xs
xsm
sm
md
lg

Amazon ยังไม่สนขายทุเรียนไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มร. เบอร์นาร์ด เทย์ ผู้อำนวยการ AGS ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อะเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง (Amazon Global Selling หรือ AGS) จัดตั้งทีมงานในกรุงเทพฯชวน SME ไทยส่งออกสินค้าออนไลน์ ระบุสนใจผู้ประกอบการไทยมากเพราะมีศักยภาพแต่การรับรู้ยังจำกัด เป้าหมายปีนี้คือการสร้างการรับรู้วงกว้างและมาร์เก็ตเพลสที่ดีที่สุด เบื้องต้นไม่ตอบประเด็นภาษีจากการขายและตัวเลขการลงทุน ระบุเพียงยังไม่สนใจดึงสินค้าเศรษฐกิจอย่างทุเรียนไทยไปแจ้งเกิดบน Amzon เพราะจะเน้น 5 กลุ่มสินค้าฮอตที่ศึกษาแล้วว่าตรงกับความต้องการของผู้บริโภคอเมริกัน

มร. เบอร์นาร์ด เทย์ ผู้อำนวยการ AGS ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงการตั้งทีม AGS ในประเทศไทยว่ามีเป้าหมายหลักคือการเน้นช่วยให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกสินค้าออนไลน์ข้ามประเทศหรือ Cross Border eCommerce (CBEC) ทำให้ไม่สามารถบอกแผนระยะยาวเรื่องธุรกิจอื่นในไทย หรือการตั้งคลังสินค้าในไทยได้ในขณะนี้

“เป้าหมายในช่วงปีแรกของเราคือการสร้างการรับรู้เรื่อง AGS ทั้งไทยและทั่วโลก เพราะขณะนี้เรายังใหม่ และกำลังทำความเข้าใจตลาดไทย เพื่อให้ SME ไทยโตได้ในตลาดอื่น” เทย์ระบุ

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ Amazon ไม่ได้มีจุดหมายเรื่องการบุกตลาดเข้ามาขายสินค้าให้คนไทย แต่เป็นการตั้งทีมงาน AGS ในไทยเพื่อดึงให้ผู้ผลิต และผู้ประกอบการไทยสามารถส่งสินค้าไปขายบน 18 เว็บไซต์ของ Amazon ที่รองรับ 27 ภาษา 185 ประเทศทั่วโลกได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องไปลงเรียนคอร์สสอนจากโค้ชอิสระราคาแพง รวมถึงการผลักดันให้ SME ไทยส่งสินค้าไปเก็บในคลังของ Amazon ผ่านบริการ FBA (Fulfillment by Amazon) เพื่อแลกกับโอกาสขายที่ดีกว่า

ที่ผ่านมา สินค้าจากผู้ผลิตไทยจำนวนหนึ่งสามารถโกยยอดขายได้สูงมากบน Amazon.com ซึ่งมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวสหรัฐฯ เช่น น้ำแกงกะทิสำเร็จรูป, เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา, ปากการะบายสีรองเท้า, กล้วยฉาบ และนวมชกมวย บางสินค้าทำยอดขายได้เกิน 6 แสนชิ้น ความสำเร็จเหล่านี้เป็นผลจากการขยายตัวของกระแสธุรกิจการส่งออกออนไลน์หรือ CBEC ซึ่งเป็นเทรนด์แรงตั้งแต่ปี 2014

“ช่วง 4-5 ปีก่อน CBE มีสัดส่วน 15% ของยอดขายสินค้าอีคอมเมิร์ซ Amazon สัดส่วนนี้ขยายตัวขึ้นต่อเนื่องจนเชื่อว่าจะโตเป็น 29% ในปี 2020 คือเป็น 1 ใน 3 ของรายได้อีคอมเมิร์ซรวม”

ไทยเด่น 3 จุด

ผู้บริหาร Amazon เผยว่าการตั้งทีมงานในไทยเกิดขึ้นเพราะความเชื่อมั่นในตลาดไทย 3 ด้านหลัก ได้แก่ ไทยเป็นฐานการผลิตที่แข็งแรง ขณะเดียวกันก็มีประสบการณ์ส่งออกจำนวนมาก มูลค่าการส่งออกปีล่าสุดคือ 7.7% และไทยยังเป็นประเทศที่มีสีสันอีคอมเมิร์ซคึกคัก ผลจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้งหมดนี้ทำให้ Amazon เชื่อว่าไทยมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นผู้นำตลาด CBEC ในภูมิภาค

“แม้ไทยจะมีจุดแข็ง แต่อุปสรรค์คือไทยยังไม่ตื่นตัวในการทำ CBEC อาจจะเป็นเพราะความรู้ยังจำกัด ผู้ประกอบการยังไม่ทราบว่ายังมีช่องทางการจำหน่ายนอกประเทศ หรือบางคนรู้แต่ไม่ทราบขั้นตอนการเริ่มต้น ทีมงาน AGS ไทยจะตอบความต้องการในส่วนนี้ได้”

AGS เป็นหน่วยงานเฉพาะที่ตั้งขึ้นมาเพื่อธุรกิจ CBEC สิ่งที่ทีมงาน AGS ไทยจะทำคือการร่วมมือ และสนับสนุนผู้ให้บริการไทยตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงจะเฟ้นหาพันธมิตรเพื่อร่วมมือให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มต้นขายและสร้างแบรนด์ได้จริงในตลาดแต่ละประเทศ ครอบคลุมทุกขั้นตอนทั้งการใช้เครื่องมือ การเขียนบรรยายสินค้า การถ่ายภาพ การส่งสินค้า การรับชำระเงิน และการรับประกันสินค้า ทั้หมดนี้บริษัทมุ่งหวังเป็นบริการครบวงจร สำหรับ SME ที่ต้องการทำ CBEC แบบมีประสิทธิภาพ

ตลาด CBEC สำหรับ SME นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมา สินค้าจากผู้ขายรายย่อยหรือ SME กินส่วนแบ่งสูงขึ้นต่อเนื่องบนแพลตฟอร์ม Amazon จากที่เคยมี 3% ในปี 1999 วันนี้สัดส่วนเติบโตเป็นเกินครึ่งหรือ 58% ในปี 2018 ที่ผ่านมา สะท้อนว่า Amazon สนับสนุนผู้ขายรายย่อยให้เข้ามาขายบนแพลตฟอร์ม กลายเป็นสัดส่วนสำคัญของบริษัท

“วันนี้เรามีผู้ขาย SME เกิน 2 แสนรายที่สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านเหรียญบน Amazon คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกิน 20% เมื่อเทียบกับปี 60 ทั้งหมดนี้ส่งให้สินค้าเกิน 50% ที่ถูกขายบน Amazon เป็นสินค้าจาก SME”

ภายใต้ชื่อบริษัท AWS

แม้ผู้บริหาร Amazon จะระบุว่าให้ความสำคัญกับตลาดไทย เพราะไทยเป็นประเทศแรกที่ Amazon ตั้งสำนักงานนอกสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค แต่ทีมงาน AGS จะดำเนินการภายใต้ชื่อบริษัทอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) ซึ่งเป็นชื่อบริษัทดั้งเดิมที่เคยดำเนินการจดทะเบียนเป็นบริษัทในไทย จุดนี้ผู้บริหารเผยว่าไม่เชิงเป็นการอยู่ภายใต้ AWS แต่เป็นการใช้ชื่อบริษัทที่มีอยู่แล้วในประเทศ เพื่อให้สามารถเริ่มทำงานได้เร็วขึ้น

ก่อนเปิดออฟฟิศใหม่ให้ทีมงาน AGS ที่ผ่านมา Amazon มีการร่วมมือกับผู้ให้บริการหลายส่วนเพื่ออำนวยความสะดวก SME ให้ดำเนินการส่งออก CBEC แล้ว โดยได้เริ่มโปรแกรมจัมป์สตาร์ท (JumpStart) ซึ่งเป็นการอบรมฟรีในห้องประชุมลักษณะเหมือนห้องเรียนจำนวน 100 คน แต่สำหรับการติดต่อขอรับบริการ AGS ทีมงานไทย SME จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้น 39.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 1,277 บาท) ซึ่งยังไม่รวมค่าธรรมเนียมการขายอื่นๆ และค่าเก็บสินค้าในคลัง FBA ที่มีมากกว่า 175 แห่งทั่วโลก

ยังไม่แน่ชัดว่าการร่วมมือกับ AGS จะทำให้ SME ไทยลดต้นทุนการส่งออกจากปกติได้หรือไม่ แต่เบื้องต้นผู้บริหารยืนยันว่าบริการ FBA มีค่าบริการเริ่มต้นไม่สูง คือราว 1-2 เหรียญสหรัฐต่อชิ้น บริการนี้จะช่วยให้ผู้ผลิตไม่ต้องส่งสินค้าให้ลูกค้าไปแบบ 1 ต่อ 1 แต่ AGS จะจับมือกับผู้จัดส่งรายใหญ่ เพื่อส่งไปเก็บในคลังรอบเดียว จุดนี้จะประหยัดกว่าการดีลหาผู้จัดส่งสินค้าเอง

ไม่สนทุเรียน ไม่ออกความเห็นเรื่องภาษี

หนึ่งในสิ่งที่ชัดเจนคือทีมงาน AGS ไทยจะยังไม่สนใจสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนที่เคยเป็นข่าวดังว่าสามารถจำหน่ายหมดเกลี้ยงบนคู่แข่งอย่างอาลีบาบา (Alibaba) โดยกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการ SME ไทยที่ทีมงาน AGS ไทยจะให้ความสำคัญก่อนใครประกอบด้วย 5 ประเภทสินค้า ได้แก่ 1. เสื้อผ้า แฟชั่น 2. เครื่องแต่งบ้าน 3. สินค้าสัตว์เลี้ยง 4. อุปกรณ์กีฬา 5. ของเล่น ทั้งหมดนี้พิจารณาจากความต้องการของผู้บริโภคสหรัฐฯ

สำหรับโค้ชอิสระที่เปิดคอร์สสอนการทำตลาด Amazon ซึ่งคนไทยจำนวนไม่น้อยคุ้นตาดี ผู้บริหารระบุว่า Amazon มีนโยบายสนับสนุนคอมมูนิตี้ในวงกว้าง เพื่อให้ความรู้เรื่องการขายบน Amazon ถูกกระจายและมีการแลกเปลี่ยนเสรี

ด้านนโยบายด้านภาษีจากการขายสินค้าบน Amazon ผู้บริหารระบุเพียงว่าสิ่งที่บริษัทต้องการทำคือการสร้างมาร์เก็ตเพลสที่ดีที่สุด ทั้งในฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย ดังนั้นประเด็นภาษีบุคคลถือเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามกฏหมาย ซึ่ง “ทางเราไม่มีความเห็นในส่วนนั้น”.


กำลังโหลดความคิดเห็น