xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ย ชี้ 5G ไม่ควรเป็นเกมการเมือง แต่เป็นโอกาสพัฒนาประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กัว ผิง
ท่ามกลางความขัดแย้งในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หนึ่งในบริษัทที่ตกเป็นเป้าสายตาจากทั่วโลก คือ หัวเว่ย (Huawei) ที่เป็นบริษัทให้บริการเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะอุปกรณ์เครือข่ายต่างๆ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อย่างสมาร์ทโฟน

ประเด็นหลักที่สหรัฐฯ เลือกใช้มาโจมตี หัวเว่ย คือเรื่องของการดักฟังข้อมูลจากอุปกรณ์เครือข่ายที่จำหน่ายให้แก่โอเปอเรเตอร์ทั่วโลก ทำให้สหรัฐฯ สั่งแบนไม่ให้นำอุปกรณ์ของหัวเว่ย เข้ามาใช้งานในประเทศ รวมไปถึงเรียกร้องให้พันธมิตรทั่วโลกร่วมกันแบนด้วย

เพียงแต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากฝั่งของEU หรือกลุ่มประเทศยุโรป ที่ชี้ไปให้เห็นในอีกทิศทางหนึ่งว่า การนำอุปกรณ์ของหัวเว่ยมาใช้งาน แม้จะยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล แต่จริงๆแล้ว การปกป้องข้อมูลต่างๆของผู้ใช้ ถือเป็นสิ่งที่โอเปอเรเตอร์ควรกระทำ และการใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย ถือเป็นเทคโนโลยีที่ควบคุมได้

ต่อเนื่องมาถึงในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ภายในงานจัดแสดงสินค้าอุปกรณ์เครือข่าย และอุปกรณ์เคลื่อนที่ประจำปี (Mobile World Congress 2019 : MWC 2019) ที่บาร์เซโลน่า สเปน หัวเว่ย เป็นผู้สนับสนุนหลักในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของงานนี้ ได้แสดงความชัดเจนถึงประเด็นดังกล่าวมากขึ้น

กัว ผิง ประธานกรรมการหมุนเวียนตามวาระ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ใช้เวทีใหญ่ภายในงาน MWC2019 แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของหัวเว่ย ในการร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้เกิดการนำ 5G ไปใช้งาน และเคลียร์ข้อสงสัยในประเด็นสำคัญเรื่องของการดักฟังข้อมูล

'ที่ผ่านมาหัวเว่ย พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เข้ามาตรวจสอบ แม้กระทั่งเรื่องของ กฏหมาย GDPR ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหัวเว่ยก็ปฏิบัติตาม พร้อมยืนยันว่าในการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่เคย และไม่คิดที่จะติดตั้งช่องโหว่เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งาน'

นอกจากนี้ หัวเว่ย ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้จำหน่ายเทคโนโลยี (Technology Provider) ผู้ให้บริการเครือข่าย (Carriers) ไปจนถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอุตสาหกรรม (Industry and regulators)
โดยระบุว่า ในการลงทุนเครือข่าย 5G โอเปอเรเตอร์ทุกรายสามารถควบคุม และเข้ารหัสของข้อมูลได้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเครือข่ายปิดที่ถูกนำไปใช้งานในแต่ละผู้ให้บริการ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวหน้าต่อไป

ส่วนในมุมของหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็น ITU หรือ 3GPP ,GSMA ต่างเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเครือข่ายอยู่แล้ว ถ้ามีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาร่วมกันทดสอบอุปกรณ์ เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความปลอดภัย จากคนกลางจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ประธานกรรมการของหัวเว่ย ยังระบุว่า ทุกฝ่ายควรมีโอกาสที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดี บนพื้นฐานของการปกป้องข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน และแต่ละประเทศ หรือแต่ละผู้ให้บริการมีสิทธิที่จะเลือกใช้งานตามความต้องการ









ในอีกมุมหนึ่งการที่หัวเว่ย แสดงความเห็นออกมาในทิศทางนี้ ถือเป็นการย้อนกัดสหรัฐฯ ที่เน้นเรื่องของประชาธิปไตยให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิมีเสียง แต่กลายเป็นว่าสหรัฐฯ ออกมาบีบให้หลายๆ ประเทศยกเลิกการนำเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยไปใช้ เนื่องจากเห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทในสหรัฐฯ ไม่เท่าทันของหัวเว่ย และจะสะท้อนถึงนโยบายในการบริหารประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จของโดนัล ทรัมป์ด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีการเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์ดักฟังข้อมูลครั้งสำคัญของหน่วยงานสหรัฐฯ ที่ถูกเผยแพร่ของมาโดย เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผ่าน Wikileaks ที่กลายเป็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ต่างหากที่มีประสบการณ์ในการดักฟังข้อมูลของประชาชน

***ขนเทคโนโลยี 5G แสดงให้โลกเห็น

ภายในงาน MWC2019 ยังถือเป็นโอกาสดีที่ หัวเว่ย นำเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา มาจัดแสดงให้โอเปอเรเตอร์ทั่วโลก ได้เห็นถึงความพร้อมในการนำเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยไปใช้งาน จากการที่เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีทั้งในฝั่งของเครือข่าย ไปจนถึงสมาร์ทโฟนด้วย

ผู้บริหารหัวเว่ย ระบุว่า หัวเว่ย ถือเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม ที่มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมในทุกระดับของการใช้งาน 5G เริ่มตั้งแต่อุปกรณ์กระจายสัญญาณ ที่สามารถใช้คลื่นความถี่ 100 MHz มาให้บริการได้ความเร็วมากกว่า 14 Gbps ซึ่งถือเป็นสถิติที่ดีที่สุดในช่วงเวลานี้

รวมถึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้กับการให้บริการ 5G ในระบบของ Massive MIMO (M-MIMO) ที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการที่มีข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณคลื่นความถี่ สามารถบริหารจัดการคลื่นความถี่ให้เพียงพอกับการใช้งานได้
อย่างเทคโนโลยี M-MIMO 64T ที่ใช้การแบ่งช่องส่งสัญญาณในเวลาเดียวกันมาใช้งาน ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลได้สูงถึง 14 Gbps บนคลื่นความถี่ 100 MHz หรือเร็วขึ้น 97 เท่า เมื่อเทียบกับความเร็ว 4G

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีดังกล่าว จะเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสถานีฐาน เพราะหัวเว่ย สามารถทำให้สถานีฐานเดิมที่ใช้งานบนคลื่น 1800 MHz สามารถส่งสัญญาณได้ครอบคลุมเท่าเดิม เพียงแค่ใช้เทคโนโลยี M-MIMO 32T และจะกระจายสัญญาณได้กว้างขึ้นถ้าใช้งานบนเทคโนโลยี 64T

เช่นเดียวกับการที่มีการปรับโฉมตัวกระจายสัญญาณใหม่ให้มีขนาดเล็กลง สามารถติดตั้งได้ง่ายขึ้น ก็จะช่วยให้ ใช้พนักงานในการติดตั้งน้อยลง ประหยัดพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้นเมื่อคำนวนออกมาแล้วค่าใช้จ่ายต่อบิต (Bit) หรือปริมาณการรับส่งข้อมูลต่อหนึ่งหน่วย จะต่ำลง 50 เท่าเมื่อเทียบกับ 4G

ประเด็นสำคัญคือ หัวเว่ย ได้พัฒนาอุปกรณ์เครือข่าย ให้รองรับทั้งการติดตั้งใช้งานร่วมกับเครือข่าย 2G/3G/4G เดิม (Non Stand Alone : NSA) และแบบใช้งานเฉพาะ 5G อย่างเดียว (Stand Alone : SA) ดังนั้น ผู้ให้บริการก็จะมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น


***ต่อยอดเครือข่ายด้วยธุรกิจองค์กร


นอกเหนือจากการนำเสนออุปกรณ์เครือข่าย 5G แล้ว อีกส่วนหนึ่งของธุรกิจหัวเว่ย ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือกลุ่มเอ็นเตอร์ไพร์ส หรือกลุ่มธุรกิจองค์กร ที่ในรอบนี้ หัวเว่ย เริ่มผลักดันให้แต่ละองค์กร เห็นถึงการนำ 5G คลาวด์ AI มาใช้งานในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น


โดยเฉพาะสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบรวมศูนย์ขึ้นมา เพื่อให้แต่ละองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแต่ละธุรกิจได้ ด้วยการผสมผสานพลังของคลาวด์ และ AI เข้าด้วยกัน ด้วยการนำเทคโนโลยีที่หัวเว่ย คิดค้นขึ้นมาแสดงให้เห็น


ทั้ง Flash Storage OceanStor Dorado ที่เร็วที่สุดในอุตสาหกรรม, สวิตช์ดาต้าเซ็นเตอร์ ตัวแรกของโลกที่ขับเคลื่อนด้วย AI, อุปกรณ์กระจายสัญญาณบนมาตรฐานใหม่ Wi-Fi 6 เพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์ตัวแรกของโลก และกล้อง X - ซีรีส์ กล้องที่ควบคุมโดยซอฟต์แวร์ AI ตัวแรกของโลก


***มั่นใจไทยไม่ล้าหลัง 5G


เจมส์ อู๋ ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวเว่ย ให้สัมภาษณ์ถึงความท้าทายของภูมิภาคอาเซียนในการให้บริการ 5G จะมีด้วยกัน 3 ส่วนหลักๆคือ 1.เรื่องราคาคลื่นความถี่ 2.ความพร้อมของสถานีฐานในการให้บริการ และ 3.ระบบอีโคซิสเตมส์ของ 5G


'ในการให้บริการ 5G จำเป็นต้องใช้สถานีฐานเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นโอเปอเรเตอร์ต้องมีการลงทุนติดตั้งเครือข่ายเพิ่มเดิม หรืออาจจะเป็นในรูปแบบของการแชร์สถานีฐานเพื่อใช้งานร่วมกัน ถ้าทำได้จริงก็จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการลงทุน 5G ได้เร็วขึ้น'


ที่สำคัญคือทิศทางของรัฐบาลที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน 5G ในประเทศไทย เพราะสุดท้ายแล้วการลงทุน 5G จะช่วยให้ประเทศสามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะตามมา
5G CPE ตัวรับสัญญาณ 5G

ส่วนประเด็นเรื่องการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เจมส์ อู๋ มองว่า เรื่องนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง หัวเว่ย เข้ามาลงทุน ร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ และหน่วยงานภาครัฐ มาหลายยุคสมัยแล้ว แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ประเด็นสำคัญคือ ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสร้างสภาพการแข่งขันที่เสรี และเป็นธรรมขึ้นมาให้ได้ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์ และทุกองค์กร มีทางเลือก ซึ่งหัวเว่ย มองว่า ยิ่งมีการแข่งขันกับรายอื่นมากเท่าใด ก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุน และสร้างประโยชน์ให้แก่ทุกๆภาคส่วน

'ในความคิดผมทุกประเทศควรมองไปที่การก้าวสู่ดิจิทัล ไม่ใช่การสร้างเกมการเมือง เพราะจะเป็นทางที่ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนแน่นอน'

สำหรับในภูมิภาคอาเซียนที่ เจมส์ อู๋รับผิดชอบอยู่ในเวลานี้ประกอบไปด้วย 11 ประเทศคือ ไทย อินเดีย เวียดนาม เมียนม่าร์ กัมพูชา ลาว บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ฮ่องกง และมาเก๊า โดยประเทศที่มีโอกาสนำ 5G ไปใช้งานเร็วที่สุดคือ ฮ่องกง ตามด้วยไทย และอินเดีย


กำลังโหลดความคิดเห็น