ไม่แน่ เจฟ เบโซส (Jeff Bezos) กับอีลอน มัสก์ (Elon Musk) อาจจะกลายเป็นเพื่อนบ้านกันบนดวงจันทร์ เพราะ Jeff Bezos เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซผู้ก่อตั้งบริษัทด้านอวกาศ “บลูออริจิน” (Blue Origin) เปิดตัวยานใหม่ “บลูมูน” (Blue Moon) ในฐานะยานลงจอดดวงจันทร์รุ่นแรกของบริษัท ขณะเดียวกันก็โชว์เครื่องยนต์จรวดบีอี-เซเว่น (BE-7) ใหม่คู่ไปด้วย คาดทั้งคู่จะสานฝันให้มนุษย์ยกสายการผลิตไปตั้งบนดวงจันทร์ได้
Jeff Bezos แสดงความมั่นใจว่า Blue Origin จะสามารถส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้อีก 5 ปีนับจากนี้ เนื่องจากบริษัทเริ่มต้นพัฒนาโครงการนี้ตั้งแต่ช่วง 3 ปีที่แล้ว โดยเสริมว่าดวงจันทร์เป็นสถานที่เหมาะสมในการตั้งสายการผลิตในอวกาศ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงต่ำกว่าโลก ซึ่งจะทำให้ประหยัดพลังงานมากกว่า 24 เท่าเมื่อเทียบกับสายการผลิตบนผิวโลก
5.9.19 pic.twitter.com/BzvwCsDM2T
— Blue Origin (@blueorigin) April 26, 2019
ความจริงข้อนี้ถือว่าเป็นการยกระดับสายการผลิตในอุตสาหกรรมที่ชัดเจน โอกาสทองนี้เป็นหนึ่งในอนาคตสดใสของธุรกิจภายใต้เงา Blue Origin ซึ่ง Bezos ยอมลงทุนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในบริษัทนี้ จากการขายหุ้นอะเมซอน (Amazon) ที่ตัวเองถืออยู่
อย่างไรก็ตาม ก้าวใหม่ของ Bezos ถือว่าเป็นการท้าชนกับมหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของบริษัทด้านอวกาศอย่าง Musk โดยที่ผ่านมา Musk นั้นฝันถึงการพายานลงจอดที่ดวงจันทร์ และการสร้างแท็กซี่อวกาศผ่านบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ดังนั้นการประกาศของ Bezos จึงสะท้อนว่าไม่ได้มีเพียง SpaceX เท่านั้น แต่ Blue Origin ก็เป็นความหวังที่จะเกี่ยวข้องกับภารกิจขยายอาณานิคมมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ด้วย
***ได้เวลากลับไปดวงจันทร์
นอกจากยานลงจอด Bezos ยังเปิดตัวเครื่องยนต์จรวด BE-7 ของ บริษัทโดยบอกว่าจะทำการทดสอบจริงเป็นครั้งแรกในฤดูร้อนปีนี้ จุดนี้ Bezos กล่าวว่าวัสดุส่วนใหญ่ของเครื่องยนต์ทำจากชิ้นส่วนที่พิมพ์ 3 มิติขึ้นมา ทั้งหมดนี้ Bezos ชี้ว่าโลกต้องการเครื่องยนต์ใหม่เพื่อภารกิจกลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง ซึ่งจะไม่ใช่การเหยียบธรรมดา แต่จะนำไปสู่การสำรวจเพื่ออยู่และตั้งรกราก
“ถึงเวลาที่จะกลับไปยังดวงจันทร์ และคราวนี้เพื่ออยู่” Bezos กล่าว
การพัฒนาเครื่องยนต์ใหม่และยานลงจอดบนดวงจันทร์ยังเป็นความหวังว่าจะช่วยให้สหรัฐฯสามารถตั้งด่านบนดวงจันทร์ภายในปี 2024 ซึ่งเป็นกำหนดการที่สอดคล้องกับกรอบเวลาที่ Blue Origin มั่นใจว่าจะทำภารกิจได้สำเร็จ
ก่อนหน้านี้ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) ได้ประกาศเมื่อต้นปีนี้ถึงภารกิจที่มอบหมายให้นาซ่า (์NASA) ส่งนักบินอวกาศสหรัฐฯกลับไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้ เวลานั้นมีรายงานว่าจิม ไบรเด็นสไตน์ (Jim Bridenstine) ผู้ดูแล NASA มั่นใจว่าจะสามารถปฏิบัติตามคำสั่งนี้ของทำเนียบขาวได้ ซึ่งทำให้ NASA ยื่นเรื่องของบประมาณเพิ่มสำหรับปี 2020 รวมถึงการระดมทุนมูลค่ามหาศาลในโครงการ Advanced Cislunar และ Surface Capabilities (ACSC)
Bezos unveils the @blueorigin BE-7 engine, which he says will fire for the first time this summer pic.twitter.com/Vj5ZDlLCaF
— Michael Sheetz (@thesheetztweetz) May 9, 2019
ภายใต้โปรเจ็กต์ ACSC นี้เองที่ NASA วางแผนส่งหุ่นยนต์ไปยังผิวดวงจันทร์โดยไม่มีลูกเรือติดตาม หลังจากนั้นจึงจะส่งยานตามไปพร้อมนักบินอวกาศ อย่างไรก็ตาม มีข่าวลือว่า NASA กำลังพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น การใช้บริการของ Blue Origin เพื่อให้นักบินอวกาศขึ้นสู่พื้นผิวดวงจันทร์ได้เร็วกว่าที่กำหนด
สำหรับ Blue Origin นั้นเป็นบริษัทด้านอวกาศที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม Blue Origin ไม่ค่อยมีข่าวหลุดเรื่องจรวด เครื่องยนต์ และแคปซูลที่กำลังพัฒนา สำหรับ Blue Moon รายละเอียดที่ถูกเปิดเผยในขณะนี้คือแผนการส่งตู้บรรจุสินค้าความหนัก 2-3 ตันขึ้นไปบนพื้นผิวของดวงจันทร์ เพื่อเริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนสถานีฐานที่ดวงจันทร์ ภารกิจแรกถูกเสนอให้ทันกรอบเวลาปี 2020 ผ่านความร่วมมือกับโครงการของรัฐบาลสหรัฐฯ เช่น ระบบยิงจรวดของนาซ่า (SLS) ที่โบอิ้ง (Boeing) เป็นผู้ผลิต กระทั่งพฤษภาคมปีที่แล้ว Bezos ระบุว่า Blue Origin จะพัฒนา Blue Moon ได้ด้วยตัวเอง.