หลังจากปักธงในตลาดไทยกว่า 30 ปี คิวเอดี (QAD) ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการในภาคอุตสาหกรรมหรือ ERP เตรียมแผนโปรโมทระบบ ERP บนคลาวด์อย่างเต็มที่ในปีนี้ หวังบุกตลาด ให้เข้มข้นกว่าเดิมทั้งเสริมแกร่งฐานลูกค้าเก่าและหาลูกค้าใหม่ มั่นใจความหวังชัดเพราะตลาดงานเปลี่ยน ERP จากระบบเก่าขึ้นคลาวด์นั้นเติบโต 30% ต่อปีทั่วโลก ทำให้ QAD วาดฝันว่าจะดันยอดการเติบโตได้ในระดับเดียวกัน
แอนตัน ชิลตัน (Anton Chilton) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร QAD ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเดินทางมาเยี่ยมลูกค้าไทย ก่อนไปร่วมเปิดตัวคลาวด์เซ็นเตอร์แห่งใหม่ของ QAD ในเซี่ยงไฮ้ ว่าไทยเป็นตลาดที่ QAD มองเห็นโอกาสเติบโตสูงมาก ทำให้บริษัทเพิ่มการลงทุนจากปีที่ผ่านมา โดยจะเน้นที่การวิจัยและพัฒนา ร่วมกับการยกระดับทีมขายและฝ่ายการตลาด เพื่อให้สามารถโฟกัสที่กลุ่มลูกค้าซึ่งต้องการใช้ ERP (Enterprise Resource Planning) บนคลาวด์มากขึ้น
“ที่ผ่านมาภาคการผลิตส่วนใหญ่ใช้ ERP บนเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง แต่ขณะนี้เห็นการใช้บนคลาวด์มากขึ้น อัตราเติบโตเฉลี่ยในธุรกิจทั่วโลกเกิน 30% ต่อปี QAD คาดว่าจะทำได้ตามนั้น และไทยก็จะมีแนวโน้มเติบโตในทิศทางนี้ เป็นแผนธุรกิจของ QAD ในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้” แอนตันระบุ “ตอนนี้ธุรกิจในโลกเริ่มไปคลาวด์กันหมด เทรนด์นี้จะเข้ามาในไทย แม้จะช้ากว่าพื้นที่อื่นในโลก แต่ก็ถือว่าเร็วเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน”
QAD เป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์โซลูชัน ERP ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว จากการขยายบริการสู่ 52 ประเทศซึ่งรวมไทย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นในเอเชียแปซิฟิก ปัจจุบัน QAD มีผู้ใช้เกิน 37,500 ราย ดูแลธุรกรรมมากกว่า 240 ล้านทรานเซกชัน จุดเด่นของ QAD คือความยืดหยุ่นซึ่งเน้นความง่าย เร็ว และมีพัฒนาการด้านประสบการณ์ใช้งานที่ธุรกิจในภาคการผลิตจะสะดวกมากกว่าเดิม รองรับการทำงานแบบเรียลไทม์ การสร้างแดชบอร์ดของแต่ละธุรกิจ และการเปลี่ยนเวอร์ชันที่สามารถอัปเกรดได้เฉพาะส่วน
ภาคการผลิตกำลังเปลี่ยน
สิ่งที่ QAD พบจากประสบการณ์ให้บริการโซลูชัน ERP ทั่วโลกคือธุรกิจการผลิตวันนี้กำลังเปลี่ยนไป จากที่เคยเน้นเรื่องการลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการเพิ่มคุณภาพ วันนี้ซอฟต์แวร์ ERP จะต้องจัดการกับความต้องการที่เปลี่ยนไปได้ โดยสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องทำให้ทันก่อน 40 ปีนับจากนี้คือการรับมือกับการถูก disruption และสถานการณ์ไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น
1 ในสิ่งที่ QAD ประเมินว่าจะผลักดันภาคการผลิตในช่วงไม่กี่ปีนับจากนี้ คือการเปลี่ยนผ่านของภาคการผลิต เช่น การสั่งแบนถุงพลาสติก ซึ่งวันนี้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งกลายเป็นสิ่งผิดกฏหมายในบางประเทศ ผลคือหลายบริษัทในภาคการผลิตต้องพยายามหาทางที่จะตอบโจทย์หรือปฏิบัติตามกฏหมายและมาตรการที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องแนวโน้มความนิยมการผลิตสินค้าอัจฉริยะ เช่น ขวดแชมพูหรือนมอัจฉริยะ ที่จะเตือนผู้บริโภคทราบว่าแชมพูหมดเพื่อจะได้ซื้อเพิ่มสำหรับเติม รวมถึงปัจจัยเรื่อง GeoPolitical นโยบายการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป เห็นได้ชัดจากสงครามการค้าจีน-อเมริกัน ซึ่งทำให้บริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตต้องปรับตัวตลอดเวลา
“ทั้งหมดนี้ต้องการ ERP เ็นการจัดการ ที่ผ่านมา ERP มีปัญหาปรับตามสิ่งแวดล้อมในธุรกิจไม่ทัน ทำให้มีช่องว่างระหว่างสิ่งที่ ERP ทำได้และความต้องการขององค์กร แต่ QAD ทำได้ และตอบโจทย์ได้” แอนตันระบุ
ไทยแลนด์ 4.0 หนุนแรง
ผู้บริหาร QAD มั่นใจว่าโอกาสงามรออยู่ในวันที่ภาคการผลิตไทยอนาคตสดใส โดยเล่าย้อนว่าจาก 30 ปีที่เริ่มเข้ามาสู่ตลาดไทย ตามสายการผลิตอเมริกันที่ทยอยเข้ามาในแดนสยามเมืองยิ้ม วันนี้ QAD มองเห็นหลายชาติเข้ามาสู่ตลาดไทยมากขึ้น ส่งให้ตลาดการผลิตไทยใหญ่ขึ้น กลายเป็นโอกาสสำคัญของ QAD ที่มีลูกค้าหลายชาติ ขณะเดียวกัน ไทยกำลังจะก้าวไปอีกขั้นในยุค 4.0 ซึ่งจะมีเทคโนโลยี IoT, AI, Robotic และเทคโนโลยีด้านข้อมูลอื่น ทั้งหมดนี้ทำให้โร้ดแม็ปของ QAD และสายการผลิตของไทยไปทางเดียวกัน ทำให้เห็นโอกาสเติบโตสูงมากขึ้น
“จากปีที่แล้ว เราลงทุนมากขึ้น เรามีทีมซัปพอร์ตไทย และโกลบอล ทุกประเทศทั่วโลก พยายามทำให้ซอฟต์แวร์เราเข้ากับไทยแลนด์ 4.0 แม้จะเป็นซอฟต์แวร์สำหรับสายการผลิตเครื่องบิน ขนาดใหญ่ แต่โซลูชันเราก็เหมาะกับบริษัทท้องถิ่นของไทยที่ต้องการขยายสู่เวทีโลก รองรับภาษาไทย”
ความท้าทายที่ QAD มองเห็นในช่วงปัจจุบันคือการแข่งขันทางธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากในช่วง 10 ปีนี้ทำให้ไทยต้องเร่งสร้างประสิทธิภาพให้แข็งขันได้ จากประเทศที่มีค่าแรงต่ำ วันนี้ภาคการผลิตไทยกำลังเข้าสู่อีกเจเนอเรชั่นซึ่งต้องเน้นที่การตอบข้อกฏหมาย รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพที่ภาคการผลิตไทยจะต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้มีจุดแข็งที่เด่นเมื่อโลกมีสงครามการค้าระหว่างประเทศ จนทำให้ธุรกิจจำนวนไม่น้อยต้องมองหาแหล่งผลิตใหม่
“แทนที่บริษัทจะต้องเสียเวลากังวลเรื่องฮาร์ดแวร์ หรือการบริหารทรัพยากรในการผลิต ธุรกิจควรไปโฟกัสว่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างไรมากกว่า”
เน้นหาลูกค้าใหม่
จุดนี้ QAD มองเป็นโอกาส ทำให้ปี 2019 กลายเป๋นจุดเริ่มต้นให้ QAD เน้นมองหาลูกค้าใหม่ ในกลุ่มบริษัทไทยที่ต้องการก้าวไปตลาดโลก เบื้องต้น QAD ไม่ได้ระบุเป้าหมายสำหรับปีนี้ แต่ให้รายละเอียดการลงทุนในระดับโลกว่าเตรียมไว้ 3 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 9.3 ล้านบาท) ต่อปีสำหรับการวิจัยและพัฒนาโซลูชัน ขณะที่อีก 55,000 เหรียญ (ราว 1.5 ล้านบาท) จะอัดฉีดทีมขายและการตลาด
“เราแข็งแกร่งมากในภาคการผลิตรถ แต่ก็เห็นโอกาสใหญ่ในตลาดการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์ การลงทุนนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 5 ปีแล้ว ส่วนของการวิจัยคิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 18% ในปีนี้ ขณะที่เงินทุนฝ่ายขายและการตลาดก็เพิ่มขึ้น 10%”
ผู้บริหาร QAD ไม่เปิดเผยรายได้ในตลาดไทย ระบุเพียงว่า 50% ของตลาดการผลิตไทยเป็นกลุ่มธุรกิจรถยนต์ โดยบริษัทไม่ทำตลาดในธุรกิจน้ำมันหรือ Oil and Gas และโฟกัสเพียง 6 ตลาดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมสินค้าเทคโนโลยี อุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมการแพทย์ ชีวเวชศาสตร์
สำหรับบริษัทที่ต้องการดึงระบบ ERP ขึ้นไปบนคลาวด์ QAD ย้ำว่าไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากเพราะโซลูชัน QAD Adaptive Cloud (ชื่อใหม่ของ QAD Cloud ERP) จะดำเนินการให้ในพื้นหลัง ทำให้ลูกค้าสะดวกและง่าย บนงบประมาณที่ถือว่า “ไม่ได้สูงมาก” เพราะเป็นการลงทุนในระยะยาว
“ค่าใช้จ่ายในการใช้โซลูชัน QAD Adaptive Cloud แบ่งเป็น 2 ส่วนคือสำหรับเทคโนโลยีที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบ อีกส่วนสำหรับไลเซนส์ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจากับบริษัท”
อีกมุมที่ผู้บริหารอยากให้ธุรกิจมองนอกจากงบประมาณที่ใช้ คือประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับ เนื่องจากการผลิตส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการผลิตให้ทันตามกำหนด ซึ่งหากทำไม่ได้ก็จะเกิดความเสียหาย กลายเป็นความเสี่ยงหากไม่ลงทุนในส่วนนี้.