เอไอเอส คว้ารางวัล Champion of WSIS Prizes 2019 จากโครงการ "Work Wizard" the digital platform for disability ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่ภายในองค์กรมาสร้างอาชีพแด่ผู้พิการ เพื่อช่วยลดช่องว่างที่เกิดขึ้นในสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ WSIS Prizes 2019 นี้ จัดขึ้นโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) และองค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศของประชากรโลก โดยในปีนี้ มีโครงการส่งเข้าร่วมประกวดจากทั่วโลก รวมทั้งสิ้น 1,062 โครงการ และนับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่เอไอเอส สามารถคว้ารางวัลจากเวทีระดับโลกนี้มาครองได้สำเร็จ
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า กว่า 29 ปีที่ผ่านมา เอไอเอส มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยมาโดยตลอด ที่ผ่านมา เอไอเอส ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้บริบทของภาคเอกชนไทยที่พร้อมช่วยเหลือสังคมในทุกโอกาสเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ประเด็นหนึ่งที่เราเอาใจใส่เป็นอย่างมาก คือการเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกครอบครัวเอไอเอส
ทุกคนต่างมีศักยภาพและมีทักษะในการพัฒนาตัวเองไม่แตกต่างกัน หากได้รับโอกาสในการเข้าทำงาน ผู้พิการจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกัน สำหรับรางวัล Champion of WSIS Prizes 2019 ที่ได้รับมาในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งยืนยันถึงความจริงใจและความสำเร็จของพวกเรา
"ทุกคนที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยผลักดันให้ผู้พิการสามารถปฏิบัติงานได้เทียบเท่ากับคนปกติ ทำให้พวกเขามีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิต มีความภาคภูมิใจในตัวเอง และมีรายได้ที่มั่นคงสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี”
ปัจจุบัน เอไอเอส มีพนักงานคอลล์ เซ็นเตอร์ผู้พิการ รวมทั้งสิ้น จำนวน 113 คน แบ่งออกเป็นผู้พิการทางการมองเห็น จำนวน 57 คน ผู้พิการทางการได้ยิน จำนวน 9 คน และผู้พิการทางร่างกาย จำนวน 47 คน ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานผู้พิการทางการมองเห็น ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน
โดยติดตั้งโครงข่าย Online สำหรับฮาร์ดแวร์ พร้อมติดตั้งโปรแกรม PPA ตาทิพย์ (Text to Speech ภาษาไทย) นำเทคโนโลยีดักจับความเคลื่อนไหวที่ Key Board หรือสิ่งที่แสดงผลบนหน้าจอ ซึ่งเป็นโปรแกรมสังเคราะห์เสียงภาษาไทย ช่วยให้พนักงานสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ส่วนผู้พิการทางการได้ยิน ได้จัดให้มีซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ Web Cam (iSign) สำหรับการให้บริการ Call Center ภาษามือ ผ่านทาง Web Cam ซึ่งเป็นระบบการทำงานคล้ายกับโปรแกรม Skype ช่วยให้ทำงานได้สะดวก และสื่อสารได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น และสำหรับพนักงานผู้พิการทางร่างกาย ได้มีการจัดสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟต์โดยสาร ห้องน้ำ ทางลาด และราวจับ เพื่อให้ผู้พิการทุกคนได้รับความสะดวกและปลอดภัยตลอดช่วงเวลาทำงานอีกด้วย
“การยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในสังคมไทยได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้คนละเล็กละน้อย ทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสามารถและเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เราเชื่อว่า ประเทศชาติจะแข็งแรง สังคมจะต้องแข็งแรง และทุกคนสามารถช่วยกัน เติบโตไปพร้อมกัน”