กสทช. เผยผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เข้ามายื่นขอคืนหนังสือค้ำประกันการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 แล้ว 14 ช่อง ภายในวันแรกที่เปิดให้ยื่น
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.ได้เปิดให้ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสามารถขอคืนหนังสือค้ำประกันการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต (แบงก์การันตี) เป็นวันแรก
ต่อเนื่องจากวันที่ 29 พ.ค.2562 ที่สำนักงาน กสทช.ประกาศหลักเกณฑ์การคืนหนังสือค้ำประกันการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 11 เม.ย.2562
โดยในวันแรกมีผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลมาขอคืนแบงก์การันตีงวดที่ 5 และ 6 จำนวน 14 ช่อง ได้แก่ ช่องความคมชัดสูง (HD) ได้แก่ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 33) จำนวน 864 ล้านบาท, บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 35) จำนวน 796 ล้านบาท และ บริษัท จีเอ็มเอ็มวันทีวี จำกัด (ช่อง 31) จำนวน 774 ล้านบาท
ส่วนช่องความคมชัดปกติ (SD) ได้แก่ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (ช่อง 24) จำนวน 828 ล้านบาท, บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (ช่อง 25) จำนวน 817 ล้านบาท, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 28) จำนวน 811 ล้านบาท, บริษัท อาร์ เอส เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง 27) จำนวน 806 ล้านบาท, บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด (ช่อง 29) จำนวน 800 ล้านบาท, บริษัท สปริง 26 จำกัด (ช่อง 26) จำนวน 778 ล้านบาท
ขณะที่ช่องข่าวสารและสาระ ได้แก่ บริษัท เอ็นบีซี เน็คซ์วิชั่น จำกัด (ช่อง 22) จำนวน 478 ล้านบาท, บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง 19) จำนวน 469 ล้านบาท, บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด (ช่อง 16) จำนวน 469 ล้านบาท และบริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด (ช่อง 18) จำนวน 466 ล้านบาท รวมทั้งช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้แก่ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 13) จำนวน 225 ล้าน รวมทั้งสิ้น 9,381 ล้านบาท
“หลังจากที่ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลยื่นเอกสารขอคืนแบงก์การันตี ต่อสำนักงาน กสทช.จะเร่งตรวจสอบเอกสาร และพร้อมคืนแบงก์การันตีให้ โดยขณะนี้ได้คืนแบงก์การันตีไปแล้ว 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 31, ช่อง 25 และช่อง 27 ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการแจ้งให้มารับคืน”