xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีจับมือภาคีสร้างมาตรฐานดิจิทัลไอดีระดับประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระทรวงดีอี และ ETDA จับมือภาคีทุกภาคส่วน ร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็น หวังสร้างมาตรฐานระบบการยืนยันตัวตนร่วมกัน เริ่มใช้งานทันทีกับภาคธนาคาร ก่อนจะค่อยๆทยอยใช้งานกับภาครัฐ

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า พระราชบัญญัติการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล มีผลบังคับใช้แล้ว โดยระบบการยืนยันตัวตนจะเริ่มนำร่องใช้กับภาคธนาคารก่อน เช่น การเปิดบัญชีเงินฝาก เป็นต้น ส่วนการใช้งานในภาครัฐคงต้องเริ่มทีละเฟส ทยอยปรับตัวกันไป ซึ่งการมีดิจิทัลไอดี หรือระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่มีมาตรฐานและถูกต้องตามกฎหมาย เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยอุดช่องโหว่ของปัญหาการปลอมแปลงเอกสารได้

เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกันในระบบดิจิทัล ทำให้การพิสูจน์ยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านออนไลน์ มั่นคงปลอดภัย ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมต่อระบบกับนานาชาติในอนาคตได้ เพราะดิจิทัลไอดีจะมาช่วยปลดล็อกและเติมเต็มศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยได้อย่างเต็มสูบ

'ต้องยอมรับว่า ตอนนี้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมและกำลังก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่เน้นการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานบริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างทัดเทียม'

ทั้งนี้ Digital ID เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกันในระบบดิจิทัล ทำให้การพิสูจน์ยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ มีความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลเดินหน้าผลักดันกฎหมายดิจิทัล หลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3 และ 4) พ.ศ. 2562 เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น


ขณะที่นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กล่าวว่า ETDA ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาธุรกรรมออนไลน์และอีคอมเมิร์ซของประเทศ มีบทบาทหน้าที่ใน 2 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการผลักดัน และกำหนดมาตรฐาน คือ การกำกับดูแลผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์และการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3 และ 4) พ.ศ. 2562

อีกทั้งการรับช่วงต่อในการผลักดันกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2562 โดยคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงต้นเดือน กรกฎาคม 2562 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะช่วยปลดล็อกและเติมเต็มศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยได้อย่างเต็มกำลัง เพราะทำให้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ และมั่นคงปลอดภัย

ดังนั้น ETDA เครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชนจัดงานประชุมวิชาการ '1st THAILAND DIGITAL ID SYMPOSIUM 2019' ภายใต้แนวคิด 'Unlocking the Potential of Thailand Digital Economy: International Digital ID Use Cases' ปลดล็อกศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลไทย มองนานาชาติ เขาใช้ดิจิทัลไอดีให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนานาชาติ ในการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลหรือ Digital ID ร่วมกัน

'เวทีนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งาน และความเห็นของการใช้ Digital ID รวมถึงแนวทางการใช้ Digital ID ในอนาคต ในลักษณะ International symposium มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องของ Digital ID จากหลากหลายสาขาที่ร่วมชี้ให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้ต้องมีพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการและธุรกรรมต่าง ๆ ทางดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย โดยมีกฎหมายรองรับ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Digital Thailand เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย'



กำลังโหลดความคิดเห็น