xs
xsm
sm
md
lg

Cyberbullying ไทยไม่เหมือนชาติอื่น ดีแทคงัด Safe Internet หลักสูตรออนไลน์ช่วยเด็ก 5 หมื่นรายใน 1 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ และ อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์
งานวิจัยชี้การกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyberbullying) ไทยเริ่มที่โลกออฟไลน์ พบการสร้างเรื่องโกหก-ล้อปมด้อย-ล้อชื่อพ่อแม่ เป็นจุดเริ่มต้นของการกลั่นแกล้งออนไลน์ในเด็กไทย ต่างจากชาติอื่นที่ Cyberbullying มักมีจุดเริ่มจากคนที่ไม่รู้จักกัน นักวิชาการแนะทางแก้เร่งด่วนที่สุดคือการคุมเหตุ “bullying ทางกาย” เพื่อดับไฟก่อนลุกลามให้ได้ ด้านดีแทคพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet หวังสร้างภูมิดิจิทัลให้เยาวชน ครู และผู้ปกครองผ่านเกม คลังศัพท์ และแบบฝึกหัด ตั้งเป้าเข้าถึงนักเรียนวัย 5-16 ปีจำนวน 5 หมื่นรายได้ภายใน 1 ปี


ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยการแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ซึ่งดีแทคเป็นผู้สนับสนุนหลักว่าเป็นงานวิจัยที่ทำให้เห็นรูปแบบการแกล้งกันในเด็กไทยที่ไม่เคยมีการสรุปให้แน่ชัดอย่างเป็นทางการ ทำให้ไม่มีการแก้ไขที่ตรงจุดจนอาจเกิดเป็นปัญหาสังคม รูปแบบที่พบคือการเริ่มจากการแกล้งทางวาจา ก่อนจะขยายไปทางกาย แล้วจึงพัฒนาเป็น Cyberbullying ซึ่งการจะหยุดทั้งหมดต้องเริ่มจากวาจาก่อน

“ถ้าในโลกจริงไม่ถูกกัน บนไซเบอร์ก็จะไม่ชอบกัน Cyberbullying ของไทยเกี่ยวพันกันกับออฟไลน์มาก ผู้ชายจะโดนมากกว่า คนแกล้งส่วนใหญ่เป็นพุทธ และคนอิสลามถูกแกล้งมากกว่า ประเด็นนี้ไม่ได้แปลว่าศาสนามีผล แต่เป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็ก แปลว่าเด็กกลุ่มใหญ่กำลังแกล้งเด็กกลุ่มน้อยกว่า เช่นเดียวกับกลุ่ม LGBT ที่เป็นคนกลุ่มเล็กกว่าและถูกแกล้งมากกว่า”

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์
จากการสุ่มตัวอย่างตามประชากร 1,606 ตัวอย่างที่ศึกษา ม.1-ม.6 ในเขตกทม.และปริมณฑล งานวิจัยพบว่าเด็กนักแกล้งไม่ใช่เด็กตัวใหญ่ และเด็กถูกแกล้งไม่ใช่เด็กตัวเล็กเหมือนในอดีต เพราะจากการพิจารณาค่า BMI พบว่าขนาดทางกายไม่มีความสัมพันธ์กับรูปแบบการแกล้ง แต่เกรดเฉลี่ยกลับมีผลมากกว่า (เด็กเรียนเกรดดีมักไม่แกล้งและไม่ถูกแกล้ง) เช่นเดียวกับฐานะที่ไม่มีผล ต่างกับต่างชาติที่พบว่าปัจจัยยากจน-ร่ำรวยมีผลต่อการกลั่นแกล้งมาก เหตุผลอาจเป็นเพราะโรงเรียนไทยแบ่งฐานะของเด็กมาให้แล้ว

ส่วนใหญ่ถูกแกล้งในโรงเรียน

งานวิจัยพบว่าเด็กนักแกล้งจะไปแบบรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เลือกที่คุ้นเคยเช่นห้องเรียน โดยนักเรียนกว่า 91% ตอบว่าเคยถูกแกล้ง และ 82% บอกว่าถูกรังแกในโรงเรียน

“นร. ส่วนใหญ่เคยทำ และเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นการแลกเปลี่ยนความรุนแรง เราพบว่าตัวเลขใกล้กันมากระหว่างคนที่ถูกแกล้งและคนแกล้ง เรียกว่าหัวโจกไม่ได้กระจุกตัวไม่กี่คนอีกต่อไปแล้ว แต่กระจายตัว”

การแกล้งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือล้อชื่อพ่อแม่ ส่วนใหญ่คนถูกแกล้งมักจะไม่เล่าปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่คนที่ยอมเล่า ส่วนใหญ่จะเลือกบอกเพื่อนเพื่อไปเอาคืน รองลงมาคือการบอกพี่น้อง, ครู และพ่อแม่ ทั้งหมดคือจุดประสงค์เพื่อเอาคืน

จุดที่น่าสนใจของผลงานวิจัยนี้ คือครูที่เด็กนักเรียนอยากบอกปัญหาไม่ใช่ครูที่สนิทกับเด็กบางคนเป็นพิเศษ แต่เป็น “ครูที่ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม” เพราะเด็กจะรู้สึกถึงความลำเอียง ขณะที่พ่อแม่ที่เด็กอยากเล่าปัญหา คือพ่อแม่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็ก โดยการสำรวจพบว่าเด็กที่นั่งรถไปเรียนกับพ่อแม่ ถูกแกล้งและเป็นคนแกล้งน้อยลง

“ส่วนใหญ่บอกว่าถ้าโดนทำก็ควรทำคืน แต่ถ้าไปแกล้งเค้าไม่ควรโดน สิ่งที่เห็นชัดคือวัฒนธรรมรวมกลุ่ม เป็นพรรคพวก เพื่อนฉันกลุ่มฉันต้องไปช่วย ทั้งหมดนี้บอกภาพใหญ่ของวัฒนธรรมในสังคมไทยเช่นเรื่องบุญคุณที่อีกด้านคือการแก้แค้น นำไปสู่การเอาคืนที่รุนแรงขึ้น ยังมีวัฒนธรรมลำเอียง เช่นครูลำเอียง ไทยอาจต้องมีองค์กรที่ 3 ที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะการไม่มีองค์กรนี้ ทำให้เกิดการเอาคืนกันเอง”


ที่สำคัญคือวัฒนธรรมการพูดเสียดสี จุดนี้ต่างจาก Cyberbullying ในต่างประเทศ ที่มักเกิดขึ้นระหว่างคนที่ไม่รู้จักกัน แต่เทคโนโลยีสร้างโอกาสให้คนไม่รู้จักมาร่วมหัวเราะเยาะ ขณะที่คนไทยที่เกี่ยวข้องกับ Cyberbullying มักรู้จักกันมาก่อน และขยายผลสู่การรังแกทางไซเบอร์ ซึ่งกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะเทคโนโลยีให้อำนาจทุกคน ไม่ต้องตัวใหญ่แข็งแรงกว่า แค่กด enter ก็สามารถกลั่นแกล้งคนที่ไม่ชอบได้

ทางแก้เร่งด่วนที่สุดของ Cyberbullying ไทยคือแก้ที่การคุมเหตุ “bullying ทางกาย” ร่วมกับการพัฒนาองค์กรที่ 3 เพื่อรับฟังและแนะแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งอาจอยู่ในรูปสายด่วนก็ได้ ที่สำคัญคือการสร้างมารยาทหรือ code of conduct ที่จะกำหนดเป็นแนวทาง ซึ่งเด็กก็ควรออกความเห็นร่วมได้

ดีแทคอัดงบ 30% ของ CSR

งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานต้าน Cyberbullying ภายใต้โครงการอินเทอร์เน็ตปลอดภัยหรือ dtac Safe Internet ที่ดีแทคทำมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 บนสัดส่วนงบประมาณ 30% ของทุนทำ CSR ทุกปี เหตุผลของโครงการนี้คือการตระหนักว่าดีแทคก็เป็นส่วนหนึ่งของการก่อปัญหานี้ แถมลูกค้าเกิน 20% ของฐานรวมลูกค้าดีแทค 20 ล้านรายยังเป็นเยาวชน จุดนี้ผู้บริหารยอมรับว่าท้ายสุดจะมีโปรดักส์หรือแพคเกจบริการโทรศัพท์มือถือออกมาสำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 13 ปีในอนาคต แต่ในขณะนี้บริษัทต้องการให้ความรู้ผ่านหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet ก่อน คาดว่าจะเข้าถึงเด็กไทย 5 หมื่นรายได้ภายใน มิ.ย. 63
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่าจากการเน้นสร้างการรับรู้เรื่อง Cyberbullying และการสร้างคู่มือพ่อแม่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ดีแทคจะทำบทเรียนออนไลน์ซึ่งจะเปิดให้บริการพร้อมกันใน 13 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้เด็กตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไปทราบว่าหากเกิดปัญหาจะต้องรับมืออย่างไร ซึ่งไม่เพียงแนวทางช่วยเหลือตัวเอง หลักสูตรนี้ยังมีแนวทางช่วยเหลือคนอื่น มีคู่มือครู และเมื่อเด็กผ่านทดสอบไปแล้ว 6 เดือน ก็จะกลับมาประเมินกันใหม่

“แม้จะยังไม่ใช่บทเรียนที่ดีที่สุด แต่เราก็จะพัฒนาต่อเนื่อง เชื่อว่าใน 2 ปีจากนี้จะมีการพัฒนาคลังความรู้อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ซึ่งนอกจากหน้าที่พลเมืองที่นักเรียนต้องเรียน ยังมีหน้าที่พลเมืองไซเบอร์ที่เยาวชนควรรู้ด้วย” โดยหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet เปิดให้บริการแล้วผ่านเว็บไซต์ www.safeinternetforkid.com

อรอุมาทิ้งท้ายว่าการสร้าง Safe Internet นั้นจะเกิดได้เมื่อทุกฝ่ายในประเทศร่วมแรงทำพร้อมกัน ทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ เอกชน และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยในต่างประเทศ พ่อแม่ ครู และเยาวชนสามารถค้นหาข้อมูล Safe Internet ได้จากเว็บท่าที่รวมข้อมูลหลากหลาย ขณะที่ครูมีกฏระเบียบโรงเรียนที่แน่นอนจนทำให้การกลั่นแกล้งทางกายเกิดขึ้นได้ยาก กลายเป็น code of conduct ที่ใช้การได้ผล แต่สำหรับไทย ยังมีปัญหาเรื่องทัศนคติของพ่อแม่ไทยที่ไม่เคร่งครัดในกฏเกณฑ์อายุผู้ใช้งาน Facebook ต่ำกว่า 13 ปี และหลายคนไม่ใช้งานระบบควบคุมอินเทอร์เน็ตของบุตรหลาน ทั้งหมดนี้เป็นโครงสร้างที่ยังไม่ชัดในประเทศไทย และต้องเร่งสร้างความรู้ให้ทุกฝ่ายมองไปทางเดียวกัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น