xs
xsm
sm
md
lg

5G ที่ยั่งยืนต้องมาพร้อมโรดแมปคลื่นความถี่ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ อเล็กซานดรา ไรช์ และ มนต์ชัย หนูสง ประกาศดีแทคผนึก ทีโอที กสท โทรคมนาคม ลุยทดสอบ 5G อย่างยั่งยืนพร้อมหาแนวทางธุรกิจ
โจทย์ของการไปสู่ 5G ตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้บริการที่สร้างขึ้น มีรายได้ และทำกำไรได้จริง ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมสำหรับ 5G มีต้นทุนสูง เพราะต้องลงเครือข่ายถี่ และใช้เฉพาะพื้นที่ที่ใช้บริการ ทำให้แนวคิดในการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมร่วมกัน กลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของการลงทุน

นอกจากนี้ 5G จำเป็นต้องใช้คลื่นทั้งสูง กลาง ต่ำ เพื่อให้บริการ และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) แต่ละรายต้องมีคลื่นในการให้บริการอย่างน้อย 100 MHz ดังนั้นอีกสิ่งที่สำคัญของโอเปอเรเตอร์คือการรู้ถึงโรดแมปการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจน ว่าจะนำคลื่นไหนมาประมูลบ้าง เมื่อไหร่ และมีราคาอย่างไร

*** แนะรัฐทำแผนคลื่นความถี่

"อเล็กซานดรา ไรช์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า คลื่นความถี่คือสิ่งสำคัญยิ่งในการปูพื้นฐานสู่ 5G เพราะการใช้งานและการทดสอบบริการ (Use case) ต่างๆจะทำให้พิสูจน์ถึงความต้องการใช้คลื่นความถี่ที่กว้าง และ 5G ต้องการใช้ทั้งคลื่นย่านความถี่สูง-กลาง-ต่ำ ดังนั้น จึงตอกย้ำว่าประเทศไทยควรทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum roadmap) ก่อนการจัดสรรคลื่นครั้งต่อไป รวมทั้งรูปแบบการจัดสรรคลื่นความถี่ในปัจจุบัน การออกแบบการประมูลที่ดีจะทำให้กำหนดราคาคลื่นความถี่ที่ยุติธรรมในการทำตลาด และป้องกันราคาประมูลที่สูงเกินจริง

"ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดแผนและการนำคลื่นย่านความถี่ต่างๆ ที่ชัดเจนมาใช้งาน เพราะการจะให้บริการ 5Gได้นั้นต้องมีคลื่นความถี่ที่เพียงพออย่างน้อย 100 MHz ต่อราย และจะต้องมีการกำหนดราคามูลค่าคลื่นความถี่ที่เหมาะสมและยืดหยุ่นในการลงทุน"

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องสนับสนุนแนวทางกำกับดูแลในการขยายโครงข่าย 5G ในเรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) หรือจัดทำหน่วยงานกลางรับผิดชอบในรูปแบบ Infrastructure Company โดยจะต้องสนับสนุนเพื่อให้ภาคเอกชนได้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและขยายโครงข่ายได้รวดเร็ว ซึ่งดีแทคพร้อมที่จะประสานงานและสนับสนุนภาครัฐทุกหน่วยงาน

ขณะที่ "วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา " รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐอยู่ระหว่างการทำแผนคลื่นความถี่อยู่โดยได้กำหนดให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอีคือ สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ดำเนินการและจะต้องส่งให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาต่อไป ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยที่ประเทศไทยเองไม่เคยมีนโยบายและแผนแห่งชาติมาก่อน แต่ตอนนี้รัฐมีแล้วและจะเร่งดำเนินการรวมถึงการรีฟาร์มมิ่งคลื่นความถี่ด้วย

"กระทรวงยังได้แต่งตั้ง คณะทำงานเพื่อดูแลความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมในการทดสอบ 5G ร่วมกัน และจัดทำแผนสู่ 5G (5G Road map) พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับ กสทช. เพื่อกำหนดอนาคต 5G และแผนการทดสอบร่วมกัน ซึ่งตอนนี้การทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงและกสทช.มีการประสานงานกันดีมาก"

ส่วนเรื่องการใช้โครงสร้างโทรคมนาคมร่วมกัน กระทรวงดีอีก็เดินหน้าในการเชิญชวนให้โอเปอเรเตอร์มาใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันด้วย โดยเริ่มจากดีแทค บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อทดสอบการใช้บริการ 5G ร่วมกัน ทั้งพื้นที่ในอีอีซี และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าทั้ง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ก็จะเห็นแนวโน้มในการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันด้วย

***เปิดยูสเคส 5G ต้องทำธุรกิจได้จริง

สำหรับยูสเคส ที่ดีแทค ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ทำร่วมกัน และคาดว่าจะเริ่มเปิดทดลองภายในไตรมาสสามปีนี้นั้น "อเล็กซานดรา" กล่าวว่า ประเทศไทยจะไม่ล้าหลังประเทศอื่นๆ แน่นอน ตามที่ใครๆก็พูดว่า จะเริ่มกันในปี 2563 แต่การทำยูสเคสนั้น จะต้องเป็นยูสเคสที่หาความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ โดยทีโอทีได้ร่วมมือในการทดสอบด้วยการนำโครงการเสาอัจฉริยะ หรือสมาร์ทโพล (Smart pole) ซึ่งเป็นเสาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลยุค 5G ที่ออกแบบให้ใช้งานโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure sharing) เสาอัจฉริยะ Smart pole นี้จะถูกนำไปทดสอบ 5G Testbed ในพื้นที่ตามที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. มาร่วมทดสอบ 5G ขณะที่ความร่วมมือกับ กสท โทรคมนาคม จะร่วมกันทั้งการใช้โครงสร้างพื้นฐาน ฐานข้อมูลความรู้ และประสบการณ์ร่วมกัน สำหรับการทดสอบ โครงการ "PM 2.5 Sensor for All" วัดค่าคุณภาพอากาศ

"ดีแทคจะใช้ 6 คลื่นความถี่ในการทำยูสเคส 5G คือ ได้แก่ 26-28 GHz, 3.5 GHz ,2300-2600 MHz และในย่าน 1800 MHz โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จากอีริคสัน หัวเว่ย และโนเกีย"

ดีแทคสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อเปิดทดสอบการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ยกระดับการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการบริหารจัดการแปลงเกษตร โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน มาทำหน้าที่ฉีดพ่นปุ๋ยและสารอาหารที่จำเป็นให้กับพืชในแปลงปลูกขนาดใหญ่มากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป โดยจะใช้คลื่นย่านความถี่ต่ำเพื่อครอบคลุมสัญญาณทุกพื้นที่ในแปลงเพาะปลูก และคลื่นย่านความถี่สูงเพื่อควบคุมความแม่นยำของโดรน ที่ทำงานร่วมกันกับ RTK ซึ่งเป็นระบบระบุพิกัดและตำแหน่ง ที่มีความแม่นยำสูงมาก ทำให้เกษตรกรระบุตำแหน่งฉีดพ่นปุ๋ยได้ตรงความต้องการแม้จะอยู่ในพื้นที่มีสิ่งกีดขวางหรือถูกปกคลุมหนาแน่น

ด้าน "มนต์ชัย หนูสง" กรรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า เราอยากให้ 5G เป็นเรียลลิตี้ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีต้องมีเพราะจะเป็นการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนต่างๆ ถึงแม้จะมีไฟเบอร์ออปติกแล้วก็ตาม แต่ก็จำเป็นต้องมี 5G ในพื้นที่ที่ไฟเบอร์เข้าไม่ถึง การลงทุนไม่ควรซ้ำซ้อน เพราะตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่ายูสเคสไหนจะหากำไรได้จริง การร่วมมือกันจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพราะแนวโน้มทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้ ไม่เช่นนั้นค่าบริการต้องแพง เพื่อให้คุ้มกับการลงทุน

สำหรับโครงการทดสอบการใช้งาน 5G Testbed นั้น ทีโอที จะนำเสาอัจฉริยะ หรือสมาร์ทโพล (Smart pole) มาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สื่อสารทุกรูปแบบ ทั้งอุปกรณ์สื่อสาร 5G, อุปกรณ์กระจายสัญญาณ WiFi, กล้องวงจรปิด CCTV, ไฟฟ้า, แสงสว่าง, EV Charging Station จอดิสเพลย์ รวมถึง IoT ทั้งนี้ เสาอัจฉริยะ Smart pole นี้จะถูกนำไปทดสอบ 5G Testbedในพื้นที่ตามที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน กสทช.

ปัจจุบันมีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อประโยชน์ในภาพรวมของประเทศในการเข้าสู่ 5G ซึ่งใช้คลื่นความถี่สูงย่าน 26-28 GHz โดยคลื่นย่านความถี่สูงที่จะนำมาใช้งานนั้นมีการกระจายสัญญาณได้ในระยะสั้น จึงจำเป็นต้องขยายเสาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าการให้บริการด้วยคลื่นที่ใช้ในปัจจุบันถึง 40 เท่า โดยจะต้องสร้างสถานีฐานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40-50 เท่า ซึ่งเสาอัจฉริยะ (Smart pole) จะทำให้เกิดความร่วมมือของอุตสาหกรรมในประเทศในการเข้าสู่ 5G

ขณะที่ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศจากการทดสอบที่ได้จัดเก็บไว้แบบเรียลไทม์ด้วยระบบคลาวด์ ผ่านเซ็นเซอร์ในพื้นที่แต่ละแห่งนั้น เมื่อใช้งานโครงข่าย 5G จะสามารถยกระดับจาก IoT สู่ massive IoT ติดตั้งเซ็นเซอร์จำนวนมากได้เพิ่มขึ้นและแม่นยำยิ่งขึ้น และยังสามารถนำมาออกแบบสู่แหล่งข้อมูลกลางที่นำเก็บค่าดัชนีคุณภาพอากาศจากทุกพื้นที่นำมาประมวลผลร่วมกัน (Calibrate) เป็นบิ๊กดาต้าบนคลาวด์ที่มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศของไทยได้มาตรฐานกว่าที่เคยมีรายงานมาก่อน

การทดสอบดังกล่าวจะสามารถพัฒนาสู่รูปแบบทางธุรกิจ เช่น หน่วยงานหรือบริษัทต้องการนำข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศซึ่งรายงานผ่านระบบคลาวด์ไปออกแบบใช้งานด้านปรับปรุงคุณภาพอากาศต่างๆ บนแอปพลิเคชัน หรือภาครัฐสามารถออกแบบป้องกันค่าฝุ่นละอองได้แม่นยำยิ่งขึ้น

การร่วมกันทำยูสเคสครั้งนี้จึงต้องเริ่มจริงจัง ไม่เพียงแค่การโชว์เทคโนโลยี แต่ต้องคำนึงถึงการนำมาใช้เพื่อสร้างรายได้ทางธุรกิจด้วย ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องเร่งจัดทำโรดแมปคลื่นความถี่ให้ชัดเจนอย่างเร็วที่สุดควบคู่ไปด้วยเพื่อให้ 5G เกิดอย่างยั่งยืน



กำลังโหลดความคิดเห็น