xs
xsm
sm
md
lg

ซิสโก้ชูกลยุทธ์ 'สะพานเชื่อมธุรกิจสู่ดิจิทัล'

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในงานประชุม Cisco Live 2019 ที่นครเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซิสโก้เผยภาพใหญ่กลยุทธ์การขับเคลื่อนสู่ดิจิทัลทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ขณะที่ซิสโก้ไทยปรับกลยุทธ์ยึด 5 แนวทางหลัก ร่วมพาร์ทเนอร์ผลักดันทักษะด้านไอทีและดิจิทัล สร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ มุ่งใช้ไอทีช่วยตอบโจทย์การแข่งขันให้องค์กรธุรกิจ

ภายในงานซิสโก้โชว์เทคโนโลยีและโซลูชั่นต่างๆ ให้ผู้เข้าร่วมงานที่เป็นพาร์ทเนอร์ คู่ค้า ลูกค้ากว่า 8,000 คนที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ได้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านหรือปรับตัวสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มได้อย่างทันยุคและปลอดภัย ซึ่งซิสโก้มองว่า การเปลี่ยนความคิดถือเป็นอุปสรรคแรกในการเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ส่วนความยืดหยุ่นและความร่วมมือของทุกภาคส่วนถือเป็นกุญแจสำคัญ

มิยูกิ ซูซุกิ ประธานซิสโก้ เอเชียแปซิฟิกญี่ปุ่นและจีน ชูแนวคิดที่ว่า 'อย่าหยุดพัฒนาเมื่อคุณมีโอกาส' โดยเปรียบเทียบความสำเร็จของ Airbnb สตาร์ทอัปแบ่งปันที่พัก ชื่อดังที่เปิดโอกาสให้เจ้าของที่อยู่อาศัยนำเสนอที่พักจากทั่วทุกมุมโลกผ่านแพลตฟอร์ม Home Sharing ที่สามารถเปิดบ้านต้อนรับผู้ใช้มากถึง 90 ล้านคนทั่วโลก โดยสร้างแพลตฟอร์มทำให้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งสำหรับเจ้าของที่พักและผู้เข้าพัก เป็นอีกรูปแบบธุรกิจและเปิดโอกาสการสร้างรายได้ในยุคดิจิทัล
มิยูกิ ซูซุกิ ประธานซิสโก้ เอเชียแปซิฟิกญี่ปุ่นและจีน
การแข่งขันของธุรกิจมีความท้าทายเป็นอย่างมาก โลกที่เราอยู่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดิจิทัลดิสรัปชัน หรือการพลิกผันทางดิจิทัล กลายเป็นหัวใจสำคัญของผู้บริหารของทุกองค์กร และส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างหลีกหนีไม่ได้ อย่าหยุดพัฒนาและจินตนาการเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจไปสู่แบบที่ต้องการ

ทั้งนี้ ซิสโก้จะเป็น 'สะพานเทคโนโลยีเพื่อนำธุรกิจสู่ดิจิทัล' องค์กรธุรกิจและรูปแบบธุรกิจจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าที่ยากต่อการคาดเดา ต้องเข้าถึงประสบการณ์ของลูกค้า (Customers Experience)

มิยูกิ กล่าวถึง โครงการเมืองอัจฉริยะของญี่ปุ่น ที่เกียวโต ซึ่งซิสโก้ เข้าไปสนับสนุนตลอดจนเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะเพื่อจัดการกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยการจัดการระบบไฟแสงสว่างของเมือง ระบบเครือข่ายของกล้องวงจรปิด เกียวโตใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและยอมเปลี่ยนแปลง จากความกล้าที่จะเปลี่ยนนี้เองที่ทำให้มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นนำเกียวโตพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ

ด้าน เออร์วิง ตัน รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของซิสโก้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ซิสโก้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจ มีการนำเสนอและให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยหรือซิเคียวรีตี้มากยิ่งขึ้น

'ปัจจุบันเราอาศัยอยู่ในโลกที่เชื่อมต่อหลายมิติซึ่งประชากรกว่าครึ่งเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ การแปลงสู่ระบบดิจิทัลกำลังเปลี่ยนประสบการณ์และกระทบต่อโมเดลธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจของเราเองและนำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆให้ลูกค้าได้'
เออร์วิง ตัน
โดยยกตัวอย่างการนำAI (ปัญญาประดิษฐ์) กับ Machine Learning(ระบบการเรียนรู้ด้วยเครื่อง) มารวมตัวกันเพื่อสร้างระบบเสียงอัจฉริยะ สำหรับประสบการณ์ของลูกค้าเช่นการนำ chatbots มาใช้ที่สามารถนำเสนอประสบการณ์เฉพาะตัวสำหรับลูกค้า เทคโนโลยี 5G และ Wi-Fi 6 ที่จะทำให้การเชื่อมต่อในปัจจุบันเป็นมากกว่าการเชื่อมต่อ แต่เป็นการสร้างการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะทำให้ยานพาหนะสามารถสื่อสารกับยานพาหนะอื่น ๆ

ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานรอบตัวทั้งหมดนี้ความปลอดภัยถือเป็นประเด็นสำคัญ โดยพบว่าองค์กรใน APAC โดยเฉลี่ยเกี่ยวข้องกับการคุกคาม 10,000 ครั้งต่อวันโดยมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ถูกตรวจสอบ ซึ่งองค์กรที่เข้าใจวิธีการจัดระบบความปลอดภัยจะเป็นองค์กรที่ได้เปรียบในการแข่งขัน และจำนวน บริษัท ในเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับผลกระทบทางการเงินมากกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐจากการละเมิดทางไซเบอร์นั้นเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก

ด้วยปัจจัยด้านความปลอดภัยดังกล่าว ซิสโก้จึงมีการพัฒนาโซลูชั่นบนรากฐานของแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยและมีความชาญฉลาดเพื่อธุรกิจดิจิทัล ด้วยการผนวกรวม มัลติคลาวด์, ซีเคียวริตี้, ระบบเครือข่ายหรือเน็ตเวิร์ก, ดาต้าหรือข้อมูล สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและคู่ค้าเพื่อพัฒนาธุรกิจและองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างปลอดภัย

***ซิสโก้ไทยปรับกระบวนท่า

'วัตสัน ถิรภัทรพงศ์' กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จํากัด และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน ซิสโก้ประเทศไทยได้รับนโยบายจากบริษัทแม่ให้ปรับโมเดลตลอดจนกลยุทธ์การทำธุรกิจใหม่ มาเป็นการให้ความสำคัญกับซอฟต์แวร์มากยิ่งขึ้น ในกรณีที่ลูกค้าต้องการเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ในอนาคตก็ยังสามารถเอาซอฟต์แวร์ตัวเดิมไปรันบนเครื่องใหม่ได้ ซึ่งทำให้ซิสโก้มีรายได้ต่อเนื่องเพราะเป็นเรื่องของการsubscription มีรายได้จากซอฟต์แวร์รายปีจากลูกค้าด้วย

นอกจากนี้เพื่อช่วยและสนับสนุนองค์กรและธุรกิจไทยก้าวทันยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นนับจากนี้ต่อไปซิสโก้จะมุ่งเน้นใน 5 แกนหลักคือ1. ระบบเครือข่ายหรือเน็ตเวิร์ก (Network), 2. มัลติคลาวด์ (Multi Cloud), 3. ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security), 4. พลังของข้อมูล (Power of Data), 5. ประสบการณ์ของลูกค้า (Customers Experience)

'ถือเป็นไดเร็กชั่นที่ซิสโก้ทั่วโลกต้องเดินแนวทางหลักทั้ง5 แกนนี้ ส่วนในทางปฏิบัติก็แล้วแต่ประเทศไหนจะลงลึกในเรื่องใด หรือการทำงานในแต่ละเฟสที่ต่างกันออกไป'

อย่างประเทศไทยจะเน้นในเรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้ก่อนอื่น เพราะหลายครั้งจะเห็นข่าวว่ามีการใช้เมืองไทยเป็นฐานในการแฮกระบบ และหลายครั้งเช่นกันที่ซิสโก้ได้รับการติดต่อจากลูกค้าให้เข้าทำการปรับระบบเรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้ให้ อีกเรื่องที่ตามมาเป็นเน็ตเวิร์ก โดยส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนตามวาระเพราะใช้มานาน5-10 ปีแล้วถึงเวลาต้องเปลี่ยน

วัตสัน กล่าวว่า การผลักดันไปสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ตามแนวทาง 5 ส่วนนี้ต้องได้ความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน เริ่มจากนโยบายภาครัฐต้องมีการผลักดันจากด้านบน หรือผู้บริหารระดับสูง โดยมองว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจะไม่มีโอกาสเกิดจากระดับล่างได้เลย แต่ต้องเกิดจากระดับบนสั่งการมาก่อน แต่ก็แน่นอนทีมงานระดับล่างก็ต้องมีความพร้อมในการรับสนองนโยบายอย่างต่อเนื่อง คือนโยบายชัดเจน ทีมงานพร้อม เทคโนโลยีก็พร้อมตอบโจทย์อยู่แล้ว

'การทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นต้องคิดใหญ่ไว้ก่อน แต่เริ่มเล็กๆ เพราะการลงทุนจำนวนมากโอกาสที่ล้มเหลวก็มีมากเช่นกัน บางครั้งก็ไม่สามารถเห็นผลได้ทันที่ การอนุมัติลงทุนก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน อย่างที่เรียกว่า THINK BIG ACT SMALL โดยเริ่มจากโครงการเล็กๆก่อน'

นอกจากนี้ยังมองว่า IOT เป็นตัวสำคัญที่จะมาปฏิวัติวงการอุตสาหกรรม แต่ประเทศไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งในส่วนของซิสโก้จะมีโปรดักส์ที่ตอบสนองทั้ง 5 แกนหลัก อย่างเน็ตเวิร์กจะมี WiFi 6 ,Power of Data จะทำในส่วนของการนำข้อมูลจากเซ็นเซอร์มาประมวลผล จากก่อนหน้านี้ ที่คนจะนำข้อมูลเซ็นเซอร์แล้วขึ้นคลาวด์เลยซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก

'ยิ่งโลกต้องเชื่อมต่อมากเท่าไร ซิเคียวริตี้ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเท่านั้นจากปัจจุบันอุปกรณ์มีการต่อเชื่อมกันแค่ 10 % เท่านั้น อีก 90% ยังไม่เชื่อมต่อกันเลย ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการฝังไว้ตั้งแต่แรกๆ ไม่ใช่มาทำกันตอนหลัง'
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์
วัตสัน กล่าวถึงการทำตลาดผ่านพาร์ทเนอร์ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน เริ่มจากการคัดเลือกกลุ่มพาร์ทเนอร์เดิมมาเพื่อทำบิสิเนท ทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อให้รับรู้ว่าโลกกำลังจะเปลี่ยนไป ต้องรู้ตัวเองว่าจะต้องมุ่งไปทางไหนในช่วงจังหวะที่โลกกำลังจะเปลี่ยน ส่วนอีกกลุ่มคือพาร์ทเนอร์ใหม่ ซิสโก้กำลังพยายามสร้างชุมชนใหม่ขึ้นเพื่อให้สามารถเข้าใช้แพลตฟอร์มของซิสโก้ได้ โดยปัจจุบันผู้ที่เขียนซอฟต์แวร์ต้องผูกกับฮาร์ดแวร์โดยตรง เช่นซอฟต์แวร์เพื่อห้องประชุม หรือซอฟต์แวร์สำหรับฝ่ายขาย ซึ่งไม่สามารถไปดึงข้อมูลของฝ่ายบุคคลได้

'ก่อนหน้านี้คนเขียนซอฟต์แวร์จะไม่สนใจเรื่องพวกนี้เลย แต่จากนี้ไปเรื่องเหล่านี้ต้องผูกกันมากขึ้น อย่างการเขียนซอฟต์แวร์ระบบไฟก็ต้องรู้ด้วยว่าเป็นการเชื่อมกับ IOT พาร์ทเนอร์ยุคใหม่ของซิสโก้ ก็จะเข้ามาฝึกฝนเรื่องเหล่านี้ได้ เป็นการทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น'

ในแง่ความพร้อมการปรับตัวสู่ดิจิทัล ผู้บริหารซิสโก้มองว่ากลุ่มลูกค้าองค์กร อย่าง แบงก์ จะมีการปรับตัวได้ดีมาก ในแง่การประยุกต์ใช้โปรแกรม อีกกลุ่มคือภาคการผลิต อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เริ่มเห็นมีการลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ที่น่าห่วงคือกลุ่ม SMB เพราะมีการขยับตัวช้า

ซิสโก้กำลังมองว่าจะนำ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมาช่วยเหลือกลุ่ม SMB ได้อย่างไรบ้าง โดยเร็วๆนี้ในประเทศไทยกำลังเตรียมตัวในการผลักดันกลุ่ม SMB โดยจะชี้ให้เห็นข้อดีของการนำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมาปรับใช้ ที่เห็นได้ชัดคือ 1. ต้นทุน ถ้าทำถูกวิธีจะทำให้ต้นทุนถูกลง 2. ประสบการณ์ของลูกค้า ซึ่งถ้าทำถูกต้องแล้วจะประสบความสำเร็จด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งองค์กรธุรกิจและตัวลูกค้าเองก็จะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ 3. แพลตฟอร์ โดยดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจะทำให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้งานได้อย่างไม่มีขีดกำจัด

กรณีตัวอย่างของGrab จาก 5 ปีที่เป็นแค่สตาร์ทอัปเล็กๆ ปัจจุบันสามารถนำแพลตฟอร์มของซิสโก้ไปปรับใช้ได้ประโยชน์อย่างดี ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ ให้บริการด้านการขนส่งได้โดยไม่ต้องซื้อแท็กซี่เองสักคันเลย เป็นมิติใหม่ของการทำธุรกิจโดยไม่ต้องลงทุน เป็นการสร้างธุรกิจใหม่ๆที่เห็นผลในแง่การลดต้นทุนอย่างมหาศาล

ในแง่ประสบการณ์ของลูกค้า คนใช้แท็กซี่จากประสบการณ์ที่ไม่ดีกับการเรียกแท็กซี่แล้วไม่รับ ขณะเดียวกันเรากลัวคนขับ คนขับก็กลัวเรา ข้อดีคือเมื่อใช้แอปนี้คือรู้ประวัติของแท็กซี่ รู้เวลาจะมารับเมื่อไร ขณะที่คนขับแท็กซี่ก็จะรู้ก่อนว่าเค้ากำลังจะไปรับใคร เรียกได้ว่า วินวินด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

ในส่วนของWiFi 6 ก็มีการพูดถึงกันมากขึ้น โดยคอนเซ็ปต์ของโมบายล์ จะหมายร่วมไปถึง 4G 5G WiFi ด้วย โดยปัจจุบันพบว่ามีการเข้าถึง WiFi มากกว่าเน็ตเวิร์กเสียอีก แน่นอนว่า5G เป็นอนาคตอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วควรมีความบาลานซ์กันด้วย

'5G มีต้นทุนการทำสูงกว่า WiFi ป็น 10 เท่าอยู่แล้ว ส่วนWiFi มีต้นทุนที่ถูกกว่า แต่ต้องมีการติดตั้งเยอะกว่า เพราะระยะไม่ไกลโดยซิสโก้จะแนะนำลูกค้าว่า อะไรที่ดีกว่าในสถานการณ์อย่างไร'

ซิสโก้มองว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการขยายตลาดได้อีกมาก เพียงแต่ช่วงนี้รอความชัดเจนหลังเลือกตั้งก่อน แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลธุรกิจก็ต้องเดินหน้าต่อให้ได้ โดยทั้ง3 ภาคธุรกิจหลักของซิสโก้ประกอบด้วย ภาครัฐ เอกชน และโทรคมนาคม ทั้ง 3 ส่วนเดินหน้าไปพร้อมกันเพื่อมิให้ด้านใดหน้าหนึ่งเหนื่อยและหนักเกินไป ต้องร่วมกับภาครัฐเพื่อให้ผลักดันด้านดิจิทัลมากขึ้น เพื่อมิให้นำเงินไปลงทุนแต่ด้านถนน หนทาง อย่างเดียว

ปีที่ผ่านมารายได้ของซิสโก้ไทยมาจากภาครัฐประมาณ 35% เอกชน 45 % และ โทรคมนาคม 20% คาดว่าปิดปี 62(กรกฏาคม 62) จะมีการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก โดย ไตรมาส2 (มกราคม 62) สามารถทำรายได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้ซิสโก้ไทยเติบโตเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน



กำลังโหลดความคิดเห็น