เมื่อยุคดิจิทัลเข้ามากลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ หนึ่งในธุรกิจที่ต้องปรับตัวตามคือเรื่องของธุรกิจรักษาความปลอดภัย ล็อกซเล่ย์ หนึ่งในบริษัทที่เดินหน้าให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยมองเห็นโอกาสที่สามารถร่วมยกระดับประเทศไทย ให้ปลอดภัยมากขึ้นในยุคดิจิทัล
จึ่งกลายเป็นที่มาของการเปิดตัวบริษัทอย่าง ล็อกซเล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี หรือ LET ที่ในมุมหนึ่งอาจจะเป็นการรีแบรนด์มาจาก บริษัท ลอว์ เอ็นฟอร์ซเม้นท์ เทคโนโลยี โซลูชั่นส์ จำกัด แต่ในอีกมุมคือการปรับแนวทางธุรกิจครั้งใหญ่ โดยเน้นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น
ยุทธพร จิตตเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่าด้วยการที่ประเทศไทยไม่ได้มีการปรับปรุง พรบ.เกี่ยวกับความปลอดภัยมานานทำให้ปัจจุบันกลายเป็นว่าการให้บริการตามมาตรฐานของกฏหมายนั้นไม่เพียงพอแล้ว
"สิ่งที่ LET มองคือการให้บริการทางด้านความปลอดภัยที่เป็นมากกว่าระบบรักษาความปลอดภัยธรรมดา ด้วยการนำเทคโนโลยีในยุค 4.0 มาบูรณาการร่วมกันกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด"
คำถามที่ตามมาคือเมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน แล้วรปภ.จะตกงานหรือไม่ ในจุดนี้ผู้บริหารล็อกซเล่ย์ มองว่า จริงๆแล้วการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่ได้เป็นการแย่งงานของมนุษย์แต่เข้ามาช่วยให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้งานแรงงานถ้านำระบบกล้องวงจรปิดที่สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวมาใช้งานร่วมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เมื่อกล้องตรวจพบเหตุการณ์ไม่ปกติ ก็ทำการแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ก็จะช่วยให้สามารถระงับเหตุได้ทันทีและไม่เกิดความผิดพลาดจากการหลับระหว่างเฝ้ายาม
เพียงแต่ว่าในการนำเทคโนโลยีมาใช้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่จะมาช่วยควบคุมและบริหารจัดการระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆให้กลายมาเป็นแบบรวมศูนย์เข้าสู่ห้องควบคุมเพื่อให้เกิดการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด
ด้วยเหตุนี้ทำให้ ล็อกซเล่ย์ มองเห็นถึงโอกาสในการเข้าไปร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสร้างระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีขึ้นในยุคดิจิทัลครอบคลุม4 กลุ่มธุรกิจสำคัญๆ ในประเทศไทย
ประกอบไปด้วย 1.กลุ่มงานระบบเทคโนโลยีความมั่นคงเพื่อความปลอดภัยระดับเมืองและเขตชุมชนขนาดใหญ่ (Public Safety) ที่จะนำระบบการทำงานแบบรวมศูนย์ มาใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพเคลื่อนไหว ที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วแบบ Real Timeพร้อมคัดกรองและสรุปย่อเหตุการณ์ ให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว
โดยหลักๆแล้วจะเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสำหรับเชื่อมต่อกับกล้องวงจรปิดในพื้นที่สาธารณะที่จะมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจซึ่งต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปช่วยควบคุม และดูแล
2.กลุ่มงานเทคโนโลยีไร้มนุษย์ควบคุมและระบบบริหารจัดการล้ำอนาคต (Beyond Platform & Unmanned Security) เป็นการออกแบบการบริหารจัดการศูนย์ควบคุมและสั่งการพร้อมเชื่อมโยงระบบตรวจจับต่างๆ จากระยะไกลเข้ามาวิเคราะห์และสั่งการต่อแบบอัตโนมัติ ไปยังเครื่องจักร โดรน อุปกรณ์ IoT ด้วยการนำ AI มาใช้ สำหรับกลุ่มเป้าหมายของเทคโนโลยีไร้มนุษย์ จะครอบคลุมตั้งแต่ระดับองค์กร
โดยเฉพาะอาคารสำนักงานต่างๆ ที่มีแผนจะปรับเปลี่ยนเป็น Smart Building ร้านค้าปลีกที่มีสาขาจำนวนมาก หมู่บ้านจัดสรร ไปจนถึงกลุ่มลูกค้าทั่วไป
3.กลุ่มงานเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อระบบท่าอากาศยาน (Airport Technology) ที่จะเข้าไปช่วยออกแบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการระบบโดยสารภายในอากาศยานชั้นนำให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ทั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า สัมภาระ ระบบริหารจัดการเช็คอินผู้โดยสาร ระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า ที่ปัจจุบันล็อกซเล่ย์ เข้าไปให้บริการแก่สนามบินในกลุ่มของการท่าอากาศยาน ส่วนในกลุ่มของกรมท่าอากาศยานกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการที่จะเข้าไปเสนอรายละเอียดต่างๆแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
สุดท้าย 4.กลุ่มงานเทคโนโลยีขั้นสูง (Special Technology) เป็นการออกแบบระบบเพื่อภารกิจแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่หน่วยงาน ความมั่นคงระดับชาติ อย่างระบบ GSM Interceptor ระบบ Jammer ระบบMilitary Drone ระบบกล้อง Multi Sensor ระบบ Mesh Network รวมไปถึงระบบBig Data ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์ ให้แก่หน่วยงานความมั่นคงเพื่อระงับความเสียหายต่อเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
"จะเห็นได้ว่ากลุ่มเป้าหมายลูกค้าของล็อกซ์เล่ย์ เริ่มปรับเปลี่ยนจากภาคเอกชนมาเป็นภาครัฐมากขึ้น โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากภาครัฐจะอยู่ที่ประมาณ 45% และคาดว่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ปัจจุบันล็อกซเล่ย์มีการให้บริการในธุรกิจเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างบริษัท เอเชีย ซิเคียวริตี้ เมเนจเม้นท์ จำกัด (ASM) ทำให้มองถึงการขยายธุรกิจของ LET ไปยังกลุ่มลูกค้าเดิมของ ASM ก่อนในช่วงแรก เพื่อเข้าไปช่วยบริหารจัดการเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่มีอยู่
***ใช้ LET Care จับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป
นอกจากนี้ ยังมีการจับมือกับทาง เมืองไทยประกันภัย และ ธนาคารกสิกรไทย เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่มีกำลังซื้อในการเข้าไปนำเสนอโซลูชันรักษาความปลอดภัยภายในบ้านอย่าง LET Careที่จะเป็นธุรกิจดาวรุ่งให้แก่ LET เนื่องจากเป็นการผสมผสานระหว่างระบบรักษาความปลอดภัย เข้ากับเทคโนโลยี และประกันภัย ในการทำข้อเสนอคุ้มครองลูกค้าที่ใช้งานครอบคลุมเรื่องของประกันภัยต่างๆ เพิ่มเติมจากการให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยภายในบ้าน
"บริการของ LET Care จะเริ่มจากการให้บริการกล้องวงจรปิดภายในบ้านยุคใหม่ ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้รองรับกับเทรนด์ของสมาร์ทโฮมได้ โดยจะมีทีมงานคอยเฝ้าระวังจากส่วนกลาง ถ้ามีเหตุการณ์ผิดปกติ ตัวกล้องวงจรปิดจะมีการส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้เพื่อเข้าสู่กระบวนการขอความช่วยเหลือได้"
โดยข้อเสนอของ LET Careที่ทำโปรโมชันในช่วงแรกร่วมกับธนาคารกสิกรไทยคือให้ผู้ใช้สามารถผ่อนชำระค่าอุปกรณ์ และบริการ 0% 10 เดือนในราคาเริ่มต้นเดือนละ 2,990 บาท ที่จะได้รับการดูแลต่อเนื่อง 12 เดือน หลังจากนั้นจึงเริ่มคิดเฉพาะค่าบริการเดือนละ 1,300 - 1,500 บาท
กลุ่มเป้าหมายของ LET Care นอกจากบ้านและที่อยู่อาศัยที่ต้องการเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยแล้วยังมีโอกาสขยายไปยังกลุ่มโฮมออฟฟิศ และผู้ประกอบการต่างๆ ที่ต้องการระบบที่พร้อม สามารถติดตั้ง และเริ่มใช้งานได้ทันที