xs
xsm
sm
md
lg

ดีป้าเตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ปั้นคนดิจิทัลสู่ตลาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์
ดีป้า เผยผลสำรวจ 7 เทรนด์เทคโนโลยี ตอกย้ำแผนดีป้ามาถูกทาง เร่งปั้น 84 หลักสูตรรับแรงงานเทคโนโลยีขาดแคลน ด้วยการจับมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาสร้างบุคลากร 40,000 คนต่อปี ภายใน 2 ปี เตรียมเสนอแผนต่อรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อเริ่มทันทีภายในปีงบประมาณนี้

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทล (ดีป้า) กล่าวว่า ดีป้า ได้ร่วมกับ บริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซิลลิวัน (ไทยแลนด์) จำกัด คาดการณ์เทคโนโลยีของประเทศในระยะ 5 ปี 10 ปี และ 15 ปี พบว่า ประเทศไทยควรมุ่งเน้น 7 เทคโนโลยี ได้แก่ IoT,AI,การวิเคราะห์ข้อมูล,5G แอปพลิเคชัน , บล็อกเชน ,ระบบอัตโนมัติ และการประมวลผลควอนตัม ซึ่งใน 5 ปีแรก ตั้งแต่ปี 2563-2568 และ 10 ปี 15 ปี ประเทศไทยควรมุ่งเน้นใน 6 เรื่องแรกก่อน ส่วนเรื่องการประมวลผลควอนตัมเป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึงในระยะ 5 ปี แรก แต่ในระยะ 10 และ 15 ปี เมื่อเข้าสู่ยุค 6G จำเป็นต้องมุ่งเน้นด้วย

นายณัฐพล กล่าวว่า ผลสำรวจที่ได้ เป็นการตอกย้ำว่าแผนการเดินหน้าพัฒนาประเทศของดีป้า เดินมาถูกทางไม่ว่าจะเป็นการตั้งสถาบัน IoT ,สถาบันAI และ สถาบันบิ๊ก ดาต้า ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลังจากเทรนด์เทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้นคือ การขาดแคลนบุคลากรเฉพาะด้าน ซึ่งปัจจุบันพบว่าแม้ว่าจะมีคนที่จบการศึกษาในภาควิชาเทคโนโลยีและสาขาที่เกี่ยวข้องปีละ 20,000 คนก็จริง แต่กลับเข้ามาทำงานอยู่ในสายเพียง 13,000 คน ขณะที่อุตสาหกรรมเอง ต้องการอยู่ที่ปีละ 40,000 คน

บทบาทหน้าที่ของดีป้าที่สำคัญคือการพัฒนากำลังคน โดยดีป้าได้เสนอแผนในการสร้างคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายกฯเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ที่ต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ตนเองจึงจะนำเรื่องนี้เสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่เพื่อให้ทำงานอย่างต่อเนื่องและเริ่มได้ภายในปีนี้ โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมได้ปีละ 40,000 คน ภายใน 2 ปี

สำหรับแผนการทำงานนั้น ดีป้าได้เจรจากับภาคเอกชน เช่น ไมโครซอฟท์ กูเกิล หัวเว่ย และซิสโก้ แล้ว ในการรวบรวมหลักสูตรที่แต่ละบริษัทมีมาสรุปเป็น 84 หลักสูตร จากนั้นจะเจรจาร่วมกับสถาบันการศึกษาในการนำหลักสูตรไปสอน โดยบุคลากรจาก บริษัทเอกชน ต่างประเทศ และ อาจารย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาแล้ว เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเรียนและนำวุฒิบัตรรับรองการศึกษาไปสมัครงานกับเอกชนที่ขาดแคลนแรงงานได้

ทั้งนี้บุคลากรที่ได้ จะมาจาก 3 ส่วน คือ 1.การอัป สกิล จากคนทำงานอยู่ก่อนแล้ว ให้มีทักษะเพิ่มเติมและเป็นประโยชน์ต่อบริษัท โดยบริษัทที่ส่งบุคลากรของตนเองมาอบรมจะต้องได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้น 2. การ รี สกิล สำหรับนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ปีสอง มีความรู้พื้นฐานใกล้เคียงและต้องการเพิ่มทักษะให้ตรงกับตลาดแรงงานที่ขาด ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนเพิ่มจากหลักสูตรเดิม ตรงนี้ใช้เวลา 2 ปี และ 3. นิว สกิล คือการสร้างนักศึกษาให้เรียนในสายที่ขาดแคลนตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งรัฐบาลต้องมีส่วนในการสนับสนุนเงินทุนร่วมกับเอกชนด้วย เพื่อจูงใจให้มีคนมาเรียน


กำลังโหลดความคิดเห็น