xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีผ่อนปรนเงื่อนไขล่อใจเอกชนประมูลโครงการดิจิทัล พาร์ค

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดีอีปรับเงื่อนไขดึงเอกชนร่วมประมูลพัฒนาพื้นที่โครงการดิจิทัล พาร์ค ใหม่ ผ่อนปรนการเสนอส่วนแบ่งรายได้และค่าเช่าที่มากขึ้น คาดออกร่างสัญญาใหม่ ก.ค.เปิดขายซอง ส.ค. และประมูล ต.ค. ปีนี้ ขณะที่เอกชนยังห่วงว่าจะไปไม่รอด ติงช่องโหว่หลายช่อง เกรงลงทุนไม่คุ้มค่า

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน โครงการ ดิจิทัล พาร์ค อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภายใต้การทำโครงการของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายหลัง เมื่อ วันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมาได้เปิดให้เอกชน ที่สนใจเข้าร่วมบริหารพื้นที่โครงการยื่นซองประมูล แต่กลับไม่มีใครสนใจนั้น กระทรวงดีอีได้ดำเนินการปรับเงื่อนไขใหม่แล้ว โดยได้นำร่างเงื่อนไขสัญญาเปิดเวทีให้เอกชนรับฟังอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา จากนั้นจะรวบรวมความเห็นและออกร่างสัญญาใหม่ภายในต้นเดือน ก.ค.นี้ เพื่อให้สามารถเปิดขายซองภายในเดือน ส.ค. และ เริ่ม ประมูลช่วงเดือน ต.ค.นี้

สำหรับเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่มีผู้สนใจร่วมโครงการ น่าจะมาจากการบังคับให้เอกชนจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ 3% จากรายได้ ไม่ใช่กำไร และให้บอกส่วนแบ่งที่จะจ่ายให้เท่ากันทุกปีตลอดการทำโครงการ 50 ปี จึงมองว่าเป็นตัวเลขที่มากไป ขณะเดียวกันยังบังคับให้ทำโครงการเฟสแรกแล้วเสร็จ จำนวน 90,000 ตารางเมตร ภายใน 2 ปี ซึ่งเร็วกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเสร็จภายใน 5 ปี รวมถึงค่าเช่าพื้นที่ที่ต้องจ่ายให้รัฐตั้งแต่ปีแรกด้วย

ดังนั้นจึงมีการปรับเงื่อนไขใหม่ให้มีความเหมาะสม เพราะรัฐไม่ต้องการแสวงหาผลกำไร แต่ต้องสร้างพื้นที่ให้เป็นดิจิทัล พาร์ค ตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ได้แก่ การยกเลิกส่วนแบ่งรายได้แบบคงที่ ให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ซึ่งเอกชนสามารถเสนอมาได้อย่างอิสระ อาจจะเป็น 0% ใน 5 ปีแรก และ ปีถัดๆ ไป ไม่จำเป็นต้องเท่ากันทุกปีก็ได้ โดยตัวเลขการคาดการณ์รายได้ในอนาคตเอกชนไม่ต้องกำหนดเท่ากันทุกปี และต้องจ่ายให้รัฐ 50% ของเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งรายได้ที่เสนอ

ส่วนค่าเช่า จะเว้นให้ 5 ปี และกำลังพิจารณาว่าจะแบ่งการจ่ายออกเป็น 10 หรือ 30 งวด ซึ่งค่าเช่าจะคิดในรูปแบบการเช่าแบบรัฐต่อรัฐ คือปีละ 120 บาทต่อไร่ ส่วนเรื่องการส่งมอบงานเฟสแรกจะขยายเป็น 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังตั้งข้อสังเกตถึงการขอสิทธิพิเศษ ของ กสท โทรคมนาคม ด้วยว่า จะเป็นจุดหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจเข้ามาบริหารพื้นที่หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การขอพื้นที่ 10 ไร่ ให้ กสท โทรคมนาคม โดยเอกชนต้องดำเนินการสร้างอพาร์ทเม้น 70 ห้อง ให้พนักงานของกสท โทรคมนาคม เดิม มาอยู่ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และ การสร้างใหม่ ล้วนเป็นต้นทุน แม้ว่า กสท โทรคมนาคม จะเว้นการเก็บค่าเช่าที่กับเอกชนในพื้นที่ดังกล่าวก็ตาม แต่เอกชนก็ไม่สามารถเก็บค่าเช่ากับอพาร์ทเม้นที่สร้างขึ้นได้ ไม่มีวิธีในการสร้างเม็ดเงินกลับคืนมา และ กสท โทรคมนาคม ยังใช้พื้นที่ดังกล่าวในการสร้าง ดาต้า เซ็นเตอร์ เองอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการให้สิทธิ์ กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ทำท่อร้อยสายเพียงรายเดียว และให้ผู้ให้บริการรายอื่นมาเช่าใช้, การที่มีพื้นที่อีกฝั่งหนึ่งถูกคั่นด้วยถนนมอเตอร์ เวย์ และสถานีของรถไฟความเร็วสูงอยู่ห่างจากพื้นที่ 20 นาที รวมถึงค่าเช่าที่สูงกว่านิคมอุตสาหกรรมอื่นๆรอบข้างที่เป็นการซื้อ ในขณะที่สัญญาเช่าแบบ พีพีพี ของโครงการนี้เมื่อครบสัญญา ต้องโอนทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างคืนให้รัฐ เอกชนผู้ชนะการประมูลบริหารพื้นที่อาจจะมีความยากในการเชิญชวนให้เอกชนอื่นๆ มาเช่าพื้นที

ขณะที่ปลัดดีอี ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ ดีอี ได้เดินสายโรดโชว์เชิญชวนเอกชนต่างชาติและมีความสนใจแล้วหลายบริษัทและต่อไปดีอีก็จะช่วยเอกชนที่ชนะการประมูลออกโรดโชว์ช่วยหาลูกค้าเพิ่มด้วย จึงไม่ต้องกังวลตรงจุดนี้ ส่วนเรื่องการเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง ตัวแทนจาก กสท โทรคมนาคม อธิบายเพิ่มเติมว่า กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้มีการเชื่อมต่ออย่างแน่นอน ส่วนพื้นที่ที่มีมอเตอร์ เวย์ คั่น นั้น ก็ไม่มีการระบุในเงื่อนไขสัญญาให้เสนอแผนการเชื่อมต่อ แต่อย่างใด จึงเปิดกว้างให้กับเอกชนสามารถออกแบบได้ตามความเหมาะสม ขณะที่ประเด็นการสร้างอาคารพนักงานนั้น กสท โทรคมนาคม จะนำกลับไปคิดต่อว่าจะสามารถช่วยลดหย่อนใดๆให้เอกชนได้บ้าง แต่เรื่องการทำท่อร้อยสายนั้น กสท โทรคมนาคม ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการผูกขาด แต่มีความจำเป็นต้องขุดท่อพร้อมการสร้างโครงการ และ ค่าบริการจะเป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนด อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น