ตามให้ทัน Cyberbullying ในเด็กไทย ความต่างจากชาติอื่นคือ Cyberbullying ไทยเริ่มจากเด็กไม่ชอบหน้ากันบนโลกออฟไลน์ แล้วจึงขยายผลไป “แกล้งกัน” บนโลกออนไลน์ โดยงานวิจัยล่าสุดชี้ว่า Cyberbullying ไทยเกี่ยวข้องกับการล้อปมด้อย-ล้อชื่อพ่อแม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแสนอมตะของการกลั่นแกล้งของเด็กไทยตั้งแต่ยุคไม่มีอินเทอร์เน็ต
สำหรับชาติอื่น Cyberbullying มักมีจุดเริ่มจากคนที่ไม่รู้จักกัน แต่เทคโนโลยีสร้างโอกาสให้คนที่ไม่รู้จักเหล่านี้มาร่วมหัวเราะเยาะเหยื่อผู้น่าสงสาร ปรากฏการณ์ Cyberbullying ลักษณะนี้กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล เพราะเทคโนโลยีให้อำนาจทุกคน ไม่ต้องตัวใหญ่แข็งแรงกว่า แต่แค่กด enter ก็สามารถกลั่นแกล้งคนที่ไม่ชอบได้แล้ว
จากการสำรวจของศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมมือกับดีแทค พบว่าทางแก้เร่งด่วนที่สุดของ Cyberbullying ไทยคือการคุมเหตุ “bullying ทางกาย” เพื่อดับไฟก่อนลุกลามให้ได้ ดังนั้นจึงมีการสรุป 7 ความจริงเรื่องการ “แกล้งกันของเด็กนักเรียน” ในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ไว้ดังนี้
1. คนส่วนใหญ่แกล้งคนส่วนน้อย
การแกล้งกันแบบออฟไลน์มักจะเกิดกับกลุ่มผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง คนแกล้งส่วนใหญ่เป็นพุทธ และคนอิสลามถูกแกล้งมากกว่า
ประเด็นนี้ไม่ได้แปลว่าศาสนามีผล แต่เป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็ก แปลว่าเด็กกลุ่มใหญ่กำลังแกล้งเด็กกลุ่มที่มีจำนวนน้อยกว่า เช่นเดียวกับกลุ่ม LGBT ที่เป็นคนกลุ่มเล็กกว่าและถูกแกล้งมากกว่า
2. ไม่เกี่ยวกับตัวใหญ่ ตัวเล็กอีกต่อไปแล้ว
จากการสุ่มตัวอย่างตามประชากร 1,606 ตัวอย่างที่ศึกษา ม.1-ม.6 ในเขตกทม.และปริมณฑล งานวิจัยพบว่าเด็กนักแกล้งไม่ใช่เด็กตัวใหญ่ และเด็กถูกแกล้งไม่ใช่เด็กตัวเล็กเหมือนในอดีต เพราะจากการพิจารณาค่า BMI พบว่าขนาดทางกายไม่มีความสัมพันธ์กับรูปแบบการแกล้ง
3. เกรดดีไม่ถูกแกล้ง
แต่เกรดเฉลี่ยกลับมีผลมากกว่า (เด็กเรียนเกรดดีมักไม่แกล้งและไม่ถูกแกล้ง)
ประเด็นนี้ต่างจากฐานะการเงิน ที่การสำรวจพบว่าไม่มีผลมากนัก แสดงว่าเด็กไทยไม่ว่ารวยหรือจนล้วนมีสิทธิถูกแกล้งและเป็นคนแกล้งทั้งนั้น เหตุผลอาจเป็นเพราะโรงเรียนไทยแบ่งฐานะของเด็กมาให้แล้ว เนื่องจากในเด็กต่างชาติพบว่าปัจจัยยากจน-ร่ำรวยมีผลต่อการกลั่นแกล้งมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมโรงเรียนอเมริกันประกอบด้วยนักเรียนที่มีฐานะทางการเงินต่างกัน
4. ส่วนใหญ่ถูกแกล้งในโรงเรียน
งานวิจัยพบว่าเด็กนักแกล้งจะไปแกล้งแบบรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เลือกที่คุ้นเคยเช่นห้องเรียน โดยนักเรียนกว่า 91% ตอบว่าเคยถูกแกล้ง และ 82% บอกว่าถูกรังแกในโรงเรียน
การวิจัยพบว่านักเรียนส่วนใหญ่เคยเป็นทั้งผู้แกล้งและผู้ถูกแกล้ง กลายเป็นการแลกเปลี่ยนความรุนแรงที่แพร่หลายจนทำให้ตัวเลขระหว่างเด็กที่ถูกแกล้งและเด็กนักแกล้งมีจำนวนใกล้เคียงกันมาก อีกนัยหนึ่งเรียกว่าหัวโจกไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่กระจายตัวไปทั่ว
5. เน้นเอาคืน
ในขณะที่เด็กส่วนใหญ่ที่ถูกแกล้งมักจะไม่เล่าปัญหาที่เกิดขึ้น แต่หากถามถึงความคิดของเด็กที่ยอมเล่า ส่วนใหญ่จะเลือกบอกเพื่อน รองลงมาคือบอกครู สุดท้ายคือบอกพ่อแม่ แต่ทั้งหมดเป็นการบอกเพื่อจุดประสงค์หลักคือ การเอาคืน
การสำรวจพบว่า การบอกเพื่อนมักเกิดบนจุดประสงค์คือเพื่อชวนเพื่อนไปเอาคืน เช่นเดียวกับการบอกพี่น้อง รวมถึงการบอกครูและพ่อแม่เพื่อหวังให้คนที่แกล้งถูกลงโทษคืน
ุ6. ครู และแม่แบบนี้เด็กอยากเล่าปัญหาให้ฟัง
ถือเป็นหนึ่งในจุดที่น่าสนใจที่สุดของผลงานวิจัยนี้ คือครูที่เด็กนักเรียนอยากบอกปัญหาไม่ใช่ครูที่สนิทกับเด็กเป็นพิเศษ แต่เป็น “ครูที่ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม”
เหตุผลเพราะครูที่สนิทกับเด็กบางคนเป็นพิเศษ จะทำให้เด็กรู้สึกถึงความลำเอียง ครูที่ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมจะเป็นทางออกให้เด็กมั่นใจในคำตัดสินปัญหา ซึ่งหากเด็กไม่มีครูที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก็จะทำให้เกิดการเอาคืนกันเอง
ขณะที่พ่อแม่ที่เด็กอยากเล่าปัญหา คือพ่อแม่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็ก โดยการสำรวจพบว่าเด็กที่นั่งรถไปเรียนกับพ่อแม่ มีอัตราถูกแกล้งและเป็นคนแกล้งน้อยลง
7. ทางแก้มีอยู่
กลับมาที่เรื่อง Cyberbullying นักวิชาการชี้ว่า 3 ทางแก้เร่งด่วนที่สุดของ Cyberbullying ไทยคือ 1. แก้ที่การคุมเหตุ “bullying ทางกาย” 2. การพัฒนาองค์กรที่ 3 เพื่อรับฟังและแนะแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งอาจอยู่ในรูปสายด่วนก็ได้ และ 3. การสร้างมารยาทหรือ code of conduct ที่จะกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติตัว ซึ่งเด็กก็ควรออกความเห็นร่วมได้
ในต่างประเทศ พ่อแม่ ครู และเยาวชนสามารถค้นหาข้อมูล Safe Internet เพื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย Cyberbullying และอื่นๆได้จากเว็บท่าที่รวมข้อมูลหลากหลาย ขณะที่ครูมีกฏระเบียบโรงเรียนที่แน่นอนจนทำให้การกลั่นแกล้งทางกายเกิดขึ้นได้ยาก
นอกจากนี้ พ่อแม่ไทยจะต้องเปลี่ยนทัศนคติ และยึดกฏเกณฑ์อายุผู้ใช้งานที่ Facebook กำหนดไว้เกิน 13 ปี รวมถึงหันมาใช้งานระบบความคุมอินเทอร์เน็ตของบุตรหลานให้เคร่งครัด ทั้งหมดนี้เป็นโครงสร้างที่ยังไม่ชัดในประเทศไทย และต้องเร่งสร้างความรู้ให้ทุกฝ่ายมองไปทางเดียวกันให้ได้.