ทรูมันนี่ (True Money) นำเสนอสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้ใช้ e-Wallet ที่เป็นนักเรียน-นักศึกษาคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จัดอยู่ใน Gen Z เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ Cashless Society ในอนาคต
จากสถิติในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม - เมษายน 2562) ผู้ใช้กลุ่มนี้สามารถสร้างมูลค่าธุรกรรมต่าง ๆ บน TrueMoney Wallet ไปแล้วกว่าหลายพันล้านบาท

ในส่วนของพื้นที่ที่มีนักเรียน-นักศึกษา ใช้ e-Wallet มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ 1.กรุงเทพฯ 2.ชลบุรี และปทุมธานี และ 3.สมุทรปราการ และนนทบุรี โดย 96% ของผู้ใช้ในวัยเรียน ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา (50%) และมหาวิทยาลัย (46%) ในขณะที่ชั้นประถมศึกษา คิดเป็นแค่ 4% ของผู้ใช้ e-Wallet ที่อยู่ในวัยเรียนทั้งหมด
รูปแบบการเติมเงินเข้า e-Wallet ส่วนใหญ่จะผ่านทางช่องทาง ตู้เติมเงิน (36%), ธนาคาร (28%) และร้านค้าและร้านสะดวกซื้อ (26%) ตามลำดับ โดยการเติมเงินผ่านช่องทางธนาคารจะมียอดเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 1,450 บาท รองลงมาคือ เติมผ่านช่องทางดิจิทัลที่ 970 บาท
ส่วนบริการหลักที่นักเรียน/นักศึกษาใช้ e-Wallet ได้แก่ โอนเงินให้บุคคลอื่น, ซื้อดิจิทัลคอนเทนต์ และเติมเงินมือถือ/อินเทอร์เน็ต ขณะที่ร้านค้ายอดนิยม 3 ประเภทหลัก ที่มีการใช้งานประจำคือ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม และร้านจำหน่ายไอเท็มเกมออนไลน์
ทั้งนี้ ปัจจัยบวกกระตุ้นการใช้ e-Wallet เนื่องมาจาก ชาว Gen Z (คนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2540 ขึ้นไป) เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ไว มีไลฟ์สไตล์โดดเด่น เกาะติดทุกเทรนด์ และไม่ยึดติดกับแบรนด์ พร้อมลองแบรนด์ใหม่ที่เป็นที่นิยมหรือคุ้มค่ากว่าเสมอ
สอดคล้องกับความสามารถของ e-Wallet ที่นอกจากจะเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้จ่ายแล้ว ยังมาพร้อมโปรโมชันและสิทธิพิเศษมากมายที่รองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ความบันเทิง เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง หรือการใช้จ่ายตามร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ
ประกอบกับราคาสมาร์ทโฟนที่ต่ำลง สวนทางกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้น วันนี้นักเรียน-นักศึกษาในเมืองใหญ่ ๆ สามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีบนมือถือได้โดยง่าย และใช้จ่ายผ่าน e-Wallet ได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องสมัครผ่านบัตรเครดิต