xs
xsm
sm
md
lg

คลื่น 700 MHz ของดีที่มาก่อนเวลา !?!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไขยุทธศาสตร์ คลื่นความถี่ 700 MHz ในสายตา 3 ค่ายมือถือ มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และ ใครที่อยากได้จนเนื้อตัวสั่น พร้อมหาคำตอบว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้ใช้บริการตาดำๆ ได้ประโยชน์อะไรจากคลื่น 700 MHz และ 5G ที่พยายามสร้างภาพสวยหรู สร้างวิมานในอากาศ ที่สวนทางกับความเป็นจริงในโลกปัจจุบันตอนนี้

การผูกโยงการแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัล ความพยายามล้างบาปให้กสทช.บางคนที่ยังเสวยสุขกับเงินเดือนหลายแสนบาทและสิทธิประโยชน์ส่วนตัวเพียบ กับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ถูกนำมาบรรจบกันอย่างสวยงาม เมื่อเงื่อนไขรับการจัดสรรคลื่นแลกมาด้วยการยืดเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 900 MHz ออกไปเป็น 10 งวดชนิดปลอดดอกเบี้ย เพื่อทำให้เห็นว่าน่าจะมีเม็ดเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท มาช่วยให้ทีวีดิจิทัลได้แก้ตัวใหม่และมีเงินเหลือส่งเข้ารัฐ ในขณะที่ท่าทีของ 3 โอเปอเรเตอร์มือถือกับการจัดสรรคลื่น 700 MHz มีมุมมองที่แตกต่างกัน

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่ากลุ่มทรูดูเหมือนจะมีความจำเป็นสำหรับเงื่อนไขนี้มากที่สุด ไม่ใช่เป็นเพราะอยากได้คลื่น 700 MHz แต่มีความจำเป็นอย่างมากที่จะยืดเวลาชำระเงินค่าคลื่น 900 MHz ที่ต้องจ่ายในปี 2563 สูงถึง 64,433 ล้านบาท เนื่องจากเป็นที่รู้กันในวงการว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน เพราะขณะนี้แทบจะเต็มวงเงินกู้ หากจะกู้เพิ่มก็ต้องมีการเพิ่มทุนที่กลุ่มทรูยอมไม่ได้ที่จะให้ ไชน่า โมบาย ถือหุ้นเพิ่มจนมีบทบาทในการบริหารมากกว่านี้ ทางออกของปัญหาคือการยืดเวลาชำระค่าคลื่น 900 MHz ออกไป และ ยอมที่จะเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz

ทั้งนี้ทรูจะได้ยืดเวลาที่ต้องจ่ายค่าคลื่น 900 MHz งวดสุดท้ายในปี 2563 จำนวน 64,433 ล้านบาท ออกไปเป็นจ่ายเหลือ 23,614 ล้านบาท และจะทยอยจ่ายปีละ 8,164 ล้านบาทจนถึงปีสุดท้ายในปี 2568

'มีเสียงเล่าลือว่าผู้ใหญ่ในกสทช.บางคนถึงกับคุยกับเอไอเอส ว่าอย่าขวางเรื่องนี้'

สำหรับท่าทีของเอไอเอส เบอร์ 1 ในอุตสาหกรรม แต่ไม่ใช่เบอร์ 1 ในแง่ความสัมพันธ์หรือคอนเน็กชั่นที่แน่นปึ้กกับขาใหญ่ภาครัฐ ความเป็นมืออาชีพที่ต้องสนองตอบผู้มีผลได้เสียทุกกลุ่มโดยเฉพาะผู้ถือหุ้น ทำให้ในปี 2561 มีกำไรเกือบ 3 หมื่นล้านบาทและผลประกอบการไตรมาสแรกที่กำไร 7.6 พันล้านบาท ซึ่งได้กันเงินไว้ไม่ต่ำกว่า 30% ในแต่ละปีเพื่อจ่ายเงินค่าคลื่น900 MHzงวดสุดท้ายปี 2563จำนวน 63,744 ล้านบาท หมายถึง ถ้าไม่ยืดเวลาออกไปโดยไม่เข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ก็ไม่เสียหาย

'ถ้าอย่างเป็นทางการต้องบอกว่า รอที่ปรึกษามาช่วยพิจารณาก่อน แต่ในความเป็นจริงคือถ้าทรูทำได้ ก็ไม่เสียหายที่เอไอเอสจะทำบ้าง เหมือนซื้อของ 0% 10 งวด ทำไมจะไม่เอา ความจริงฟันธงได้เลยว่าเอไอเอสเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz แน่นอน'


คลื่น 700 MHz เป็นคลื่นย่านความถี่ต่ำที่มีประโยชน์ในเรื่องการขยายพื้นที่ครอบคลุม จึงมีความสำคัญกับดีแทคมาก และเป็นเรื่องพิสูจน์ให้คนไทยผู้ใช้บริการมือถือเห็นได้ชัดว่า หากเทเลนอร์ผู้ถือหุ้นใหญ่ดีแทค มีความจริงใจกับตลาดประเทศไทยจริง การลงทุนเรื่องความถี่เป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่เทเลนอร์นิ่งเฉยกับการลงทุนโครงข่ายจนทำให้เกิดสถานการณ์วันนี้ ที่หล่นเป็นเบอร์ 3 ในตลาด

การท่องแต่คำว่า 'สเปกตรัม โรดแมป' ไม่ใช่ทางแก้ปัญหายามนี้ได้


หลักการ 0% 10 เดือน จะทำให้ดีแทคได้ประโยชน์โดยงวดสุดท้ายในปี 2565 ที่ต้องจ่ายค่าคลื่น 900 MHz จำนวน 32,126 ล้านบาท ก็จะเหลือเพียง 7,917 ล้านบาท และขยายเวลาไปจ่ายงวดสุดท้ายในปี 2570 เพียง 4,073 ล้านบาท

'การรับการจัดสรรคลื่น 700 MHz เป็นข้อพิสูจน์ว่า เทเลนอร์ยังสนใจตลาดไทยหรือไม่ เพราะมีประสบการณ์กับเรื่องคลื่นที่พลาดไป กับโครงข่ายที่เกิดปัญหา'


สำหรับความสมบูรณ์แบบของ 5G นั้นมีองค์ประกอบหลายส่วนและการให้บริการก็มีบริบทที่เปลี่ยนไป ความสมบูรณ์ของ 5G นั้นต้องมีองค์ประกอบคลื่นถึง 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มคลื่นย่านต่ำ คือต่ำกว่า 2 GHz คลื่นในกลุ่มนี้ตอบโจทย์เรื่องของการครอบคลุมของพื้นที่ แต่ไม่ตอบโจทย์เรื่องความเร็ว การประยุกต์ใช้จะเป็นการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จำนวนมากโดยอุปกรณ์เหล่านั้นจะใช้พลังงานต่ำๆ (Massive Machine Type Communications : mMTC) หรืออุปกรณ์ที่มีการตอบสนองกลับอย่างรวดเร็ว (Ultra-Reliable and Low Latency Communications : uRLLC)

2.กลุ่มคลื่นย่านกลาง คือคลื่นที่อยู่ในช่วง2-6 GHz กลุ่มนี้ตอบโจทย์เรื่องการครอบคลุมพื้นที่ไม่กว้างมากนักแต่ได้เรื่องความเร็วที่มีความเร็วสูงขึ้นตามมา และ 3.กลุ่มคลื่นย่านสูงคือสูงกว่า 6 GHz ขึ้นไปกลุ่มนี้ตอบโจทย์เรื่องความเร็วแต่การครอบคลุมทำได้ไม่มาก อาจจะอยู่ในพื้นที่แคบๆจำกัดๆ ใช้สำหรับบริการออนไลน์ที่ใช้แบนด์วิดท์จำนวนมาก เช่น ดูวิดีโอ เล่นเกมออนไลน์ การใช้งานAR VRเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Enhanced Mobile Broadband : eMBBคือทำให้มือถือสามารถทำงานได้ในความเร็วแบบบรอดแบนด์

ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายของบริการ 5Gไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเดิมๆ ที่แสวงหาความเร็ว ความแรงและเสถียรภาพในการเล่นโซเชียล หรือ แชทกับเพื่อน หรือเกมส์ออนไลน์อีกต่อไป แต่เป็นบริการใหม่ๆ ที่เจาะกลุ่มของอุตสาหรรมโดยเฉพาะที่สำคัญรูปแบบในการสร้างการขาย การคิดเงิน ยังไม่มีประเทศไหนสร้างโมเดลทางธุรกิจออกมา

***5G คือโอกาสของประเทศหรือทุกขลาภของผู้ให้บริการ

อุตสาหกรรมโทรคมในอดีตที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดจนกระทั่งก่อให้เกิดรายได้มหาศาล ในความเป็นจริง รายได้กว่า 80% มาจากผู้ใช้บริการทั่วไป ซึ่งธุรกิจกำลังเดินเข้าสู่วังวนของการชลอการเติบโตเนื่องจากผู้ใช้เริ่มอิ่มตัว ปัจจุบันมีจำนวนซิมการ์ดกว่า 120ล้านซิมจากคนไทย 70 ล้านคน การแสวงหารูปแบบให้บริการใหม่ๆ คงเป็นคำตอบและทางรอดของผู้ให้บริการ แต่ด้วยบริการ 5G ที่ต้องการความสมบูรณ์แบบของการให้บริการ ที่ต้องมีคลื่นทั้งสูง กลาง ต่ำ

อีกทั้งการเก็บเกี่ยวรายได้ คงไม่ใช่โปรโมชันแบบโทร. 100 นาทีอินเทอร์เน็ต 6 GB อีกต่อไป เพราะกลุ่มเป้าหมายก็จะเปลี่ยนไปเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหรือกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะด้าน แต่ด้วยบริบทของประเทศเกษตรกรรม ที่ฝันอยากจะผันตัวเป็นอุตสาหกรรม หวังจะเรียกการลงทุนจากต่างชาติ ในสภาวะที่ค่าแรงขั้นต่ำของไทยสูงที่สุดในอาเซียนโดยไม่นับสิงคโปร์และบรูไน (เนื่องจาก 2 ประเทศนี้ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ) แต่ผู้ให้บริการยังคงต้องประมูลหรือรับการจัดสรรคลื่นจาก กสทช. ในรูปแบบของการประเมินมูลค่าคลื่นแบบเดิมๆ

แค่ปฐมบท 5G ที่ประเดิมด้วยคลื่น 700 MHzผู้ให้บริการก็ต้องเสียค่าแรกเข้าคนละ 10 MHz คนละ 17,584 ล้านบาท โดยยังไม่สามารถตอบได้ว่า จะมีรูปแบบการจัดเก็บรายได้ ประมาณการหรือคาดการแผนการตลาดอย่างไร คงมีแต่ฝันที่กสทช.สร้างไว้ว่า 'ประเทศไทย ต้องมี 5G ใช้เป็นคนแรกในอาเซียน'

หากผู้ให้บริการต้องการให้บริการ 5G แบบเต็มรูปแบบนั้น ยังคงต้องใช้คลื่นย่านกลางและย่านสูงมาร่วมด้วย ซึ่งคลื่น 2600 MHzของอสมทที่กสทช.หมายมั่นปั้นเงิน จะนำมาประมูลอีกในเดือน ต.ค.นี้ ราคาคงไม่หนีหลักหมื่นล้านบาทแน่นอน รวมทั้งจะมีคลื่นย่านสูง ซึ่งมูลค่าอาจจะไม่สูงมาก แต่ กสทช.มีแผนจะปั้มตัวเงินโดยการประมูลแบบรายพื้นที่หรือรายจังหวัด

เหมือนการขายเหล้าพ่วงเบียร์ คือประมูลคลื่น2600 MHzแล้วต้องเอาคลื่นย่านสูง 26หรือ28 GHz พ่วงไปด้วย คาดว่า ผู้ประกอบการทั้ง 3รายคงต้องเตรียมเงินอีกคนละ 2ถึง 3หมื่นล้านบาท มาสานฝันของกสทช. ต่อไป

แหล่งข่าวระบุว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่า คลื่น 700 MHzที่ต้องรับการจัดสรรในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผู้ประกอบการคงต้องกลืนเลือดรับคลื่นไปอย่างเสียไม่ได้ แต่กว่าจะใช้งานได้คงราวเดือนต.ค. 2563แผนการให้บริการบนคลื่นนี้คงไม่พ้นการนำคลื่น 700 MHz มาให้บริการบน 4G หรืออาจจะเห็นการให้บริการใหม่ๆ บางอย่างเช่น Wireless Boardband Access แต่ด้วยสภาพคลื่นที่ได้รับการจัดสรรเพียง 10 M ความเร็วในกรณีของ Wireless Boardband Acess คงจะไม่ได้สูงมากถึง 100 M เหมือนเคเบิลใยแก้ว แต่สามารถมาแก้ขัดในพื้นที่ห่างไกลที่การเดินสายเคเบิลทำได้ยาก

ทั้งนี้การหารายได้เพิ่มขึ้นบนคลื่น 700 MHzบนระบบ 4G หรือแม้กระทั่งบรอดแบนด์ ที่แข่งกันจนเลือดสาด เห็นจะลำบากเนื่องจากการแข่งขันใกล้ถึงจุดอิ่มตัวโปรโมชันที่มีก็ถูกงัดจนเกือบจะหมดมุกแล้ว และพฤติกรรมของผู้ใช้ในปัจจุบันนี้ เริ่มคุ้นเคย กับแพกเกจที่ให้ความเร็วสูงๆ ซึ่งหากจะได้คงเป็นเสถียรภาพของเครือข่ายและความเร็วของคลื่นภายใต้ราคาแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นราคาที่ผู้บริโภคจ่ายกันอยู่ในทุกวันนี้

เทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ดี และปฏิเสธไม่ได้ในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ แต่ภาครัฐควรปรับปรุงกระบวนการและรูปแบบให้เหมาะกับการกำกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อ วางแผนเก็บเกี่ยวเม็ดเงินจากภาษี การเติบโตจากอุตสาหกรรมและการลงทุน รวมทั้งแผนการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถลงทุนพัฒนา

เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศเป็นปัจจัยและเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ไม่ต่างกับน้ำ ไฟ ถนนอีกต่อไป ไม่เช่นนั้น อีก 5 ปีข้างหน้าเราอาจจะต้องหากฏหมายใหม่ มาเยียวยาโอเปอเรเตอร์มือถือไม่ให้ล้มหายตายจากเหมือนทีวีดิจิทัล

การจัดสรรคลื่น 700 MHz ในวันนี้ คงเพื่ออุ้มชูทีวีดิจิทัล อาจทำให้ผู้บริโภคเริงร่ากับความเร็วโครงข่ายที่เพิ่มขึ้น แต่จะทำให้โอเปอเรเตอร์มือถือกระอักแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น