก่ 1. ตู้เติมเงิน ผ่านพันธมิตร 2 เจ้า 2. รีเซลเลอร์ที่เปิดขายสติกเกอร์บนเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม และ 3. เอไอเอสพ็อยต์ ซึ่ง เป็นครั้งแรกที่ไลน์ร่วมมือกับแพลตฟอร์มพันธมิตร แล้วทำให้เกิดทรานเซกชันได้เลย
แม้ปีนี้จะมีอีก 2 ช่องทางที่ไลน์ยังเปิดเผยไม่ได้ แต่ผู้บริหารยืนยันว่าจะพาไลน์สติกเกอร์ไปอยู่ในแพลตฟอร์มใกล้ตัวผู้ใช้ และตอบโจทย์ได้ให้มากกว่าเดิม
เดินหน้าหนุนศิลปินอิสระ
กณพมองว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยเป็นรองตลาดสติกเกอร์ญี่ปุ่นและไต้หวัน คือโครงสร้างอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ที่ไม่แข็งแกร่งเท่า 2 ตลาดนี้ แต่ไลน์หวังจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้คาแรกเตอร์ไทยโกอินเทอร์สู่ตลาดโลกได้มากขึ้น ล่าสุดมีการดันให้ผู้สร้างคาแรกเตอร์ 28 รายที่เป็นคาแรกเตอร์ไทยสู่ระดับโลกแล้ว
“ปีนี้เราตั้งเป้าตัวเองเป็นฝ่ายสนับสนุนศิลปินอิสระในไทย ใครที่มีความสามารถ สามารถนำธีม สติกเกอรืไลน์ มาเป็นที่แสดงงานได้” โดยล่าสุด ไลน์ได้ร่วมมือกับพิชัย แก้ววิชิต มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีผลงานถ่ายภาพโดดเด่น จัดแสดงผลงานให้ไลน์เป็นพื้นที่แสดงผลงานที่จะเป็นช่องทางรายได้เพิ่มเติมได้ และเปิดกว้างให้คนเข้าถึงผลงานได้มากขึ้น “อาจจะพัฒนาเป็นสติกเกอร์ภาพถ่าย ตอนนี้จะขยายออกมาเป็นเนื้อหาที่รองรับเพศหญิงและชาย”
ปัจจุบัน ผู้ซื้อสติกเกอร์ไลน์เป็นลูกค้าผู้หญิงราว 60% ขณะที่ผู้ซื้อธีมไลน์เป็นผู้หญิงราว 80% จุกนี้ผู้บริหารไม่ได้มองว่าไลน์จะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชายได้มากขึ้นในสัดส่วนเท่าใด แต่ย้ำว่าการเลือกพันธมิตรเพื่อเข้าไปร่วมมือจะเพิ่มมุมการซื้อให้หลากหลายมากขึ้น
ผู้บริหารไลน์เชื่อว่าธุรกิจสติกเกอร์ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว และมองว่ายอดการถือสติกเกอร์ไลน์เฉลี่ย 65 ชุดต่อคนนั้นยังโตได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือโอกาสที่จะเกิดการซื้อจากผู้ใช้ไลน์มากกว่า 44 ล้านคนทั่วไทย ซึ่งเป็นความท้าทายที่ไลน์ต้องการทำให้คนซื้อมากขึ้นด้วยการเพิ่มช่องทาง และเพิ่มพันธมิตรด้านเนื้อหา
“ปีนี้เรายังส่งเสริมเรื่องสร้างครีเอเตอร์หน้าใหม่ต่อเนื่อง จัดประกวด ทำโครงการอบรมฟรีทั่วประเทศ ภูเก็ต พิษนุโลก และอุบลราชธานี เพื่อเข้าถึงครีเอเตอร์หน้าใหม่ ในพื้นที่ใหม่ที่เราไม่เคยไปมาก่อน”