มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) เปิดแผนปรับใหญ่เฟซบุ๊ก (Facebook) ใน 6 ทางเพื่อให้บริการเครือข่ายสังคมยอดนิยมมีความเป็นส่วนตัวและผ่อนคลายมากขึ้น เบื้องต้นมีการวิจารณ์ว่า Facebook ในอนาคตอาจจะมีลักษณะเหมือนแอปส่งข้อความส่วนตัวอย่างว็อตสแอป (WhatsApp) ก็ได้
1. โฟกัสที่ Messaging
ในบทความยาว 3,200 คำที่ Zuckerberg แถลงต่อสาธารณชน ผู้ก่อตั้ง Facebook ระบุถึงความคาดหวังว่า Messenger และ WhatsApp เวอร์ชั่นในอนาคตจะกลายเป็นหนทางหลักที่ผู้คนจะสื่อสารกันบนเครือข่าย Facebook แต่สิ่งที่ Facebook จะทำก็ยังคงเป็นการให้ความสำคัญกับการสนทนาส่วนตัวของผู้ใช้ โดย Zuckerberg อ้างว่าปัจจุบันมีชุมชน ผู้ระดมทุน และธุรกิจที่กำลังเติบโตจำนวนมากมาปักหลักใช้บริการ Facebook ดังนั้นโฟกัสของ Facebook จึงอยู่ที่การโต้ตอบแบบส่วนตัว
สิ่งที่สรุปได้จากแนวทางนี้ คือ Facebook กำลังปรับให้การโต้ตอบแบบส่วนตัวกับเพื่อนกลุ่มและธุรกิจต่างๆทำได้ง่ายและปลอดภัยขึ้นกว่าเดิม
2. เข้ารหัสทุกสิ่ง
แผนนี้เชื่อมกับแผนแรก เพราะ Zuckerberg มองว่าชาวออนไลน์คาดหวังว่าการสื่อสารส่วนตัวของทุกคนจะปลอดภัย และจะเห็นได้เฉพาะกับคนที่พวกเขาส่งข้อความไปหาเท่านั้น ไม่ใช่แฮกเกอร์ อาชญากร หรือรัฐบาลที่คอยจับตาดู หรือแม้แต่ทีมงานของบริษัทผู้ให้บริการที่ทุกคนใช้งานอยู่ ดังนั้น Facebook จึงมีแผนเข้ารหัสข้อมูลจากต้นทางถึงปลายทางตลอดทั้งบริการ ซึ่งเป็นนโยบายสไตล์ WhatsApp อย่างเต็มตัว
อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อตั้ง Facebook ยอมรับว่าการเข้ารหัสทำให้การจับกุมผู้ก่อการร้ายได้ยากขึ้น จุดนี้ทำให้ Facebook กำลังค้นหาวิธีการตรวจสอบรูปแบบของกิจกรรมหรือใช้วิธีการอื่นในการจับเนื้อหาที่มีความเสี่ยงแม้ว่าจะมีการเข้ารหัส ซึ่งแม้จะยืนยันเช่นนี้ แต่เจ้าพ่อ Facebook ก็ยอมรับว่า Facebook จะไม่สามารถพบสัญญาณอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมด แม้ในขณะนี้ที่ระบบซีเคียวริตี้ของ Facebook สามารถมองเห็นข้อความทั้งหมดบนระบบได้
3. ตั้งเวลาลบโพสต์ได้
สิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงบน Facebook คือการหมดอายุของโพสต์ จุดนี้ผู้ก่อตั้ง Facebook บอกแผนการเบื้งต้นว่าต้องการเพิ่มจำนวนโพสต์ที่จะหมดอายุอัตโนมัติในเวลา 1 เดือนหรือ 1 ปี เนื่องจากโพสต์ที่มีอายุน้อยลงจะมีแนวโน้ม “ทำร้าย” หรือสร้างความเสี่ยงให้ผู้ใช้น้อยลงตามไปด้วย
ตัวอย่างเช่น เจ้านายจะมีโอกาสเห็นรูปที่ลูกน้องโพสต์สมัยเรียนวิทยาลัยได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม คุณสมบัตินี้อาจสวนทางกับคุณสมบัติหลักที่ Facebook เคยยึดมั่นในปี 2011 ที่เปิดให้ผู้คนร่วมตั้งค่าโปรไฟล์ “Timeline” เพื่อดูประวัติชีวิตทั้งหมดของแต่ละคน
ประเด็นนี้ยังต้องรอดูการเปลี่ยนแปลงที่แน่นอนในอนาคต โดย Facebook อาจใช้วิธีซ่อนโพสต์เก่าโดยอัตโนมัติ แทนที่จะลบทิ้งทันที รวมถึงการเปิดให้ผู้ใช้เลือกว่าจะโพสต์มีอายุนานแค่ไหน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดที่แน่ชัดอีกครั้ง
4. ให้หลายแอปทำงานร่วมกัน
วันนี้ชาวโลกใช้แอปส่งข้อความที่แตกต่างกัน บางคนใช้ WhatsApp บางคนใช้ Messenger ขณะที่คนไทยบางกลุ่มนิยมใช้ Instagram จุดนี้เองที่ Zuckerberg ต้องการให้แอปเหล่านี้ทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทลายขีดข้อจำกัดที่มีในปัจจุบันไปได้
ตัวอย่างเข่น พ่อค้าแม่ขายจะสามารถขายสินค้าใน Facebook Marketplace แล้วตอบข้อความผ่านทาง WhatsApp โดยไม่ต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ ขณะเดียวกัน ผู้ใช้ทั่วไปอาจจะโพสต์เรื่องราวทั้งใน Instagram และ Facebook และอ่านความเห็นทั้งหมดได้ในที่เดียว
5. ไม่โอนอ่อนต่อรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
เจ้าพ่อ Facebook ย้ำว่าจะไม่สร้างศูนย์ข้อมูลใน "ประเทศที่มีนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นความเป็นส่วนตัวหรือเสรีภาพในการแสดงออก" แน่นอนว่าไม่มีการเอ่ยชื่อประเทศ และเป็นการยืดอกรับโทษแบนในประเทศนั้นต่อไป
6. เปิดรับแนวคิดอนาคตโซเชียลมีเดีย
Zuckerberg ยอมรับว่าแผนการเหล่านี้เป็นการตัดสินใจในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และบริษัทยังจำเป็นต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานกำกับดูแล และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวและการเปิดกว้าง ซึ่งทำให้ Facebook ยังต้องมีการเจรจาเพื่อหาทางแนวให้โซเชียมีเดียในอนาคตอีกหลายด้าน
เบื้องต้น สื่อทั่วโลกมองว่าโพสต์นี้ของผู้ก่อตั้ง Facebook ให้ความรู้สึกว่า Zuckerberg กำลังพึ่งพาจุดแข็งด้านความเป็นส่วนตัวของ WhatsApp ด้วยการตอกย้ำซ้ำไปซ้ำมาเรื่องความเป็นส่วนตัว จุดนี้ต้องยอมรับว่า WhatsApp ถือเป็นส่วนหนึ่งใน 3 เสาหลักของอาณาจักรโซเชียลมีเดีย Facebook ซึ่งยังไม่มีข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยให้เสียชื่อเสียง
การประกาศ 6 แผนปฏิวัติ Facebook เกิดขึ้นหลังจากมีการสำรวจพบว่าผู้ใช้ Facebook ในสหรัฐอเมริกามีจำนวนน้อยลงกว่า 15 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2017 ซึ่งเป็นผลจากความไม่ไว้วางใจที่เพิ่มขึ้นในสายตาผู้ใช้ Facebook ทำให้ Facebook รู้ดีว่าต้องการเปลี่ยนแปลงบริการให้ดีขึ้นกว่านี้.