xs
xsm
sm
md
lg

'ฐากร' เล็งออกหลักเกณฑ์ เก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้โครงข่ายของ OTT รับ 5G

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลขาธิการกสทช. เผยไอเดียเก็บรายได้จากการใช้โครงข่ายของผู้ให้บริการ OTT ตามปริมาณการใช้งาน เตรียมชงบอร์ดกสทช.ออกหลักเกณฑ์ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตย์เวย์ส่องปริมาณข้อมูลหากมีการใช้งานมากต้องเสียค่าบริการใช้โครงข่ายเหมือนการใช้งานทางด่วน คาดนำไอเดียเสนอในที่ประชุมโอเปอเรเตอร์อาเซียนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนสิงหาคมนี้ด้วย หวังจับมือร่วมกันสร้างเงื่อนไขเก็บค่าบริการ คาดคลอดหลักเกณฑ์พร้อมกับการให้บริการ 5G

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ปริมาณการใช้ข้อมูลของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลปีที่แล้วพบว่าคนไทยใช้ข้อมูลเฉลี่ย 5 เทราไบต์ต่อคนต่อปี ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าการใช้ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นกว่า 40 เท่า

ดังนั้นตนเองจึงมีแนวคิดในการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ถึงแนวทางการออกร่างประกาศหลักเกณฑ์ในการเก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้โครงข่ายจากผู้ให้บริการเนื้อหาที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (Over The Top : OTT ) เปรียบเสมือนการเก็บค่าทางด่วน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดปริมาณการใช้งานว่าควรจะเก็บที่ปริมาณเท่าไหร่ ปริมาณไหนให้ใช้ฟรี สำหรับให้บริการประชาชนแบบไม่เสียเงิน หรือ ปริมาณแค่ไหนที่มากเกินไปเพราะนำแบนด์วิธไปหารายได้เชิงธุรกิจ หากพบว่ามีปริมาณการใช้งานมากแต่ไม่เสียค่าบริการความเร็วในการใช้งานก็จะลดลง เพื่อให้ OTT หันมาจ่ายค่าบริการ

โดยเบื้องต้น กสทช.จะมอบหมายให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ 17 ราย เป็นผู้รายงานข้อมูลปริมาณการใช้ดาต้าของแต่ละผู้ให้บริการ OTT เพื่อประกอบเป็นข้อมูลในการตัดสินใจก่อน ทำสถิติและวิเคราะห์กันต่อไป

'ผมขอย้ำว่าเราไม่ได้เก็บภาษีจาก OTT เพราะกสทช.ไม่มีหน้าที่ในการเก็บภาษี หากเขาไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในไทย และหากจดในไทยก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นเรื่องตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่เราต้องการเก็บค่าบริการในการใช้โครงข่าย เพราะรัฐเป็นผู้ลงทุน และรายได้ที่ได้มานอกจากจะนำไปบำรุงรักษาโครงข่ายแล้ว ส่วนที่เหลือก็จะนำส่งให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องทำคู่ขนานกันไปกับ 5G และประกาศออกมาพร้อมกัน โดยแนวคิดนี้ยังไม่เคยมีใครคิดมาก่อน เราเป็นประเทศแรก ดังนั้นในการประชุมโอเปอเรเตอร์อาเซียนซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือน ส.ค.นี้ กสทช.ก็จะเสนอแนวคิดนี้ต่อที่ประชุมดังกล่าวด้วย'

สำหรับแผนการจัดสรรคลื่นของกสทช. ขณะนี้คาดว่าจะประมูลคลื่น 700 MHz ภายในปีนี้ ตามด้วยคลื่น 2600 MHz ช่วงปลายปี-ต้นปีหน้า โดยจะประมูลแบบมัลติแบนด์กับคลื่น 26 และ 28 GHz ส่วนคลื่น 3500 MHz อยู่ระหว่างการเรียกคืนคลื่นซึ่งต้องใช้เวลา เบื้องต้นได้หารือกับปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แล้ว อยู่หว่างการทำรายงานสรุปว่าจะเรียกคืนได้เท่าไหร่ เพราะคลื่นนี้เป็นคลื่นของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) อยู่ในสัญญาสัมปทานกับกระทรวงดีอี ที่กำลังจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปีหน้า คาดว่าจะสามารถประมูลได้ภายในปีหน้า เช่นกัน

ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่า ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้บริการ OTT ต่างประเทศ 3 รายใหญ่ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ยูทูป และไลน์ โดยจากสถิติปี 2561 พบว่า เฟซบุ๊ก มีจำนวนผู้ใช้งาน 61 ล้านบัญชี มียอดใช้ 655 ล้านครั้งต่อเดือน, ยูทูป มีจำนวน 60 ล้านบัญชี ยอดใช้ 409 ล้านครั้งต่อเดือน และ ไลน์มีจำนวน 55 ล้านบัญชี ยอดใช้ 126 ล้านครั้งต่อเดือน

ส่งผลให้ผู้ประกอบการในไทย ต้องขยายโครงข่ายเพื่อรองรับปริมาณข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้น ขณะที่ ผู้ให้บริการ OTT ไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการหามาตรการเก็บค่าบริการในการใช้โครงข่ายกับ OTT เหล่านี้

ส่วนเรื่อง 5G ล่าสุดสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้ประกาศผ่านเว็บไซต์แล้ว ว่าจะพยายามนำผู้เชี่ยวชาญของทั้งโลกมาร่วมหารือกันวางมาตรฐานคลื่นความถี่สำหรับบริการ 5G โดยกำหนดเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ดังนั้นทั้งโลกจะสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

โดยปัจจุบันมีบางประเทศเริ่มนำร่องเปิดบริการไปบ้างแล้ว เพราะต้องการเป็นประเทศแรกๆ แม้ว่ามาตรฐานระดับโลกยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนประเทศไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องการเตรียมความพร้อม และการทดสอบการใช้งานอย่างเข้มข้น ทั้งในศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกระทรวงดีอี ขอความร่วมมือใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

โดยทั้งสองแห่งได้รับการตอบรับจากผู้ทดสอบในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ผู้ให้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ต ผู้ผลิตอุปกรณ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาธารณสุข และโรงงานอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังวางแผนรับการเปิดบริการ 5G เชิงพาณิชย์ปีหน้า โดยกสทช.อยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบการประมูลคลื่น 5Gซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างจากการประมูล 3G และ 4G ที่ผ่านมา เพราะมองเห็นชัดเจนว่า การใช้ 5G จะเปลี่ยนแปลงการใช้ข้อมูลให้มากขึ้น ด้วยความหน่วงต่ำระดับเสี้ยววินาที ความเร็วในการส่งข้อมูลสูงขึ้น 10-100 เท่าจาก 4G มีอัตราการส่งข้อมูลได้มหาศาล ดังนั้นจะก่อให้เกิดธุรกิจมหาศาล การที่ประเทศไทยได้เริ่มทำยูสเคสในตอนนี้จะทำให้เราได้รู้ว่ายูสเคสไหนที่จะสามารถสร้างรายได้ได้จริงซึ่งมีเวลามากพอในการทำกว่าประเทศไทยจะก้าวไปสู่ 5G ในปีหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น