xs
xsm
sm
md
lg

AIS ชวนสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอไอเอสประกาศภารกิจ 'อุ่นใจไซเบอร์' สำหรับเยาวชน สร้างสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืนผ่านแนวคิด 'ถ้าเราทุกคน คือเครือข่าย' หลังพบว่าโลกดิจิทัลเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องใช้อยู่ทุกวัน ใช้วันละหลายชั่วโมง โดยเฉพาะเรื่องของโซเชียล มีเดีย และเกม แต่จะทำอย่างไรให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีจิตสำนึกที่ดีในการใช้สื่อดิจิทัลร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงต่อคนรอบข้างและสังคมหรือเด็กไทยบางคนอาจกลายเป็นโรค 'เสพติดเกม'

เพื่อให้เป็นการทำธุรกิจที่ยั่งยืน แค่เป้าหมายแสวงหารายได้หรือกำไรสูงสุด สร้างความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้น แค่นั้นไม่พอแต่ต้องหันหลังกลับมองดูถึงสิ่งที่ทำว่าสร้างผลกระทบให้เกิดอะไรขึ้นบ้างหรือไม่

'ความฝันของผมที่มีมาโดยตลอดคือการต่อยอดงานที่เราทำอยู่ในทุกวันนี้ให้มีประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นจากผลทางธุรกิจที่ได้มา เราต้องยอมรับว่าการมาของดิจิทัล ให้ผลทั้งด้านบวกและด้านลบ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะรู้เท่าทันและใช้ประโยชน์ของดิจิทัลให้ถูกที่ ถูกทาง โดยไม่ยอมตกเป็นทาสของเทคโนโลยีหรือไม่ ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดิจิทัลมากที่สุด และถือได้ว่าเราเป็นกลุ่มที่รู้เท่าทันเทคโนโลยีมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง วันนี้เราได้ประกาศโครงการชื่อ อุ่นใจ ไซเบอร์ ที่จะชวนคนไทยมาร่วมกันรณรงค์ ปลูกฝังจิตสำนึกการใช้ดิจิทัล หรือ ออนไลน์ ให้เหมาะสมโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ที่ว่ากันว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคเสพติดออนไลน์ได้ง่ายๆ' ความในใจของ สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส

สมชัย กล่าวว่าในปี 2561 เยาวชนไทยอายุระหว่าง 8 – 12 ปี มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 3 ชั่วโมง อีกทั้งยังค้นพบว่าเด็กไทยขาดทักษะในการใช้งานดิจิทัลอย่างชาญฉลาดทำให้เสี่ยงได้รับภัยอันตรายที่แฝงมากับอินเทอร์เน็ตใน 4 รูปแบบ คือ การถูกกลั่นแกล้งออนไลน์(Cyberbullying) ,การเข้าถึงสื่อลามก, การติดเกม และการถูกหลอกให้พบกับคนแปลกหน้า

เอไอเอส ต้องการผลักดันการสร้างสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิด'ถ้าเราทุกคน คือเครือข่าย' ด้วยโครงการ 'อุ่นใจไซเบอร์' นี้ มีเป้าหมายในการสร้างภูมิคุ้มกัน รณรงค์ ปลูกจิตสำนึก และสร้างเครื่องมือคัดกรองคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมจากโลกดิจิทัลโดยเน้นใน 2 ด้าน คือ มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างทักษะทาง Digital (Educator) เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะเพื่อให้ใช้ดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน และ ป้องกัน (Protector) ความเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่าน Digital Solutions ประกอบด้วย

1.การยกระดับมาตรฐานความรู้เท่าทันดิจิทัล ด้วย DQ (Digital Quotient) เอไอเอสได้นำเข้า DQ ชุดการเรียนรู้ 360 องศา เพื่อพัฒนาทักษะและความฉลาดทางดิจิทัล DQ ครบทั้ง 8 ทักษะ ให้กับเด็กๆ สร้างภูมิคุ้มกันในการก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างมีไหวพริบ รู้จักวางตัวอย่างเหมาะสมกับคนแปลกหน้า และใช้มือถือ แท็บเล็ต อย่างฉลาด ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ชุดการเรียนรู้นี้ได้รับการยอมรับและมีการนำไปฝึกทักษะให้กับเด็กๆ มากกว่า 110 ประเทศทั่วโลก แปลถึง 21 ภาษา จาก 100 พาร์ทเนอร์

ขณะนี้ได้เริ่มขยายผลการสร้างทักษะความฉลาดทางดิจิทัล DQไปสู่ภาคการศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงเปิด พอร์ทัล ศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับคนไทยทุกคน ที่โรงเรียน หรือ สถาบันที่ทำงานเพื่อพัฒนาเยาวชนต่างๆ สามารถเข้ามาใช้งานได้แล้ววันนี้ที่ www.ais.co.th/dq

***ต้องรู้เท่าทันสื่อ-ใกล้ชิดเด็ก

ร.ศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่าผู้ปกครอง ต้องใกล้ชิดและดูแลบุตรหลานในการเสพสื่อดิจิทัลให้ดี เพราะหากเสพอย่างเหมาะสมก็จะเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ แต่หากใช้ไม่เหมาะสม เสพมากเกินไป และเลือกเนื้อหาไม่เหมาะสมก็จะเป็นโทษ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นโรค 'เสพติดเกม' โดยสังเกตได้ง่ายๆ 3 ประการ คือ 1.เล่นจนไม่ยอมกินอาหาร ไม่อาบน้ำ หรือ ไม่นอน 2.จำนวนเวลาในการเล่นต่อวันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากปกติที่เคยเล่น และ 3.ถ้าไม่ได้เล่นจะเกิดอาการลงแดง ถึงขั้นทำร้ายพ่อ แม่ ซึ่งเด็กที่มีอาการดังกล่าวจะมีอาการแตกต่างกัน กลายเป็นเด็ก 4 สายพันธุ์ คือ 1.ชอบใช้ความรุนแรง 2.มีอาการหวาดผวา 3.ลดความเมตตาลง และ 4. เห็นความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ

ขณะที่ วรนาท รักสกุลไทย ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาปฐมวัย และ ผู้อำนวยการแผนกอนุบาล โรงเรียนเกษมพิทยา กล่าวว่า ต้องใช้สื่อโซเชียลให้เป็น Tool ไม่ใช่ Toy ซึ่งการจะใช้เป็น Tool ได้นั้น ต้องใช้งานร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อแนะนำ ให้คำปรึกษา และหลักการนี้ควรยึดไว้ใช้กับลูกหลานจนถึงตอนโตด้วย

ด้านวิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ กรรมการบริหาร ซูเปอร์จิ๋ว กล่าวว่า มีความร่วมมือในการขยายการทำแบบทดสอบ DQ ด้วยการส่งอีเมล 5,000 ฉบับ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการโทรศัพท์ไปยัง1,000 โรงเรียน และ การเดินทางไปสอบถามโดยตรง 200 โรงเรียน ขณะเดียวกันก็จะทำคอนเทนต์ DQ นี้ เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง ผู้ปกครอง เด็ก และ ครู เพื่อให้รับรู้ถึงการทำ DQ ตามเป้า 100,000 คน ให้ได้

สำหรับหลักสูตร DQ เป็นชุดการเรียนรู้ 360 องศา เพื่อพัฒนาทักษะและความฉลาดทางดิจิทัล ครบทั้ง 8 ทักษะ สำหรับเด็กวัย 8-12 ปี จัดทำโดยทีมงานนักวิชาการจาก Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์

หลักสูตร DQ ประกอบด้วย 8 ทักษะดิจิทัลสำคัญ ได้แก่ 1.Digital Identity (อัตลักษณ์ออนไลน์), 2.Digital Use (ยับยั้งชั่งใจ), 3. Digital Safety (เมื่อถูกรังแกออนไลน์), 4. Digital Security (ท่องเน็ตอย่างปลอดภัย), 5. Digital Emotional Intelligence (ใจเขา-ใจเรา), 6. Digital Communication (รู้ถึงผลที่จะตามมา), 7. Digital Literacy (คิดเป็น), และ 8. Digital Rights (รู้สิทธิและความเป็นส่วนตัว)

หลักสูตร DQ จะมีโปรแกรมที่เกี่ยวข้อง 2 ส่วน ส่วนแรกคือ DQTest.org เป็นแบบสอบถามพฤติกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต ส่วนที่ 2 คือ DQWorld.net เป็นสาระความรู้เพื่อเพิ่มทักษะและความฉลาดด้านดิจิทัล มีวิธีการทำงาน คือ1.ผู้ใช้งานจะต้องลงทะเบียนที่เว็บไซต์ www.dqtest.org เพื่อทำแบบสอบถามออนไลน์จำนวน 55 ข้อ ใช้เวลาทำประมาณ 30 นาที

2.คำตอบของผู้ใช้งานจะถูกส่งออนไลน์ไปวิเคราะห์โดยระบบ DQTest ที่สิงคโปร์ ผลวิเคราะห์จะถูกส่งกลับมาให้ผู้ปกครอง / โรงเรียน ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าผู้ใช้งานหรือนักเรียนคนนั้นมีจุดอ่อนอะไรใน 8 ทักษะ เพื่อเสริมทักษะและความรู้ในด้านนั้น

3.เมื่อผ่านการทำ Pretest แล้ว ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปทำแบบฝึกหัดในเว็บไซต์ DQWorld.net โดยจะได้สนุกกับการเล่นเกมผ่านด่านต่างๆ แต่ละด่านเป็นการทดสอบ digital skill ด้านต่างๆ ทั้งหมด 8 ด้าน

4.ผู้ใช้งานทำแบบฝึกหัด (เล่นเกม) วันละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3-4 วัน จะสามารถเรียนจบคอร์สภายใน 2 สัปดาห์ ผู้ใช้งานสามารถทำแบบฝึกหัดด้วยตัวเองที่บ้าน โดยผู้ปกครองหรือคุณครูสามารถเข้าไปดูในระบบได้ว่าบุตรหลาน หรือนักเรียนได้ทำแบบฝึกหัดแล้วหรือไม่ รวมถึงสามารถบอกให้บุตรหลานหรือนักเรียนคนนั้นให้เร่งมือทำ

5.เมื่อผู้ใช้งานเล่นครบทุกด่านแล้ว ระบบ DQ World จะให้คะแนนทักษะด้านดิจิทัลทั้ง 8 ด้าน แล้วส่งใบคะแนนมาให้ผู้ปกครองหรือคุณครูดูผลคะแนน เพื่อเปรียบเทียบคะแนนของนักเรียนคนนั้นกับค่าเฉลี่ยของนักเรียนไทยทั้งประเทศและของนักเรียนทั่วโลก โดยเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 100 คะแนน

6.ในกรณีเด็กติดเกมหรือเคยโพสต์ข้อความรุนแรงกลั่นแกล้งผู้อื่นทางสื่อโซเชียล สถาบัน DQ จะแนะนำเด็กคนนั้นให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อเข้าโปรแกรมบำบัดรักษาก่อนจะกลับมาทำประเมินอีกครั้ง

'เราคงไม่ได้บอกว่าเราจะเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด แต่พวกเราขออาสาเป็นแกนกลาง ในการเริ่มต้น และชวนทุกคนมาร่วมเป็นเครือข่าย บอกต่อ เพื่อช่วยกันปลูกจิตสำนึกเยาวชนไทยให้รู้ทันและเข้าใจการใช้ดิจิทัลอย่างเหมาะสม' สมชัย กล่าวทิ้งท้าย





กำลังโหลดความคิดเห็น