แม้ว่าแอปเปิล จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ถึงแนวทางในการรักษาความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของผู้ใช้ ตามกฏหมาย GDPR แต่จากการพรีเซ็นต์บนเวที WWDC 2019 (Worldwide Developers Conference) ที่สหรัฐอเมริกา ในหลายๆประเด็น ก็จะวกกลับมาที่บริการ หรือฟีเจอร์ของแอปเปิล จะไม่เก็บข้อมูล หรือบันทึกเสียงสนทนาเพื่อนำไปใช้งาน
แนวโน้มในการพัฒนาเรื่องความเป็นส่วนตัวของแอปเปิลชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่การประกาศใช้งานกฏหมาย GDPR ของยุโรปในช่วงปีที่ผ่านมา และเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในการออกมาสื่อสารให้ผู้ใช้งานเข้าใจถึงการปกป้องข้อมูลส่วนตัว เพื่อไม่ให้ถูกบริษัทใดๆนำไปใช้งาน
ยกตัวอย่าง หนึ่งในฟีเจอร์ใหม่ที่มากับ watchOS 6คือระบบการแจ้งเตือนเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงรอบตัวดังเกินไป ผู้ใช้สามารถเปิดฟีเจอร์วัดระดับเสียงขึ้นมาเพื่อให้แอปเปิลวอทช์บันทึกสภาพเสียงแวดล้อมในขณะนั้น เพื่อตรวจสอบว่าดังเกิน 90 เดซิเบลหรือไม่ถ้าดังเกินก็จะแจ้งเตือนไม่ให้อยู่ในบริเวณดังกล่าวนานเกิน 4ชั่วโมงต่อสัปดาห์
เมื่อสาธิตการใช้งานเสร็จ แอปเปิล ก็รีบบอกเลยว่าการบันทึกเสียงเพื่อคำนวณความดังนั้น จะไม่มีการเก็บข้อมูลเสียง หรือบทสนาต่างๆ เพื่อนำไปใช้งานแต่อย่างใด เพื่อแสดงให้เห็นว่าความเป็นส่วนตัวถือเป็นเรื่องของทุกๆคน ที่เข้าถึงทุกบริการบนทุกผลิตภัณฑ์
เช่นเดียวกับใน iOS 13 และ iPad Osที่เมื่อเข้าใช้งานแอปใดก็ตามที่มีการเข้าถึงระบบระบุตำแหน่งสถานที่ตัวแอปจะมีการขึ้นแจ้งเตือนให้ผู้ใช้กดอนุญาตก่อน และจะปิดการเข้าถึงพิกัดทันทีที่เลิกใช้งานแอป เพื่อไม่ให้แอปสามารถติดตามตำแหน่งของผู้ใช้ได้
***เพิ่มโอกาสค้นหาอุปกรณ์ที่หาย
ที่ผ่านมาบริการอย่าง Find My Deviceกลายเป็นหนึ่งในความหวังของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์แอปเปิลในการตามหา iPhone iPadหรือเครื่อง Macbook ที่ถูกขโมย หรือลืมวางทิ้งไว้ ตามปกติแล้วการเข้าถึงพิกัดของเครื่องนั้นต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
ทำให้ถ้าโดนขโมย และไม่ได้ทำการต่ออินเทอร์เน็ตไว้ก็จะไม่สามารถส่งตำแหน่งของเครื่องกลับมาได้
สิ่งที่แอปเปิลพัฒนาขึ้นมาและเตรียมนำมาใช้ในระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ของทั้ง iOS 13 iPad OS และmacOS ภายใต้บริการ Fine My Deviceคือการปรับรูปแบบการส่งสัญญาณในการติดตามค้นหาตัวเครื่อง ด้วยการเปิดให้ดีไวซ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น iPhone iPad และ Macbookสามารถส่งสัญญาณบลูทูธที่ใช้พลังงานต่ำออกมาสื่อสารกับเครื่องที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งถ้ามีการเปิดการค้นหาอุปกรณ์ (Find My) ก็จะใช้การสื่อสารแบบเข้ารหัสเพื่อช่วยระบุตำแหน่งของเครื่อง จากอุปกรณ์แอปเปิลที่อยู่ในบริเวณนั้นช่วยเพิ่มโอกาสในการค้นหาอุปกรณ์ที่หายมากขึ้น
แน่นอนว่า แอปเปิล ยังคงทิ้งท้ายการสาธิตการค้นหาอุปกรณ์ว่าข้อมูลที่ถูกส่งต่อผ่าน บลูทูธพลังงานต่ำ จะไม่ถูกเก็บไว้บนคลาวด์หรือนำไปใช้แต่อย่างใด ทุกอย่างเก็บอยู่บนอุปกรณ์ของผู้ใช้ทำให้ไม่มีใครสามารถเข้าถึงได้
***ลงชื่อเข้าใช้ด้วย Apple ID แนวทางปกป้องข้อมูลลูกค้า
อีกหนึ่งวิธีการควบคุมความเป็นส่วนตัวของผู้ที่ใช้งานผลิตภัณฑ์แอปเปิลคือการเพิ่มวิธีการลงชื่อเข้าใช้เว็บไซต์ และบริการต่างๆของแอปพลิเคชันที่สามารถควบคุมความปลอดภัยได้แต่ในอีกมุมก็ทำให้นักพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าได้เช่นกัน
การเพิ่มคุณสมบัติในการลงชื่อเข้าใช้ด้วย Apple Idจึงกลายเป็นวิธีที่แอปเปิลนำมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เว็บไซต์ และบริการต่างๆ สามารถติดตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ในการนำเสนอโฆษณาหรือบริการต่างๆ ได้ ตรงกับคอนเซ็ปต์ในการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
จากเดิมผู้ใช้งานจำเป็นต้องใช้การล็อกอินผ่านบัญชีโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือใช้ Google Account ในการล็อกอิน ก็เปลี่ยนมาใช้งาน Apple ID แทนทำให้สามารถปกป้องลูกค้าได้ด้วยการใช้ ID แบบสุ่มที่ไม่ซ้ำกัน กรณีที่นักพัฒนาต้องการอีเมลของผู้ใช้ ก็สามารถเลือกได้ว่าจะให้อีเมลไป หรือว่าจะเก็บที่อยู่อีเมลเป็นความลับด้วยการสุ่มอีเมลที่ไม่ซ้ำกันให้นักพัฒนาไปแทน ซึ่งในการสุ่มอีเมลของแต่ละบริการก็จะแตกต่างกันไปด้วย
นอกจากนี้ การใช้ Sign In with Appleยังได้ในเรื่องความเร็วในการใช้งานด้วย เพราะสามารถใช้ร่วมกับ Face IDหรือ Touch ID ได้ทันที เมื่อรวมกับระบบการยืนยันตัวตน 2ขั้นตอนจึงทำให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้นไปอีก
***tvOS 13 อัปเดตเพื่อบริการ Apple TV+ และ Apple Arcade
จากก่อนหน้านี้ที่ แอปเปิล ประกาศเตรียมให้บริการ Apple TV+ และ Apple Arcade ดังนั้น หนึ่งในอุปกรณ์ที่ช่วยให้ลูกค้าแอปเปิลสามารถเข้าถึงความบันเทิงได้จึงหนีไม่พ้นApple TV ที่เชื่อมต่อกับจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่
การปรับปรุง tvOS 13 ในรอบนี้ จึงเน้นไปที่การเพิ่มความสามารถให้รองรับการใช้งาน 2 บริการใหม่ที่จะมาอย่างการเพิ่มการล็อกอินใช้งานของคนในครอบครัว เพื่อให้ Apple TV+ สามารถนำเสนอคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้
เช่นเดียวกับการเปิดผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมที่พร้อมสมัคร Apple Arcadeใช้งาน ได้ประสบการณ์ที่ดีในการเล่นเกมด้วยการเปิดให้ผู้ที่มีรีโมทเกม Xbox และ PS4 สามารถนำมาเชื่อมต่อกับApple TV 4K เพื่อเป็นจอยเกมได้ด้วย
***ยกเลิก iTunes แยกออกเป็น 3 แอป
ในเมื่อบน tvOS มีการแนะนำ Apple TV+ เป็นบริการใหม่แล้ว วิธีการเข้าถึงบริการคอนเทนต์ดั้งเดิมของผู้ใช้ macOS ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปจากเดิมที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเพลง พ็อดคาสท์ ภาพยนตร์ได้ผ่าน iTunesพอเป็นใน macOS Catalina iTunes จะถูกแยกออกมาเป็น Apple Music ,Apple Podcast และ Apple TV
เหตุผลหลักที่แอปเปิล ระบุคือการแยกแต่ละแอปออกมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่ชื่นชอบได้ง่ายขึ้นเพราะผู้ใช้แต่ละรายก็จะมีรูปแบบการเข้าถึงความบันเทิงที่แตกต่างกันและเป็นการรองรับคอนเทนต์จำนวนมากที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย
***ผลักดัน AR ต่อเนื่อง
อีกประเด็นที่ แอปเปิล ให้ความสำคัญคือการผลักดันการนำ AR ไปใช้งานโดยในส่วนของนักพัฒนาได้มีการแนะนำ ARkit 3ที่มาช่วยให้สามารถพัฒนาแอปที่เกี่ยวกับ AR ได้สะดวก และมีความสามารถมากขึ้น โดยเฉพาะการนำไปใช้งานจริง
พร้อมกับนำเสนอฟีเจอร์ใหม่ในการแสดงผลตัวบุคคลเข้าไปอยู่กับ AR ในชื่อ People Occlusion เพื่อนำเสนอวิธีการนำ AR ไปพัฒนาให้น่าสนใจมากขึ้นรวมถึงการร่วมกับทางไมโครซอฟท์ นำเกมดังอย่าง Minecraftมาสร้างประสบการณ์ในการสร้างวัตถุ 3มิติ ผสมกับตัวคนที่แอปเปิลเชื่อว่าจะสามารถทำให้สมจริงมากขึ้นกว่าเดิม
ผู้บริหารแอปเปิล ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาเริ่มมีร้านค้าที่นำ ARไปใช้ในการแสดงตัวอย่างสินค้า โดยเฉพาะในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ นำไปใช้งานแล้ว และกลายเป็นว่าช่วยทำให้ลูกค้าตัดสินใจในการเลือกสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การที่แอปเปิลพัฒนาแอปสำหรับการสร้าง AR ให้ง่ายขึ้นอย่าง RealityKit และ Reality Composer ที่จะเปิดให้ใช้กันใน iOS 13 ปลายปีนี้โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักการเขียนโค้ดจะทำให้อุตสาหกรรม AR หรือการสร้างภาพ3มิติ เติบโต และถูกนำไปใช้งานได้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของรีเทลและการศึกษา
ปัจจุบันแอปเปิลมีอุปกรณ์หลายล้านชิ้นที่รองรับการใช้งาน ARkit ตั้งแต่ iPhone 6s iPad 2017 และ iPad Proที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงโลก AR ได้ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาที่ช่วยให้นักศึกษาที่สนใจ สามารถเรียนรู้ และนำAR ไปใช้ในการเรียนการสอนได้
ในงาน WWDC 2019 แอปเปิลยังเปิดตัว Mac Pro คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง สำหรับการใช้งานระดับมืออาชีพ ถือเป็นการปรับครั้งใหญ่ ดีไซน์ใหม่ และหน้าจอ Pro Display XDR
ตัวแทนนักศึกษาไทยได้ทุนมาร่วมงาน
ในแต่ละปีทางแอปเปิลจะเปิดให้นักศึกษาที่สนใจพัฒนาแอป หรือเขียนโปรแกรม ส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อคัดเลือกนักศึกษา 350 คนจากทั่วโลกมาร่วมงาน WWDC
ในปีนี้ มีตัวแทนนักศึกษาจากประเทศไทยที่ผ่านการคัดเลือกมาร่วมงานและเป็นตัวแทนคนที่ 2 ของประเทศไทย
พัชรพล จอกสมุทร นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยประสบการณ์ในการทำค่ายสอนน้องๆเขียนโปรแกรมเลยทำให้เกิดไอเดียในการเขียนแอปจากชุดพัฒนาของแอปเปิล มาเป็นพื้นฐานในการสอนแนวคิดให้แก่น้องๆ เพื่อให้รู้ว่าการเขียนแอปไม่ใช่เรื่องยาก มาเป็นแนวทางในการส่งประกวด
'การมาร่วมงานในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดโลกให้เห็นถึงนักพัฒนาต่างๆได้เข้าไปพูดคุยกับวิศวกรของแอปเปิลที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในการเขียนโปรแกรม และได้เห็นแนวทางในการผลักดันนักพัฒนาแอป โดยเฉพาะชุดเครื่องมือ SwiftUIที่เปิดตัวในงานนี้ ทำให้การเขียนแอปสนุกขึ้น'