มูลค่าในตลาดอีสปอร์ตกว่า 2.2 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา กลายเป็นตัวเลขที่ยั่วยวนให้หลายฝ่ายให้ความสนใจ นอกจากผู้ให้บริการเกมที่มีการแข่งขันกันสูงมากแล้ว ในกลุ่มของผู้ให้บริการเครือข่ายก็ต้องขยับตัวตาม เพื่อคว้าโอกาสในการสร้างรายได้จากตลาดนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
โดยแนวทางที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ การที่โอเปอเรเตอร์เข้าไปจับมือเป็นพันธมิตรแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับเกมที่กำลังได้รับความนิยม หรือมีแนวโน้มที่จะดังในอนาคตอันใกล้ ไปจนถึงการจัดแข่งขันเกมนั้นๆ
ดังจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของโอเปอเรเตอร์รายใหญ่อย่าง เอไอเอส ที่ประกาศยุทธศาสตร์ชัดเจนในการเข้าไปร่วมมือกับทาง สิงเทล (Singtel) เพื่อร่วมพัฒนาวงการอีสปอร์ตอย่างจริงจัง ด้วยการจัดกิจกรรมส่งตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในระดับภูมิภาค ก่อนเดินหน้านำบริการต่างๆ เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม
***AIS ลุยทั้งโมบาย และไฟเบอร์
ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า การเข้ามาเป็นแกนหลักเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม อีสปอร์ต ในทุกมิติ ตั้งแต่โครงสร้างดิจิทัลพื้นฐาน การพัฒนาเครือข่าย ผสมผสานบริการระหว่างโมบาย และฟิกซ์บรอดแบนด์ จะช่วยพัฒนาทักษะของนักกีฬา และเกมเมอร์ไทยให้ขึ้นสู่เวทีระดับโลกได้
ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ AIS eSports คือ 1.การเชื่อมคนไทยสู่โลกอีสปอร์ตทั้งการให้บริการแพกเกจอินเทอร์เน็ต การนำอุปกรณ์ชั้นนำมาให้คนไทยได้เข้าถึง 2.สร้างแพลตฟอร์มการแข่งขันในเวทีระดับมหาวิทยาลัย ระดับประเทศ และทั่วโลกกว่า 10 ทัวร์นาเมนท์ต่อเนื่องตลอดปี
3.เปิดช่องถ่ายทอดสดกีฬาอีสปอร์ตผ่าน AIS Play ในการนำรายการแข่งขันจากทั่วโลก รวมถึงการแข่งขันเวทีต่างๆในไทย และ 4.เข้าไปร่วมกับสถาบันการศึกษา ในการสนับสนุนโครงการ eSports Academy
สำหรับเกมที่เอไอเอส เข้าไปเป็นพันธมิตรแบบเอ็กซ์คลูซีฟอยู่ในเวลานี้คือเกมฮิตอย่าง PUBG ที่เปิดให้ลูกค้าเล่นฟรีแบบไม่เสียค่าเน็ต และยังมีการทำตลาดซิมพิเศษที่แถมไอเทมในเกม รวมถึงการจัดการแข่งขันถึง 4 ทัวร์นาเมนท์ในปีนี้
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่สุด กลับอยู่ที่การปรับบริการ AIS Fibre ที่ให้บริการไฟเบอร์บรอดแบนด์แก่ลูกค้าทั่วไป ให้มารองรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการนำไปใช้เพื่อการเล่นเกมโดยเฉพาะ ชูจุดเด่นในเรื่องของความหน่วงต่ำ (Low Latency) ทำให้เล่นเกมได้ลื่นไหล
จุดเด่นของแพกเกจ AIS Fibre eSports คือการแยกท่อการให้บริการสำหรับเล่นเน็ตปกติ และเล่นเกมออกจากกัน ให้กลายเป็น Dual Bandwidth ทำให้สามารถใช้เน็ตแบบ 300/300 + 300/300 Mbpsได้ในราคา 990 บาท
***ทรูมูฟ เอช เริ่มขยับจากซิมอีสปอร์ต
ในส่วนของทรูมูฟ เอช ก็เริ่มเดินกลยุทธ์ทางด้านอีสปอร์ตเช่นเดียวกัน ด้วยการออกซิมเติมเงินสำหรับลูกค้าที่เน้นเล่นเกมโดยเฉพาะ ประเดิมด้วยซิม 4G+ eSports SIM ที่มีโปรหลักคือเล่น ROV ฟรี พร้อมกับใช้งาน YouTube (ฟรีในช่วงเที่ยงคืน - เที่ยงวัน) รวมถึง LINE และ TrueWiFi
ลูกค้าที่ใช้ซิมอีสปอร์ต หรือเปลี่ยนแพกเกจมาใช้งาน จะได้รับเควสพิเศษ ที่จะได้รับไอเทมฟรี เมื่อสมัครแพกเสริมต่างๆ ครบตามจำนวนเงินที่กำหนดเริ่มต้นที่ 600 - 2,000 บาท ไม่นับรวมกับการจัดการแข่งขัน RoV Young Master Championshop ที่ทางทรูมูฟ เอช เข้าไปสนับสนุน
เพียงแต่ว่าในกลุ่มทรู ไม่ได้มีเฉพาะการเป็นผู้ให้บริการมือถือเท่านั้น เพราะยังมีหน่วยธุรกิจอย่างทรู ดิจิทัล ที่ขาหนึ่งเป็นผู้ให้บริการเกมออนไลน์อยู่ด้วย ดังนั้น เชื่อว่าหลังจากนี้จะได้เห็นการคอนเวอร์เจนซ์กันภายในกลุ่มทรูมากขึ้นด้วย
หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ เรื่องของอีวอลเล็ตที่ใช้ในการเติมเกม ที่ปัจจุบันทรู มันนี่ ยังเป็นผู้ให้บริการที่ครองตลาดดังกล่าวอยู่ และเป็นช่องทางเลือกแรกๆในการเติมเงินเข้าเกม โดยได้อานิสงค์มาจากในสมัยที่เกมบนพีซียังได้รับความนิยม พอย้ายแพลตฟอร์มมาอยู่บนมือถือก็ทำให้ฐานเกมเมอร์ที่ใช้งานตามมาด้วย
ในจุดนี้ทำให้อีก 2 โอเปอเรเตอร์ ต้องหันมาใช้การทำโปรโมชัน อย่างการให้ลูกค้าได้รับไอเทมพิเศษเมื่อเติมเงินเกมผ่านระบบโอเปอเรเตอร์บิลลิ่ง ซึ่งในขณะเดียวกันก็จะช่วยเพิ่มฐานค่าใช้จ่ายต่อเบอร์ต่อเดือนให้สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
***ดีแทค ล็อกเป้าฐานลูกค้าเล่นเกม 30%
สุดท้าย ในมุมของดีแทค ซึ่งกลายเป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียว ที่ไม่มีบริการด้านอื่นๆมาเสริม ทำให้เลือกจับมือกับทาง การีนา เป็นพันธมิตรแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับเกม Free Fire ที่ให้ลูกค้าซื้อแพกเสริมเน็ต จะได้รับไอเทมพิเศษภายในเกม
ขณะเดียวกันก็เปิดใช้ระบบชำระเงินในเกมของดีแทค เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลูกค้ามีการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอด ARPU ในกลุ่มเกมเมอร์ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าลูกค้าที่เป็นเกมเมอร์ ถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ เพราะถ้าพึงพอใจกับเครือข่ายแล้ว จะไม่มีเหตุผลให้ย้ายค่ายไปไหน
สุกัณณี เลิศสุขวิบูลย์ ผู้อำนวยการ สายงานการตลาดระบบเติมเงิน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ระบุว่า ในฐานลูกค้าของดีแทค มีกลุ่มผู้ใช้งานที่สนใจ และมีการดาวน์โหลดเกมมาเล่นราว 30% ซึ่งพบว่าค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายของลูกค้าที่เติมเงินเกม จะสูงกว่าลูกค้าเติมเงินที่ใช้งานปกติกว่า 1 เท่าตัว
ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ดีแทค เร่งทำกิจกรรมทางการตลาดด้วยการเข้าไปสนับสนุนกลุ่มเกมเมอร์เพิ่มมากขึ้น และเชื่อว่าค่าเฉลี่ยการใช้งานทั้งระบบเดิมอยู่ที่ 250 บาท จะมีการปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับปริมาณการใช้งานดาต้า ที่จะปรับสูงขึ้นเช่นเดียวกันเมื่อลูกค้าเล่นเกม
จะเห็นได้ว่า รูปแบบในการหันมาจับตลาดอีสปอร์ตของโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายในเวลานี้ จะไม่ได้มีจุดเด่นที่แตกต่างกันมากนัก เพราะเน้นที่การนำบริการที่มีอยู่เข้าไปเสริมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกจ่ายตามเกมที่เล่นเป็นหลัก
แต่เชื่อว่าในระยะยาวแล้ว เครือข่ายที่มีบริการให้ผสมผสานหลากหลายรูปแบบกว่า ก็จะได้เปรียบเพราะผู้บริโภคย่อมมองหาอีโคซิสเตมส์ที่จะเข้ามาช่วยเสริมการเล่นเกมให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่มีเงินเติมเกมเพียงอย่างเดียว แต่เครือข่ายก็ต้องเสถียร และสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีด้วย