xs
xsm
sm
md
lg

ถัดจากเพลง-เกม ปีนี้ “เทนเซ็นต์” ลุยวิดีโอสตรีมมิ่ง-คลาวด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ไคเซ็น ลี และ กฤตธี มโนลีหกุล
หลังจากส่งจู๊กซ์ (Joox) ขึ้นแท่นแอปเพลงฮิตติดตลาดไทยได้สำเร็จ ปีที่แล้ว เจ้าพ่ออินเทอร์เน็ตสัญชาติจีนอย่างเทนเซ็นต์ก็เปิดตัวเทนเซ็นต์เกมส์ (Tencent Games) เจาะตลาดเกมไทยด้วย PUBG สำหรับปีนี้ เทนเซ็นต์หันมาปั้นวีทีวี (WeTV) บริการวิดีโอสตรีมมิ่งน้องใหม่ซึ่งจัดเต็มซีรีส์จีนไทย นำร่องก่อนจะถึงแผนโปรโมทบริการคลาวด์ (Tencent Cloud) ให้เข้มข้นขึ้นอีกในปี 2019

กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานเปิดตัวบริการ WeTV ว่าไทยเป็นตลาดแรกที่เทนเซ็นต์เลือกประเดิมธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่งนอกเหนือจากประเทศจีน โดยถัดจาก WeTV บริษัทจะประกาศรายละเอียดของบริการคลาวด์ในช่วงต้นเมษายน ซึ่งจะเป็น 2 บริการหลักที่เทนเซ็นต์จะใช้เป็นพื้นที่ขยายตลาดใหม่ในปีนี้

“เหตุผลที่เทนเซ็นต์เลือกประเทศไทยเป็นตลาดแรก เพราะเท็นเซ็นต์มีทั้งเว็บไซต์อันดับ 1 อย่าง Sanook มีบริการเพลงอย่าง JOOX มีผู้ใช้ปัจจุบัน มีพฤติกรรมคนไทยที่ดูเนื้อหาออนไลน์ เรามีทีม มีพันธมิตร” กฤตธีระบุ “ตลาดของเทนเซ็นต์ถ้าดูในอาเซียน จะมี 2 ตลาดที่เราโฟกัสมากสุดคือไทยกับอินโด ไทยแม้จะตลาดไม่เล็กไม่ใหญ่แต่มีกำลังซื้อ”

ดีกรี “วิดีโอสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของจีน”

WeTV นั้นเป็นแอปพลิเคชันวิดีโอสตรีมมิ่งที่เทนเซ็นต์เปิดตัวไปตั้งแต่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา จุดเด่นคือการเป็นแอปพลิเคชันความบันเทิงระดับพรีเมียมจากประเทศจีน ที่รวบรวมซีรีส์ละคร, รายการวาไรตี้, ภาพยนตร์ และการ์ตูนแอนิเมชั่นจาก “บริการเทนเซนต์วิดีโอ” (Tencent Video) ซึ่งให้บริการในจีนมาตั้งแต่ปี 2011 และสามารถการันตีตัวเองว่าเป็นบริการวิดีโอสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของจีนด้วยยอดผู้ใช้งานมากกว่า 500 ล้านคนต่อเดือน โดยจำนวนผู้ใช้ในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 40% เพราะการเทงบสร้างวิดีโอเอ็กซ์คลูซีฟ รวมถึงการนำละครไทยเข้ามาเผยแพร่มากกว่า 20 เรื่อง


แทนที่จะใช้ชื่อ Tencent Video เทนเซ็นต์เลือกชื่อ WeTV แล้วทดลองให้บริการในไทยตั้งแต่ปลายปี 2018 โดยผู้ชม WeTV จะได้ชมวิดีโอถูกลิขสิทธิ์จากทั้งจีนและไทย พันธมิตรเอ็กซคลูซีฟไทยที่มีการเปิดเผยในขณะนี้มีช่อง one31 แห่งเดียว


“ช่วงทดสอบตอบรับดี วิดีโอสตรีมมิ่งยังเป็นตลาดที่ไม่ต้องแย่งยูสเซอร์ ผมมองว่ายังมีตลาด คนไทยดูแบบไม่ถูกลิขสิทธ์ 49% เป้าหมายของผมคือจะเปลี่ยนส่วนนี้ เบื้องต้นหวังที่กลุ่มคนดูหนังจีน เรายังแมสไม่ได้เพราะกำลังเริ่ม ช่วงกลางปีนี้จะเพิ่มบริการให้เต็มรูปแบบ เรากำลังมีเนื้อหาเพิ่มขึ้น ค่อนข้างหลากหลาย มีแผนร่วมกับโอเปอเรเตอร์ บันเดิลเป็นแพคเกจในอนาคต เดือนหน้าจะมีเว็บเวอร์ชัน และจะพัฒนาให้รองรับการชมบนสมาร์ททีวี”


ความมั่นใจของกฤตธีมาจากการสำรวจล่าสุดที่พบว่า 53% ของคนไทยออนไลน์ใช้เวลากับวิดีโอสตรีมมิ่ง ทั้งการชมการแข่งสดและภาพยนตร์ บวกกับการดูวิดีโอออนไลน์กลายเป็นพฤติกรรมธรรมดาท่ามกลางค่าอินเทอร์เน็ตที่ต่ำลง รวมถึงค่าเครื่องที่เอื้อให้วิดีโอสตรีมมิ่งแพร่หลาย


หากเจาะลงไปที่กลุ่มผู้ใช้ JOOX ของเทนเซ็นต์เอง กลุ่มตัวอย่างระบุว่านอกจากฟังเพลง ยังใช้มือถือดูทีวีออนไลน์ 60% เกม 55% ดูภาพยนตร์ 46% ชมทีวีออนไลน์ 44% และอ่านออนไลน์ 36% สถิตินี้เมื่อรวมกับความจริงที่ว่าคนไทยดูทีวีออนไลน์รวม 3.44 ช.ม.ต่อวัน ซึ่งมากกว่าการฟังเพลง 1.30 ช.ม. ต่อวัน ทั้งหมดนี้ทำให้เทนเซ็นต์มองเห็นความจำเป็นในการคลอด WeTV เพื่ออุดช่องว่างธุรกิจออนไลน์ที่มีอยู่


ไม่สายเกินแกง



ไคเซ็น ลี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ เทนเซ็นกรุ๊ป และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ Tencent Video ระบุว่ากลยุทธ์ของเทนเซ็นต์คือพยายามจะเชื่อมต่อทุกส่วนบริการออนไลน์ ที่ผ่านมา เทนเซ็นต์ให้บริการข่าว บริการโซเชียล บริการด้านความบันเทิง บริการชำระเงิน และบริการด้านเครื่องมือ ซึ่งบริการ WeTV จะเสริมส่วนบันเทิง จุดนี้บริษัทมั่นใจว่าการแจ้งเกิด WeTV ในไทยไม่ช้าเกินไป เพราะเป้าหมายหลักคือการเป็นทางเลือกให้คนไทยได้ชมเนื้อหาคุณภาพ


“เราต้องการมอบประสบการณ์ที่ดี แม้จะใหม่แต่ก็จะเน้นเนื้อหาคุณภาพ เชื่อว่าไม่สายไปเกินไปเพราะเมื่อเทียบกับวันที่เริ่มทำ Tencent Video เราใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6-7 ปีในการขึ้นเป็นอันดับ 1 การเปิดสตูดิโอของตัวเอง เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีเนื้อหาคุณภาพจนไต่อันดับรวดเร็วในช่วงปี 2017-2018 ที่เราเติบโต 40%”


นอกจากช่อง one 31 ลีระบุว่าบริษัทได้เจรจาพันธมิตรกับช่องใหญ่ของไทยต่อเนื่อง เพื่อนำเนื้อหาไทยไปเผยแพร่ผ่าน Tencent Video ซึ่งขณะนี้มีเนื้อหาใหม่จากหลายชาติเติมต่อเนื่องหลายร้อยเรื่องต่อปี สำหรับ WeTV ไทยจะมีให้บริการขณะนี้เกือบ 100 เรื่อง

ลียอมรับว่าอนาคต WeTV จะให้บริการสมาชิก WeTV แบบแฟมิลีแพลน ซึ่งเป็นรูปแบบบริการเหมาจ่ายที่คนไทยนิยมนำมาแชร์ค่าลิขสิทธิ์ระหว่างกลุ่มเพื่อน แต่ปัจจุบัน WeTV ให้บริการในลักษณะเดียวกับ JOOX คือผู้สมัครสมาชิกที่ไม่เสียค่าบริการ VIP จะชมวิดีโอได้แบบจำกัด และต้องชมตามตารางโดยมีโฆษณา แต่ถ้าเป็น VIP ก็จะตรงข้ามกัน ค่าบริการ WeTV ในไทยอยู่ระหว่าง 59 ต่อเดือน ถึง 398 บาทต่อ 3 เดือนซึ่งถือเป็นค่าบริการเริ่มต้นที่ต่ำที่สุดในกลุ่มวิดีโอสตรีมมิ่งที่ให้บริการในไทย

ในระยะแรก ผู้บริหารเทนเซ็นต์ยังไม่ฟันธงว่ารายได้ของ WeTV จะมาจากค่าบริการหรือโฆษณามากกว่ากัน โดยบอกว่ายังเร็วไปที่จะสรุป แต่เบื้องต้นจะเน้นที่ค่าบริการก่อน


พากษ์ไทยมาปีนี้


กนกพร ปรัชญาเศรษฐ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด Tencent Video ยืนยันว่าซีรียส์จีนบน WeTV จะมีพากษ์ไทยภายในปีนี้ โดยยอมรับว่าคนไทยที่นิยมดูซีรีส์จีนออนไลน์ยังไม่ขยายตัว แต่ก็มองเห็นช่องทางทำการตลาดผ่านเครือข่ายสื่อที่เทนเซ็นต์มีในประเทศไทย เบื้องต้นยังไม่เปิดเผยแผนลงทุนเพื่อใช้สื่อออฟไลน์ในการโปรโมทเนื้อหาเอ็กซ์คลูซีพที่หาดูที่ไหนไม่ได้ เชื่อว่าจะเจาะกลุ่มผู้หญิงที่นิยมดูซีรีส์อายุ 24-40 ปีได้สบาย

“Tencent Video จะเลือกนิยายออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จ มาให้บริษัทไทยผลิตแล้วเอาไปฉายอยู่แล้ว ดาราไทยก็ได้รับความนิยมในจีน เป็นการเอาท์ซอร์สที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่การร่วมมือระหว่างสตูดิโอไทยและสตูดิโอจีนไม่เคยเกิดขึ้น ยังต้องรอดูต่อไปในอนาคต”





กำลังโหลดความคิดเห็น