สุดคึกคัก Techsauce Global Summit 2019 งานประชุมด้านเทคโนโลยีและเทศกาลความบันเทิงที่จัดขึ้นที่เซ็นทาราแกรนด์ เมื่อวันที่ 19-20 มิถุนายน 2562 ผู้จัดยิ้มหลังปิดยอดผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบเท่าตัว ตอบรับการปรับแนวทางการจัดงานและเนื้อหาที่หลากหลายเข้าถึงคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวว่าปีนี้ถือว่า Techsauce Global Summit ได้รับผลตอบรับดีเกินคาด โดยตัวเลขผู้ร่วมงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบเท่าตัวอยู่ที่ 15,000 – 20,000 คน มีสตาร์ทอัพมาร่วมงานกว่า 500 บริษัท และมาออกบูธ 126 บูธ ซึ่งที่น่ายินดีกว่ายอดจำนวนคนเข้างาน คือการได้เห็นว่ามีคนหลากวัย หลากกลุ่มเข้ามาร่วมงานมากขึ้น
“เราได้เห็นตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ ที่มากับพ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กนักเรียน นักศึกษา ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีและเรื่องราวในงานนี้ ไม่ได้มีแค่สตาร์ทอัพและคนในแวดวงอุตสาหกรรมไอที แสดงถึงการตื่นตัวต่อการที่เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก โดยทั้ง 13 เวทีตลอด 2 วันของการจัดงานก็ได้รับความสนใจมากทุกเวที”
สำหรับงาน Techsauce Global Summit ที่จบไปแล้วเมื่อ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เนื้อหางานให้ความสนใจกับเรื่องผลกระทบทางสังคมและการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสังคม โดยประเด็นการเสวนาที่เป็นไฮไลท์มีทั้งเรื่องการศึกษา (เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้ของเราอย่างไร, การสอนให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง) โดยปีนี้เหล่า CEO รุ่นเยาว์มาแชร์ประสบการณ์ด้วย คาดว่าจะเป็นแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับคนรุ่นใหม่ถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อนำพาโลกไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิมได้
ยังมีการเสวนาในประเด็น การนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและวิธีใช้ข้อมูล (Data) ในการเปลี่ยนแปลงเมืองที่เราอาศัยอยู่ การนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาเกี่ยวกับพลังงานสะอาด ทั้งหมดนี้ผู้จัดหวังว่างาน Techsauce จะสามารถให้คำตอบหรือแนวทางที่ช่วยให้คนสามารถอยู่ร่วมกับโลกได้ดีต่อไป
ด้านอมฤต เจริญพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ฮับบ้า ไทยแลนด์ กล่าวว่า Techsauce Global Summit มีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงนวัตกรรม เทคโนโลยี ผู้ประกอบการ และคนทั่วโลกเข้าด้วยกัน ซึ่งในปีนี้บริษัทได้เริ่มเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นแล้ว เพราะมีกลุ่มก้อนในวงการจากทั่วทุกมุมโลกมารวมกันอยู่ที่งานกว่า 50 ประเทศ
“ปีนี้กิจกรรม Techsauce Global Summit Pitch Championship 2019 ได้กลับมาอีกครั้ง และคึกคักมากขึ้น โดยเราได้ผู้ชนะคือ ทีม Medlink Investment จากกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้เงินรางวัล 1 ล้านบาทไป และยังคว้ารางวัลพิเศษจากพันธมิตรเราไปด้วย โดย Medlink เป็นแพลตฟอร์มสื่อกลางระหว่างบริษัทยาและร้านขายยาเข้าด้วยกันโดยตรง เพื่อช่วยลดต้นทุนการจัดจำหน่ายสำหรับบริษัทยา และเพิ่มยอดขายอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ร้านขายยา โดยคาดว่าในอนาคตจะมีการขยายวงกว้างออกไปมากยิ่งขึ้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่นำเอาเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงเพื่อนบ้านเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งดีๆ ระหว่างกัน”
รายชื่อวิทยากรชั้นนำที่มาร่วมงานนี้ล้วนไม่ธรรมดา เช่น มาร์ติน ฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ Rise of the Robots ที่ได้ปาฐกถาในหัวข้อ “The Coming Disruption: What Everyone Must Know About AI and Robotics” ซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่คนควรรู้เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ (Robotics) ว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของการทำธุรกิจ เรากำลังมุ่งสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (disruption) ซึ่งเป็นยุคใหม่ที่สิ่งต่างๆ ดำเนินไปด้วยกฎเกณฑ์ที่แตกต่างจากเดิม AI จะทำให้หลายอาชีพหายไปเพราะเทคโนโลยี แต่ก็จะมีอาชีพใหม่ๆ ที่เรานึกไม่ถึงเกิดขึ้นด้วย โดยสิ่งที่น่าสังเกตคือ หุ่นยนต์มักจะถูกนำมาใช้ในการทำงานที่ต้องทำเหมือนเดิมซ้ำๆ อย่างงานที่ใช้แรงงาน (blue-collar jobs) และเริ่มแพร่ขยายมาถึงงานในสำนักงาน (white-collar jobs)
“ดังนั้นคนรุ่นต่อไปต้องหลีกเลี่ยงงานที่ทำซ้ำๆ และคาดเดาได้ แล้วหันไปเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ อาชีพที่เสนอขายไอเดียใหม่ๆ รวมถึงอาชีพเกี่ยวกับการสานสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ จากแนวโน้มในปัจจุบัน มีคนจำนวนมากที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เราจึงจำเป็นต้องร่วมกันคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างสังคมที่ดีสำหรับทุกคน เราไม่ต้องการทิ้งศักยภาพมหาศาลของ AI ที่จะช่วยให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นต้องหารือกันอย่างเปิดเผยว่าเราจะใช้ AI อย่างไรเพื่อสร้างสังคมที่เอื้ออำนวยต่อทุกภาคส่วน”
อีกหนึ่งไฮไลท์สปีกเกอร์ในวันที่ 2 ของการจัดงานคือ ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ซึ่งเป็นอดีตแฮกเกอร์สาวข้ามเพศอัจฉริยะ ที่พร้อมขับเคลื่อนประชาธิปไตยโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย โดยเธอได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “Giving Voices the Power to Change Nations: AI, Democracy, and Social Listening” ซึ่งแบ่งปันเรื่องราวในฐานะรัฐมนตรีดิจิทัล ที่มีสำนักงานเปิดที่ทุกคนสามารถเข้ามาพูดคุยกับเธอได้ โดยมีเงื่อนไขว่าบทสนทนาจะถูกจัดทำเป็นเอกสารและเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดเป็นการแบ่งปันความคิดและนำไปสู่โครงการนำร่อง โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเป็นธรรม และทำให้เห็นถึงการทำงานของเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์
นอกจากนั้นเธอยังพูดถึง sandbox.org.tw เป็นแพลตฟอร์มที่อนุญาตให้ชาวไต้หวันแสดงความคิดเห็นและนำไปใช้จริง เพื่อดูว่าดีกว่าแนวคิดที่มีอยู่เดิมหรือไม่ หากความคิดนั้นๆได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำงานได้จริงมันจะกลายเป็นข้อบังคับใหม่ แต่ถ้ามันล้มเหลวมันเป็นประสบการณ์การเรียนรู้
ออเดรย์ ยังกล่าวในงานด้วยว่า “ประชาชนไม่จำเป็นต้องไว้ใจรัฐบาล รัฐบาลต่างหากที่ต้องไว้ใจประชาชน และประชาชนควรไว้ใจซึ่งกันและกัน” รมต. ดีอีคนใหม่ทราบแล้วเปลี่ยน.